การสอบทำลายเด็กๆ ได้อย่างไร

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

โดยไม่ได้วิจัย ผมรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กมัธยม 6 มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่วินิจฉัยโรคเครียด น้อยกว่านั้นวินิจฉัยโรคซึมเศร้า น้อยลงไปอีกที่คิดฆ่าตัวตาย และโดยมิได้วิจัยอีกเช่นกัน เกือบทุกคนเครียดเรื่องการสอบ

เกือบทั้งหมดที่เครียดเรื่องการสอบ เป็นเพราะพ่อแม่คาดหวังให้สอบได้ดีๆ มีน้อยรายที่เครียดเพราะตัวการสอบจริงๆ พวกเขาเครียดเรื่องพ่อแม่คาดหวังเสียมากกว่า

ความรู้นี้นำเราไปถึงทางตัน พ่อแม่ที่ไหนจะไม่คาดหวังและไม่เครียดเวลาลูกสอบแพ้ ประโยคที่ว่าอย่าเครียดเลย การสอบมิใช่ทุกอย่างของชีวิตจึงเป็นคำพูดปลอบประโลม เข้าข่าย “ถ้าทำได้ทำไปแล้ว”

ครั้นไปถามครู โรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะว่าเป็นเพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องการให้ระบบเป็นเช่นนี้เอง เริ่มมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะมีคำพูดเสมอว่าเป็นพวกพ่อแม่นั่นเองที่เร่งครูให้เร่งสอนเด็กอนุบาลอ่าน เขียน บวกเลขได้ ทั้งที่วัยอนุบาลเป็นวัยเตรียมความพร้อมและการเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุดคือการเล่น

เมื่อไปถามผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียง ก็จะได้รับคำบอกเล่าลักษณะเดียวกันคือเป็นพวกพ่อแม่นั่นเองที่ต้องการให้โรงเรียนคงคุณภาพระดับเข้มข้น เพื่อให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด

คล้ายๆ 50 ปีก่อน ที่มีคำถามถึงผู้กำกับหนังไทยเวลานั้นว่าทำไมสร้างแต่หนังรัก โศก ตลก บู๊ ครบทุกรสในเรื่องเดียว คำตอบคือเพราะคนไทยต้องการเท่านั้นแหละ

การเร่งเรียนและจัดสอบบ่อยๆ ทำกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงวันนี้คือมัธยม 6 รวมเวลา 15 ปี ถือว่านานมาก ผู้ชนะมีราคาต้องจ่าย ผู้แพ้ก็เสียหาย ถามพ่อแม่ พ่อแม่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไร ถามครูครูว่าพ่อแม่เองที่ต้องการ ที่แท้เราควรออกจากเรื่องนี้ได้อย่างไร

วิชาชีพมีหน้าที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้มาขอความช่วยเหลือ นี่เป็นจริยธรรมของแพทย์ ผู้ป่วยไม่มีความรู้เพราะมิได้เรียนมา อีกทั้งมีความจำเป็นของชีวิตมากมายที่ต้องทำลายสุขภาพ เช่น ทำงานหนัก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ งดแป้งและน้ำตาลมิได้ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ จะอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของวิชาชีพที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้

เพราะอะไร เพราะคุณหมอเรียนมา มากกว่านี้คือรับค่าตอบแทนด้วย วิชาชีพปฏิเสธหน้าที่นี้มิได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะขอสิ่งที่เป็นภัยแก่ตัวเองก็ยังคงเป็นหน้าที่ของคุณหมอที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขาอยู่ดี

แน่นอนว่าอะไรคือเรื่องที่ดีที่สุดเป็นเรื่องโต้เถียงได้ แต่นั่นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ครูเป็นวิชาชีพ ครูมีหน้าที่แบบเดียวกันคือมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กนักเรียน และหากพ่อแม่ขอเรื่องที่เป็นภัยต่อเด็กๆ เช่น ขอให้ครูเร่งสอนเด็กอนุบาลให้อ่านออกเขียนได้คิดเลขเร็วๆ ครูมีหน้าที่ตอบว่าไม่ให้

เพราะครูเป็นวิชาชีพ และครูเรียนมาแล้วว่าการเล่นดีที่สุดสำหรับเด็กอนุบาล การเรียนรู้และการเรียนหลากหลายวิชาอย่างบูรณาการผสมปนเปอยู่ในการเล่นอยู่ก่อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านเขียนเรียนเลขอย่างจริงจังแต่อย่างใด

การศึกษาระดับมัธยมปลายก็เช่นกัน อะไรคือเรื่องดีที่สุดสำหรับเด็กนักเรียนเป็นหน้าที่ของครู โรงเรียน และผู้กำหนดนโยบายที่จะมอบให้โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นจริยธรรมของวิชาชีพ

การเพิกเฉยต่อการทำร้ายเด็กมัธยมปลายที่เข้าสู่ฤดูกาลสอบที่ต่อเนื่องยาวนานในเวลานี้เป็นเรื่องผิดจริยธรรม และสมควรที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจะได้ลงมือพูดคุยกันใหม่แล้วแก้ไข

การสอบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มีประโยชน์อะไร?

คำตอบคือไม่มี

1. การสอบทุกวันนี้ เป็นการนำความรู้ที่สถาปนาแล้วมาตอบ เรียกว่าเป็น crystallised intelligence ซึ่งเป็นเรื่องล้าสมัย ที่เราควรมอบให้แก่เด็กไทยได้แล้วคือการสอบที่มุ่งเน้น fluid intelligence นั่นคือความฉลาดที่ลื่นไหล ยืดหยุ่น และสามารถคิดวิเคราะห์รอบด้าน

2. การสอบที่มุ่งเน้นความฉลาดที่ลื่นไหลจะให้โจทย์ที่นักเรียนไม่สามารถจำคำตอบใดๆ มาตอบได้ แต่ทำได้ด้วยการเปิดตำรา และอินเทอร์เน็ต เพื่อหาข้อมูลที่จำเป็นมาอธิบาย ห้องสอบสมัยใหม่จึงเปิดตำราและอินเทอร์เน็ตได้ รวมทั้งสอบเป็นทีมได้ด้วย แต่การสอบลักษณะนี้ต้องการครูสมัยใหม่ที่ออกข้อสอบเป็นด้วย

3. การสอบคัดเลือกก็ตาม รวมถึงการสอบซ่อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการสอบที่ใช้ข้อสอบเป็นเครื่องมือในการคัดกรองเด็กที่ทำคะแนนได้ดีกว่าออกจากเด็กที่ทำคะแนนได้น้อยกว่า เป็นการสอบที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กคนไหนเลย แต่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารการศึกษาที่ได้ใช้เครื่องมือง่ายๆ ในการกรองคน

การสอบที่แท้ควรเป็นไปเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล อย่างง่ายที่สุดเมื่อเด็กสอบตกให้สอบซ้ำข้อสอบเดิมจนกว่าจะได้ เช่นนี้เด็กจึงจะพัฒนา แต่ที่เป็นอยู่เด็กสอบตกจะต้องพบข้อสอบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนแล้วสอบตกซ้ำอีก นอกจากไม่ได้พัฒนาแล้วยังถดถอยไปอีก

ในทำนองเดียวกัน

การสอบเข้าที่แท้คือความพยายามที่จะกรองคนที่ใช่ ซึ่งเป็นคนละคนกับคนที่ทำคะแนนได้สูง

การกรองคนที่ใช่เป็นเรื่องที่บ้านเราล้มลุกคลุกคลานเสมอมา เมื่อล้มลุกคลุกคลานมากไปจึงมีเสียงเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเอ็นทรานซ์เหมือนสมัยก่อน นั่นคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยพร้อมกันทั้งประเทศครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้น ซึ่งก็สะดวกสบายดีแต่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 

เรื่องจึงวนกลับมาที่ประเด็นใครมีหน้าที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กไทย พ่อแม่ขอได้เสมอว่าอยากได้อะไร แต่วิชาชีพมีหน้าที่ใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองมีพิจารณาให้ดีก่อนจะตัดสินใจ

การสอบที่เกิดขึ้นกับเด็กมัธยมปลายเวลานี้เป็นการสอบที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรนอกเหนือจากการคัดคน มิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาคน

ดังนั้นระหว่างที่เรายังไม่มีทางออกเรื่องระบบการสอบที่ดี เราช่วยกันลดความเสียหาย ช่วยกันแก้ไขให้ผ่อนคลายลงก่อนได้น่าจะเป็นการดีกว่า

พ่อแม่ส่วนใหญ่น่าจะงงมากว่าเราควรทำตัวอย่างไร เรื่องจึงกลับไปที่ผู้บริหารอีกครั้งหนึ่ง

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า