เรื่อง: ชลธร วงศ์รัศมี
ภาพประกอบ: antizeptic
“ชาวเขาเคยปลูกฝิ่นมาก่อน…” คือประโยคขาดไม่ได้เมื่อเกริ่นถึงความเป็นมาของโครงการหลวงและผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงอย่าง ‘ดอยคำ’ ภาพกลุ่มชาติพันธุ์ทำงานอย่างขันแข็งในแปลงผักผลไม้เมืองหนาวสวยงาม ณ แผ่นดินซึ่งครั้งหนึ่งเคยปลูกฝิ่นคือภาพติดตรึงประทับใจผู้คนแต่องค์ประกอบของดอยคำไม่ได้มีเพียงเท่านี้
หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งทำงานกับโครงการหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามของ ปกรณ์ คงสวัสดิ์ เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ชีวาณูสงเคราะห์ [1]: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพใต้ร่มพระบารมี ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่’ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (เอกมานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559 งานวิชาการในกลุ่ม Science and Technology Studies (STS) งานชิ้นนี้ตั้งคำถามถึงอีกองค์ประกอบสำคัญของดอยคำอย่าง ‘นักวิทยาศาสตร์’ ผู้ผลิตความรู้ที่คนกลุ่มอื่นยากจะช่วงชิงคำอธิบายหรือสงสัย และเป็นผู้ติดตั้งอุดมการณ์ทางสังคมได้ลึกและนุ่มเนียนมากกว่ากองกำลังทหารหรือสื่อมวลชน
“ทฤษฎีกลุ่ม STS เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 ที่โครงการวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น นิวเคลียร์ ไฟฟ้า ฯลฯ เริ่มมีผลกับผู้คนทั่วโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมใน ศ.19 ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่นั
“แต่ในยุคปัจจุบันที่เราอยู่ท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าเป็นการชุมนุม (assemblage) ของวัฒนธรรมวัตถุ การอธิบายแค่นั้นไม่พอ งานในกลุ่ม STS จึงเข้ามา เช่น งานของลาตูร์ (Bruno Latour) ซึ่งมีวิธีอธิบายวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดขึ้น และผู้กระทำการมีความหมายไกลกว่ามนุษย์ เช่น วัตถุมีความสามารถกระทำการได้ด้วยตัวเอง
“ในระดับปัจเจกเราไม่เคยตั้งคำถามว่า วัตถุส่งผลกระทบอย่างไรถ้าเรามีหรือไม่มีมัน พูดในเชิงใหญ่ขึ้น สมมุติหากไม่มีระบบไฟฟ้า น้ำประปา จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งก็เกิดความโกลาหลอีกแบบหนึ่ง หรือเรื่องโลกร้อน เราจะเห็นว่าวัตถุเป็นผู้กระทำการที่ชัด”
เพราะเหตุใดปกรณ์จึงตั้งต้นศึกษา ‘โครงการหลวง’ ด้วยทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เขาอธิบายว่า คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับโครงการหลวงในฐานะโครงการในพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขา แต่โครงการหลวงยังมีอีกสองสถานะ นั่นคือ การเป็นบริษัทที่เข้าสู่ธุรกิจเต็มตัวเมื่อปี พ.ศ. 2538 ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจดทะเบียนในชื่อ ‘บริษัท ดอยคำผลิตอาหาร จำกัด’ ทำอุตสาหกรรมอาหารโดยมีตลาดใหญ่ 65 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป โดยเกษตรกรของบริษัท ดอยคำ จะอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) [2] ซึ่งมีเงื่อนไขต้องปฏิบัติหลายประการเพื่อให้ผลผลิตผ่านมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพทางวิทยาศาสตร์ และโครงการหลวงยังมีอีกสถานะคือ การเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่มาตั้งแต่เริ่มต้น
“เนื้อหาจริงๆ ของโครงการหลวงในยุคแรกคือเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่นำองค์ความรู้จากโลกเสรีทั้งอเมริกาและไต้หวันเข้ามาใช้ บริบทตอนนั้นเป็นยุคสงครามเย็นที่รัฐต้องการปรับเปลี่ยนคนบางกลุ่มให้มาเป็นไทยในความหมายที่รัฐทางภาคกลางต้องการให้เป็น”
ปกรณ์กล่าวว่า โครงการหลวงยุคแรก นักวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญคือ การวิจัยลักษณะของพื้นที่เพื่อระดมทรัพยากรต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ถนน ประปา บุคลากรทางวิทยาศาสตร์ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโลกเสรีมาสู่โครงการ ปรับปรุงพันธุ์พืชเมืองหนาวให้เจริญเติบโตในพื้นที่สูงของไทยที่อุณหภูมิไม่หนาวเย็นเท่าต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ฝ่ายงานด้านสังคมของโครงการได้นำ ‘ดอยคำโมเดล’ ซึ่งช่วยปลูกฝังโลกทัศน์แบบรัฐไทยและความจงรักภักดี ผ่านโรงเรียน โรงงาน ชุมชน และวัด (ทว่ากลุ่มชาติพันธุ์ปฏิเสธวัด ทำให้ช่องทางนี้ถูกล้มเลิกไป) มาสู่แรงงานชาติพันธุ์ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เรามักไม่ค่อยสังเกตถึงบทบาทของคนกลุ่มนี้ เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีพลังอื่นใดมากำหนดได้ว่าเขาต้องทำอะไร หรือออกนอกระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้
ปกรณ์กล่าวถึงแรงจูงใจของการศึกษา
งานวิจัยเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำไทยเป็นผู้แลกรับและคัดสรรความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาในสังคม หลัง พ.ศ. 2475 บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในแวดวงพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางเก่า ซึ่งผันตัวเองมาเป็นข้าราชการและได้รับทุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อกลับมาก่อตั้งสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งผลิตเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์การเกษตรจำนวนมาก เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ภายหลังได้ย้อนกลับมาขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทนักพัฒนาของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนเป็นด่านแรกในการเลือกรับอุดมการณ์ทางสังคมที่สอดคล้องกับปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ใต้ร่มพระบารมี เช่น การนำบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มาปรับใช้กับการทำงาน
“หลัง พ.ศ. 2519 พระมหาชนก ได้รับการพระราชนิพนธ์ขึ้น และกระทำการ (action) กับเจ้าหน้าที่โครงการหลวงซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ วิธีคิดแบบพระมหาชนกมาจากแนวคิดแบบพุทธมหายานและเถรวาท ที่กล่าวถึงกษัตริย์ว่ามีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ หมายถึงผู้จุติลงมาบำเพ็ญบารมีและช่วยเหลือผู้คน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในภพหน้า”
ปกรณ์กล่าวถึงวิทยาศาสตร์ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ซึ่งไม่ปรากฏในพระมหาชนกฉบับชาดกดั้งเดิมว่า “ในชาดก พระมหาชนกเห็นต้นมะม่วงโดนทำลาย พระองค์รู้สึกโทมนัส เห็นว่าโลกไม่น่าอยู่แล้ว มีแต่การแก่งแย่งชิงดีกัน รู้สึกเบื่อโลกเลยไปบวช ขณะที่ในฉบับพระราชนิพนธ์ไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบนั้น แต่บอกว่าการที่จะบรรลุธรรมได้มากขึ้นคือ ต้องกลับมาบำเพ็ญบุญก่อน พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์จึงเริ่มจากการฟื้นฟูต้นมะม่วง ซึ่งวิธีการฟื้นฟูมีเก้าแบบ ‘ชีวาณูสงเคราะห์’ คือหนึ่งในวิธีฟื้นฟูด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ บุคลากรที่สนับสนุนโครงการในพระราชดำริ เช่น อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) อธิบายถึง ‘ชีวาณูสงเคราะห์’ ว่า หมายถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตคนเราในระดับดีเอ็นเอ ให้มีความรู้ผิดรู้ชอบผ่านสื่อมวลชน”
ปกรณ์กล่าวว่า การตีความ พระมหาชนก กับบทบาทในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระมหากษัตริย์ ได้รับการส่งผ่านสู่เครือข่ายกษัตริย์นิยมและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ในแง่นี้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือพสกนิกร
เราจะได้ยินการตีความจากนักวิทยาศาสตร์ระดับนำว่า วิทยาศาสตร์ในบริบทของตะวันตกเป็นพวกที่นิยมทุน ไม่ลุ่มลึก หรือมีความหยาบเมื่อเทียบกับศาสนาพุทธที่มีเรื่องของความเมตตา กรุณา จะรับวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามาไม่ได้ คุณจะต้องกลั่นกรองวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์แบบนั้นก่อน ซึ่งคนที่กลั่นกรองคือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในเครือข่ายกษัตริย์นิยม โดยเลือกรับวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ทับซ้อนกับเรื่องบุญบาป วิทยาศาสตร์ที่ดีต้องช่วยเหลือคน คำอธิบายเหล่านี้ถูกนำมาใช้และส่งผลต่อการทำงานโครงการหลวง ในแง่หนึ่งคือการทำงานเพื่อบำเพ็ญบุญ สร้างบุญ ทุกคนที่เข้ามาช่วยเหลืองานจะได้รับบุญ
ภายในโครงการวิทยาศาสตร์ โลกทัศน์เชิงพุทธที่ผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ดำเนินไปในหมู่ผู้ขับเคลื่อน พร้อมกับนิยามการทำงานทางวิทยาศาสตร์ที่ทับซ้อนกับการบำเพ็ญบุญ สำหรับประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงบทบาทกษัตริย์นักพัฒนาผ่านโครงการในพระราชดำริต่างๆ ผ่านแนวคิดพระราชทานที่ทรงใช้วิทยาศาสตร์การเกษตรช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร เช่น ฝนหลวง แก้มลิง แกล้งดิน กังหันน้ำชัยพัฒนา การเพาะพันธุ์ปลานิล หญ้าแฝก ฯลฯ รวมทั้งโครงการทางวิทยาศาสตร์สำคัญที่อยู่ ณ ศูนย์กลางประเทศอย่างโครงการทดลองส่วนพระองค์สวนจิตรลดาฯ โครงการเหล่านี้ได้รับการเน้นย้ำถึงผลจากการนำไปทดลองปฏิบัติโดยประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเข้ากันได้ดีกับโลกทัศน์ของคนไทยสมัยใหม่ที่ไว้วางใจวิทยาศาสตร์และสามารถเข้าถึงและ ‘รัก’ บทบาทพระมหากษัตริย์ในแง่การเป็นผู้ปัดเป่าความทุกข์ให้ราษฎร มากกว่าบทบาทการเป็นเจ้าชีวิตเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งความรักในลักษณะนี้ปรากฏในกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ของโครงการหลวงด้วย
“เรื่องของพระมหากษัตริย์จะถูกบอกเล่าผ่านผู้นำทางจิตวิญญาณ ผ่านเรื่องเล่าที่เขาเคยมีอยู่ เช่น พระมหากษัตริย์เคยมาพูดคุยและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ บางทีอาจมีการเสริมความเหนือธรรมชาติ (supernatural) เข้าไปในเรื่องเล่า ซึ่งคนกลุ่มชาติพันธุ์จะมีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง และเขาสามารถเชื่อมสิ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็น เข้ากับความเชื่อของเขา เขามองสถาบันเป็นความเหนือธรรมชาติแบบหนึ่ง คนลาหู่นิยามกษัตริย์ว่าเป็น ‘เง็กเซียนฮ่องเต้’ หรือ ‘อือซาเดินดิน’ หมายถึงเทวดาเดินดินที่เข้ามาช่วยเหลือเขา คำว่าอือซาเดินดินจึงมีความหมายว่า เป็นอือซาที่เขาสัมผัสได้”
อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม วิทยาศาสตร์ ศาสนา ร่วมด้วยความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติจะดำเนินไปอย่างแนบแน่นทรงพลัง แต่อีกหนึ่งผู้กระทำการที่ทุกฝ่ายปฏิเสธถึงอิทธิพลไม่ได้คือ ‘วัตถุ’
โครงการหลวงก้าวเข้าสู่ยุคที่สาม หลังจดทะเบียนเป็นบริษัท ดอยคำผลิตอาหาร จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2538 บริษัทดอยคำมีระบบการผลิตที่ก้าวตามระเบียบเศรษฐกิจโลกในยุคเสรีนิยมใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ มีขั้นตอนการควบคุมคุณภาพอันซับซ้อน เพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับโลกและเงื่อนไขการส่งออก
ปกรณ์กล่าวถึงความมีระบบระเบียบของดอยคำว่า “ไม่มีการปลูกสะเปะสะปะ มีการควบคุมอย่างชัดเจนว่าแต่ละชุมชนปลูกอะไรได้บ้าง แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์รับผิดชอบอะไร มีรหัสแปลงกำกับ เช่น ไทใหญ่ปลูกผักมาตรฐาน GAP [3] จีนยูนนานปลูกท้อ บ๊วย และกาแฟ กลุ่มมูเซอดำและดาระอั้ง บ้านขอบด้งและบ้านนอแล ปลูกสตรอเบอร์รีและผักปลอดสารพิษ”
จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม ปกรณ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่โครงการหลวงอธิบายถึงแบบแผนการเข้าร่วมโครงการให้เขาฟังว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมต้องส่งผลผลิตเข้าบริษัทฯ เท่านั้น เพราะพันธุ์พืชส่วนหนึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะของโครงการซึ่งห้ามนำไปปลูกที่อื่น โดยแต่ละครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยราวปีละ 30,000-50,000 บาท พันธุ์พืช สารเคมี ปุ๋ย เป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวบ้านต้องได้รับมาจากบริษัท มีการจ่ายเงินค่าแรกเข้าโครงการในอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด เช่น การปลูกสตรอเบอร์รีมีค่าแรกเข้า 50,000 บาทต่อคน บวกค่าน้ำ 600 บาทต่อฤดูกาลผลิต เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูล สภาพอากาศ ปริมาณฝน และแสงแดดที่ได้รับ วันออกผล วันเก็บเกี่ยว รวมถึงการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนบันทึกค่าใช้จ่าย ปริมาณผลผลิต รายได้จากการผลิต และรับการสุ่มตรวจกรณีที่มีข้อสงสัยถึงการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด ฯลฯ
“โลกทัศน์ของคนบนพื้นที่สูงที่เคยเป็นแรงงานของบริษัทเริ่มเปลี่ยนแปลงไปประมาณปี พ.ศ. 2543 ซึ่งสอดรับกับอะไรบางอย่าง เช่น ชาวเขาเริ่มมีการศึกษามากขึ้น รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรไม่พอเพียงกับรายจ่าย เริ่มหางานใหม่ เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่ที่ชาวเขาทำการเกษตรอยู่ไม่ใช่ที่ดินของเขา ขณะที่ภาพส่วนใหญ่ที่เราเห็นคือ ชาวเขายิ้มแย้ม พอใจกับผลผลิตที่ได้ แต่ธรรมชาติของผลผลิตทางการเกษตรคือราคาไม่คงที่ สตรอเบอร์รีเคยมีราคารับซื้อสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 320 บาท ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละ 250 บาท การจ่ายค่ารับซื้อผลผลิตจากชาวเขาจะมีเพดาน มีสูตรคณิตศาสตร์อยู่ว่าบริษัทต้องจ่ายเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ชาวเขาหันไปปลูกฝิ่นอีกครั้ง แต่สูตรคณิตศาสตร์แบบนี้ก็ไม่นิ่ง ถ้าไม่ได้ตามเป้า ชาวบ้านต้องหารายได้เพิ่ม พื้นที่ที่ผมลงสนามสองหมู่บ้าน มีคนลงไปทำงานในเมืองทั้งคู่ ทั้งงานรับจ้าง ขายของ ขายเครื่องเงินตามถนนข้าวสาร ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไปขายหลายๆ ที่ เช่น ชลบุรี และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย”
ท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติที่รัดล้อม แรงงานชาติพันธุ์บางครอบครัวเริ่มสร้างวิถีชีวิตต่างไปจากบรรพบุรุษ ดังที่ชาวบ้านรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ผมต้องไปรับจ้างทำงานที่อื่นด้วย บางครั้งก็ไปค้างคืนที่นั้นเลย ไม่มีเวลามาดูแลแปลงเป็นอาทิตย์ๆ อาจารย์รู้ก็ดุเอาว่าทิ้งแปลง ไม่ดูแลแปลง จะได้ผลิตดีได้ยังไง” [4]
สถานการณ์ที่แรงงานมีจินตนาการถึงชีวิตและโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ดอยคำเพิ่มทุนวิจัยทางด้านสังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา เพิ่มเติมจาก ‘ดอยคำโมเดล’ และงานด้านการส่งเสริมการเกษตรซึ่งทำมาตั้งแต่ระยะแรก
“ฝ่ายส่งเสริมฯ ของโครงการมีสองส่วน คือส่งเสริมพันธุ์พืช กับส่งเสริมเรื่องสังคม เช่น การให้แรงงานเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงความจงรักภักดี เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าชุมชนไหนให้ความร่วมมืออย่างดีจะได้รับความไว้วางใจ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้พื้นที่มากขึ้น หรือได้สิทธิเพิ่มขึ้น”
แม้ว่าการให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมจะส่งผลดีต่อแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และสำคัญยิ่งต่อแรงงานบางส่วนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ แต่ปรากฏอยู่เสมอว่ามีแรงงานอีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่ไปร่วมกิจกรรม รวมทั้งไม่ ‘ลงแปลง’ ดูแลผลผลิตในบางวันด้วย แม้ว่าต่อมาฝ่ายวิจัยทางสังคมของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาการหนีแปลงด้วยการนำอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างระเบียบในระบบการศึกษาของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ช่วยให้แรงงานมีความพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อให้สายพานการผลิตเดินต่อไปได้ แต่ยังไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปกรณ์กล่าวว่า การต่อรองอำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้เพราะมีปริมณฑลหนึ่งของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการติดตั้งอุดมการณ์จากรัฐเข้าไม่ถึงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้
“เราอาจนึกว่าเขาเหมือนคนกรุงเทพฯ คือทำงานๆ เย็นเลิก จบ แต่ในวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีพิธีกรรมอยู่ด้วย บางพิธีกรรมจัดบ่อยมาก เช่น การสะเดาะเคราะห์ แค่คนในบ้านป่วยก็ต้องฆ่าหมูเลี้ยงสะเดาะเคราะห์ เฉลี่ยแล้วในหนึ่งสัปดาห์จัดขึ้นไม่ต่ำกว่าสี่ห้าครั้ง ซึ่งวิธีคิดแบบการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวพยายามเข้ามาแทนที่ ทำให้วัฒนธรรม ประเพณี วันหยุด และความเชื่อบางอย่างของเขาซ้อนกับชั่วโมงอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมของโครงการ แต่สุดท้ายเขาต้องเลือก บางประเพณีของเขามันต้องหยุดงาน เพราะความเชื่อเขามันเป็นวันที่ดี เหมือนตรุษจีน ต้องหยุด เพื่อสนุก เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ ที่เข้ามา ถ้าตรงกับวันเก็บเกี่ยวผลผลิตของโครงการ เขาก็ตัดสินใจทิ้ง ปล่อยสตรอเบอร์รีเน่าไป
“เหตุการณ์นี้สัมพันธ์กับหลักการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมในงานสังคมศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ที่เราไม่อาจอธิบายว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากการ ‘ถูกกระทำ’ เท่านั้น แต่เป็นการ ‘ร่วมมือ’ กันกระทำจากผู้กระทำการหลายๆ ส่วน เช่น ในระดับแรงงานของดอยคำ อำนาจที่เข้ามากระทำการไม่ได้รับการตอบสนองร้อยเปอร์เซ็นต์
หากอธิบายในแง่อำนาจ คนที่รับอุดมการณ์มาเขาสามารถคิดต่อเองว่า เพราะอะไร ทำไมเขาถึงต้องเชื่อ อุดมการณ์นั้นจะเอาไปใช้อะไรได้บ้างในชีวิตของเขา เกิดประโยชน์อะไรต่อเขา
แม้ว่าแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์เลือกปฏิเสธบางอุดมการณ์ของโครงการ เช่น ปฏิเสธวัดใน ‘ดอยคำโมเดล’ ซึ่งเท่ากับปฏิเสธพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกโครงการถึงยุคปัจจุบัน หางานอื่นทำเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อีกทั้งต่อรองกับแบบแผนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมแล้วเลือกประเพณีความเชื่อมาก่อน แต่พวกเขาก็เลือกรับบางอุดมการณ์เช่นกัน เช่น อุดมการณ์ความจงรักภักดี
“ชาวบ้านเอาความจงรักภักดีมาใช้
ในกล่องน้ำผลไม้ดอยคำ มีอุดมการณ์ต่างๆ บรรจุอยู่มากมาย ทั้งอุดมการณ์รัฐที่พยายามปลูกฝังความรักชาติให้แก่แรงงานชาติพันธุ์ ศาสนาพุทธที่พ่ายแพ้ ประเพณีดั้งเดิมที่ได้ชัยชนะ วิทยาศาสตร์ที่รุดพาดอยคำให้ก้าวทันเสรีนิยมใหม่ วิทยาศาสตร์ที่ผสานเข้ากับการบำเพ็ญบุญ เศรษฐกิจพอเพียงที่มาผ่อนเพลาความเปลี่ยนแปลง โลกทัศน์ของแรงงานที่ไม่อาจถอดพิมพ์จากบรรพบุรุษ ฯลฯ ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันนี้ คือแรงจูงใจในการศึกษาของปกรณ์ ดังที่เขากล่าวว่า
“ในงานวิชาการเวลาเราพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เราจะพูดถึงในเชิงที่ว่าสถาบันทำอะไรกับคนบ้าง แต่เราไม่เคยรับทราบจริงๆ ว่าสุดท้ายสถาบันสามารถทำอะไรได้บ้าง พูดง่ายๆ คืออำนาจมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (absolute) ขนาดไหน ซึ่งคำถามนี้กลายมาเป็นคำถามหลักๆ ในงานของผม” ปกรณ์กล่าว