ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ คลิตี้หลังคำพิพากษา สายน้ำยังคงติดเชื้อ

ตั้งแต่วัยเยาว์จนเขาเติบใหญ่ หมู่บ้านคลิตี้สำหรับ มิ๊ก-ธนกฤต โต้งฟ้า ไม่เคยปลอดภัย สายน้ำที่ทอดยาวตรงหน้ากลายเป็นสิ่งต้องห้าม ธนกฤตยังจำได้แม่นยำ หากวันใดที่เขาแอบย่องไปกระโดดเล่นน้ำ ภาพของแม่และยายที่ยืนเท้าเอวพร้อมไม้หวายจะปรากฏขึ้นในทันที

“แม่ว่ามันไม่ดี มันมีของไม่ดีอยู่ในน้ำ”

ธนกฤตเติบโตมาแบบ ‘ลูกป่าลูกน้ำ’ ในหมู่บ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงห่างไกล ปราศจากไฟฟ้า ถนนลาดยาง กรุณาอย่าถามหาอินเทอร์เน็ต เพราะกระทั่งสัญญาณโทรศัพท์ก็เพิ่งมีให้ใช้ได้ไม่นานนี้เอง  

“น้ำกับชีวิตวัยเด็กเป็นของคู่กัน แต่สมมุติว่าแม่เห็นเราเล่นน้ำปุ๊บ เราจะว่ายข้ามไปอีกฝั่ง แล้วรีบวิ่งกลับบ้าน แม่ก็จะไปดักรอที่บ้าน แล้วสื่อสารกับเราด้วยการตี” 

เขาหาเหตุผลมาตอบความสงสัยในเหตุการณ์นั้น ‘สงสัยกลัวเด็กจมน้ำล่ะมั้ง’ แต่เปล่าเลย ธนกฤตในวัย 28 ปี ค้นพบความจริงที่ว่า ‘บ้านของเขาปนเปื้อนสารพิษตะกั่วต่างหากล่ะ’

มิ๊ก-ธนกฤต โต้งฟ้า ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานกลุ่มเยาวชน ‘คลิตี้ล่างดีจัง’

เป็นปกติของหมู่บ้าน เมื่อเด็กๆ โตพอจะเข้าโรงเรียนได้ เขาเหล่านั้นต้องเดินทางไปร่ำเรียนในตัวเมืองกาญจนบุรี จะได้กลับมาทีก็ปิดเทอมโน่น ลิ้นจี่-ธารวารินทร์ ทองผาภูมิประภาส ก็เช่นกัน เธอเกิดและโตมากับธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจนเป็นวิถี มันคือความปกติที่เธอไม่ใคร่สงสัยเท่าใดนัก แต่เท่าที่จำความได้รางๆ เด็กหญิงลิ้นจี่ต้องนั่งรถเป็นวัน ออกจากหมู่บ้าน ตามพ่อและแม่ไปขึ้นศาลในตัวเมืองอยู่เนืองๆ 

“พ่อของเราชื่อ ชาตรี เขาคือหนึ่งใน 22 รายชื่อที่ฟ้องร้องคดีเหมืองแร่ ภาพที่เราจำได้ คือชาวบ้านใส่ชุดชาติพันธุ์รวมกันไปศาล” 

พอโตมาอีกหน่อย เธอต้องอาศัยในโรงเรียนกินนอนนอกหมู่บ้าน กลับบ้านปีละหนสองหน เห็นภาพชุมชนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ มันคือข่าวที่พาดหัวการฟ้องร้อง โดยมีชาวบ้านเป็นโจทก์ ที่ยังยืนหยัดต่อสู้อยู่นานหลายปี

“เรามีความทรงจำอีกเรื่องคือ เพื่อนที่ไปเรียนนอกหมู่บ้านรุ่นเดียวกัน เขามีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่าเพื่อน แล้วเขาจะต้องกลับมารักษาตัวในหมู่บ้านบ่อยๆ ด้วยความเป็นเด็ก เราอิจฉาเพื่อนมากที่ได้กลับบ้านบ่อย แต่เราไม่รู้หรอกว่า ชีวิตของเพื่อนไม่ปลอดภัย”

ลิ้นจี่-ธารวารินทร์ ทองผาภูมิประภาส
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานกลุ่มเยาวชน ‘คลิตี้ล่างดีจัง’

เกิดอะไรขึ้นที่ ‘คลิตี้’

เรื่องราวของ ‘หมู่บ้านคลิตี้’ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตต่อสาธารณชนในปี 2541 เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นรวมตัวร้องเรียนต่อกรมควบคุมมลพิษให้ตรวจสอบการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วย เมื่อสัตว์เลี้ยงทยอยล้มตายอย่างปริศนา น้ำในห้วยเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านล้มป่วยอย่างไร้สาเหตุ ทั้งปวดศีรษะ ประสาทตาถูกทำลาย ทารกแรกเกิดเติบโตพร้อมกับความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง มันคือความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืน

หลังการเข้าไปตรวจสอบของกรมอนามัย พบว่าชาวบ้านคลิตี้มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งปริมาณสารตะกั่วที่ถูกสะสมอยู่ในสัตว์น้ำ ก็มีตัวเลขสูงลิ่วเกินกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว… 

ต้นตอของหายนะครั้งนี้ เกิดจากเหตุรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ จากกิจกรรมการแต่งแร่ตะกั่วของโรงแต่งแร่ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ก่อตั้งเหมืองแร่ในชุมชนคลิตี้ตั้งแต่ปี 2510 ส่งผลให้สารพิษไหลลงลำห้วย กระทั่งบริษัทต้องปิดกิจการเหมืองแร่ถาวรไปในปี 2544

ชีวิตของชาวบ้านไม่ปลอดภัยอีกต่อไป น้ำที่เคยอุปโภคบริโภคล้วนเป็นพิษ บริษัทเหมืองแร่ที่ปิดตัวลงโดยทิ้งหายนะเอาไว้ให้ดูต่างหน้า

ปี 2547 ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 คนรวมตัวยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายและฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมาปลอดภัยดังเดิม 

กระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2556 ชาวบ้านคลิตี้ล่างชนะคดีจากการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าชดเชยและฟื้นฟูลำห้วย โดยต้อง ‘กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืช ผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่ว ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี’

9 ปีกับการฟ้องร้อง ชาวบ้านชนะคดีทุกศาล ทั้งศาลแพ่ง ศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ข่าวคราวชัยชนะแพร่สะพัดสู่สาธารณะ และคล้ายว่าหลังจากนี้ ชีวิตของพวกเขาจะปลอดภัย น้ำจะใสสะอาดอีกครั้ง

“เราดีใจ เราคิดว่าความยุติธรรมมันมีอยู่ แล้วตอนนั้น เราไม่ได้คิดว่าเรื่องมันจะยุ่งยากบานปลายมาถึงขนาดนี้ เราคิดว่า เราชนะคดี น้ำจะใสสะอาดแล้ว ชีวิตเราจะปลอดภัยแล้ว แต่เราดันมองข้ามวิธีการและกระบวนการฟื้นฟูไป และกลายเป็นว่า หลังชนะคดี มีการฟื้นฟูเกิดขึ้น ปัญหากลับตามมามากมาย” 

ถ้อยคำของ น้ำ-ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หนึ่งในเยาวชนคลิตี้ล่างที่ยังยืนหยัดต่อสู้แม้สิ้นสุดคดีความ เราอาจเรียกมันว่า ‘ความพ่ายแพ้ของผู้มีชัย’ กับปัญหาระลอกใหม่ที่ชื่อว่า ‘การฟื้นฟู’

เมื่อสายน้ำยังคงติดเชื้อ 

คำพิพากษาของศาลถือเป็นอันสิ้นสุด กรมควบคุมมลพิษจะต้องฟื้นฟูชุมชนและลำห้วยให้กลับมาปลอดภัยใช้อุปโภคและบริโภคตามเกณฑ์มาตรฐาน ภายในกรอบเวลา 1,000 วัน ซึ่งในภายหลัง มีการต่อเวลาเพิ่มอีก 82 วัน ด้วยเหตุผลว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินงานนั้นติดชะงัก เป็นอันว่า ตามสัญญาขอบเขตงาน (TOR) การฟื้นฟูจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 โดยมีงบประมาณการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ทั้งเพื่อศึกษา ออกแบบ และฟื้นฟู จากเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น 454 ล้านบาท ทว่าเมื่อครบกำหนด นอกจากไม่อาจดำเนินการฟื้นฟูได้ตามเป้าแล้ว ยังพบปัญหาตามมาอีกระลอก

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หรือ ‘อาจารย์ปอม’ นักวิชาการภาคประชาชน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว เล่าให้ฟังถึงข้อค้นพบจากการติดตามและตรวจสอบการฟื้นฟูมาเป็นเวลาหลายปี 

“จริงๆ แล้ว ปัญหาที่คลิตี้นั้นมีมาตลอด กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จ้างศูนย์วิจัยเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาศึกษาว่าจะดูดตะกอนปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยยังไงบ้าง การปนเปื้อนเป็นอย่างไร จนได้คำตอบว่า จะดูดแค่สองช่วงเท่านั้น ไม่ได้ดูดทั้งหมู่บ้าน รวมแล้ว 40,000 ตัน

“เราคัดค้านมาตลอดที่เขาจะดูดแค่สองช่วง ที่เหลือจะใช้ฝายดักตะกอนดักไว้ แล้วดูดตะกอนเอาจากฝาย เราคัดค้านว่า ฝายที่เขาว่ามันดักตะกอนตะกั่วที่มีขนาดเล็กขนาดนี้ไม่ได้ เราเคยขอรายการคำนวณว่า ฝายที่เขาว่ามันสามารถดักตะกอนที่มีขนาดเล็กได้ขนาดไหน …ซึ่งไม่มีรายการคำนวณนั้น เขายอมรับว่ามันคือฝายชะลอน้ำธรรมดา”

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการภาคประชาชน
จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วิธีการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษในธรรมชาตินั้น ผศ.ดร.ธนพล อธิบายโดยแบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกันคือ หนึ่ง-ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง สอง-การขุดลอกตะกอน และ สาม-การครอบตะกอน

“วิธีธรรมชาติบำบัด ใช้กับที่คลิตี้ไม่ได้ เพราะตะกั่วที่ปนเปื้อนเป็นโลหะหนัก 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ธรรมชาติไม่อาจฟื้นฟูได้เลย เราได้ทำการศึกษาโดยนำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ มาทำแบบจำลองและตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไปแล้ว ยืนยันว่า จุดที่ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ใช้เวลาอย่างน้อย 300 ปีครับ

“ส่วนวิธีการครอบตะกอน เป็นที่นิยมในอเมริกาและไต้หวัน เพราะที่ต่างประเทศตอนนี้ สิ่งที่เขากลัวคือการฟุ้งของตะกอน เขาจึงใช้วิธี การครอบตะกอน โดยการใส่แผ่น Geotextile เพื่อกดตะกอนที่ปนเปื้อนไว้ด้านล่าง แล้วให้ตะกอนใหม่ที่ไม่เปื้อนไหลมาสร้างชั้นระบบนิเวศใหม่ด้านบน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็ได้ปฏิเสธวิธีนี้ไป”

วิธีการที่กรมควบคุมมลพิษเลือกใช้ในการฟื้นฟู คือ ‘การดูดตะกอน’ ด้วยการว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) มารับเหมาฟื้นฟู ทว่าเมื่อถึงกระบวนการทำงาน กลับพบว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญาการว่าจ้าง (TOR) อีกทั้งยังทำให้ตะกอนใต้ท้องน้ำลำห้วยฟุ้งกระจาย กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนริมห้วย 

อีกประเด็นสำคัญคือ การฟื้นฟูลำห้วยนั้นจะต้องกำหนด ‘ค่าเป้าหมายการฟื้นฟู’ นั่นหมายความว่า กรมควบคุมมลพิษจะต้องฟื้นฟูจนกระทั่งค่าตัวเลขการปนเปื้อนตะกั่วที่สูงลิ่วลดลงสู่ตัวเลขที่ชาวบ้านใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย 

ทว่าในขณะนี้ ‘ค่าเป้าหมายการฟื้นฟู’ ที่ว่า ยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่สิ้นสุด 

“เราทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณโดยใช้วิธีมาตรฐานของ U.S. EPA (องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา) พบว่า พื้นที่ของหมู่บ้านคลิตี้มีศักยภาพที่ทำได้คือ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถ้าฟื้นฟูได้ถึงตัวเลขนี้ เด็กที่อยู่ในหมู่บ้านจะมีความเสี่ยงในระดับที่ ‘พอยอมรับได้’ ”

563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คือค่ามาตรฐานจากการค้นคว้าของ ผศ.ดร.ธนพล และทีมงาน ทว่าอีกด้าน กรมควบคุมมลพิษได้เสนอตัวเลขค่ามาตรฐานในการฟื้นฟูครั้งนี้ไว้ถึง 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยอ้างว่า เพราะธรรมชาติของหมู่บ้านคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วอยู่แล้ว

“เราก็ยังยืนยันว่า ตัวเลข 1,800 นี้ยังสูงเกินไป ยังเป็นอันตรายต่อชาวบ้านเกินไป ต้องเป็นตัวเลข 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึงจะรับได้”

คำถามที่สำคัญคือ แผนการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษตลอด 1,000 วันที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพและเป็นจริงได้แค่ไหน ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ แล้วเมื่อการฟื้นฟูไม่สำเร็จ ใครคือผู้รับผิดชอบ

“ผมกล้าพูดว่า ระบบแบบที่กรมควบคุมมลพิษทำขึ้น ในโลกนี้ไม่มีใครทำ มีแต่ที่นี่ที่เดียว” 

9 มีนาคม 2563 ทีมของ ผศ.ดร.ธนพล ได้ลงพื้นที่สำรวจและพบว่า การฟื้นฟูไม่ถูกต้องตามสัญญาการฟื้นฟู (TOR) ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูตามหลักวิชาการนั้น คือการดูดตะกอนเข้าไปในถุงดักตะกอนจีโอเท็กซ์ไทล์ (Geotextile) แล้วรอให้น้ำที่ถูกปล่อยออกมามีความใส แต่หากพบว่า น้ำมีความขุ่นเพียงเล็กน้อย ต้องนำน้ำไปไว้ในบ่อตกตะกอน แล้วจึงค่อยปล่อยน้ำที่ใส ไร้การปนเปื้อนลงสู่ลำห้วย

“มีการเร่งกระบวนการโดยการเหยียบถุง น้ำที่ปนเปื้อนตะกั่วก็ทะลักออกมา โดยความเข้มข้นของสารตะกั่วที่เราวัดได้คือ 97 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยที่ค่ามาตรฐานที่จะยอมให้ปล่อยลงน้ำได้อยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร นั่นหมายความว่าเกินค่ามาตรฐานไปอย่างบ้าคลั่ง 

“เราพบว่ามีกระบวนการเร่งฟื้นฟู เพราะบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน อยากจะเร่งงานให้เสร็จไวๆ จึงใช้การเหยียบๆ แล้วปล่อยน้ำที่ยังปนเปื้อนค่าตะกั่วในตัวเลขที่สูงลงลำห้วยโดยตรง โดยไม่มีบ่อตกตะกอนตามที่เขาได้เขียนไว้ในสัญญา น้ำที่บอกว่าต้องใสก่อนปล่อยสู่ลำห้วย ก็ไม่ใส

“คำถามคือ หากการฟื้นฟูไม่สำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ”

1,000 วันของการฟื้นฟูลำห้วย  

ท้ายไร่ของลุงวิบูลย์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนคลิตี้ล่าง และเป็นพื้นที่ที่น้ำประปาภูเขายังมาไม่ถึง ชาวบ้านจึงยังต้องพึ่งพาน้ำในลำห้วยเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างเลือกไม่ได้ 

“วันนี้เรามาเก็บทั้งค่าความขุ่นของน้ำ และค่าตะกั่ว รวมทั้งเก็บตะกอนไปตรวจดูว่าหลังมีการฟื้นฟูแล้ว ตะกั่วผ่านค่ามาตรฐานไหม โดยเทียบกับข้อมูลที่เราเก็บไว้ก่อนการฟื้นฟู และเทียบกับข้อมูลย้อนหลังประมาณ 10 กว่าปีที่เรามีว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

“ตะกอนในลำห้วยที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว ศาลสั่งว่าต้องผ่านค่ามาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี ในวันนี้ การฟื้นฟูได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน (2563) เราเลยมาตรวจดูว่า ประสิทธิภาพของการฟื้นฟูเป็นอย่างไร”

ผศ.ดร.ธนพล อธิบายว่า การจะได้มาซึ่งตัวเลขสุดท้ายเพื่อมาเทียบกับค่าปลอดภัยมาตรฐาน 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ต้องผ่านกระบวนการตกตะกอน ร่อน อบให้แห้ง แล้วจึงส่งไปวัดค่าในแล็บ แต่ขณะลงพื้นที่ครั้งนี้เขาใช้เทคนิคที่เรียกว่า X-ray Fluorescence หรือการวัดค่าตะกั่วเบื้องต้น โดยนำตัวเลขที่ได้ไปเทียบกับตัวเลขจากบริเวณต้นน้ำที่ไม่ปนเปื้อน เพื่อให้ทีมสื่อมวลชนได้เห็นทิศทางของการฟื้นฟูว่ากำลังเดินไปในทางไหน 

“เราวัดคุณภาพน้ำจากบริเวณ ‘ต้นน้ำห้วยดิกะ’ ที่ไม่ปนเปื้อน ตัวเลขที่ได้คือ 61 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ ค่าที่เราวัดได้ ณ บริเวณท้ายไร่ลุงวิบูลย์ คือ 1,821 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมัน… มันสูงกว่าค่าต้นน้ำที่ห้วยดิกะ สูงกว่า 30 เท่า สรุปได้คร่าวๆ ว่า มันยังมีการปนเปื้อนสูงอยู่”

ย้ำอีกครั้ง จากคำสั่งศาลว่าด้วยความสำเร็จของการฟื้นฟู คือลำห้วยคลิตี้ ต้องผ่านค่ามาตรฐาน น้ำต้องสามารถดื่มได้ ปลา พืชผัก ต้องผ่านค่ามาตรฐานและปลอดภัย

“ตอนนี้กรมควบคุมมลพิษได้ขอไปที่ศาลว่า จะขอฟื้นฟูให้ค่าลงมาอยู่ที่ 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่เรากำลังแย้งอยู่ว่า ขอให้เป็นตัวเลข 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 

“เพราะหากเป็นตัวเลข 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แปลว่า เด็กในหมู่บ้านมีความเสี่ยงที่จะมีตะกั่วในเลือดมากขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือในเด็ก 100 คน จะมีค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน 30 คน”

ตัวเลขนี้ไม่อาจยอมรับได้ในทัศนะของ ผศ.ดร.ธนพล เพราะความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของเด็กๆ และชาวบ้านในชุมชน นั้นมีมากจนยากจะประเมินค่า 

ขณะนี้เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าตัวเลข ‘ค่ามาตรฐานปลอดภัย’ ที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดในการฟื้นฟูจะจบที่ 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามการร้องขอของกรมควบคุมมลพิษ หรือจบที่ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามผลการวิจัยของคณะนักวิชาการสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่เราทำคือ เรายื่นไปว่า ตัวเลขที่กรมควบคุมมลพิษเสนอ เราไม่เห็นด้วย ขอให้ศาลไต่สวน ตรวจสอบ ซึ่งตามกระบวนการแล้วศาลต้องการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาบรรลุผลไหม เพียงแต่กระบวนการที่ว่านี้มันไม่เกิดขึ้นเสียที มีแต่การทำหนังสือแล้วยื่นกันไปยื่นกันมา ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยอะไร ฝากตามการบังคับคดีด้วยนะครับว่าทำไมถึงล่าช้า”

ผู้ชนะที่ไร้ซึ่งปากเสียง 

“เราจำได้ว่า พ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบมีคนมาเรียกพ่อ กลางค่ำกลางคืนพ่อก็ต้องออกไปตลอด แต่พ่อไม่เคยพูดอะไรให้เราฟังเลย ไม่ว่าจะการต่อสู้ ฟ้องร้องหรือผลกระทบจากตะกั่ว”

‘ยะเสอะ’ คือผู้ที่ยืนหยัดสู้กับการฟ้องร้องคดีมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เขาคือพ่อของ น้ำชลาลัย นาสวนสุวรรณ เยาวชนหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และเธอคือนักสู้รุ่นสองตามรอยของพ่อ

“เขาไม่ได้อยากให้เรามายืนตรงนี้เหมือนเขา พ่อไม่เคยสนับสนุนและไม่มีคำอธิบายจากพ่อด้วยว่าทำไม แต่เราคิดเอาเองว่า เขาไม่อยากให้เราเผชิญกับสิ่งที่เขาเคยเจอ มันเสี่ยงนะ พูดเยอะก็ไม่ได้”

ชลาลัย นาสวนสุวรรณ
น้ำ-ชลาลัย นาสวนสุวรรณ
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานกลุ่มเยาวชน ‘คลิตี้ล่างดีจัง’

ชลาลัยรับรู้ปัญหาของชุมชนผ่านข่าวสารที่แพร่สะพัดในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ มันเป็นความรู้สึกที่เล่ายาก – น้ำนิ่งคิดไปพักใหญ่ 

“แต่ถ้าเราไม่พูด แล้วใครจะพูด ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ ปัญหาที่เราเผชิญ ถ้าเราไม่เล่า แล้วใครจะมาเล่าแทนเราได้” 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอกลับมาทำงานชุมชนผ่าน ‘คลิตี้ล่างดีจัง’ กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรม ส่วนอีกหน้างาน เธอทำหน้าที่เปรียบเสมือน ‘ข้อต่อ’ ระหว่างคนภายนอกและชาวบ้าน เป็นทั้งล่ามและนักสื่อสาร ไปจนถึงการติดตามกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน กลไกที่เธอบอกว่า – มันคือพิธีกรรม

“เราไม่รู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงไหน แม้แต่เราจะขอข้อมูลเอกสารมาศึกษา เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วม เรายังไม่ได้เลย มันจึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมยังไง

“ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูนั้น เราไม่ได้รับความโปร่งใส ความจริงใจในการพูดคุยเจรจาเลย ชาวบ้านไม่เคยได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน อีกอย่างคือ สิ่งที่เกิดขึ้น ชีวิตเรายังไม่ปลอดภัย อย่าลืมว่า เป้าหมายสูงสุดของการฟื้นฟู คือน้ำและสภาพแวดล้อมกลับมาสะอาดปลอดภัยเหมือนเดิม” 

ละกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง และหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี เขาคือเขยคลิตี้ ที่ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องธรรมชาติที่ปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มันคือเวลาที่ยาวนานกว่าสองทศวรรษ ของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสารพิษที่ตนไม่ได้ก่อ 

“ตอนสู้แรกๆ โอ้โห ตั้งม็อบ ประท้วง ไปเสวนา ไปศาลากลาง ไปกรุงเทพฯ ทำเรื่องฟ้องร้อง เหลือแต่ถนนนี่แหละที่ยังไม่ได้ลง ส่วนมากจะเข้ากระทรวง ไปประชุม ไปถามรัฐมนตรีแต่ละคน มันก็เหนื่อย

“สิ่งที่ยากสุดก็คือปัญหาที่พวกเราต้องแบก ทั้งปัญหาครอบครัว อาชีพเราก็ต้องทำไร่ ต้องหาเงินเดินทางไปสู้คดี แล้วต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว มันยาก และหนัก” 

ละ-กำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง และหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี

ในฐานะชาวบ้านที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนฟื้นฟูของหน่วยงานและเอกชนผู้รับเหมา ผ่านกลไกของ ‘ไตรภาคี’ เขาสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา – มันคือการมีส่วนร่วมที่ฉาบฉวย เสียงของชาวบ้านไม่ได้ถูกรับฟังอย่างจริงจัง 

“การทำงานที่จะเดินหน้าได้ ต้องรู้ข้อมูลไปด้วยกันทุกคน ไม่ใช่หน่วยงานรู้อยู่ฝ่ายเดียว แต่นี่อะไร การเข้ามาทำงานฟื้นฟูในแต่ละจุดของหมู่บ้านนั้น จะทำอะไรบ้าง มีแผนการยังไง เขาไม่ชัดเจน การมาพูดเฉยๆ มันไม่กระจ่าง เราไม่มั่นใจ ถ้าคุณมาคุยกับเราด้วยเอกสาร ด้วยหลักฐาน เอ้อ! ชาวบ้านก็มั่นใจ เชื่อใจคุณ 

“บ้านเรามันมีหลายกรณี หนึ่ง-เราพูดกันคนละภาษา สื่อสารยาก สอง-ภาษานักวิชาการ ยากไปอีกขั้นหนึ่ง ตรงนี้คือปัญหา ถ้าคุณมาสื่อสารกับชาวบ้านด้วยภาษาชาวบ้าน ให้เราเข้าใจด้วย แปลงภาษาวิชาการให้ชาวบ้านเข้าใจหน่อย ไม่ใช่มาด้วยเอกสาร TOR ผมเคยเปิดดูทีนึง โอ้ มีทั้งภาษาอังกฤษ ศัพท์ยากๆ งงตึ้บเลย”

ข้อกังวลหลักของชาวบ้าน ว่าด้วยประเด็น ‘ที่ทำกิน’ จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษกับบริษัทเบตเตอร์ฯ เข้าใช้พื้นที่ของชาวบ้านในการตักตะกอนตะกั่วริมตลิ่ง ส่งผลให้หน้าดินที่ชาวบ้านใช้ทำกินหายไป ไร้ซึ่งการแก้ไข ประกอบกับการสื่อสารที่ปราศจากความชัดเจน สร้างความกังวลใจว่าชาวบ้านจะสูญเสียที่ดินในการทำมาหาเลี้ยงปากท้องหรือไม่ 

ตลอด 1,000 วันที่ผ่านมา คล้ายว่ากระบวนการฟื้นฟูนั้นมุ่งหน้าสู่การดูดตะกอน โดยไม่ยึดโยงกับชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ว่าเขาเหล่านั้นจะมีชีวิตที่ปลอดภัยหรือไม่ แม้มีการศึกษาและวางแผนก่อนการลงมือฟื้นฟูเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี แต่ในเชิงปฏิบัติ กลับปรากฏชัดว่า กระบวนการดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรหากเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป

“ความฝันของผม นี่คือบทเรียนของประเทศไทย ของรัฐบาล ทุกคนต้องมาเดือดร้อน หากจะมีการทำเหมืองแร่ใดอีก คลิตี้คือสถานที่สำคัญที่คุณต้องคำนึงถึงตลอดว่ามันคุ้มไหมกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่ต้องมาฟื้นฟูหมดเงินไปไม่รู้กี่ร้อยล้าน” กำธร ศรีสุวรรณมาลา กล่าวทิ้งท้าย

คำพิพากษาที่ไม่เป็นจริง 

คลิตี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด และถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาสำคัญของประเทศไทย ในการกำหนดโมเดลการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษขนาดใหญ่ในอนาคต เพราะหากเราย้อนไปดูไทม์ไลน์ของคลิตี้ จะเห็นได้ชัดว่า ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตกว่า 30 ปี ในพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ ใช้เวลาอีก 9 ปีกับการฟ้องร้องคดีความ และใช้เวลาอีก 7 ปีนับแต่คำตัดสินของศาล ไปกับการฟื้นฟูที่ยังไม่สำเร็จผล ชวนให้นึกถึงถ้อยคำหนึ่งที่ว่า ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม’

“เรื่องการฟื้นฟูนั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายมากมายเต็มไปหมด สมมุติว่ามีความเจ็บป่วย ก็ไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายสาธารณสุข หรือกรณีการสร้างฝายดักตะกอน ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับกรมทรัพยากรน้ำ เกี่ยวไปหมด ต้องขออนุญาตใช้ป่า ค่อนข้างเป็นเรื่องที่มีกฎหมายมาเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่มันกลับไม่บูรณาการกัน เขาถึงบอกว่า สุดท้ายแล้ว บ้านเราไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูโดยตรง”

ข้างต้นคือความเห็นของ ทนายทอม-สุรชัย ตรงงาม ทนายความอาสาที่ว่าความกรณีเหมืองแร่คลิตี้มานานกว่า 20 ปี โดยเขาได้หยิบยกหลักการของ ‘สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA)’ มาอธิบายถึงกลไกการแก้ปัญหาหากประชาชนได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารพิษไว้ว่า 

หนึ่ง – รัฐจะเข้ามาปฏิบัติก่อนอย่างเร่งด่วน 

สอง – สอบสวนค้นหาเอกชนผู้ก่อมลพิษ และผลักดันให้เอกชนดำเนินการฟื้นฟูแก้ไข

สุรชัย ตรงงาม
ทนายทอม-สุรชัย ตรงงาม ทนายความอาสา

“พูดง่ายๆ ว่า ระบบการฟื้นฟูเยียวยาจะรันต่อไป หากเอกชนไม่พอใจก็ไปฟ้องเอา แต่ต้องปฏิบัติการก่อน ระบบเขาจะเดินไปอย่างนั้น 

“แต่ของบ้านเรา ฟื้นฟูหรือไม่ฟื้นฟู คลุมๆ เครือๆ ไป จนชาวบ้านต้องออกมาฟ้อง เมื่อมีคำพิพากษาจึงค่อยเริ่มต้นฟื้นฟู นี่คือปัญหา เพราะมันนานมาก อย่างกรณีคลิตี้ ฟ้องร้องปี 2547 มีคำพากษา 2556 โอ้โห 9 ปีนะกว่าจะชนะอย่างถึงที่สุด พอผ่านการฟ้องร้องมา 9 ปี ถึงได้มีการเริ่มต้นว่าจะศึกษาฟื้นฟูยังไง ผ่านมาอีก 7 ปี การฟื้นฟูก็ยังมีปัญหาอยู่”

จากปัญหาของกระบวนการฟื้นฟู ทั้งความไม่มีประสิทธิภาพของวิธีการฟื้นฟู ความไม่โปร่งใสของกระบวนการทำงาน ไปจนถึงการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน นำมาซึ่งความสงสัยที่ว่า หากเราไม่หยุดทบทวนแล้วแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นที่คลิตี้ ประชาชนยังต้องเผชิญปัญหาจากกระบวนการฟื้นฟูที่ล้มเหลวเช่นนี้อีกกี่ครั้ง 

“นี่ขนาดคลิตี้ลำห้วยเดียว หมู่บ้านเดียว ถ้าสมมุติเป็นที่มาบตาพุดล่ะ การฟื้นฟูจะเป็นยังไง” 

หนึ่งในกลไกสำคัญที่ ทนายสุรชัย ตรงงาม มองว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ที่ต้องไม่ใช่การมีส่วนร่วมแบบ ‘พิธีกรรม’ อีกทั้งกลไกที่ชื่อว่า ‘ไตรภาคี’ ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานรัฐ เอกชน นักวิชาการและชาวบ้านนั้น จะต้องไม่ใช่ ‘ไตรราคี’ ที่ทำขึ้นพอเป็นพิธีแต่ไร้ซึ่งความหมาย 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอ ทุกอย่างมันมีระยะเวลาที่กระชั้น และหน่วยงานไม่ให้ข้อมูลที่เพียงพอ เช่น มีการติอต่อให้คณะกรรมการไตรภาคีไปร่วมตรวจจำนวนตะกอนตะกั่วที่อยู่ในลำห้วย บอกวันนี้ พรุ่งนี้ไปตรวจ 

ชาวบ้านต่างพูดตรงกัน หนึ่ง การได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอจากหน่วยงานรัฐ สอง การไม่ได้รับความเสมอภาคในการออกความเห็น

“การมีส่วนร่วม แปลว่า การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ซึ่งหมายถึงว่า ต้องเข้าใจ สามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้คนที่มีอำนาจรับฟัง แล้วนำความเห็นไปพิจารณา ถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร คนที่มีอำนาจต้องสะท้อนความเห็นนั้นกลับมา ไม่ใช่ชาวบ้านออกความเห็นไป… แล้วไง”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า