ไกลออกไปจากชายฝั่งทะเล บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากเกาะภูเก็ต และขึ้นชื่อว่าเป็นเพชรเม็ดงามทางทะเลของฝั่งอ่าวไทย จุดหมายของการท่องเที่ยวที่ใครหลายคนหมายมั่นไปเยือนสักครั้งหนึ่งเพื่อสัมผัสสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่สวยงาม
ขณะเดียวกัน เสียงคัดค้าน ‘กำแพงกันคลื่น’ เริ่มปรากฏบนเกาะสมุย เมื่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เริ่มดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลเเม่น้ำเเละตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ในพื้นที่หาดเเม่น้ำ เเละจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหาดบางมะขาม ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ของทั้งสองพื้นที่นั้น เกิดจากการร้องขอโดยเทศบาลเมืองสมุย ซึ่งไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ จึงร้องขอการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการ ทำให้กรมโยธาธิการเดินหน้าศึกษาและออกแบบโครงการดังกล่าวใน 2 พื้นที่ชายหาดของเกาะสมุย
หลังจากกรมโยธาธิการได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ได้มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 11 แนวทาง ให้ประชาชนได้พิจารณา ดังนี้
- กำหนดแนวถอยร่น
- การปลูกป่าชายหาดและป่าชายเลน
- การถ่ายเททราย
- เติมทรายชายฝั่ง
- ปักรั้วไม้ดักทราย
- เขื่อนถุงทราย
- เขื่อนหินเรียงใหญ่
- เขื่อนหินเกเบี้ยน
- กำแพงคอนกรีตกันคลื่น
- เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได
- รูปแบบผสมผสาน (ผสมผสานโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบในพื้นที่เดียวกัน)
ท่ามกลางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่บริเวณหาดแม่น้ำ พะโยม บุญธัม หนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า
“ที่ผ่านมา กำแพงกันคลื่นได้สร้างปัญหาและผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งสมุยเองและชายหาดอื่นๆ ดังนั้นประชาชนในสมุยจึงไม่เห็นด้วยและกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างยิ่ง เพราะเกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่ต้องอาศัยหาดทรายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นจึงเป็นการทำลายการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของเกาะสมุย”
#SaveKoSamui คนสมุยไม่เอากำแพงกันคลื่น
เหตุผลที่การก่อสร้าง ‘โครงสร้างแข็ง’ ริมชายหาด หรือการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบไทยๆ ตามแนวชายหาด เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของชุมชน นั่นเพราะตัวอย่างที่ผ่านมาของชายหาดหลายพื้นที่ในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า หาดแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะตัว นั่นหมายความว่า ไม่มีหาดใดในโลกที่เหมือนกัน การแก้ปัญหาของชายหาดแต่ละแห่งจึงต้องอาศัยข้อมูลหลายด้าน และเก็บรวบรวมในระยะเวลาที่นานเพียงพอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา การนำโครงสร้างแข็งเพียงไม่กี่แบบไปสวมทับบนหาดทรายทุกที่ แล้วบอกว่า ‘นี่คือการแก้ปัญหา’ จึงเป็นวิธีการที่ควรถูกตั้งคำถาม
มากกว่านั้น ข้อถกเถียงเรื่องกำแพงกันคลื่นในระดับนานาชาตินับตั้งแต่ปี 1987 ได้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบดั้งเดิมดังที่ประเทศไทยนิยมนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด อีกทั้งยังทำให้หาดทรายและ ‘สมดุลตะกอน’ บนชายหาดถูกทำลาย
ภายหลังจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น ประชาชนในเกาะสมุย ต่างไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ และเริ่มขึ้นป้ายคัดค้านพร้อมข้อความว่า “ไม่ต้องมาสร้างเขื่อนยาว 3 กิโลเมตร ให้นะ ขอบคุณที่หวังดี แต่ไม่น่ารักเลย มันทำลายชายหาด! ใครนะช่างคิด รู้นะคิดอะไรอยู่ จุ๊บๆ”
ข้อความดังกล่าวสะท้อนความกังวลของประชาชนต่อโครงการของกรมโยธาธิการอย่างถึงที่สุด และในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ จะถึงคราวของเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์หาดบางมะขาม
ต่อมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางหลักเกณฑ์โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อการพิจารณาเลือกมาตรการและรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพชายฝั่งทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ชายหาดต่างๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินนั้นมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมอยู่แล้ว แต่สำหรับพื้นที่เกาะอย่างเช่นเกาะสมุย และที่อื่นๆ นั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในทำนองเดียวกัน ดังนั้นจึงยิ่งทำให้การดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เกาะสมุย โดยกรมโยธาธิการฯ มีความน่ากังวลอย่างยิ่ง
กรมโยธาธิการฯ รับปากยกเลิกโครงการ
25 ตุลาคม 2565 ตัวแทนประชาชนเกาะสมุย รวมตัวเดินทางไปยังกรมโยธาธิการฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อยื่นหนังสือขอให้ยุติการศึกษาโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หลังจากที่กรมโยธาธิการฯ ได้กำหนดรับฟังความคิดเห็นประชาชนหาดแม่น้ำและหาดบ้างมะขาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยประชาชนเห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความโปร่งใส ไม่อธิบายผลกระทบของโครงการอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงแนวทางที่กำหนดมานั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
อีกทั้งเกาะสมุยยังเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวสำคัญของโลก ดังนั้น หากมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล และจากการศึกษาของโครงการยังพบว่า พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งมีความยาวเพียง 50 เมตรเท่านั้น ซึ่งน่าจะมีมาตรการป้องกันโดยท้องถิ่นที่เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตลอดแนวชายฝั่งของหาดแม่น้ำ 1.5 กิโลเมตร และหาดบางมะขาม 2.3 กิโลเมตร ประชาชนจึงได้เดินทางมายังกรมโยธาธิการฯ เพื่อขอยกเลิกโครงการดังกล่าว และเรียกร้องให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เกาะสมุยแทนกรมโยธาธิการฯ
พงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ข้อมูลหลังรับหนังสือจากประชาชน ยืนยันว่า ภาครัฐยังไม่ได้ข้อสรุปในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนเกาะสมุย เพียงแต่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ ขณะนี้ยังไม่มีการขออนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด สาเหตุที่ต้องเข้าไปศึกษา เพราะได้รับคำร้องจากอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ให้เข้าไปดำเนินแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ และมีหนังสือจากท้องถิ่นแจ้งมาเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า หากชาวบ้านไม่ต้องการ ทางกรมฯ ก็จะไม่ดำเนินการ
ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยืนยันว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณา และไม่เพียงเฉพาะแค่โครงการบนเกาะสมุยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะมองว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งควรมีหลายมาตรการ กล่าวคือ เริ่มจากมาตรการอ่อนไปยังมาตรการแข็ง ไม่ใช่เลือกใช้แต่มาตรการก่อสร้างโครงสร้างถาวรเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย โดยต่อจากนี้ทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการกัดเซาะชายฝั่งเข้าร่วม เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
ท้ายที่สุด พงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ได้สรุปผลการหารือว่า กรมโยธาธิการฯ รับข้อเสนอให้ยกเลิกการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย หากประชาชนมองว่า การดำเนินการของกรมโยธาธิการฯ ยังไม่ครอบคลุม ขอให้ถอนโครงการออกไป ให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ มาศึกษา หาเเนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้มีองค์ประกอบคณะทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่ผมต้องประสาน คือ ท้องถิ่น เเละ กมธ.กัดเซาะชายฝั่งฯ ให้มีความเห็นตรงกัน ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหน้าหรืออะไรเลย เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ กรมฯ ก็พร้อมรับข้อเสนอของท่าน เเต่ต้องไปหารือกับทางเทศบาลเกาะสมุยเเละ กมธ. ตามที่เขาได้ร้องขอมา เเต่คิดว่าคงไม่มีปัญหาในการยกเลิกโครงการศึกษาดังกล่าว ผมมองว่า ในเมื่อภาคประชาชนมองว่าโครงการนี้ยังไม่ครบถ้วน เราก็ไม่ดื้อดึง…กรมโยธาธิการฯ ยืนยันที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และพร้อมที่จะรับข้อเสนอไปพิจารณาเเละดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”