‘ข้าว’ ในหลักฐานโบราณคดี: ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ

เรื่องและภาพ: กฤช เหลือลมัย

 

สมัยเป็นนักเรียนโบราณคดีเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ผมมีประสบการณ์หลอนๆ เกี่ยวกับ ‘ข้าว’ ในหลุมขุดค้นสองครั้งด้วยกัน

ครั้งแรกคือ ตอนไปเป็นอาสาสมัครช่วงสั้นๆ กับโครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม ชลบุรี นักเรียนปี 2 ผู้ด้อยประสบการณ์ภาคสนาม แต่อยากร่วมขุดงานระดับข้ามชาติ จำได้แม่นว่า ในตอนสายวันหนึ่งได้พบ ‘แกลบข้าว’ ในดินอัดเปลือกหอยแครงหนึ่งชิ้น แต่ดันนึกว่าไม่สำคัญ จึงเก็บรวมยัดใส่กระสอบหอยในชั้นดินของวันนั้นไป พอตกเย็นก็เอามาเล่าให้พี่ๆ นักโบราณคดีที่บ้านพักฟังแบบขำๆ

ผลคือ พอรู้ไปถึงโปรเฟสเซอร์ ชาร์ลส์ ไฮแอม (Charles Higham) ผู้อำนวยการขุดค้นโครงการร่วมระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยโอทาโก งานก็เข้าทันที ไฮแอมสั่งรื้อกระสอบหอยทุกกระสอบของชั้นดินเมื่อวานใหม่ เพื่อหาไอ้หอยตัวที่ผมคิดว่าเห็นให้พบ ลองหลับตานึกถึงหลุมขนาด 10 X 10 เมตร ขุดบนแหล่งโบราณคดีชายทะเลโบราณที่แทบจะเป็นสุสานหอยแครงดูนะครับ ว่าชั้นดินลึกแค่ 5 เซนติเมตรจะมีหอยสักกี่พันกี่หมื่นตัวกัน แน่นอนครับ หายังไงพวกเราก็ไม่พบไอ้หอยเจ้ากรรมตัวนั้น มันแทบกลายเป็นตราบาปติดตัวผมไปเลยทีเดียว

แม้การขุดค้นครั้งนั้น (พ.ศ. 2528) จะพบโครงกระดูกมนุษย์ถึงกว่า 150 โครง แต่เป็นที่รู้กันในตอนนั้นว่า สิ่งที่ไฮแอมต้องการ คือหลักฐานทุกอย่างเกี่ยวกับเมล็ดข้าว (มิน่าเล่า เขาถึงอยากได้ไอ้หอยตัวนั้นนัก) เพื่อเอามาวิเคราะห์ยืนยันทฤษฎีของเขา เรื่องกำเนิดเกษตรกรรมในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสรุป เขาเชื่อว่า การเพาะปลูกข้าวแบบทำนาทดน้ำแห่งแรกๆ ของโลกอยู่ที่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีในจีน เมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว และหลังจากนั้นก็แพร่ไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแม้มีหลักฐานว่ารู้จักกินข้าวอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็อาจเป็นข้าวป่า หรือข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูง ไม่ใช่ระบบทดน้ำแบบจีน

และผมเข้าใจว่า นักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังคงใช้ทฤษฎีนี้อธิบายพัฒนาการของเกษตรกรรมในดินแดนประเทศไทยอยู่ (อนึ่ง ข้อมูลเรื่องข้าวในทางโบราณคดีไทยค่อนข้างมีมากกว่า ‘ของกิน’ อื่นๆ มันอาจเป็นเพราะเราสนใจเรื่องที่เรากิน? ก็ไม่แน่นักนะครับ เราอาจสนใจตามฝรั่งก็ได้? บทความที่ผมอ้างอิงถึงในที่นี้คือ ‘จากนักล่ามาเป็นชาวนา จากข้าวป่ามาเป็นข้าวปลูก’ ของ พจนก กาญจนจันทร จากหนังสือ คน ข้าว นา ควาย ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เดือนกันยายน 2556 ลองหาอ่านดูนะครับ)

ผมคงไม่อธิบายเรื่องข้าวโบราณในรายละเอียดมากนัก เพียงแต่อยากเสนอบางประเด็นเล็กๆ ที่เห็นว่าน่าจะคิดต่อไปได้

นอกจากเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของกำเนิดเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องวิชาการอิงการเมืองรัฐศาสตร์โบราณด้วยอย่างไม่ต้องสงสัยนั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง ก็คือ ‘พันธุ์ข้าว’ ว่าชาวนาอุษาคเนย์ โดยเฉพาะสยามสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงช่วงสมัยประวัติศาสตร์ ปลูกข้าวอะไรกินกันบ้าง

นักวิชาการญี่ปุ่น ทาดาโย วาทาเบะ (Tadayo Watabe) ศึกษาเรื่องนี้ด้วยวิธีวิทยาของโบราณคดีไว้เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เขาเก็บตัวอย่างแกลบข้าวในอิฐโบราณสถานอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-24 ในประเทศไทย 108 แห่ง ในกัมพูชาแปดแห่ง จากการวิเคราะห์สัณฐานของแกลบข้าวอย่างละเอียด เขาบอกว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 พบแกลบข้าวเมล็ดป้อมสั้นและเมล็ดใหญ่มาก แกลบเมล็ดยาวเรียวพบน้อย ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-20 แกลบข้าวเมล็ดยาวเรียวเริ่มพบมากขึ้น ครั้งถึงพุทธศตวรรษที่ 20-23 แกลบเมล็ดยาวเรียบจึงทวีจำนวนมากขึ้นเป็นพิเศษ

งานศึกษาของ นคร สำเภาทิพย์ (2530) ลงรายละเอียดแคบเข้ามาอีกกับโบราณสถานในประเทศไทย ในที่สุดแล้ว ทั้งสองพบเหมือนๆ กันว่า มีการปรากฏตัวของข้าวเมล็ดป้อมสายพันธุ์เอเชียตะวันออก Japonica ก่อน ตั้งแต่เมื่อราว 2,500 ปีที่แล้ว ต่อด้วยข้าวพันธุ์เมล็ดยาวจากอินเดีย Indica ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 สอดคล้องกับผลงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า ข้าวเมล็ดป้อมมีแพร่หลายมาก่อน แล้วข้าวเมล็ดยาวเรียวแพร่เข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ นักวิชาการบางคน เช่น ดอเรียน คิว. ฟุลเลอร์ (Dorian Q. Fuller) ถึงกับอธิบายว่า โดยกำเนิด Indica นั้นคือลูกผสมของ Japonica กับข้าวป่าพันธุ์พื้นเมืองของเอเชียใต้ด้วยซ้ำไป

สรุปง่ายๆ คือช่วงแรกคนไทยนั้นกินข้าวเหนียว ต่อมาก็หันมาชอบกินข้าวเจ้าแทน

ความรับรู้ของนักโบราณคดีที่สนใจพฤกษพันธุศาสตร์จนปัจจุบันนี้ก็คือ ข้าวเมล็ดป้อมเป็นข้าวเหนียว ส่วนข้าวเมล็ดยาวคือข้าวเจ้า เมื่อผนวกเข้ากับข้อสังเกตที่เทียบเคียงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการกินข้าวของกลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาวแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้สร้างชุดคำอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างมีสีสันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิยุคแรกๆ กินข้าวเหนียว (Japonica) เป็นหลัก โดยมีของหมัก ดอง ปิ้ง จี่ ย่าง หมก ฯลฯ เป็นกับข้าว ครั้นเมื่อรับข้าวเจ้า (Indica) จากอินเดียเข้ามาพร้อมกับการค้าทางทะเลอันดามัน และศาสนาพราหมณ์ – พุทธ ก็ทำให้ ‘กับข้าว’ เปลี่ยนไป เริ่มมี ‘น้ำแกง’ เข้ามาหลากหลาย ทั้งแกงน้ำข้นใส่กะทิแบบอินเดีย กับแกงน้ำใสแบบจีน เป็นต้น

อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกนะครับ ประเด็นเรื่องข้าวๆ ของผมในบทความนี้มีนิดเดียวเท่านั้น…

ความรู้พื้นฐานในการแยกแยะข้าวเหนียวและข้าวเจ้า แรกทีเดียวก็คือทรงเมล็ด ข้าวเหนียวป้อมกว่าข้าวเจ้าแน่ๆ

ต่อมาก็คือความขุ่นความใสของเมล็ด ข้าวเหนียวนั้นดูด้วยตาเปล่าจะขาวขุ่นกว่ามาก

อีกอย่างที่ชี้ขาดเลยก็คือ สารประกอบสำคัญสองชนิดที่มีสัดส่วนต่างกัน ถ้าเป็นข้าวเจ้า จะมีอไมโลส (amylose) มากกว่า ยังผลให้แป้งร่วน สามารถจะ ‘เจ้า’ (คือ ‘หุง’ ในคำภาษาเหนือ) ต้ม นึ่ง หลามได้ ถ้าเป็นข้าวเหนียว จะมีอไมโลเพคคติน (amylopectin) มากกว่า ทำให้แป้งเหนียว ต้องนึ่งในหวด จึงจะได้กินดี

หากเป็นกรณีปัจจุบัน ก็คงพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการได้ไม่ยากใช่ไหมครับ ทีนี้ถ้าเป็นหลักฐานโบราณคดีที่ล่วงพ้นมาแล้วนับร้อยนับพันปี อย่างกรณีรอยแกลบข้าวในอิฐโบราณสถานล่ะ เราเห็นแต่เพียงขนาดและทรวดทรงของแกลบนั้น ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเห็นความขุ่นความใส และจะเช็คค่าอไมโลสหรืออไมโลเพคตินก็ทำไม่ได้เสียแล้ว ได้แต่เดาเอาตามลักษณะแกลบเท่านั้นเอง

ผมเพิ่งถามอาจารย์ ดร.รัทรดา เทพประดิษฐ์ แห่งคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้าวที่พบในแหล่งโบราณคดีนั้นเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว อาจารย์บอกว่า จะดูสีคงไม่ได้แล้ว ก็ต้องเก็บตัวอย่างมาให้มากหน่อยเพื่อทดสอบในห้องปฎิบัติการ ผมบอกว่าคงยาก เวลานักโบราณคดีพบข้าวใน site ก็มักพบแค่นิดๆ หน่อยๆ มีที่พบแยะเป็นกองๆ ก็คือ ‘ข้าวสารดำ’ มันเป็นข้าวที่น่าจะถูกไฟไหม้ อาจเป็นผลพวงของพิธีกรรมบางอย่างก็ได้ เพราะผมเคยอ่านเจอคำแปลตอนหนึ่งของ จารึกปราสาทพระวิหาร (2) อายุ พ.ศ. 1664 ด้านที่ 2 มีระบุถึง “…พระถนนไปสู่ ‘ลานเผาข้าวเปลือก’…” แต่อาจารย์รัทรดาก็อธิบายว่า ถ้าเนื้อเมล็ดข้าวไหม้จนดำ แปรสภาพเป็นคาร์บอนแล้วแบบนี้ ก็คงตรวจสอบไม่ได้แน่ๆ เลย

ที่ผมสนใจเรื่องนี้ เพราะเมื่อสองปีก่อน ได้ไปเที่ยวกาดหลวงเมืองเชียงตุง ในพม่า แล้วซื้อข้าวสารเมล็ดป้อมมากๆ กลับมา 2 กิโลกรัม พอหุงสุกในหม้อ ปรากฏว่าจากข้าวสารเมล็ดอ้วนป้อม มัน ‘ยืด’ ครับ ยืดยาวออกทางปลายทั้งสองด้าน หน้าตากลายเป็นข้าวบาสมาติ (Basmati) ของโปรดของคนอินเดียไป

แล้วผมเพิ่งมารู้ว่า พันธุ์ข้าวดั้งเดิมพันธุ์หนึ่งของสุพรรณบุรี ที่มูลนิธิข้าวขวัญเอามาพัฒนาจนบรรจุถุงจำหน่ายได้ก็มีแบบนี้ด้วย ‘ข้าวยืด’ เมล็ดป้อมอ้วนกลม แต่หุงสุกแล้วยาวแหลมปรี๊ดจนจำเค้าเดิมไม่ได้เอาเลย

ข้าวยืดแบบนี้น่าจะมีประโยชน์เรื่องประหยัดพื้นที่จัดเก็บนะครับ เพราะหุงขึ้นหม้อในอีกลักษณะหนึ่ง ทีนี้ทรงเมล็ดของมันทำให้ผมชักสงสัยว่า ถ้าสมมุติแกลบข้าวในอิฐโบราณที่หน้าตาเป็น Japonica เป๊ะๆ ซึ่งเรานึกมาตลอดว่าเป็นข้าวเหนียว จนนักวิชาการได้สร้างโมเดลคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวเมื่อพันกว่าปีก่อนขึ้นมาเชื่อมโยง ฯลฯ ไว้สารพัดเรื่อง ดันกลายเป็นไอ้ข้าวยืด Indica นี่เสียกว่าครึ่งค่อนล่ะ?

ผมแค่สงสัยเรื่องคำอธิบายที่วางอยู่บนฐานการจำแนกข้าวเจ้า – ข้าวเหนียวสมัยโบราณที่ลักษณะแกลบข้าว คือถ้าคนไทย – คนอุษาคเนย์กินข้าวเจ้า (ข้าวยืด) พันธุ์นี้มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ก่อนที่ข้าวเจ้า (เมล็ดยาว) อีกพันธุ์หนึ่งจะแพร่เข้ามาล่ะ ? การพยายามอธิบายกลุ่มคนโบราณบางกลุ่มให้สัมพันธ์กับพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ ก็คงต้องมาคิดกันใหม่แน่ๆ

จะทำให้เกิดการทบทวนอะไรทำนองนี้ได้ เราคงต้องสนใจและเห็นคุณค่าของ ‘ความรู้’ เรื่องข้าวมากกว่าปัจจุบัน ยังไม่ต้องพูดเลยไปถึงเผือก มันป่า กลอย สาคู หรือสาเก พืชอาหารที่ให้แป้งชนิดอื่นๆ ที่น่าจะเก่าแก่หลากหลายกว่าข้าวหรอกนะครับ เอาแค่ลำพังข้าว ทุกวันนี้ เราก็ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์ข้าว’ กันเลย

มันน่าแปลกไหมล่ะครับ สำหรับบ้านเมืองที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก และมีความทะยานอยากได้ใคร่ดีที่จะเป็นที่หนึ่งของ ‘ครัวโลก’ ในปัจจุบัน

ผมเกือบลืมเล่าประสบการณ์หลอนเรื่องที่สอง…ตอนนั้นผมเรียนชั้นปี 3 เป็น supervisor ย่อยในรายวิชา Field Archaeology III ต้องควบคุมดำเนินการขุดหลุมขุดค้นหนึ่งหลุม ที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี สิงห์บุรี

ในวันท้ายๆ หลุมของพวกซุปฯ แต่ละคนเริ่มทยอยเข้าสู่ชั้นดินปราศจากวัฒนธรรม (sterile) ที่ก้นหลุม คือเป็นดินแข็งๆ ที่ไม่พบโบราณวัตถุอะไรอีก ลักษณะแบบนี้บ่งถึงช่วงเวลาอันมืดมนที่ยังไม่มีมนุษย์เข้าอยู่อาศัยใช้พื้นที่บริเวณนั้น แต่ทันใดนั้นเอง จอบเล็กของเพื่อนหลุมข้างๆ กลับฟันลงบนแผ่นบางๆ ขาวๆ อย่างหนึ่งเข้าให้

มันคือกะโหลกศีรษะของโครงกระดูกเด็กเล็ก สันนิษฐานว่าเด็กคนนี้คงเป็นลูกหลานของคนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาอยู่กลางเมืองโบราณอินทร์บุรี เมื่อตายลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ญาติก็เลยขุดหลุมฝัง ความผิดพลาดข้อแรกคือทำไมพวกเราถึงไม่ทันสังเกตเห็น feature ดินหลุมศพนี้ก่อน จะได้เตรียมพร้อมรับมือได้ทัน

การมาพบอะไรที่สำคัญขนาดนี้ในวันท้ายๆ นับเป็นเรื่องใหญ่มาก ซุปฯ ทุกหลุมต้องผลัดเวียนกันมาแต่งโครงกระดูกเด็กนี้จนลอยตัวขึ้นตั้งแท่น…ณ เวลานั้นเอง ที่ผมเห็นถนัดตา ว่าตรงแก้มของเด็กน้อยมีกลุ่มเมล็ดข้าวปริมาณน่าจะราวหนึ่งช้อน ทรงเมล็ดป้อมๆ แทบจะยังพอเห็นสีแดงที่เมล็ดด้วยซ้ำ จำได้ว่าผมตื่นเต้นมากๆ

วันสุดท้าย กลุ่มซุปฯ เสนอให้เก็บโครงกระดูกนี้แบบแยกชิ้นตามลักษณะกายวิภาค เพื่อสะดวกในการส่งวิเคราะห์ แต่อาจารย์ผู้ควบคุมยืนยันให้ตัดแท่นยกไปทั้งโครง พลบค่ำถึงกลางดึกของคืนนั้น การพยายามยกแท่นดินล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้โครงกระดูกเด็กน้อยหักเป็นท่อนๆ ตามรอยแยกของแท่น พวกเราจำต้องเก็บหลักฐานแบบกระท่อนกระแท่นไปอย่างเจ็บปวด

ฝันร้ายหลังจากเรียนจบมาแล้วคือไม่มีใครรู้ว่า ‘เด็กคนนั้น’ ได้รับการปฏิบัติอย่างไรต่อ หลังถูกพรากจากปัจฉิมสถานอันควรเป็นภพภูมินิรันดร์ของเขา ส่วนผม ที่ตอนนั้นคิดว่าข้าวที่แก้มหนูน้อยต้องไขปริศนาอะไรได้หลายอย่างแน่ๆ นั้น ก็ได้แต่ทำใจ

สังคมไทยเป็นสังคมที่เฉยเมยต่อความรู้…เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งเคยพูดไว้นานมาแล้ว

Author

กฤช เหลือลมัย
กฤช เหลือลมัย เป็นนักโบราณคดีผู้ขุดลึกลงไปในชั้นดินของความรู้ทางประวัติศาสตร์อาหารและรสชาติ เป็นทั้งนักเขียน-กวี เขียนรูป ทำอาหาร และนิยมเดินทางด้วยจักรยานไปตามพื้นที่รกร้าง เพื่อสอดส่ายสายตาหาพืชผักเพื่อนำมาประกอบอาหาร ในพื้นที่ของ WAY กฤช เหลือลมัย ได้ออกไปสำรวจพร้อมกับเครื่องมือขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อนำหลักฐานทางอาหารและรสชาติมาวิเคราะห์สไตล์กฤช เหลือลมัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า