ผมจำได้ว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เคยค้นๆ เขียนเรื่องเกี่ยวกับข้าวสารชนิดหนึ่งไว้สั้นๆ เวลาผ่านไปนาน กลัวคนจะลืมเลือนไป เลยขอเอามาขยายความต่ออายุอีกสักครั้ง ว่าด้วยเรื่องของ ‘ข้าวสารดำ’ นะครับ
วงผู้นิยมเลื่อมใสวิชาไสยศาสตร์รู้จักสิ่งนี้ในชื่อ ‘ข้าวสารดำ’ บ้าง ‘คดข้าวสาร’ บ้าง ‘ข้าวตอกพระร่วง’ บ้าง ในฐานะเครื่องรางแคล้วคลาดคงกระพัน มีขายตามตลาดพระเครื่องและของขลัง ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาดเท่าข้าวสาร สีมีตั้งแต่น้ำตาล เทา จนถึงดำสนิท ทั้งแบบผิวเรียบ ผิวขรุขระ และผิวลักษณะแบบผลึกก็มี มักเช่ากันเป็นขวดย่อมๆ ราคาขึ้นลงมากน้อยตามแต่แหล่งที่มาและรูปพรรณสัณฐาน
ใช่ว่าข้าวสารดำจะไม่มีที่มาที่ไปเชิงนัยประวัตินะครับ ปัจจุบัน ถ้าเราลองเสิร์ชหาดูในไซเบอร์สเปซ ก็จะพบคำอธิบายที่คัดลอกกันไปมา ที่ใช้มากที่สุดเห็นจะเป็นชุดนี้ครับ
…ข้าวสารดำนี้เป็นข้าวสารในท้องพระคลังของเมืองราดเก็บไว้บริโภค เมื่อพระนางสิงขรมหาเทวี ซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ขอม และเป็นมเหสีของพ่อขุนผาเมือง เผาเมืองราด ไฟได้ไหม้คลังเก็บข้าวสารจนไหม้ดำเกรียม หล่นกระจัดกระจาย (เนื่องจากไม่พอใจที่พ่อขุนผาเมืองยกทัพไปขับไล่พวกขอม) ต่อมาจึงถูกดินถมจมอยู่ จึงมีข้าวสารดำกระจายอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยาก…
บางทีก็น่าจะให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของผม ที่เรียนหรือสอนประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยมาอ่านดูบ้างเหมือนกันนะครับ จะได้เห็นว่า คนอื่นๆ นั้นเขาเลือกใช้ เลือกอธิบายประวัติศาสตร์ในแบบของเขาอย่างไรกันบ้าง
ผมคิดว่าข้าวสารดำที่เล่ากันมาว่าพบที่ ‘เมืองราด’ แล้วโยงเข้ากับเรื่องของพ่อขุนผาเมืองนั้น น่าจะคือของที่มักเรียกกันว่า ‘ข้าวตอกพระร่วง’ เป็นผลึกของแร่ชนิดหนึ่ง เมื่อแตกออกเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ จะคล้ายข้าวสารสีดำ ถ้าไม่เอาไปทำเครื่องประดับ ก็ใช้ในทางความเชื่อโชคลาง เพราะชื่อที่เรียกคือ ‘พระร่วง’ ถือเป็นนามศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่แถบนั้นอยู่แล้ว
ข้าวตอกพระร่วงจึงไม่ใช่ข้าวสาร แต่เป็นแร่ครับ
ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คดข้าวสาร’ ซึ่งสีอ่อนกว่าข้าวสารดำทั่วๆ ไป ผมเคยถามรายละเอียดจากเพื่อนรุ่นพี่ คือ คุณศรัณย์ บุญประเสริฐ เมื่อนานมาแล้ว คุณศรัณย์ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนธรณีวิทยาบอกว่า คดข้าวสารเป็นฟอสซิล (fossil) ของสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง คล้ายไรน้ำ ลอยอยู่ในทะเลยุคเพอร์เมียนเมื่อ 270 ล้านปีมาแล้ว มีขนาดตั้งแต่เล็กกระจิ๋วไปจนถึงเท่าเม็ดข้าวสาร มักพบฟอสซิลของพวกมันมากในพื้นที่ที่มีแนวหินปูนยุคเพอร์เมียนพาดผ่าน ในเมืองไทยก็คือแถบลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เท่าที่ผมรู้ เคยมีการพบภาชนะดินเผาทรงบาตรมีฐาน ฝาปิดเป็นชามดินเผา ภายในบรรจุคดข้าวสารไว้เต็ม ที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองมะกรูด ตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง ลพบุรีด้วย
เนื่องจากมักพบปริมาณมาก คนจึงนิยมเอาคดข้าวสารมาอัดลงพิมพ์เป็นพระพุทธรูปบ้าง พระเครื่องรางบ้าง
อย่างไรก็ตาม คดข้าวสารนี้ก็ยังไม่ใช่ข้าวสารอยู่ดีนะครับ
‘ข้าวสารดำ’ ที่เป็นข้าวสาร (หรือข้าวเปลือก?) คือเป็นเม็ดข้าวจริงๆ เลยนั้น พบมากตามชั้นดินของแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี – ลพบุรีในแถบภาคกลาง มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ราวหนึ่งพันปีที่แล้วลงมา ข้าวเหล่านี้ถูกเผาในสภาวะที่ปริมาณออกซิเจนมีน้อย และอุณหภูมิขณะเผาไม่สูงพอที่จะทำให้การสันดาปเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เนื้อเมล็ดข้าวจึงกลายเป็นคาร์บอน คล้ายเวลาคนเผาฟืนเพื่อทำถ่านหุงข้าวนั่นเอง
อาจารย์สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญโบราณโลหวิทยาคนสำคัญเคยบอกผมว่า ข้าวสารดำแบบนี้พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแซง สระบุรี เมืองศรีมโหสถ ปราจีนบุรี เมืองดงละคร นครนายก และหลายแห่งในลพบุรี แถมในพระนครศรีอยุธยาก็มีวัดแห่งหนึ่งชื่อ ‘วัดข้าวสารดำ’ เนื่องจากพบข้าวสารดำในเขตวัดเป็นจำนวนมากด้วย
ข้าวสารดำชนิดนี้เชื่อกันว่ามีสรรพคุณเช่นเดียวกับคดข้าวสารหรือข้าวตอกพระร่วง คือมีอำนาจด้านไสยศาสตร์ ผู้ครอบครองจะอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดภยันตราย นอกจากเก็บไว้บูชาในขวด ก็อาจบดผสมเป็นมวลสาร หรือถ้ามีมากก็เอาแปะติดด้านหลังพระพิมพ์องค์ละเม็ดเลยก็ได้
ว่าแต่ข้าวสารทำไมจึงดำ?
ข้าวเป็นอาหารแป้งที่สำคัญนะครับ เวลาคนจะกินก็ต้องหุงให้สุกในน้ำ โดยวิธีการต่างๆ แต่ย่อมไม่ใช่การย่างหรือเผาแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเผาจนดำเป็นถ่านยิ่งไม่น่าใช่วิธีกินข้าวแน่ๆ เลย
การพบข้าวสารดำในปริมาณมากตามชั้นดินในชุมชนโบราณ ชวนให้คิดว่า น่าจะต้องลองใช้อะไรที่เป็นโบราณคดีๆ ไขความกระจ่างเรื่องนี้ดู
ผมเคยค้นเจอข้อความบางตอนในจารึกภาษาเขมรโบราณอย่างน้อยสามหลัก ที่พอนักอ่านจารึกเขาอ่าน – แปลแล้ว ดูมีเค้าเกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปของข้าวสารดำอยู่บ้าง คือ
…ท่านได้คลุมพระปราสาท พระปรางค์ทั้งหมด และคลุมพระถนนไปสู่ลานเผาข้าวเปลือก…
– จารึกปราสาทเขาพระวิหาร (2) กัมพูชา
…(ข้าวสาร?) บูชาสงกรานต์ 5 ลิ…พระเพลิง 1 ทะนาน..
– จารึกอูบมุง อุบลราชธานี
…วัน 12 ค่ำ ถวายข้าวสาร 2 ลิ บูชาพระเพลิง…
– จารึกอัญชัยวรมัน ลพบุรี
จารึกเหล่านี้เล่าฉากและเหตุการณ์ย้อนหลังไปเกือบหนึ่งพันปี ผมไม่มีความรู้เรื่องขนบประเพณีแบบอิทธิพลอินเดียโบราณมากพอจะสืบรู้ว่านี่คือพิธีกรรมอะไรนะครับ เคยแต่อ่านที่ คุณไมเคิล ไรท์ นักอุษาคเนย์ศึกษาผู้ล่วงลับเขียนเล่าไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ถึงพิธีหลวงในราชสำนักกัมพูชาเมื่อราว 200 ปีก่อน ว่าทำโดยรวบรวมเอารวงข้าว ฟางข้าว จากนาหลวงมาผูกไว้กับหุ่นรูปคน แล้วจุดไฟเผา พอลุกไหม้ได้ที่แล้วก็ดับไฟนั้นด้วยน้ำมนตร์ จากนั้นเก็บเถ้าที่เหลือแจกจ่ายไปตามหมู่บ้านและหัวเมือง เพื่อผสมกับพันธุ์ข้าวที่จะลงนาในปีนั้น
กับทั้งในพระราชพิธีสิบสองเดือนของไทยก็มีกล่าวไว้ว่า ในสมัยอยุธยา ช่วงเดือนสาม จะมีการตั้งกระบวนแห่จากในวังออกไปทุ่งหันตรา ซึ่งเป็นพื้นที่นาหลวง ทำพิธี ‘ธานยเทาะห์’ เอารวงข้าวปักเป็นฉัตรหน้าโรงพิธี จุดไฟเผา จากนั้นให้คนสองกลุ่มแต่งกายคล้ายเทวดาเข้ายื้อแย่งกัน แล้วมีทำนายผลการแย่งชิงนั้นเป็นเรื่องๆ ไป
อาจเป็นไปได้ว่า ข้าวสารดำคือผลของพิธีกรรมเหล่านี้ เพราะมีการเผาข้าว และดับไฟก่อนที่จะไหม้หมดจนกลายเป็นเถ้า
แต่ผมเดาว่า การศึกษาข้าวสารดำในด้านโบราณคดีทุกวันนี้คงยังไม่ก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อสองทศวรรษก่อน เช่น คงยังไม่มีใครสนใจว่า ข้าวสารดำที่เป็นข้าวสารจริงๆ นี้ เป็น ‘ข้าวสาร (เจ้า)’ หรือ ‘ข้าวสาร (เหนียว)’ มันถูกเผาไหม้อยู่นานเท่าไหร่ ในสภาวะแบบใด บริบทแวดล้อมในชั้นดินที่พบบอกเรื่องราวอะไรของมันได้อีกบ้าง ฯลฯ
ปัจจุบัน ข้าวสารดำจึงดูเหมือนยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกไสยศาสตร์มากกว่าโลกวิชาการ
ในโลกใบที่กำกับครอบครองโครงสร้างสังคมและวิธีคิดของคนไทยมาตลอดนี้ การเปลี่ยนแปลงนิยาม การให้ความหมายใหม่ๆ มีขึ้นตลอดเวลา และการจุติขุมพลังที่มองไม่เห็นดูจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ต้องเหยียบยืนอยู่บนระบบเหตุผลใดๆ
แน่นอน ความจริงนั้นมีหลายระดับ มันแค่น่าสนใจว่า ในโลกใบที่ว่านี้ ทำไมระนาบสมมุติจึงทำงานได้ผลกว่าสัจจะเสมอมา
ถ้าพระพิมพ์ได้กลายมาเป็น ‘พระเครื่อง’ ถูกกำหนดนิยามความหมายใหม่ๆ กระทั่งถึงกับเคยมีการสร้างหลักฐานเอกสารเท็จขึ้นมาสนองบริบทเทียม จนมีสถานภาพและบทบาทห่างไกลจากปฐมเหตุการสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชามากได้ขนาดนี้ ‘ข้าวสารดำ’ ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน นัยประวัติในโลกวิชาการของมันแม้ยังมืดดำสับสนเฉกเช่นนามเรียก ทว่าในโลกไสยศาสตร์ สถานภาพที่ชัดเจน ที่มาที่ไปอันยึดโยงสัมพันธ์อยู่กับบรรพกษัตริย์เฉพาะพระองค์ คงส่งผลให้บทบาทการปกป้องปัดเป่าให้ความแคล้วคลาดคงกระพันมีต่อเจ้าของผู้ครอบครอง โดดเด่นสืบต่อไปอีกนานเท่านาน
ดูเหมือนไม่มีใครอยากรู้หรอกว่า ทำไมวัตถุดิบอาหารจึงถูกนำมาผ่านขั้นตอนกระบวนการที่ไม่เคยคุ้น จะมีใครสักกี่คนสงสัยว่า การเผาไหม้อาจคือความตายเชิงสัญญะ ที่ก่อเกิดปฏิสนธิใหม่ผ่านคำทำนายและความคาดหวังรวมหมู่ในสังคมเกษตรกรรมโบราณ
ในโลกที่พร่ำบอกเราว่า ข้าวสารดำ “…มีมาอยู่แต่เดิมแล้ว ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองกษัตริย์นักรบเจ้าเมืองราดทรงนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจะออกศึกสงครามครั้งใด ก็จะทรงนำข้าวสารดำมาปลุกเสก โปรยหว่านเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ และใช้เป็นวัตถุของขลังในการรบ…” นี้ จงเชื่อเถิดว่า วันเวลาที่มันจะหวนกลับมาเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมในโลกวิชาการ หรือกลับมาเป็น ‘หลักฐานร่องรอยในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของรัฐโบราณแบบจารีต’ …ย่อมจะยังอยู่อีกแสนยาวไกลนัก