เพราะโบราณคดี ไม่ใช่แค่ ‘อนุรักษ์’ แต่ต้อง ’รัก’

 

ภาพ: ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ

 

น้ำค้างหยดเปาะแปะลงบนหลังคาที่มีใบหูกวางขนาดใหญ่ปกคลุมเป็นบางส่วน อาจจะพูดให้โรแมนติกก็ได้ว่าถูกปลุกให้ตื่นจากเสียงน้ำค้างยามเช้า แต่ความเป็นจริงคือเสียงนาฬิกาปลุกจากสมาร์ทโฟนต่างหากที่สะกิดให้ลุกขึ้นจากเตียงมาเผชิญอากาศหนาวเย็นที่คนพื้นราบไม่คุ้นเคย หมอกคลี่ตัวปกคลุมเขาสูงที่โอบล้อม อากาศหนาวเสียดแทงผ่านเสื้อหนาวเข้ามาแตะต้องให้เราอดถามไม่ได้ว่าชาวบ้านชนเผ่าต่างๆ ที่สวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นกว่า อดทนต่อความหนาวนี้ได้อย่างไร

พลันที่คิดเช่นนั้น ข้อมูลจากการบรรยายของ รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ที่ได้ฟังเป็นเวลากว่าสองชั่วโมงที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคน้ำแข็งจนมาถึงยุคใหม่เมื่อคืนก็ถมกลับเข้ามาใส่ภวังค์ความคิดให้หวนย้อนกลับไปนึกถึงมนุษย์ในยุคสมัยนั้นคงมีเสียยิ่งกว่าความแข็งแกร่งต่อสภาพภูมิอากาศที่หนาวเหน็บ มีเกราะป้องกันที่ทานทนต่อกาลเวลาและภูมิศาสตร์ที่ไม่ว่าจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เกราะที่ว่านั้นคือ ‘การปรับตัว’ การปรับตัวที่ไม่ได้มีความหมายแค่การคิดค้นวิธีเอาตัวรอดยังไงในสภาพอันเลวร้าย แต่ยังเป็นการปรับตัวที่กินความหมายไปยังการค้นหา ‘บ้าน’ แห่งใหม่ที่อบอุ่นกว่า บ้านที่ถ้อยคำของภาษาโบราณยังไม่มีการบัญญัติซึ่งคำศัพท์ แต่เป็นบ้านที่ส่งต่อความหมายจากยุคที่ยังไม่มีการนิยามความหมายมาสู่ยุคที่บ้านเทียบได้เช่นการส่งต่อเทือกเถาเหล่ากอให้ยังดำรงอยู่

บ้านของ ‘คนไท’

ในเอกสารโบราณของจีนระบุถ้อยคำเรียกชนเผ่าที่อยู่ทางตอนใต้ของอาณาจักรจีนอันไพศาลกว้างใหญ่ว่า ‘ชนเผ่าไต’ หรือ ไป๋เย่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายหลังจากสิ้นสุดยุคน้ำแข็งที่เรียกว่า ‘สมัยไพลสโตซีน’ (Pleistocene Epoch) ส่งผลให้น้ำแข็งจากขั้วโลกละลายเป็นปริมาณมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร เข้าท่วมทับแผ่นพื้นทวีปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเคยเดินติดต่อถึงกันไม่อาจเดินถึงกันได้อีก และชนเผ่าไต เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจัดกระจายไปทั่วภาคพื้น โดยมีหลักฐานหลงเหลือให้สืบค้นกลับไปยังความเป็นต้นรากที่เดินทางมาด้วยกันตั้งแต่ยุคไพลสโตซีนคือสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมโลงไม้’

วัฒนธรรมการต่อโลงให้กับผู้จากไป ซึ่งพบได้ทั่วภูมิภาค และการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจนำไปสู่คำตอบจากประเทศไทยไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทั่งระดับโลกในที่สุด คือชิ้นส่วนของกะโหลกมนุษย์ผู้หญิงตั้งแต่ยุคไพลสโตซีนเมื่อ 13,000 ปีก่อน และโลงไม้ที่ยังไม่เคยถูกบุคคลภายนอกรบกวนมาก่อน โดยค้นพบส่วนกะโหลกที่เพิงผาถ้ำลอด และค้นพบโลงไม้ที่ถ้ำโลงผีแมนลงรัก ในอำเภอปางมะผ้า ทั้งสองสถานที่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สุสานผีแมน

หลังจากคณะผู้สื่อข่าวซึ่งนำโดยทีมผู้วิจัยของอาจารย์รัศมีนำขึ้นสู่ยอดภูเขาที่มีซากหินถล่มอยู่รอบๆ ปากถ้ำ เราก็ทำพิธีบวงสรวงเพื่อขออนุญาต ‘ผี’ ในความนับถือของชนเผ่าไทใหญ่ ในฐานะเจ้าของสถานที่ ก่อนจะมีการเกริ่นนำถึงข้อมูลการค้นพบสุสานผีแมนของชาวบ้านที่เข้ามาหลบลมหนาวในถ้ำราวปี 2553 นำไปสู่การแจ้งนายอำเภอ และคณะวิจัยของอาจารย์รัศมีในที่สุด

ความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้ระบุอยู่ในเอกสารที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เป็นผู้มอบทุนเพื่อการวิจัย และเป็นสนับสนุนให้เกิด กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร เพื่อทำการเยี่ยมชม การทำงานภาคสนามโครงมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2561

ซึ่งในข้อมูลจากเอกสารที่อ้างอิงบทความของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ระบุว่า

“…จุดเด่นของวัฒนธรรมนี้มีการใช้ไม้และต้นไม้จากป่าไม้มากขึ้นในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม เช่น การเลือกใช้ไม้สักสำหรับทำโลงไม้ ใช้ยางรักสำหรับเคลือบโลงและภาชนะต่างๆ การใช้ใยพืชป่านกัญชง ไม้ไผ่สำหรับการทำเครื่องจักสาน โดยมีการตกแต่งเครื่องประดับบนร่างกาย เช่นลูกปัดแก้ว เส้นสีดำที่ใช้พันตกแต่งร่างกาย ความเชื่อเรื่องความตายที่เป็นลักษณะเด่นของวัฒนธรรมคือ การทำโลงไม้ การวางโลงไม้และการเลือกสถานที่ตั้งการปลงศพภายในถ้ำบนพื้นที่สูงในเทือกเขาหินปูน…”

ขณะที่อาจารย์รัศมีได้บอกเล่าหลังจากชาวคณะต้องแบ่งกลุ่มเพื่อมุดและคลานผ่านชั้นดินที่ทับถมมาแต่โบราณกาลเข้าสู่โถงถ้ำ A1 อันเป็นสถานที่ค้นพบโลงไม้จำนวนมาก ว่า

“…เมื่อแรกที่เราเข้ามา บริเวณนี้ทั้งหมดเต็มไปด้วยกระดูกเต็มไปหมด ทั้งกระดูกคนกระดูกสัตว์ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีกว่าล้านชิ้น…”

อาจารย์รัศมีบอกเล่าว่า หลังจากปี 2553 คณะวิจัยของอาจารย์เริ่มทำการขุดค้นโดยการกำหนดผังต่างๆ ในโถงก่อนว่าจุดใด สิ่งใดอยู่ตรงไหน จึงค่อยๆ ลอกชั้นหน้าดินออกทีละชั้นเหมือน “ชั้นของขนมชั้น” เพื่อดูว่าแต่ละชั้นดินที่ได้ทำการขุดค้นลงไปนั้นระบุอายุด้วยคาร์บอน 14 เก่าแก่กลับไปได้กี่ปี ซึ่งจากการทดสอบด้วยวิธีคาร์บอน 14 ก็ทำให้พบว่าโลงเก่าแก่ที่สุดที่พบอยู่ในช่วง 1,900-1,800 ปีก่อน และ 1,300-1,200 ปี ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดเท่าที่พบ

‘โลง’ และ ‘ตัวตน’ เมื่อ ‘คน’ จากไป

อาจารย์รัศมีระบุต่ออีกว่า การค้นพบนี้ไม่เพียงเป็นการค้นพบ ‘วัฒนธรรมร่วมกัน’ ของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากที่ถ้ำผีแมนโลงลงรักนี้ยังพบโลงไม้ในลักษณะใกล้เคียง ทั้งที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย กระทั่งในบางส่วนของจีนตอนใต้ นำไปสู่การตั้งคำถามจากงานวิจัยแรกที่เพิงผาถ้ำลอดในปี 2546 มาจนถึงถ้ำผีแมนโลงรักในปี 2556 ที่เริ่มมีการขุดค้นจนถึงปี 2559 ว่าระหว่าง 1,000-32,000 ปีมาแล้วนั้น สิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในปางมะผ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศอย่างไร นำมาสู่การปรับตัวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในช่วง 1,000-2,300 ปีก่อนที่รับเอาวัฒนธรรมโลงไม้ที่เชื่อมโยงกลับไปยังชุมชนในจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่

และอย่างไร

จากซากโครงกระดูกนับสิบในโลงโลงเดียวที่บ่งบอกการใช้งานซ้ำกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว ช่วงอายุระหว่างเด็กจนถึง 25 ปี ยังบ่งบอกว่าศพของมนุษย์ในยุคนั้นเสียชีวิตในช่วงเด็กถึง 25 ปีอย่างมากที่สุด แต่กลับไม่พบโครงกระดูกในช่วงอายุที่สูงวัยกว่านั้น นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดจึงมีแต่ช่วงอายุวัยเยาว์ เกิดอะไรขึ้นในห้วงเวลา 1,900-1,200 ปีก่อน เป็นไปได้ไหมว่าศพที่ถูกฝังมีความหมายและคุณค่าบางประการต่อผู้ที่ยังอยู่ คำตอบของข้อสันนิษฐานนั้นอยู่ที่การพบซากของเสื้อใยกัญชงและสร้อยประดับ

อาจารย์รัศมีอธิบายให้ง่ายต่อการเข้าใจโดยเทียบกับคนในยุคปัจจุบันเมื่อตายแล้วก่อนจะทำพิธีการ ไม่ว่าจะฝังหรือเผา ญาติพี่น้องและครอบครัวจะต้องนำสิ่งของ ‘ส่วนตัว’ ใส่ลงไปในโลงเพื่อระบุ ‘ตัวตน’

…เพราะเมื่อเราสลายกลายเป็นขี้เถ้า สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวที่ระบุ identity ของตัวเรา…

ต้อง ‘รัก’ ก่อน เราจึง ‘อนุรักษ์’ ได้

กลับขึ้นมายังปากถ้ำ หลังจากมุดและปีนป่ายผนังถ้ำ จำลองความรู้สึกของทั้งการเป็นนักโบราณคดี และจำลองความรู้สึกของคนในยุคสมัยที่ต้องใช้ความอุตสาหะแบกไม้ขนาดมหึมาเป็นท่อนๆ ขึ้นมาบนยอดเขา ต่อเป็นโลงเพื่อสถิตร่างไร้วิญญาณของผู้จากไปเป็นครั้งสุดท้าย

เรามองลงไปยังชาวคณะผู้สื่อข่าวและอาจารยรัศมีที่กำลังตอบคำถามเพิ่มเติม ณ บริเวณปากทางก่อนเข้าสู่โถง A1 ก่อนจะนึกย้อนกลับไปยังสิ่งที่ได้ถามอาจารย์รัศมีภายในสุสานอายุนับพันๆ ปี ว่า การลงรักเพื่อเคลือบโลงและภาชนะเปรียบได้ดั่งความปรารถนาของผู้ยังอยู่ที่ต้องการรักษาสภาพของผู้จากไป เป็นอีกความหมายของคำว่ารักได้หรือไม่ คำตอบคือ การที่คนในยุคนั้นทั้งแบกท่อนไม้ ทั้งฝังสิ่งของและฆ่าสัตว์เพื่อสังเวยตามคติความเชื่อก็ล้วนเป็นการบ่งบอกซึ่งความรักต่อผู้จากไปทั้งสิ้น

…และคุณต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอยู่ในสุสานของคนในยุคนั้น การที่พวกเขาเลือกถ้ำแบบนี้เขาย่อมไม่อยากให้ใครมารบกวนอยู่แล้ว และเราก็กำลังรบกวนอยู่ แต่เราจะทำยังไงเพื่อให้เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปโดยที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้…

นึกถึงการส่งต่อ ‘บ้าน’ ในความหมายของการอพยพโยกย้าย บ้านที่ไม่ได้หมายถึงสถานที่ วัตถุ หรือสิ่งของเพียงอย่างเดียว บ้านที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของคนหนึ่งคนเป็น ‘ความทรงจำ’ ที่เมื่อหลับตาแล้วนึกถึง

อากาศเริ่มอบอุ่นกว่าเมื่อช่วงเช้า เหมือนประวัติศาสตร์ในยุคน้ำแข็งที่ได้ผ่านพ้นให้ยุคสมัยโฮโลซีน (Holocene Recent Epoch) ที่เริ่มต้นเมื่อ 13,000 ปี และเป็นยุคสมัยของมนุษย์ในปัจจุบัน และเรากับผู้คนในปางมะผ้าเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนก็คือ มนุษย์ร่วมยุคของความอบอุ่นเดียวกัน

เราตอบตัวเองและตั้งคำถามอีกครั้งต่ออาจารย์รัศมีภายในโถงถ้ำอันเงียบสงัดต่อความทรงจำถึงผู้จากไปว่าจะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะไม่แค่อนุรักษ์โบราณวัตถุเหล่านี้ แต่เราต้องรักในเศษซากที่ผุกร่อนเพราะทั้งหมดคือความทรงจำที่ส่งต่อมาให้เรายังเป็นเรา

เป็นมนุษย์ร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า