รัศมี ชูทรงเดช: ขุดค้นอดีตกับนักสืบข้ามกาลเวลา

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ และกองบรรณาธิการ WAY
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

คำถาม: คุณคิดว่า หน้าตาคนโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนบริเวณประเทศไทยเมื่อ 10,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร
ก. หน้าตาเหมือนคนจีน เพราะอพยพมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไต
ข. หน้าตาเหมือนคนมาเลเซีย เพราะอพยพมาจากหมู่เกาะมลายู
ค. คิดไม่ออก

ไม่ต้องคิดนาน คำถามข้อนี้ยังไม่มีคำตอบฟันธงได้ชัดเจน แค่อยากชวนให้ทุกคนจินตนาการและสงสัยไปกับเรา เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา วงการโบราณคดีไทยสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อวารสารวิชาการ Antiquity ได้ตีพิมพ์บทความที่เปิดเผยภาพวาดสองมิติใบหน้าผู้หญิงอายุราว 13,000 ปีก่อน ผู้เคยอาศัยอยู่ในเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บทความดังกล่าวมาจากงานวิจัยเรื่อง ‘การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ โดยมีบทความเรื่อง ‘A Late Pleistocene woman from Tham Lod, Thailand: the influence of today on a face from the past’ เป็นส่วนหนึ่งของผลการวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพ มีผู้เขียนห้าท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช, นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย, ศาสตราจารย์(พิเศษ)นพ.สรรใจ แสงวิเชียร, ผศ.ทพญ.ดร.กนกนาฏ จินตกานนท์ และผู้เชี่ยวชาญการขึ้นรูปใบหน้า ดร.ซูซาน เฮย์ส จากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง (University of Wollongong) ประเทศออสเตรเลีย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ความน่าตกตะลึงคือ ภาพวาดสองมิติของผู้หญิงอายุ 13,000 ปีก่อน มีหน้าตาไม่ต่างจากคนไทยในปัจจุบันมากนัก การค้นพบครั้งใหญ่นี้ปรากฏเป็นข่าวเล็กๆ เรียบๆ ในบ้านเรา แต่หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าว ชวนให้เราตั้งคำถามกับยุคก่อนประวัติศาสตร์และบรรพบุรุษที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศไทยได้มากมาย

กองบรรณาธิการ WAY พูดคุยกับ รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าทีมวิจัย ว่าด้วยการค้นพบ ศาสตร์ของโบราณคดี ที่บอกเล่าสารข้ามกาลเวลาจากอดีต ผ่านหลักฐานและวัตถุ ให้คนยุคปัจจุบันได้ปะติดปะต่อเรื่องราวตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

แน่นอน การค้นพบของเก่า นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ และนี่ก็เป็นบทเรียนคอร์สใหม่ที่ WAY ชวนให้ผู้อ่านทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานเป็นอันดับแรก นักโบราณคดีทำงานอย่างไร คนไทยมาจากไหน งานวิจัยดังกล่าวสำคัญอย่างไร ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่สนใจโบราณคดี ไปจนถึงประเด็นเรื่องความเชื่อกับวิทยาศาสตร์

สถานที่คือห้องออฟฟิศเล็กๆ ที่มีกล่องกระดาษสูงท่วมหัว – และรูปปั้นสามมิติของผู้หญิงอายุ 13,000 ปี มองหน้าและสบตาพวกเราอย่างอบอุ่นตลอดเวลา


อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า นักโบราณคดี จริงๆ แล้วเขาค้นหาอดีตอย่างไร

ความเข้าใจของคนไทยทั่วไปเกี่ยวกับโบราณคดีมีไม่ค่อยเยอะ โบราณคดีคือ การศึกษาเรื่องราวผ่านวัตถุ ผ่านซาก สมมุติว่า มีตึกถล่ม ทุกคนตายกันหมดเลย นักประวัติศาสตร์อาจดูผ่านหนังสือพิมพ์ว่า เหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น แต่ว่านักโบราณคดีดูจากซากตึกถล่ม เช่น ห้องนี้คือห้องอะไร เกิดอะไรขึ้นในห้องแห่งนี้ ลักษณะการพังเป็นอย่างไร คนแต่ละคนเสียชีวิตอย่างไร โดยเราศึกษาจากวัตถุที่พบ แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยด้วย

ดังนั้นแล้ว นักโบราณคดีจะศึกษาผ่านวิธีการดังกล่าวเพื่อตีความว่าอะไรเป็นอะไรต่อไป แค่เศษซากชิ้นหนึ่ง บวกกับเราใช้หลักความรู้วิชามาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ ทำให้นักโบราณคดีรู้ว่า อ้อ เศษซากชิ้นนี้คือเคสโทรศัพท์นะ อะไรแบบนี้ สำหรับนักโบราณคดีแล้ว เรานำวัตถุทั้งหลายทั้งแหล่ที่มีอยู่มาศึกษาและประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อหาคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีตแต่ละช่วงเวลา

ความรู้พื้นฐานของคนทั่วไปคือ มนุษย์มีจุดเริ่มต้นจากแอฟริกา แล้วค่อยๆ อพยพออกไปตอนช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มนุษย์กลุ่มแรกเคลื่อนย้ายไปยังที่ไหนบ้าง

ความรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับสายพันธุ์ของมนุษย์เดิมจะอยู่ที่เดียว คือแอฟริกา เขาจึงเรียกกันว่า จุดเกิดของมนุษย์อยู่ที่แอฟริกา เมื่อล้านกว่าปีที่แล้ว ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สภาพภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสลับกัน ระหว่างน้ำแข็งกับอากาศอบอุ่น ครั้งใหญ่สี่ครั้ง และครั้งย่อยๆ อีก 20 ครั้ง ช่วงอากาศอบอุ่นในแอฟริกากับยุโรป คือช่วงที่คนรุ่นบรรพบุรุษของเรา ค่อยๆ อพยพออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย ไซบีเรีย

มนุษย์ที่อพยพออกไปในช่วงนั้นเรียกว่า ‘โฮโม อีเร็กตัส’ (Homo Erectus) หรือที่เราเรียกเล่นๆ ว่า มนุษย์วานร โดยมีการค้นพบที่เอเชีย คือจีนและชวา ส่วนไทยก็มีการสันนิษฐานเช่นกันว่าอาจมี เนื่องจากค้นพบชิ้นส่วนหัวกะโหลกของ โฮโม อีเร็กตัส สี่ชิ้น ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งค้นพบโดย คุณสมศักดิ์ ประมาณกิจ และทีมงานของศิริราชพยาบาล ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพยาบาล จึงอาจยืนยันได้ว่า มนุษย์อพยพจากแอฟริกาเมื่อหนึ่งล้านถึงหกแสนปีก่อน โดยมาทางจีน อีกส่วนมาทางอินโดนีเซีย

อีกช่วงก็คือช่วง Ice Age หรือมนุษย์น้ำแข็ง เป็นช่วงที่อากาศอบอุ่น คนเริ่มออกจากแอฟริกาอีกครั้ง ไปทางทวีปอเมริกา ไซบีเรีย ลงไปออสเตรเลีย รวมถึงลงมาทางเราอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้เรียกว่า ‘โฮโม เซเปียนส์’ (Homo sapiens) คนที่ออกจากแอฟริกาคราวนี้มาแทนที่คนที่เคยออกไปครั้งแรก แถบจะทั้งหมดทั้งโลก ตรงนี้สำคัญตรงที่ว่า ระยะเวลาช่วงนี้อาจเป็นเมื่อ 60,000 ปีหรือ 40,000 ปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือ พื้นที่อ่าวไทยเป็นแผ่นเดียวกัน คือติดกับชวา ติดกับหมู่เกาะต่างๆ อย่างภูเก็ต หรือหมู่เกาะฝั่งอันดามัน เกาะติดกันไปหมด เพราะน้ำทะเลแห้ง จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของคนและสัตว์ในช่วงนั้น

ไทยเรามีความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงน้อยมาก ตรงข้ามกับยุโรป ที่เขารู้ว่า ช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทางฝั่งเขาเป็นอย่างไร ส่วนแถบเราการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นน้ำท่วม อากาศร้อน เย็น แห้ง สลับวนเวียนเป็นวัฏจักร เวลาพูดกันว่า เดี๋ยวน้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ ท่วมประเทศไทย คือท่วมจริงค่ะ แต่ว่าเกิดขึ้นตามวัฏจักรที่ควรจะเป็นของมันอยู่แล้วโดยปกติ พอเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน ก็ส่งผลให้น้ำแข็งละลายเร็วกว่าเดิม

กล่าวได้ไหมว่า ก่อนประวัติศาสตร์ ทวีปทั่วโลกเชื่อมต่อกัน หลังจากนั้นจึงเกิดการเลื่อนไหล ตามทฤษฎีทวีปเลื่อน

ตั้งแต่ครั้งแรกเลย แล้วก็ค่อยๆ แยกออกมา ช่วงเกิดยุคน้ำแข็ง ส่งผลให้น้ำทะเลอ่าวไทยแห้ง พอน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลอ่าวไทยก็ขึ้นมา ถ้าเราดูภาพถ่ายทางอากาศ เราจะเห็นพื้นที่ราบของภาคกลาง ซึ่งมาจากอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ ถ้าเรามีหลักฐานทางโบราณคดีในไทย ก็อาจหมายความได้ว่า เมื่อก่อนมีมนุษยยุค โฮโม เซเปียนส์ เดินทางมาบริเวณนี้ได้เช่นกัน

คำถามที่สำคัญคือ จีนกับรัสเซียมี โฮโม อีเร็กตัส แล้วใช่ไหม ถ้าบอกว่าการค้นพบกระดูกกะโหลกสี่ชิ้นที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางเป็นของ โฮโม อีเร็กตัส แล้วที่กระบี่ก็มีการขุดพบแหล่งโบราณคดี แม้จะไม่เจอคน แต่เป็นร่องรอยว่าเคยมีคนอาศัยอยู่เมื่อระยะเวลา 40,000 ปี เช่นกัน ถ้ำวิมานนาคิน จังหวัดชัยภูมิ พบฟันกรามน้อยซีกหนึ่ง อายุ 100,000 กว่าปี ถ้าลองปะติดปะต่อเรื่องราว นำไปเทียบกับบริบทโลกในช่วงเวลาเดียวกัน อาจแสดงว่า มีมนุษย์ยุค โฮโม อีเร็กตัส อยู่ในประเทศไทยจริง

แต่คำถามก็คือ เราไม่รู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ต่อเนื่องจาก โฮโม อีเร็กตัส จริงๆ หรือเปล่า หรือมาจากแอฟริกา ซึ่งก็คือ โฮโม เซเปียนส์ จึงเป็นคำถามของเราเองว่า แล้วความเป็นมาของคนไทยที่โดนผสมผสานกันมาหลายต่อหลายยกมาจากไหน พอเราดูของเก่าเท่าที่เรามีข้อมูล ก็อาจเดาได้ว่า ชุดแรกอาจมาจาก โฮโม อีเร็กตัส และชุดที่สองเห็นที่กระบี่และถ้ำลอด แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าเป็นใครมาจากไหน

การที่ค้นพบโครงกระดูกต่างๆ ในถ้ำหรือบริเวณรอบๆ แสดงว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำใช่ไหม

ใช่ค่ะ ตั้งแต่ 2-3 ล้านปี จนถึง 5,000 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำ แม้แต่ในสมัยประวัติศาสตร์ก็ยังใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย แต่ว่าอาจเป็นที่พักพิงชั่วคราวแทน

คือพัฒนาการของมนุษย์เราตั้งแต่ยุคหิน คือ ยุคที่มนุษย์ใช้เครื่องมือหิน อาศัยอยู่ในถ้ำและย้ายตามฤดูกาล ถ้าอาหารบริเวณนั้นเริ่มหมด ก็จะย้ายไปที่อื่นแทน เป็นวัฏจักรตามฤดูกาล แล้วเขายังรู้ว่าตรงไหนสามารถพักได้หรือไม่ได้

การอยู่อาศัยของคนแรกเริ่มทั่วโลกเลย เขามักจะอยู่ในที่เป็นถ้ำหรือเพิงผาอยู่แล้ว เพื่อกันฝนกันแดด หรือเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย ถ้าในยุโรป การอยู่ในถ้ำนั้นอบอุ่นกว่า นอกจากนั้นยังเป็นหลุมฝังศพอีกด้วย คือเขาจะไม่อยู่กันที่โล่งแจ้ง ยกเว้นแต่ช่วงที่มีน้ำ แต่ปกติจะอยู่ในที่ที่เป็นหินปูน คือ ถ้ำเกิดจากการที่น้ำใต้ดินเข้าไปกัดเซาะลงในหินปูนจนทำให้เกิดโพรง เพราะฉะนั้นในแนวเทือกเขาตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมดจึงเป็นหินปูน เช่นกัน ถ้าภาคอีสานหรือภาคตะวันออกมีถ้ำก็คาดการณ์ได้ว่า เคยมีคนอาศัยอยู่มาก่อน

พอเริ่มเข้าสู่สมัยที่มนุษย์อยู่รวมตัวกันเป็นชุมชนหรือสังคม จำเป็นต้องอยู่ติดที่ พออยู่ติดที่ก็เริ่มเกิดหมู่บ้าน เวลาเราเห็นแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ ที่คนเริ่มทำภาชนะดินเผา พออยู่ติดที่มากขึ้น ประชากรก็เพิ่มขึ้น พอมากขึ้น กฎเกณฑ์ทางสังคมก็เพิ่มตาม จากกลุ่มเล็กเป็นกลุ่มใหญ่ซับซ้อนขึ้น หมู่บ้านเป็นแว่นแคว้น และกลายเป็นรัฐ นี่คือภาพรวมของพัฒนาการใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก เริ่มมีผู้นำ ศาสนา ช่างเฉพาะทาง ทั้งหมดเริ่มเกิดขึ้นในช่วงหลัง คือ ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งก็คือ ยุคต้นของตัวเราเอง บรรพบุรุษก่อนหน้านี้ก็มีชีวิตคล้ายๆ ลักษณะเช่นนี้

ดังนั้นแล้ว ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญ เพราะทำให้เรารู้ว่า ก่อนที่จะเป็นบ้าน เป็นเมือง มีความหลากหลาย มีแบ่งชนชั้นเกิดขึ้นเมื่อสมัยพุทธศาสนาเริ่มเข้ามา แล้วนำระบบชนชั้นจากอินเดียเข้ามาด้วย เราจึงเริ่มเห็นตั้งแต่สมัยทวารวดีที่มีความแตกต่างทางชนชั้นชัดเจนมากขึ้นในสมัยเขมร อยุธยา รัตนโกสินทร์

นักโบราณคดีสนใจตรงนี้แหละค่ะ ว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละช่วง อะไรเป็นจุดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อเกิดเป็นรัฐ เกิดความไม่เท่าเทียม จึงจำเป็นที่จะต้องหาการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา

ยุค 12,000 ปีหรือ 13,000 ปี ถ้าเทียบกับที่อื่น ลักษณะโครงกระดูกจะคล้ายกันไหม ถ้าเทียบกับอีกซีกโลกหนึ่ง เช่น ยุโรป

ต่างกันค่ะ ในแง่ของโครงสร้างทางร่างกายและขนาด อย่างจมูก คนแถบบ้านเราจะค่อนข้างแบน ส่วนยุโรปสันจมูกเขาจะหนากว่า หรือแม้กระทั่งผิวเราก็คล้ำกว่า

คำถามพื้นฐานที่สุด การขุดโบราณคดีกับขุดไดโนเสาร์ต่างกันอย่างไร

ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่เมื่อ 300 ล้านกว่าปีที่แล้ว ส่วนคนเกิดเมื่อตอน 3 ล้านปี จุดแบ่งก็คือ ถ้า 4 ล้านปีไล่ลงมา และมีโบราณวัตถุ นั่นคือ ‘โบราณคดี’ แต่ถ้าการขุดไดโนเสาร์จะเรียกว่า ‘บรรพชีวิน’ คือมีอายุมากกว่า 4 ล้านปีจนถึง 100 กว่าล้านปี ซึ่งจะไม่เจอโบราณวัตถุหรือสิ่งของที่มนุษย์ทำขึ้น

วิธีขุดค้นก็ไม่เหมือนกัน โบราณคดีส่วนหนึ่งคือ การขุดค้นจากดิน ส่วนบรรพชีวินจะขุดค้นหิน เพราะสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่กลายเป็นหินไปแล้ว จึงมีการขุดค้นที่แตกต่าง บางครั้งก็อาจมีอยู่ในดินบ้าง แต่โบราณคดีจะละเอียดมากกว่า เพราะเราขุดค้นทีละชั้นดินบางๆ เหมือนเราเอาขนมชั้นออกทีละชั้น

สมมุติว่า…สนามหลวงก็ได้ ถ้าไม่มีการรบกวน ชั้นดินก็จะถูกทับถมไปเรื่อยๆ ชั้นดินจะเป็นการบอกประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ดินของกรุงเทพฯชั้นบนสุดคือปี พ.ศ. 2560 ของที่อยู่ก็เช่น เปลือกลูกอม ฝาเป๊ปซี่ ตั๋วรถเมล์ ซึ่งโบราณวัตถุที่อยู่บนผิวทั้งหมดคือ สิ่งที่บอกอายุ โดยนักโบราณคดีเป็นคนที่รู้ว่าของเหล่านี้มีอายุเท่าไร สมมุติว่าถูกทับอีกชั้น ขนมชั้นอีกชั้นหนึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาอีกชั้นหนึ่ง เวลานักโบราณคดีขุด เราแยกแต่ละชั้น ซึ่งชั้นที่ทับถมก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ไม่มีอาคารซ้อนอาคาร แต่เป็นชั้นดิน เวลาเราไปดูแหล่งขุดค้น เราจึงเห็นว่าหลุมยาวลึกลงไป เขาก็ดูจากในชั้นดิน

จากหัวข้อใหญ่ ทำไมอาจารย์ถึงสนใจทำวิจัยในประเด็นหัวข้อ ‘ผู้หญิงในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Late Pleistocene) จากถ้ำลอด’

งานวิจัยที่ถ้ำลอดปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งต้นจากเราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและคนในอดีตว่า การปรับตัวของคนแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะก่อนประวัติศาสตร์ เขามีความเป็นอยู่อย่างไร ร่างกายปรับเปลี่ยนอย่างไร อย่างคนเมืองร้อนจะไม่ใส่เสื้อกันหนาว การปรับตัวเราคือ จะใส่เสื้อผ้าฝ้าย ในขณะที่ฝั่งยุโรป คนเมืองหนาว การปรับตัวในทางวัฒนธรรมของเขา เสื้อผ้า รองเท้าก็จะหนากว่าเรา อาหารการกินก็จะเน้นการสร้างพลังงาน

ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ คือคนช่วงหลังหมื่นกว่าปีหรือช่วงยุคน้ำแข็ง ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเลยคือ คนเริ่มมีการกระจายตัวในช่วงปลายยุคน้ำแข็ง ถ้าดูการ์ตูนเรื่อง Ice Age จะเห็นว่าคนเริ่มอพยพออกมาจากแอฟริกา

เราจึงสนใจว่า แล้วในไทยมีหลักฐานแบบนี้บ้างหรือเปล่า และถ้ามี คนจะมีลักษณะเหมือนกับคนในยุโรปหรือแอฟริกาหรือเปล่า ซึ่งถ้าเราเข้าใจกลุ่มคนเหล่านี้ เราก็จะรู้ต้นสายปลายทางที่ทำให้เราเข้าใจคนในสมัยหลัง เราต้องยืนยันได้ว่า คนไทยมาจากไหน เพราะเราต้องค้นหาคนที่เก่าที่สุดเพื่อจะดูว่า คนเก่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร มีวัฒนธรรมอย่างไร เพื่อจะเป็นจิกซอว์ต่อมายังปัจจุบัน อย่างพิธีกรรมฝังศพ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน มีบางส่วนของวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมา คือเราต้องการหากุญแจเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างกัน

แสดงว่า ตั้งเป้าไว้ว่าจะศึกษาเกี่ยวกับ ‘คน’ มากกว่า ‘ของ’

จริงๆ ตั้งใจดูของมากกว่าค่ะ ตอนแรกเลย เริ่มทำงานเมื่อปี 2540-2542 เราทำงานในช่วงภาคตะวันตกของไทย ก็คือ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการสำรวจถ้ำเพื่อที่จะอนุรักษ์ก่อน เพราะถ้ำกำลังเป็นที่นิยมสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การผจญภัย เขาก็กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ถ้าเปิดให้ท่องเที่ยวโดยไม่ได้ศึกษาก่อน เราก็เข้าไปร่วมในโครงการดังกล่าว ในด้านโบราณคดี ก็เข้าไปสำรวจก่อน

แล้วเทือกเขากาญจนบุรีกับแม่ฮ่องสอนเป็นเทือกเขาเดียวกัน แล้วตัวเองก็เริ่มคิดว่าน่าสนใจ อยากรู้ว่า เทือกเขาตอนบนกับตอนล่างมีอะไรเหมือนกันหรือเปล่า ปรากฏว่าเราสำรวจเจอแหล่งโบราณคดีเยอะมาก ทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ แล้วบังเอิญว่าโครงกระดูกที่เราขุดเจออยู่นอกถ้ำ คือเพิงผาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนโบราณ แล้วเจอเครื่องมือบนนั้น เราก็เริ่มเอะใจแล้วว่ามันต้องมีอะไรบนนั้น

ในช่วงที่สำรวจก็ไม่ได้ขุดค้นที่เพิงผาเลย จนช่วงปี 2544 ถึงเริ่มขุดค้น กับอีกที่ซึ่งเป็นพื้นที่คนละหมู่บ้าน สาเหตุที่ต้องสุ่มตัวอย่างเพราะว่า การขุดค้นบนภูเขายากมาก ไม่เหมือนกับพื้นราบ เราจึงต้องเลือกพื้นที่ขุด เพื่อหาตัวแทนของเวลา เพื่อพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถบอกเราได้ว่า พื้นที่ตรงนั้นมีอายุเท่าไรแล้ว จากนั้นเราก็จะใช้อายุเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ขุดค้นพบของชิ้นหนึ่ง เวลาเราศึกษาอีกที่หนึ่ง แล้วเราขุดค้นเจอของที่มีลักษณะคล้ายกัน เราก็จะรู้ได้ว่า เออ อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนะ เราก็เลยต้องขุดคนละที่ เพื่อหาแหล่งอ้างอิงของเวลาของสองที่ แล้วก็เจอโครงกระดูกที่เพิงผา

บริเวณตรงนั้นเจอโครงกระดูกอื่นไหม

มีอยู่สี่โครงค่ะ สี่คน แต่โครงที่พอมองออกมีอยู่สองโครง ก็คือ อายุ 13,000 ปี ซึ่งก็คือรูปผู้หญิง กับอายุ 12,000 ปี โครงอื่นเจอกระดูกแค่ชิ้นส่วนแขนขา ค่อนข้างมัวไปหมด

การขึ้นรูปหัวกะโหลกและใบหน้าใช้วิธีและเทคนิคแบบไหนบ้าง

เราทำเองไม่ได้ ก็ไปหานักคอมพิวเตอร์จาก MTEC (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (TSP) แล้วเราก็เอาชิ้นส่วนพวกนี้มาต่อกันในคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นเข้าเครื่อง CT Scan ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ พอเข้าได้ก็ออกมาเป็นโครงหัวกะโหลกเรซินให้เรา ที่นี้ตอนเป็นเรซินเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราก็รู้แค่ว่า กระดูกหัวคนโบราณเป็นแบบนี้ หน้าตาเขาไม่เหมือนเรา คือสันนิษฐานได้จากฟันที่พบ ที่เทคนิคการประกอบหัวกะโหลกยากเพราะใช้เครื่องใหญ่เลย CT Scan สำหรับคนไข้ ใช้คอมพิวเตอร์เทคนิคในการวัด และต้องวัดอย่างเท่ากัน จากนั้นจึงนำไปประกอบในคอมพิวเตอร์ เสร็จแล้วเอาไปเทียบจากหัวกะโหลกต่างๆ ในรุ่นเดียวกัน

เดิมเราไม่มีคลังข้อมูลของหัวกะโหลกอายุรุ่นเดียวกันในต่างประเทศ ในช่วงแรกๆ ของความหลากหลาย ตั้งแต่ โฮโม อีเร็กตัส แล้วมาถึง โฮโม เซเปียนส์ แม้จะมีความหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากชนิดที่แบบว่าเห็นชัดเจน

เขาจึงใช้คลังข้อมูลจากหลายๆ ที่ที่เคยเจอมาเปรียบเทียบแล้วลองมาดูว่า ส่วนไหนที่ขาดไป นอกจากนั้นยังใช้วิธีเดียวกับนิติวิทยาศาสตร์ในการขึ้นรูปหน้า หน้าส่วนไหนควรมีกล้ามเนื้อ ส่วนประกอบของจมูกควรจะเท่าไร

แต่ตอนหลังเจอเพื่อนในที่ประชุมที่อินโดนีเซีย ก็ได้เจอคนที่วาดหน้าให้กับมนุษย์ฮอบบิทที่อินโดนีเซียคือ ซูซาน เฮย์ส ก็คุยกัน ถามเขาว่าอยากลองมาทำไหม เพราะเราอยากรู้จริงๆ เขาก็มาช่วย แล้วก็ลองทำ จึงวาดได้เป็นหน้าตาเช่นนี้

ทำไมการขึ้นเป็นรูปหน้าคนถึงสำคัญ?

ตอนแรกที่ขึ้นเป็นหัวกะโหลกก็ว่าสำคัญแล้ว ในการบอกว่า ลักษณะโครงร่างของหัวไม่เหมือนกับคนปัจจุบัน ถ้าดูจากหน้าตาคนปัจจุบัน กรามเราจะเล็กกว่า แต่เขาฟันใหญ่ กรามใหญ่ การกินอาหารไม่เหมือนกันเลย

พอขึ้นรูปหน้าสำเร็จก็อธิบายได้มากขึ้นว่า คนที่อยู่ก่อนหน้า หรือที่เราเรียกว่ามนุษย์ยุคหิน มีหน้าตาอย่างไร คือเขาก็คล้ายกับเรา เพราะเราคิดภาพไม่ออกว่าคนโบราณหน้าตาแบบไหน พอเราได้หน้าแบบนี้ ก็ช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบระหว่างคนปัจจุบันกับคนในอดีตได้ แล้วเรายังส่ง DNA ให้ไปลองวิเคราะห์ด้วย ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้ารู้ผล DNA ก็จะสามารถบอกได้เลยว่า ผิวเป็นอย่างไร ตาสีอะไร ในเทคโนโลยีสมัยใหม่

จริงๆ แล้วในพื้นที่เดียวกัน ยังมีการพบอีกสองชุด คือ 9,000 ปี กับ 2,000 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าพื้นที่เดียวกัน ผลออกมาเหมือนกัน ก็จะเริ่มเป็นจุดเริ่มต้นที่จะอธิบายเรื่องของคนในประเทศไทยได้ว่า คนแรกเริ่มที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ถ้าหน้าตาเหมือนกันตลอด ก็อาจกล่าวได้ว่ามีการพัฒนาการที่ต่อเนื่อง สมมุติว่า ในสมัย 1,000 หรือ 2,000 ปี หน้าตาเหมือนคนจีน ก็แสดงว่า เออ คนในอดีตเขามีการปฏิสัมพันธ์หรือการเคลื่อนย้ายประชากรผ่านกัน

ในช่วงระยะเวลา 4,000 ปี คนเคลื่อนย้ายตลอดเลย ทั้งจากทางเหนือยูนนาน ตะวันตก ตะวันออก คนติดต่อกันเยอะแยะไปหมดเลย คือ ของมาคนก็มา ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าคนไทยมาจากไหน เพราะระลอกการติดต่อ การเคลื่อนย้ายเข้มข้นมาก เราหาที่มาที่ไปแทบจะไม่ได้ แต่การรู้จุดเริ่มต้นอย่างน้อยที่สุดทำให้เราเห็นว่า คนแรกๆ ที่ถือเป็นบรรพบุรุษที่อายุ 10,000 กว่าปี เป็นคนลักษณะอย่างไร

ทำไมถึงไม่สามารถบอกได้ว่าคนไทยมาจากไหน?

เพราะ ‘คนไทย’ เพิ่งถูกนิยามในช่วงหลัง อัตลักษณ์ของเราเป็นอย่างไร ความเป็นพุทธหรือภาษาไทย เป็นช่วงหลังมาก คือช่วงที่เป็นรัฐชาติแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีการแบ่งว่าใครเป็นใคร เนื่องจากการเคลื่อนย้ายประชากรมีเยอะมาก คนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยก็มีความหลากหลายมาก

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ณ ที่นี้หมายถึง?

คนที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น คนมอญ เขมร ก็มีลักษณะทางวัฒนธรรมเฉพาะของเขา แม้จะอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนตามชนชาติ เผ่าพันธุ์ตัวเอง แต่เขาก็อยู่ร่วมกันในบริเวณเดียวกัน นอกจากนั้นช่วงที่เกิดขึ้นคือก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เรารู้ได้ยังไง ก็เพราะว่าของในพื้นที่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน อย่างเขตจังหวัดสกลนคร อุดรธานี ก็จะมีหม้อบ้านเชียง ลงมาทางใต้อย่างที่โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ วัตถุก็ต่างจากอีสานเหนือ ถ้าเราจะเทียบก็คงเหมือนกาแล เราพบได้แค่เฉพาะภาคเหนือ แต่ภาคกลางก็จะเป็นเรือนอีกแบบ ไม่ใช่กาแล ฉะนั้นความหลากหลายดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ 4,000 กว่าปีแล้ว

ความแตกต่างของกลุ่มคน ซึ่งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา เพราะมีการติดต่อการเคลื่อนย้ายของคนที่เข้ามาในแต่ละยุค มีของจากเวียดนามบ้าง จากอินเดียบ้าง มีร่องรอยคนอินเดียที่เข้ามาอยู่ คนจีนเข้ามา ตอนหลังๆ ก็เริ่มผสมผสานกัน เพราะฉะนั้นความเป็นคนไทยจึงก็ไม่ต่างกับคนอเมริกัน ไม่ต่างกับคนอังกฤษ ที่มีความผสมผสานกัน ระหว่างคนหลากหลายชาติพันธุ์ จนออกมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้รัฐชาติ

รูปใบหน้าสองมิติที่ออกมา ใกล้เคียงกับชนชาติใดเป็นพิเศษหรือเปล่า

คล้ายกับคนภาคใต้นะคะ ลักษณะโครงสร้างคล้ายกันกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเขมรหรือลาวก็มีความคล้ายคลึง ก็รอที่จะทำโครงการต่อเกี่ยวกับโครงกระดูกที่พบพร้อมกัน คือ 9,000 ปีกับ 2,000 ปี ทีนี้เราก็จะเห็นความแตกต่างของแต่ละช่วงเวลา ว่าหน้าตาเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ นวัตกรรมหรือความพยายามที่คิดหาวิธีนี้ เกิดจากความโชคร้ายที่เราไม่ได้เจออะไรที่สมบูรณ์ แหล่งอื่นสมบูรณ์ แต่เขาไม่ได้สนใจทำออกมาลักษณะแบบนี้ พอไม่เจอ เราจึงคิดวิธีที่จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น เพราะการเจอของที่เก่าช่วยให้เราจะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น จะทำให้เรารู้ถึงที่มาของตัวเราเอง ทำให้เราสนใจพัฒนานวัตกรรมที่จะนำมาใช้เพื่ออธิบาย จึงออกมาเป็นแบบนี้

จริงๆ เรามีทำแบบสามมิติด้วย ศิลปินผู้ปั้นคือ วัชระ ประยูรคํา เขาปั้นตามหัวกะโหลกที่เคยขึ้นเรซินเอาไว้ โดยที่ไม่ให้ฝั่งวัชระและฝั่งเราที่วาดหน้า (ซูซาน เฮย์ส) รู้ข้อมูลกันและกัน พวกคุณว่าดูเหมือนไหมคะ

ถ้าวาดโครงหน้าได้ สามารถวาดโครงสร้างประกอบลำตัวได้ด้วยไหม

ไม่ได้ค่ะ ต้องมีโครง อันนี้ก็แค่เฉพาะหน้าก่อน ถ้าจะลำตัว ชุดของกระดูกจะต้องสมบูรณ์ ในกรณีของลำตัวก็จะมีบางที่ในยุโรปทำได้ทั้งตัว พอมี DNA ก็จะสามารถรู้ได้ว่าขนหรือผิวเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็เดาได้ว่ากล้ามเนื้อจะขนาดเท่าไร อย่างกระดูกเรา ถ้าแบกกล้องเยอะๆ แบกของเยอะๆ ก็จะหลังสึก แล้วขาสึก

ส่วนสูงวัดจากอะไร

ดูจากกระดูกขาหรือกระดูกแขน มีสูตรคำนวณซึ่งสามารถบอกได้ว่าสูงเท่าไร สมมุติว่า เจอศพในท่านอนคุดคู้ หรือเรียกว่าท่านั่ง ซึ่งเจอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็ใช้ส่วนกระดูกยาวเป็นตัวกำหนด ปกติเราวิเคราะห์โดยค่อยๆ ดึงกระดูกออกมาทีละชิ้น แล้ววางเรียงตาม anatomy ดูว่ากายวิภาคเรียงกันยังไง ซ้ายขวาอยู่ไหน การศึกษากระดูกก็ดูทีละชิ้น ดูรอยสึก มีอะไรเสื่อมไหม มีโรคที่ปรากฏอยู่ตรงกระดูกไหม

ท่าศพนอนคุดคู้ มีข้อสมมุติฐานหรือเปล่าว่า ทำไมถึงมีการพบโครงกระดูกในท่านอนแบบนี้หลายแห่ง

ถ้าเราศึกษาเปรียบเทียบท่านอนลักษณะนี้ ที่เห็นในฟิลิปปินส์นะคะ คือเวลาคนตาย วิธีฝังง่ายสุดคือ การมัดแขน มัดเท้า แล้วก็มีคานผูกห้อย ท่าจึงเป็นลักษณะแบบนี้ การมัดช่วยให้ง่ายต่อการขนย้าย ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงข้อสมมุติฐานอย่างหนึ่ง อีกอย่างคือ การห่อ ศพถึงมีท่าคุดคู้แบบนี้ได้ ถ้านอนธรรมดา ศพก็น่าจะแข็งทื่อ เว้นแต่ว่าตายใหม่ๆ แล้วให้นอนท่านั้นเลย ถึงจะอยู่แบบนั้น

แต่ดูข้อมูลกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในฟิลิปปินส์ เขาก็มีการเซ่นศพนะคะ เอาของวางไว้ให้ศพในหลุมเลย เราจึงเห็นว่าบางอย่างเป็นการสืบทอดต่อกันมาถึงสมัยหลังและสมัยปัจจุบันด้วย คือ เราก็ยังเอาอาหารให้ศพ อาจไม่ได้ไว้ข้างในเหมือนอดีตร่วมกับศพก็ตาม ทั้งเครื่องมือและของของศพเอง

คือเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงรับพุทธศาสนาเข้ามา เราจะเห็นร่องรอยของประเพณีฝังศพ ก็จะเป็นลักษณะนี้ ฝังของไปด้วย เช่น ที่บ้านเชียง มีหม้อที่ไม่มีการใช้งานเต็มหลุมศพไปหมด ฝังรวมกัน ยิ่งใครที่มีสถานภาพทางสังคมสูงก็จะมีของเยอะขึ้น ยังมีความเชื่อของนักโบราณคดีบางคนที่บอกว่า การฝังสิ่งของให้ศพนั้นเพื่อเป็นนำไปใช้ต่อในโลกหน้า ซึ่งเป็นแนวคิดเหมือนกับปัจจุบัน ถ้าดูตรรกะแล้วมีอะไรสืบทอดกันมาเป็นลักษณะสากล ที่เราพบในหลายๆ แห่งในโลก

ถ้าพูดถึงการใช้คานหามศพ ยุคนั้นมนุษย์เริ่มรู้จักการใช้เชือกแล้วหรือเปล่า

ถ้า 10,000 กว่าปีไม่แน่ใจนะคะ แต่ 2,000-3,000 ปีมีแล้ว หรือว่า 4,000 ปีรู้จักกันแล้ว เพราะว่าภาชนะดินเผามีลายเชือกผาดที่ประทับลงในภาชนะเพื่อกันลื่น แต่ก็เชื่อว่าใยไม้ หรือเปลือกไม้ คนโบราณก็สามารถเอามาผูกแทนเชือกได้เหมือนกัน

สิ่งที่พบตามแหล่งโบราณคดี สามารถบอกเส้นทางการเคลื่อนย้ายหรือการอพยพของมนุษย์ได้ไหมว่า เป็นการออกจากแอฟริกาแล้วเคลื่อนไปทางขวาสู่ทิศตะวันออก ไปตะวันออกกลาง เอเชีย หรือไปทางตะวันตก เช่น สหรัฐ แคนาดา ยุโรป

ถ้าทำงานแบบนี้ในแทนซาเนียที่แอฟริกาต้องใช้เวลา 30-40 ปี แต่เมืองไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจะตอบว่ามาจากซ้ายหรือขวากันแน่ก็ยากมาก อีกทั้งการทำงานที่เกาะติดระยะยาวในหัวข้อแบบนี้ที่ไทยก็ไม่มีเช่นกัน แต่ถ้าเราได้รับการส่งเสริม มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เหมือนกับจีนและอินโดนีเซีย ที่ความรู้เขาก้าวไกลมาก ก็อาจจะได้ข้อมูลมากขึ้น

ทีมต่างชาติมีบทบาทช่วยให้งานเร็วขึ้นไหม

(ถอนหายใจ) ที่ช้าเพราะไม่เคยใช้ทีมต่างชาติ สิ่งสำคัญถ้าต้องการให้ต่างชาติเข้ามาอยู่ในทีมคือ การพัฒนาความรู้ เพื่อจะได้สามารถประกบเขาในการทำงานร่วมกัน ต้องคิดได้และรู้เท่าทันเขา เพราะฝรั่งเขาเร็วมาก เขามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว

เราจึงควรที่จะสร้างฐานความรู้ของเราก่อน สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถ มีจิตวิญญาณที่เป็นคน ‘อยากรู้ให้ได้’ ในสังคม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

แล้วจะต่อยอดงานวิจัยหลังจากนี้ต่อไปอย่างไร

จุดประสงค์ที่ทำอันนี้คือ อยากให้สาธารณะเห็น เพราะเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามีภาพให้คนเห็น เขาก็จะรู้ว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ ถ้ามีรูปอะไรให้เด็กเห็น จะน่าสนใจกว่าพูดอะไรที่เขาไม่เข้าใจ จากสเต็ปนี้ ค่อยๆ ไต่เป็นเรื่องอื่น อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

จริงๆ อยากต่อยอดให้ไปถึงเรื่องอนิเมชั่น ให้เป็นภาพ visual อยากให้เป็นเหมือนภาพยนตร์สารคดีของต่างประเทศได้ แต่ให้เป็นความสามารถของคนไทยเอง ก็ต้องหาทีมที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกัน ต้องไม่ท้อแท้ต่อความยากลำบาก หรือไม่ก็ทำเกมเรื่องความรู้ เพื่อให้เด็กใช้ในการเรียน การเรียนสมัยใหม่ควรเป็นการ interactive ให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดข้อถกเถียงบทสนทนากัน

คือใจอยากทำงานโบราณคดีที่เชื่อมกับสังคม อย่างตอนนี้มีงานเยอะแยะที่เป็นงานก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็ยากที่จะเชื่อมโยงกับคนในปัจจุบันให้เกิดแรงบันดาลใจได้ ทั้งๆ ที่งานเหล่านี้สามารถต่อยอดและเล่าเรื่องต่อไปได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคภัยไข้เจ็บในสมัยโบราณ ความเป็นอยู่ของคนในอดีต หรือความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายตั้งแต่สมัยโบราณ มีความหลากหลายอย่างไร ในอนาคตก็อยากมอบงานวิจัยให้กับชุมชนหรือพิพิธภัณฑ์ ของทุกอย่างอยากให้เก็บไว้ในที่สาธารณะ เพื่อจะได้มีคนเห็นให้ได้มากที่สุด แล้วก็ต้องมีขั้นตอนการทำ การเล่าเรื่อง เพื่อให้เด็กๆ หรือคนไทยได้เห็นอะไรแบบนี้ แล้วตัวเราเองก็ไปทำอะไรอย่างอื่นต่อ

ถ้านับเฉพาะการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีที่ถ้ำลอดปางมะผ้า สามารถต่อยอดไปทำวิจัยในประเด็นอื่นได้อีกไหม

ถ้าหลังจากงานนี้เสร็จ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เสร็จนะคะ (หัวเราะ) ก็ยังเหลืออีกหลายเรื่องที่ขุดค้นเจอ เช่น สัตว์ โลงศพ ความรัก เราถอดรหัสมาทีละชิ้นเพื่อจะได้สื่อสารกับคนง่ายขึ้น คืองานวิจัยส่วนหนึ่งที่เราขุดค้นพบ มีสัตว์บางชนิดที่ไม่มีอยู่ในแม่ฮ่องสอนแล้ว แต่เคยมีอยู่ในประเทศจีน ตรงนี้ก็จะทำให้รู้ได้ว่าบริเวณนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ทำไมสัตว์จึงมีส่วนสำคัญในการศึกษาโบราณคดี

สัตว์ในที่นี้หมายถึง สัตว์ที่ถูกล่า สัตว์ในช่วงยุคนี้เป็นสัตว์ที่มีความหลากหลาย เช่น วัว ควาย หมี แรด กวาง หมู สารพัด ถ้าเป็นคนโบราณรุ่นนี้เจออะไรเขาก็ล่า ก็กิน แต่ถ้ารุ่นปักหลักปักฐานจะกินสัตว์เฉพาะชนิด อย่างวัว หมู ไก่ เหมือนปัจจุบัน ซึ่งสามารถบอกได้ว่า หนึ่ง-ความหลากหลายของอาหารมนุษย์ สองก็คือ สิ่งแวดล้อมในอดีตเป็นอย่างไร สัตว์พวกนี้ควรมาจากป่าดิบเขา แสดงว่าสภาพแวดล้อมเดิมเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยเราตีความสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลานั้นได้

สามปีหลังจากนี้ก็เป็นเรื่องสัตว์ แล้วก็เป็นคนที่พบจากจุดเดียวกัน แล้วค่อยมาประกอบกันเป็นเรื่องราว เป็นซีรีส์ คงต้องใช้ชีวิตทำไปเรื่อยๆ ทำเท่าที่จะทำได้ เพื่อจุดประกายให้มีคนอย่างทำต่อ และก็เข้ามาร่วมทีมกับเราด้วย

การจุดประกายอยากให้คนทำงานด้านนี้ต่อ ก็เท่ากับว่าต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา ตรงนี้มีวิธีการอย่างไร

อย่างตัวเรา ตอนเด็กๆ ชอบเครื่องมือหิน พอหลังจากนั้น อะไรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือหิน ไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหมด เราก็จะสนใจ

ตัวเองคิดว่าทุกอาชีพต้องเกินจากความชอบพื้นฐาน พอเราเป็นครูทำให้รู้ว่าเราต้องหาทางสอนให้ลูกศิษย์เรา หรือเวลาบรรยายให้คนทั่วไปฟัง ต้องทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าสมมุติว่าเขาชอบ เขารักมัน อุปสรรคแค่ไหนก็ไม่กลัว เพราะมันเกิดจากจุดเริ่มต้นที่ความชอบ ความสนใจ ต้องมีคนเป็นต้นแบบ ที่ทำให้เห็นว่า เขาไม่ได้ท้อแท้ต่ออุปสรรค ในไทยเรามีคนแบบนี้เยอะแยะในหลายสาขาวิชา

การสื่อสารกับเด็กๆ  หรือแม้กระทั่งนักเรียน ก็เท่ากับว่าต้องมีความรักความชอบในด้านโบราณคดีก่อน?

นักโบราณคดีรุ่นใหม่ ต้องถามตัวเองก่อนว่าเขารักอาชีพแบบนี้ไหม นักโบราณคดีไม่จำเป็นต้องดูเฉพาะยุคหิน จะเป็นสมัยอยุธยาก็ได้ รัตนโกสินทร์ หรือเรื่องปัจจุบันอย่างหมุด (คณะราษฎร) ก็ได้ จริงๆ แล้วโบราณคดีคือการศึกษาเกี่ยวกับอดีตจากวัตถุ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีตัวหนังสือกระจ่างขึ้นมาได้ เหมือนกับนักนิติวิทยาศาสตร์ของอดีต เราเหมือนนักสืบของอดีตที่ค้นหาบางช่วงของเวลา

อย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เอกสารทางประวัติศาสตร์อาจบอกได้แค่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ แต่นักโบราณคดีถ้าเจอปืน เฮ้ย! ปืนแบบนี้เป็นปืนอะไร ปืนเยอรมัน ปืนฝรั่งเศส หรือเราก็ดูว่ารถนี้รถอะไร รถขนคนหรือรถเสบียง นักโบราณคดีศึกษาจากวัตถุหรือเศษ ตรงข้ามกับคนอื่นที่ศึกษาจากตัวอักษร นักโบราณคดีจึงศึกษาได้ลึกกว่า เพราะฉะนั้นหน้าที่หรือภารกิจของคนนักโบราณคดีจึงสำคัญมาก จึงอยากให้เด็กๆ ที่เขาเรียนอันนี้ ต้องมีจิตสำนึกที่รักและมีนิสัยที่เหมือนนักสืบ แล้วเขาจะเรียนด้วยความสนุก ทำงานอย่างสนุก

สำหรับเราความตื่นเต้นของการขุดพบหรือเจอสิ่งใหม่ๆ ก็ตื่นเต้นทุกครั้ง ถ้าเราทำงานโดยไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็ไม่สนุก ถ้าเราสนุกก็จะทำให้ทั้งทีม สนุกร่วมกัน เวลาทำงานจะทำงานเป็นบูรณาการ จะไม่มีใครเป็น one man หรือ one woman show เพราะการทำงานที่ดีทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน ทุกคนจะต้องมีความรู้สึกว่า นี่เป็นงานของเรา เท่าๆ กัน

ก็อย่างที่บอกเราทำเพราะเรารักในสิ่งที่เราทำ การทำงานก็คือ การศึกษาอดีต เป็นการแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วย ซึ่งคือสิ่งที่อยากทำเพราะว่าหน้าที่ของการศึกษาอดีต การสืบค้นเรื่องราว มักไม่ค่อยมีคนทำออกมาในลักษณะที่สื่อกับคนอื่นให้เข้าใจหรือรับรู้ได้ง่าย พอมาทำตรงนี้ก็ไม่ได้รู้สึกท้อแท้มากนะคะ เพราะเรารักสิ่งที่เราทำ แล้วเด็กๆ ที่ทำด้วยกันก็รู้สึกเหมือนกัน อยู่ด้วยกันก็ทิ้งให้เขาอยู่นั้น จนแบบหนุ่มดอยมาจีบกันเป็นแถว (หัวเราะ)

ถือว่าคนรุ่นหลังสนใจกันเยอะไหม

เขาสนใจแบบตื่นเต้นกันนะคะ แต่ถ้าถามว่า ความอดทนทั่วๆ ไป ถ้าอะไรที่ยาก เขาก็จะรู้สึกว่ายากเกินไปเลย ไม่เอา จึงมีคนอยากเป็นนักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์น้อยกว่านักโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์มาก เพราะเขารู้สึกว่า การที่จะอธิบายอดีตที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ต้องใช้ความรู้จากสหสาขา ต้องใช้จิตนาการเยอะ เด็กจึงรู้สึกว่ายากเกินไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรมีคือ ความอดทนที่จะไม่ยอมแพ้ เพื่อแสวงหาคำตอบ ถ้าทำวิธีนี้ไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่า งั้นเราลองหาวิธีทำอีกแบบหนึ่งสิ

หากใครสักคนเพิ่งเริ่มสนใจโบราณคดี มีวิธีแนะนำเที่ยวแหล่งโบราณคดี หรือดูโครงกระดูกอย่างไรให้สนุก

ถ้าดูเอง โดยที่ไม่มีอะไรเลยต้องไม่สนุกแน่ๆ เลยเนอะ (ยิ้ม) ถ้าจะให้สนุกต้องมีคนที่รู้เรื่องเล่าให้ฟัง บางที่อย่างเช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เพื่อนอาจารย์ที่ภาคได้ไปอบรมเด็กโครงการมัคคุเทศก์น้อย พอเป็นเรื่องเบสิคคนก็จะสนใจ อย่างเช่น ประเพณีการฝังศพ ถ้าปัจจุบันก็ฝังไปทางทิศตะวันตก แล้วอดีตล่ะเป็นอย่างไร วางศพอย่างไร

คืออยู่ที่กลเม็ดในการเล่าเรื่อง ถ้ามีของแล้ว มีป้ายอธิบายแล้ว สมมุติคนไทยไม่อ่านหนังสือ ชอบดูจากความตื่นเต้น ตัวอย่างที่จีน พิพิธิภัณฑ์โบราณคดีเขาใช้เทคนิค VR กับ AR ให้สแกน QR Code แล้วจะฉายเป็นภาพโฮโลแกรม ค่อยๆ เล่าเรื่องไป คือต้องมีเทคโนโลยีเข้าช่วย แต่ประเทศอย่างเรา ทางที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการเล่าเรื่อง และถ่ายทอดให้ออกมาสนุก ซึ่งจะทำให้คนฟังสนุกตาม

อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือที่บ้านโป่งมะนาว ก็มีป้ายอธิบาย แต่คนไม่อ่าน ถ้าจะทำให้รู้มากขึ้น ก็ต้องเล่าเรื่องใกล้ตัวเขา อย่างบ้านโปรตุเกส มีศพของบาทหลวงเต็มไปหมด ที่นี่มีโบสถ์ และมีโครงกระดูกที่ขุดค้นอยู่ใต้โบสถ์ ถ้าเราสามารถเล่าเรื่องได้ว่า นี่เป็นสร้อยของบาทหลวงฝรั่งที่เคยมาไทยนะ ซึ่งในอยุธยา ข้าวของแบบนั้นจะถูกเผาหมดแล้ว หรือไม่ก็เอาไปใส่ไห ใส่หม้อ เป็นการเล่าให้คนทั่วไปรู้สึกสนใจยุคนั้น

หรือคนคริสต์เขาจะถูกฝังแบบคริสต์ ก็เล่าเรื่องผ่านโครงกระดูก ว่าสามารถบอกอะไรได้บ้าง มีโรคอะไรในสมัยนั้นบ้าง ถ้าเล่าเรื่องแบบนี้ แล้วโยงให้ใกล้ตัว คนก็จะรู้สึกสนใจมากขึ้น อย่างถ้าเล่าให้ผู้ใหญ่ก็ ดูนะ นั่งเยอะๆ นี่หลังสึก กระดูกงอกได้นะ ถ้าเราดูจากโครงกระดูก เราก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่อายุน้อยแน่ๆ อายุมากแล้วล่ะ หรือหัวกะโหลกของคนที่ยังไม่โต พวกเด็กๆ หัวกะโหลกยังไม่ผสานกันดียังมีรอยให้เห็น เวลาที่เขาบอกว่าอย่าตีหัวเด็กนะ เพราะว่ากะโหลกยังไม่ผสาน มีสิทธิ์ที่จะเกิดอันตรายได้ ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้เราแยกได้ว่ากะโหลกเป็นของเด็กหรือผู้ใหญ่ได้ด้วย หรืออย่างงานที่ทำ เจอฟันที่ผุจนกระทั่งกินคอฟันไปหมดเลย นึกในใจว่า ตายเพราะว่าฟันผุหรือเปล่า เพราะหนองเข้าไปลึก จนฟันโบ๋ไปเลย

พวกนี้อยู่ที่กลเม็ดของการเล่าเรื่อง หรือไม่ก็เทคโนโลยีการถ่ายทอดเรื่องราว จริงๆ แล้วคนไทยเรามีศักยภาพสูงมาก แต่เราขาดการสนับสนุนเรื่องแบบนี้ เรื่องการศึกษาสาธารณะ ถ้าเราทำนิทรรศการแบบนี้คนจะสนใจไหม หรือว่าเฉยๆ (หัวเราะ)

อีกอย่าง การจัดแสดงโครงกระดูกที่ไว้ตรงแดดกลางแจ้ง ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการทำลายโครงกระดูก ควรจัดแสดงของปลอม แล้วเอาของจริงไปศึกษาให้ละเอียด เฮ้ย ดูสิ ถ้าเราเป็นมะเร็ง กระดูกจะเป็นอย่างนี้นะ ตอนตาย ลักษณะหัวของคนไทยเป็นแบบนี้นะ ฝรั่งมีโครงสร้างเป็นแบบนี้นะ ให้คนได้ดูแล้วมีมิติของการเปรียบเทียบ

อีกอันที่น่าสนใจคือ อายุของคนตายระหว่างมนุษย์ยุคปัจจุบันกับบรรพบุรุษของเรา ถ้าอดีต 35 ถือว่าแก่แล้วนะ พอมายุคบ้านเชียงอาจเป็น 40 แล้วคนปัจจุบันอายุเท่าไหร่ 80 แล้วใช่ไหม อายุ 30-35 ถือว่าแก่แล้วในยุคนั้น แสดงว่าวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตของเขาค่อนข้างลำบาก ขณะที่ยุคหลังเริ่มมีการดูแลรักษาโรค อาหาร จึงสามารถยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น

เพราะฉะนั้น ทุกอาชีพคงเหมือนกัน เริ่มต้นจากความรู้สึกที่เราชอบ แล้วจะสามารถตอบคำถามได้ทุกอย่าง แล้วจะดูโครงกระดูกอย่างไรให้สนุก ถ้าคนที่อยู่ตรงนั้น เขาชอบในสิ่งที่เขาทำ พอมีคนมาดู มาขอความรู้ เขาก็จะรู้สึกยินดี เพราะไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่อย่างเดียว มาเลย เดี๋ยวเล่าให้ฟัง ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะทำอะไร เราก็ต้องรู้สึกว่าเรารักมัน

อาจารย์เคยทำงานศิลปะใน site ขุดค้น เพื่อให้คนเข้าถึงโบราณคดี ตอนนั้นทำอะไรบ้าง

นานมาก 10 ปีที่แล้วมั้ง ทำคอนเซ็ปต์เรื่องความตาย เพราะทุกเรื่องที่เราทำเกี่ยวกับความตายทั้งนั้น เลยชวนอาจารย์จากจิตรกรรมที่เชียงใหม่ ชวนมาทำกัน จัดขึ้นที่ปางมะผ้า เพราะว่าของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มันจับไม่ได้ ก็ทำตรงกันข้ามเลย คือ หนึ่ง-เอาไว้ในที่ คนที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นแรงบันดาลใจ ที่ไม่เคยเห็นให้เขาดู แล้วก็ดูว่าเขารู้สึกยังไง อีกอย่างก็คือ ทุกอย่างจับได้ เวลาเราเข้าพิพิธภัณฑ์จับอะไรไม่ได้ นี่อิสระมาก จับเลย แล้วดูว่า คนเป็นอย่างไร ท้ายที่สุด ก็เกิดการเรียนรู้จากตรงนั้น

ศิลปะคือการสื่อโดยไม่ต้องใช้ภาษา ถ้าศิลปะสามารถข้ามพรมแดนของปัจจุบันและข้ามพรมแดนของชาติพันธุ์ได้ คนดูก็จะรู้สึกเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ กิจกรรมดังกล่าวทำให้เราสนทนากับชาวบ้านได้ มีเพลง มีดนตรี มีภาพถ่าย มีงานประติมากรรม งานเพนติ้งต่างๆ ซึ่งช่วยให้สื่อถึงกันได้โดยไม่ต้องพูดอะไร ขนาดที่ก่อนหน้านี้เราทำงานในพื้นที่วิจัย เราต้องพูดเยอะ พอมาเป็นแบบนี้ ก็เกิดการเข้ามาร่วมกันระหว่างชุมชนและกิจกรรมเรา

ตอนนั้นเป็นงานทดลอง เอาคนหลายๆ field งานต่างๆ มาทำร่วมกัน ทั้งจากด้านพิพิธภัณฑ์ นักวิจารณ์ศิลปะ ศิลปิน นักดนตรี อะไรแบบนี้ เรื่องใหญ่ตอนนั้นคือ เรื่องของการระดมทุน เลยเหนื่อย แต่ว่าอนาคตนี้ก็อยากทำอีก จุดประสงค์ก็คือ พลังของอดีตให้สังคมร่วมสมัยที่อาจต่างชาติพันธุ์ กับกลุ่มที่อยูในเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับมัน ถ้าเราเชื่อมตรงนี้ได้ ความรู้สึกที่เขามีสำนึกต่ออดีตจะทำให้เขามองโลกได้อีกแบบ เขาจะมีความละเมียดละไม โลกของอดีตไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีหรือเรื่องของความทันสมัยอย่างเดียว

แล้วเราก็ดูว่า กิจกรรมแบบนี้สามารถนำไปใช้สื่อสารกับคนรุ่นใหมได้ไหม คนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่คนที่ชอบศิลปวัฒนธรรมนะคะ คนรุ่นใหม่ที่ชอบเดินสยามฯ แล้วดูสิว่า เรื่องโบราณคดี เรื่องอดีต ถ้ามีศิลปะเป็นตัวเชื่อม ก็ได้ผลในระดับนึง แต่เราก็ไม่ได้ตามขนาดนั้น ข้ามศาสตร์เกินไป

นอกจากเรื่องโบราณคดียุคเก่า ทราบมาว่า อาจารย์สนใจเส้นทางการเดินทัพทหารญี่ปุ่นในไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งค่อนข้างเป็นโบราณคดีร่วมสมัยแตกต่างจากงานที่อาจารย์ทำที่มักเกี่ยวกับโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์?

ช่วงปี 1997-2006 เจอผู้บริหาร สกว. ของท้องถิ่นนั้น แล้วก็บอกอาจารย์ว่า ตอนนี้อำเภอปายเขากำลังโปรโมทการท่องเที่ยวเยอะมาก กลายเป็นอีกแบบหนึ่งไปแล้ว จึงเริ่มสนใจทำงานโบราณคดีที่อำเภอปาย ร่วมกับอำเภอปางมะผ้า จึงเข้าไปค้นข้อมูลและรวบรวมให้เป็นคลังของชุมชน เพื่อชาวบ้านจะได้สามารถทำอะไรต่อ คือจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรืออะไรต่อก็ต้องมีความรู้

ที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเส้นทางเดินทัพของทหารญี่ปุ่นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเคยมีการศึกษามาก่อน และทางจังหวัดก็อยากพัฒนาตรงนี้ ช่วงนั้นเลยหยุดงานวิชาการ แล้วไปรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนแทน ก็เลยทำเส้นทางสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่อำเภอแม่มาลัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาทำถนนต่อไปยังอำเภอบ้านต่อแพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อที่จะเข้าไปยังพม่า ซึ่งอังกฤษอยู่ที่นั่นเยอะ

ในช่วงที่เราเข้าไปทำก็มีการศึกษาค้นคว้าไว้บ้างแล้ว แต่ว่าตอนที่ทำก็งง เพราะว่า ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1941-1945 พอมาปี 1984-1986 ซึ่งไม่กี่ปีหลังสงครามเอง แต่ไม่มีใครู้ว่า ทหารญี่ปุ่นเดินทางมาหรือกลับ เวลาเราสัมภาษณ์ชาวบ้านก็ไม่รู้เลยว่า ทหารทำถนนทีละนิดหรือเปล่า หรือว่าเขาแค่ถอยทัพกลับ เพราะเรื่องที่เราสัมภาษณ์มีสองเรื่อง แสดงว่าประวัติศาสตร์ชุดนี้มีคนจับมารวมกัน เราก็ต้องค่อยๆ มาสาง

แบบนี้เป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ การเริ่มต้นทำงานในพื้นที่เป็นอย่างไร

เราเริ่มสัมภาษณ์ตั้งแต่อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า จนถึงอำเภอเมือง เพื่อดูว่ายังมีใครอยู่บ้าง ก็ทำให้เรารู้เรื่องราวบางอย่าง คือจังหวัดแม่ฮ่องสอนเขาโปรโมทความรัก ในลักษณะคล้ายๆ กับโกโบริกับอังศุมาลิน เขาทำเป็นวิดีทัศน์ เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสาวชาวเหนือกับหนุ่มญี่ปุ่น ซึ่งเราก็ประทับใจนะ

แต่ตอนทำงาน เราก็สงสัยว่า ชุดความรักนี้ถูกผลิตขึ้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าคนไทยต่อต้านญี่ปุ่นจริง แล้วผู้หญิงเป็นเมียญี่ปุ่น จริงๆ เขาต่อต้านจริงหรือเปล่า หรือเกิดขึ้นมาตอนกระแสพร้อมกับโกโบริ-อังศุมาลิน ก็เลยกลายเป็นอย่างนี้ เขาก็ใช้อำเภอขุนยวมเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางเข้ามาของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ความรู้เกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นและของของเขามีน้อยมาก โชคดีที่มี พันตำรวจโทเชิดชาย ชมธวัช เป็นคนรวบรวมของเอาไว้จนเป็นศูนย์ข้อมูล เราจึงได้ข้อมูลบางส่วนมา แต่การศึกษาในเชิงรายละเอียดแบบโบราณคดี คือ ต้องรู้เวลา ใครบ้างที่มา เส้นทางเมื่อไหร่ การทำทางเป็นอย่างไร รถอะไรที่มา ปืนอะไรที่ใช้ เครื่องแต่งกายเป็นของใคร ต้องจำแนกแบบนี้ก่อน

‘ของ’ ที่อาจารย์กล่าว หมายถึงอะไร

คือเป็นของที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้ เช่น ปืน รถ เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้เยอะมาก คือเยอะ แต่ขาดการสืบสวนว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ถึงเราไม่ใช่คนค้นพบแล้วทำเองทั้งหมด แต่เรารวบรวมวิธีการ แล้วทำเป็นรายงาน จริงๆ นี่ก็เป็นงานค้างที่เรารู้สึกว่า โบราณคดีร่วมสมัยมักจะถูกไม่สนใจ คือ เส้นทางนี้ญี่ปุ่นเขาบันทึกไว้เลยว่า เป็นเส้นทางโครงกระดูกสีขาว คือทหารญี่ปุ่นตายรายทางเลย ทั้งช่วงที่เดินเข้ามาไทยด้วยการปลอมตัวมาเป็นสายลับต่างๆ และช่วงที่ถอยทัพกลับ

ทำไมอารมณ์ของชาวบ้านในอำเภอขุนยวมและอำเภอปายถึงมีอารมณ์ที่แตกต่างจากภาพจำของจังหวัดกาญจนบุรี

ในจังหวัดกาญจนบุรีหรือจังหวัดชุมพร ความรู้สึกของชาวบ้านแตกต่างจากที่นี่อย่างสิ้นเชิง ประวัติศาสตร์ที่นั่นมีแต่ความโหดร้าย แต่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นช่วงแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นเดินถอยกลับมา ถูกส่งไปหลายที่ พอชาวบ้านเห็น ก็มีแต่ความเห็นใจ เวลาสัมภาษณ์จึงมีอารมณ์ของความสงสาร เห็นใจ เมตตา อะไรเยอะแยะไปหมด แต่ที่กาญจนบุรี ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกจับเป็นเชลยศึกเพื่อสร้างถนน ส่วนทางภาคเหนือเป็นการจ้างชาวบ้านให้ไปทำทางถนนเข้าพม่า วิธีการจ้างคือ ให้คนจากหมู่บ้านนี้ไปทำอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อไม่ให้รู้อะไรเป็นอะไร เหตุการณ์ที่เกิดก็จะเป็นคนละช่วง

เวลาที่เรามองภาพประวัติศาสตร์ เราต้องดูพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ละที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน และสามารถส่งผลต่อความทรงจำหรือความรู้สึกของคนที่อาศัยอยู่ในนั้น ทำให้ความทรงจำของชาวบ้านแถบเส้นทางภาคเหนือเป็นความทรงจำที่โอเค ขณะเดียวกัน ที่กาญจนบุรีเต็มไปด้วยความโหดร้ายและทรมาน สองที่จึงไม่เหมือนกันเลย ถ้าประวัติศาสตร์ไทยหรือโบราณคดีได้เรียนรู้เรื่องร่วมสมัยแบบนี้ จะทำให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม เกิดความสงสัย เกิดการอยากค้นคว้ามากขึ้น มีทางเลือกในการเรียน

มีความโรแมนติกจริงไหม ระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่น

มีค่ะ ป้าแก้ว หว่าละ (เสียชีวิตเมื่อปี 2555) ชาวบ้านจากอำเภอขุนยวม กับนายทหารญี่ปุ่นชื่อ สิบเอกฟูคุดะ ฮิเตียว เขาก็เป็นสามีภรรยากัน ตอนญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารต้องถอยทัพกลับผ่านเส้นนี้ แล้วต้องช่วยกันตั้งค่ายพักทหาร เสร็จแล้วทหารญี่ปุ่นก็มาช่วยชาวบ้านตำข้าว อะไรแบบนี้ แล้วก็มีความประทับใจต่อกัน ทั้งสองมีลูกชายหนึ่งคน ทางการเลยเลือกเรื่องของป้าแก้วกับฟูคุดะเป็น love story ในการทำวิดีโอโปรโมทแหล่งการท่องเที่ยว ตัวป้าแก้วก็ได้ของที่ระลึกจากญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นคนช่วยทหารญี่ปุ่น คือเป็นความทรงจำที่ดี เขาเลยตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ ขุนยวมก็มีสถานที่แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น มีโบราณวัตถุร่วมสมัยเยอะมากไหม

มีเต็มไปหมดเลยค่ะ แต่พอจัดแบบสมัยใหม่ก็เหลือแสดงเพียงน้อยชิ้น แล้วใช้มัลติมีเดียแทน มีของน้อย มีป้ายเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าของเยอะแล้วเล่าเรื่อง มันจะสนุก นี่ไง อันนี้เป็นยังไง เราจะรู้เลยว่า ทหารญี่ปุ่นเวลาเขามา พ่อแม่ก็จะให้ของลูกชายไว้ เป็นผ้าไว้ผูกเอว หรือนายทหารเขาก็จะมีเครื่องถ้วยที่เอามาจากญี่ปุ่นเลย ใช้ในการล้างหน้า เขาไม่ใช้ของพื้นเมืองเลย ทุกอย่างเป็นของที่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งเราจะไม่ค่อยรู้ จากของที่เราพบและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรารู้เลยว่า ไม่ว่าทหารญี่ปุ่นจะไปไหน เขาก็จะหอบไปด้วย

คือเรามักจะเจอมิติญี่ปุ่นในแง่ของปืน เครื่องแต่งกาย แต่การเจอหลักฐานแบบนี้ เราสามารถเล่าเรื่องจากของส่วนตัวได้ บอกได้ถึงการนำวัฒนธรรมของเขามาด้วย แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยากลำบากมากแต่เขาก็หอบมา

การทำงานลงพื้นที่ชุมชน ในแง่วัฒนธรรมหรือสังคม หรือแม้แต่โบราณคดี น่าจะต้องมีอุปสรรคอยู่บ้าง?

ก็ลำบากเหมือนกันนะคะ ในพื้นที่ที่มีความต่างทางชาติพันธุ์ เพราะว่าอย่างพื้นที่ปางมะผ้า ความเชื่อเรื่องผีจะแรง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำงาน หนึ่ง ต้องคุยกับชาวบ้านก่อนคือ

าวบ้านเขาเชื่อเรื่องผี เพราะทำงานส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพทั้งนั้น ชาวบ้านก็กลัว ว่าเหตุร้ายจะมาตกที่พวกเขาได้ ผีอยู่ทุกทีเลยค่ะ สิ่งที่เรามักจะถูกถามคือ เราสามารถการันตีความเสี่ยงในเรื่องของผลที่จะเกิดกับชุมชนได้ไหม (ยิ้ม) เราก็บอกได้แค่ว่า เราคงการันตีไม่ได้ เป็นเรื่องของความเชื่อ เพราะฉะนั้นเราก็เลยบอกว่า เราสามารถไปทำพิธีกรรมตามความเชื่อของเขาตามผู้ประกอบพิธีกรรมจากหมู่บ้านได้ แล้วมาดูว่า เราสามารถทำงานที่นี่ได้ไหม

เขาก็เข้าไปในถ้ำกับเรา แล้วก็บอกว่า ผีบอกว่าโอเคนะ ยินดีที่จะให้ทำ เพราะเรามาดี การที่เรามาศึกษาสถานที่แบบนี้จึงยากตรงที่โบราณคดีนั้นเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เวลาเราสอนเด็ก เราจะบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอไปปฏิบัติงานจริงมีอย่างอื่นด้วย ถ้าเราเคารพชุมชน เราก็คิดว่าอันนี้ก็ไม่ได้แปลกอะไร แต่ถ้าชุมชนเชื่อแบบนั้น เราก็ต้องทำตามความเชื่อของชุมชุน

มีเคสที่อยากทำ แต่ชุมชนไม่ยอมให้ทำบ้างไหม

ก็ที่ทำอยู่ค่ะ เพิ่งขุดเสร็จ อันนี้เจอโครงกระดูกเป็นร้อยเลย ที่ถ้ำโลงไม้ทำจากไม้สัก จังหวัดแม่ฮ่องสอน มันสมบูรณ์ที่สุดเลย เราก็ขออนุญาตชาวบ้าน เขาก็ไม่ให้ แม้จะบอกเขาว่าการศึกษานี้สำคัญยังไง เราเคยทำที่นี่ เขาก็รู้จักเราดี แต่เขาก็ปฏิเสธ ไม่ให้เราทำ จริงๆ เราก็ดีใจนะคะ แสดงว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของเราได้ผล เพราะขนาดเขายังปฏิเสธเราเลย เราก็เลยทำกระบวนการเล่าให้ฟังว่า ขั้นตอนการขุดค้นทำอย่างไร เขาก็โหวตไม่ให้ทำ ครั้งที่สอง โหวตอีก ก็ยังไม่ได้อยู่ดี

จริงๆ แล้วคือ ชาวบ้านกลัวผี กลัวเรื่องจะมีคนตาย คนเจ็บป่วยในชุมชน ตอนหลังเราก็ต้องคุยกับพ่อเฒ่าว่า ข้อมูลที่เราค้นพบจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ถ้าอยากทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือจะเก็บไว้พิพิธภัณฑ์ ประชาชนทั่วไปจะได้รู้ด้วย คุยหลายหนค่ะ สามหน ครั้งที่สามถึงจะได้

เวลาเราทำงาน เราถือว่าเราเป็นคนนอก ก็ต้องถามชาวบ้านก่อนว่าอนุญาตให้เราทำไหม ถ้าเอาตามใบอนุญาตของกรมศิลปากรหรือกรมอุทยานให้เราทำงานวิจัย คือเข้าไปทำได้เลย แต่เราก็รู้สึกว่า เราอยากให้ชาวบ้านคนที่อยู่ในพื้นที่รู้ว่าเราทำอะไร การที่ได้รับอนุญาตจากพวกเขา ก็เป็นการยืนยันได้ด้วยว่า site ของเราจะปลอดภัย เพราะเขาก็รู้ว่าเราเป็นใคร

แต่ที่นี่ (ถ้ำโลงไม้) ยากสุดเลย เป็นปี กว่าจะได้เข้าไปขุด เพราะต้องคุยแล้วคุยอีก อธิบายขั้นตอน เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ชายแดนที่ต่างจากภาคใต้ คนเจ็ดกลุ่ม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสูง ก็ต้องให้เขาเข้าใจตรงนี้ด้วย มันบอกได้ว่า การทำงานต้องใช้เวลา เราต้องแสดงความจริงใจ ความอดทน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า