ศาสตร์แห่งการนินทา: จากการหาเหาของไพรเมต สู่วิวัฒนาการทางสังคมของโฮโมเซเปียนส์

ใครไม่เคยนินทายกมือขึ้น

ถ้ามีใครยกมือ คงต้องพาไปสาบาน 9 วัด เพื่อพิสูจน์ความสัตย์หรือไม่ก็อาจต้องพาไปพบจิตแพทย์ เพราะมันคือพฤติกรรมที่ผิดแบบแผนมนุษย์ปกติ 

การนินทา (gossip) เป็นพฤติกรรมมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ ทั้งศาสตร์ด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยา ปี 2019 วารสาร Social Psychological and Personality Science พบว่าโดยเฉลี่ยคนเราจะใช้เวลานินทาประมาณ 52 นาทีในแต่ละวัน ขณะเดียวกันมีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ชิ้นหนึ่งพบว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของการสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้ชาย เป็นการ “พูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสังคม” ซึ่งเป็นนิยามหนึ่งของคำว่า ‘นินทา’ ในทางวิชาการ ส่วนผู้หญิงพบว่ามีการใช้เวลาในการ “พูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสังคม” มากถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของการสนทนาในแต่ละวัน

แม้การนินทาจะเป็นกิจกรรมพื้นฐานของมนุษย์ แต่ในทางวิชาการนั้นนับเป็นเสน่ห์อันเร้นลับน่าค้นหา เพียงแค่นิยามของคำว่านินทาก็เถียงกันได้ไม่รู้จบ ในปี 2021 นักวิจัยชาวดัตช์พบว่า ในโลกวิชาการมีการให้นิยามคำว่านินทาไว้มากถึง 324 ความหมาย แสดงถึงความไม่เห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายของการนินทาในโลกวิชาการ โดยนิยามที่ได้รับการยอมรับและเห็นพ้องมากที่สุดคือ การให้ความหมายว่า “การที่ผู้ส่งสารส่งสารถึงผู้รับสาร เกี่ยวกับเรื่องราวของคนที่ไม่อยู่ในที่นั้นและไม่ตระหนักว่าตนเองกำลังเป็นเป้าหมายของการสื่อสารนั้น” แปลเป็นไทยให้กระชับก็น่าจะเป็น “การพูดถึงผู้อื่นลับหลัง” ซึ่งน่าจะเป็นนิยามความหมายที่ตรงกับการรับรู้ของสังคมไทยมากที่สุด 

สังคมศาสตร์แห่งการนินทา

หากอธิบายในทางสังคมวิทยา การนินทาถือเป็นพื้นฐานกิจกรรมของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม เพราะการนินทาสามารถนำผู้คนมารวมกันเพื่อแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ระหว่างกัน บทบาทสำคัญของการนินทาในทางสังคมวิทยาคือ การสร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เราเป็นสมาชิกอันส่งผลต่อความมั่นคงทางจิตใจได้ เมื่อใครมานินทาคนอื่นให้เราฟัง อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้สึกดีที่ได้รับการยอมรับ ความสนิทชิดเชื้อ หรือไว้วางใจจากเพื่อนในกลุ่มถึงขนาดนินทาคนอื่นให้เราฟัง สังคมวิทยาจึงมองประโยชน์ของการนินทาว่าสามารถขจัดความเหงาและสร้างความบันเทิงได้ดี โดยเฉพาะการนินทาในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่มีงานศึกษาหลายชิ้นพบว่าการนินทาสามารถส่งเสริมความผูกพันใกล้ชิดได้มากขึ้น 

ในเชิงจิตวิทยา การนินทาคือกิจกรรมที่ช่วยให้มนุษย์หลีกเลี่ยงปัญหาของตนเองได้ เพราะส่วนใหญ่ของการนินทาคือ ‘การชี้นิ้ว’ ไปที่ปัญหาของคนอื่น ซึ่งในทางจิตวิทยามองว่าเป็นการทำให้คนเรารู้สึกดีขึ้น เมื่อนำแนวคิดทฤษฎีด้านวิวัฒนาการมาขยายความก็จะทำให้เรามองเห็นความเป็นจริงประการหนึ่งว่า ถ้ามีใครสักคนที่อ่อนแอกว่าเรา มันจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น 

นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary psychologist) คนหนึ่งชื่อ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) บอกว่าการนินทาในหมู่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลไพรเมตมาสู่มนุษย์ โดยเปลี่ยนจากการสางขนหาเหาให้กัน มาเป็นการนินทา การจับกลุ่มสางขนและหาเหาให้กันของไพรเมตกับการจับกลุ่มนินทากันเองของมนุษย์ เหมือนกันในแง่ที่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดสังคม สร้างสายสัมพันธ์ ดูแลเอาใจใส่ระหว่างกัน และทำให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายสังคมเดียวกัน โดยในระหว่างการสางขน ไพรเมตจะมีการสื่อสารที่ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องราวของฝูงตนเองไปด้วย ความต่างระหว่างการจับกลุ่มหาเหาของไพรเมตกับการจับกลุ่มนินทาของมนุษย์คือ การหาเหาเป็นกิจกรรมที่จับคู่กันทำ แม้จะมีการจับกลุ่มกันขนาดใหญ่ แต่ก็ลงมือทำกันแบบตัวต่อตัว ต่างกับการนินทาของมนุษย์ที่พบว่ามักจับกลุ่มกันทำ โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 2-4 คน 

ขณะที่นักมานุษยวิทยามองว่า การนินทามีบทบาทสำคัญในการมีชีวิตรอดของบรรพบุรุษมนุษย์เลยทีเดียว เจโรม บาร์โก (Jerome Barkow) นักมานุษยวิทยาชีวสังคม (biosocial anthropologist) ที่สนใจศึกษาสังคมมนุษย์ในเชิงจิตวิทยาวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า เพื่อรักษาการดำรงอยู่แห่งเผ่าพันธุ์ บรรพบุรุษของพวกเราจงใจให้ความสำคัญกับการพูดถึงคนอื่นในวงสนทนามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสาร และการประเมินเรื่องราวของญาติ คู่แข่ง คู่ครอง ลูกหลาน คนระดับหัวหน้า หรือผู้มีบทบาทนำในสังคมจะสนใจการนินทาหรือการพูดถึงบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงสนทนา เพื่อประโยชน์ในการควบคุมทรัพยากร กิจกรรมทางเพศ การเกิด และการตายของสมาชิก

นักวิชาการสายสังคมศาสตร์บางคนยังมองว่า การนินทาเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เป็นการเปิดโอกาสให้สอนและยกตัวอย่างให้เห็นถึงการกระทำที่สังคมให้การยอมรับและไม่ให้การยอมรับ เช่น การที่เราพูดถึงป้าข้างบ้านว่า ชอบพาหมาไปอึที่สนามส่วนกลางของหมู่บ้านตอนยามเผลอให้ลูกฟัง ลูกก็จะได้เรียนรู้ว่าการกระทำของป้าข้างบ้านน่ารังเกียจ ไม่ควรทำเป็นเยี่ยงอย่าง 

สรีรวิทยา ขณะร่วมวงนินทา

ความสนใจเรื่องการนินทาในแวดวงวิชาการไม่ได้ปรากฏเฉพาะโลกของสังคมศาสตร์ แต่สายวิทยาศาสตร์ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ปี 2015 วารสาร Social Neuroscience เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมองเมื่อได้ยินคำนินทาทั้งเชิงบวกและเชิงลบของตัวเอง หรือคนที่ตัวเองรัก หรือบรรดาคนดัง โดยใช้วิธีการเปิดเทปข่าวซุบซิบหรือคำนินทาให้ผู้ร่วมโครงการฟัง แล้วทำการสแกนภาพสมองไปพร้อมกัน ซึ่งภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อนของเรามีการทำงานมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า สมองมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อข่าวซุบซิบและข้อมูลเชิงลึกที่ได้ฟัง ซึ่งการทำงานของสมองในส่วนนี้สัมพันธ์กับความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้อื่น และต้องการเข้ากับสังคมได้ ในขณะที่ คอเดต นิวเคลียส (caudate nucleus) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสร้างความพอใจในสมองจะถูกกระตุ้นเมื่อได้ยินคำนินทาเชิงลบเกี่ยวกับคนดัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนมักจะสนุกไปกับการฟังคำซุบซิบนินทาหรือข่าวลือเชิงลบของคนดังในสังคม แต่จะหงุดหงิดเมื่อได้ยินคนพูดถึงตนเองในด้านลบ 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบด้านสรีรวิทยาระหว่างการนั่งฟังผู้อื่นพูดถึงบุคคลที่สามลับหลังอย่างเงียบๆ กับการได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แมทธิว เฟนเบิร์ก (Matthew Feinberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กร แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) เคยเผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2012 ซึ่งเขาและเพื่อนนักวิจัยทำการทดสอบการตอบสนองของร่างกายเมื่อมีบทบาทต่างกันในวงนินทาแต่ละวง โดยเขาพบว่า เมื่อผู้ถูกทดสอบได้ยินพฤติกรรมต่อต้านสังคมของคนอื่นหรือได้ฟังเรื่องราวที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคม หัวใจจะเต้นแรง แต่เมื่อพวกเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการนินทาหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับบุคคลนั้นด้วย อัตราการเต้นของหัวใจกลับลดลง “การนินทาช่วยให้ร่างกายสงบลงได้” คือข้อสรุปหนึ่งของงานวิจัยของเฟนเบิร์กชิ้นนี้

อนาคตของการนินทา

จากวิวัฒนาการในอดีตจะเห็นได้ว่า การนินทาไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นเรื่องเสียหาย ตรงข้ามกลับเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมอย่างชัดเจน หากมันถูกใช้ในทางที่ถูกต้อง คำถามคือการนินทาจะวิวัฒนาการต่อไปในอนาคตอย่างไร 

เอริค ฟอสเตอร์ (Eric Foster) แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) เคยพยายามหาทิศทางในอนาคตของการนินทา แต่ก็ไม่อาจให้ภาพที่ชัดเจนได้ เพราะการนินทาในแต่ละยุคสมัยมีเนื้อหา รูปแบบ และบทบาทหน้าที่ต่อสังคมแตกต่างกันไป ฟอสเตอร์มองว่าเป็นความท้าทายของคนรุ่นปัจจุบันว่าจะทำให้ทิศทางในอนาคตของการนินทาหันไปสู่การเป็นเครื่องมือสร้างความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างกันหรือจะบ่มเพาะให้เกิดความขัดแย้ง ตอกย้ำความแตกต่าง สร้างความเกลียดชังระหว่างกัน 

เพราะฉะนั้น คงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องกำหนดทิศทางของการนินทาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์มากที่สุด ด้วยการจับกลุ่มนินทากันต่อไป แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถ้าเมื่อไรที่เราเผลอลุกไปเข้าห้องน้ำ เราเองก็สามารถตกเป็นเป้าของการนินทาได้เช่นกัน

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า