“ถ้าไม่ใช่ เพราะศิลปะฉันคงฆ่าตัวตายไปเเล้ว”
ยาโยย คุซามะ ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น วัย 90 ปี เจ้าของฉายา ‘คุณป้าลายจุด’ ผู้รังสรรค์ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง ภาพจำคือลายจุดพร้อยไปทั่ว คอนทราสต์อย่างรุนแรง จนสร้างความรู้สึก ‘เมาสี’ แก่ผู้ชมสีสันฉูดฉาดบาดตา ปัจจุบันเธอคือศิลปินหญิงผู้ยังมีชีวิตอยู่ ที่ขายงานได้มากที่สุด
จุดเริ่มต้นงานศิลปะของยาโยยเกิดขึ้นตอนอายุ 10 ขวบ เธอเกิดอาการมองเห็นภาพหลอนเป็นลักษณะเเสงไฟวูบวาบ เป็นจุดๆ ซ้อนกันไปมา เธอจึงวาดรูปในสิ่งที่มองเห็นออกมาในรูปแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาเพื่อบำบัดอาการทางจิตของตนเอง ทำให้เธอหลงใหลในงานศิลปะ และวาดฝันอยากเป็นจิตกร
ยาโยยยึดมั่นในปรัชญาการทำงาน ที่เรียกว่า ‘การลบเลือนตัวเอง’ (self-obliteration) การวาดรูปลายจุดหรือตาข่ายจำนวนมากๆ เพื่อลบเลือนตัวตนเพื่อกลืนกลายเข้าสู่ความว่าง ตัวอย่างงานที่เห็นได้ชัดคือ โปรเจค ‘The Obliteration Room’ เธอเปลี่ยนห้องสีขาวโล่งๆ ให้กลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยสติกเกอร์ลายจุดหลากหลายสี หลากหลายขนาด และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถสร้างลายจุดได้เช่นกัน โดยนำสติกเกอร์ลายจุดมาติดตามจุดต่างๆ ในห้องสีขาว ห้องสีขาวโล่งๆ จึงกลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยจุดสีสันสดใสทั่วห้อง
หนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึง คือ ‘Infinity Nets’ ภาพวาดลายตาข่ายที่สะท้อนถึงภาพหลอนที่เธอมองเห็น เธอเล่าเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ว่า “ฉันคลุมทั้งผืนผ้าใบด้วยตาข่าย เเล้ววาดเลยไปบนโต๊ะ บนพื้น เเละในที่สุดก็บนตัวฉัน เมื่อฉันทำขั้นตอนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตาข่ายเหล่านี้จะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยไร้ที่สิ้นสุด ฉันหลงลืมตัวตน ณ ขณะที่มันกลืนกินร่างกายฉัน โอบรัดเเขน ขา เสื้อผ้า และปกคลุมทั้งห้อง”
ชีวิตในวัยเด็กของยาโยยน่าเศร้านัก เธอเติบโตมาในเมืองมัตสึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางสภาพครอบครัวหัวโบราณที่ยกย่องอำนาจชายเป็นใหญ่ ไม่มีใครสนับสนุนการทำงานศิลปะของเธอ แม่มักจะฉวยกระดาษที่เธอกำลังวาดอยู่ไปฉีกทิ้ง กระทั่งว่าเธอต้องรีบวาดให้เสร็จไวๆ
เมื่อตอนเด็กเธอรับคำสั่งจากเเม่ให้ไปสอดแนมพฤติกรรมของพ่อที่แอบไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น จนเกิดเป็นภาพหลอนติดความทรงจำ ส่งผลให้เธอมีอาการรังเกียจเซ็กซ์ หรือพวกกลัวความสัมพันธ์ทางเพศในเวลาต่อมา
เธอได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า ‘Accumulation No.1’ ประติมากรรมนุ่ม มีลักษณะของการตัดเย็บด้วยผ้าและยัดด้วยนุ่นเป็นรูปลึงค์จำนวนมาก เเละนำลึงค์นุ่มนิ่มเหล่านั้นมาปะติดปะต่อเป็นโซฟา เรือ และรูปลักษณ์อื่นๆ อีกมากมาย เป็นผลงานอีกชิ้นที่เธอสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงปมทางเพศของตนเอง
เมื่อครั้งออกเดินทางสู่มหานครนิวยอร์คเพื่อเรียนรู้ศิลปะเเขนงใหม่ๆ อีกทั้งต้องการพื้นที่ในการเเสดงผลงานศิลปะได้อย่างอิสระเสรี เธอพยายามสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาหลากลายชิ้น แต่ความพยายามนั้นกลับไม่เป็นผล อุปสรรคมากมายถาโถมเข้ามา ผลงานที่เธอสร้างขึ้นไม่มีใครสนใจ เพราะโลกศิลปะนั้นมองเห็นแค่ ‘ศิลปินชายผิวขาว’ เท่านั้น เธอเป็นชายขอบของชายขอบใน art scene ของนิวยอร์ค แต่กระนั้น หากดูจากยุคสมัย คุซามะถือว่าล้ำมากๆ ทั้งวิธีในการสร้าง ‘ซีน’ ให้ตัวเอง ผลงานศิลปะที่แตกต่างอย่างมาก จุดยืนการต่อต้านสงคราม หรือกระทั่งเคยจัดงานแต่งงานให้คนรักเพศเดียวกัน แต่ความล้ำของเธอกลับไม่ได้รับการเหลียวแล แถมยังถูกฉกฉวยไปใช้โดย ‘ศิลปินชายผิวขาว’ ลูกรักของวงการศิลปะ
ความผิดหวังที่ถาโถมทำให้ยาโยยมีอาการซึมเศร้า เอาแต่หมกตัวอยู่คนเดียว จนกระทั่งวันหนึ่งเธอตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงจากหน้าต่างห้องพัก แต่เธอตกลงไปบนรถจักรยานที่จอดอยู่ด้านล่างเลยไม่ตาย
ระยะเวลากว่า 16 ปี ในนิวยอร์คของยาโยย เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรสำหรับเส้นทางการเป็นศิลปิน เธอเรียนรู้งานศิลปะมากมายและสร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมหลากหลายชิ้น จนทำให้เธอมาถึงจุดที่มีผู้คนรู้จักเธอมากมายในฐานะศิลปินเอเชียมากความสามารถคนหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้อาการทางจิตของเธอดีขึ้นเเต่อย่างใด
ปี 1977 ยาโยยกลับมาอยู่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากอาการป่วยทางจิตรุนเเรงขึ้น เธอต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงเเม้อาการป่วยจะรุนเเรงแค่ไหน ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการสร้างสรรค์ผลงานที่มีอยู่ในสายเลือดของเธอได้ ยาโยยสร้างสตูดิโอขึ้นบริเวณใกล้ๆ กับโรงพยาบาล เพื่อที่เธอจะสามารถเข้ามาทำงานศิลปะที่เธอรัก ท้ายที่สุดศิลปะที่เธอหลงใหลจึงเป็นเสมือนสิ่งที่คอยพยุงชีวิตเธอมาจนถึงทุกวันนี้
กว่า 1 ชั่วโมง 20 นาที กับภาพยนตร์สารคดีที่จะทำให้ผู้ชมได้รู้จักกับชีวิตและจิตใจของ ยาโยย คุซามะ และเห็นโลกแบบเดียวกับที่เธอเห็น แต่นั่นคงเทียบไม่ได้กับเวลาหลายหมื่นแสนชั่วโมง ที่คุซามะหมกมุ่นกับการสร้างผลงาน และอยู่ในจักรวาลลายจุดนั้น เธอพบกับผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย จนถึงวันที่เธอพอจะมีชื่อเสียง และโลกเริ่มตอบรับโลกของเธอ ถึงวันนั้นเธอก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว
ไฟและพลังในการสร้างสรรค์ยามเยาว์วัยไม่เคยสูญเปล่า แม้มันจะคล้ายการเผาตัวเองก็ตามที