ทำการต่อต้านให้ปรากฏ: กรณีศึกษาศิลปะในฐานะเงาของการเมือง

 

จากการจัดประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ที่นำไปสู่การเรียกตัวนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคมไปปรับทัศนคติ ด้วยเหตุนี้ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีข้อสรุปกันว่า อย่ากระนั้นเลย อย่าทำให้พี่ๆ ทหารต้องลำบากหาคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ต้องมาแอบเข้าฟังเสวนาที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของล่ามอีกเลย จึงได้จัดงานภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘รัฐศาสตร์เสวนา ชุด ไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย’ โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้นักศึกษาภาควิชาการปกครองได้เข้าฟัง และเปิดกว้างสู่สาธารณชนที่ไม่ต้องทำเนียนมาแอบฟังเหมือนคณะทหารอีกต่อไป

วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเสวนาครั้งที่ 1 และจะมีการจัดต่อเนื่องทุกวันอังคารเว้นสัปดาห์ และในครั้งที่ 1 นี้เป็นหัวข้องานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ที่สนใจปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของศิลปะทางการเมืองและสะท้อนสภาวการณ์ต่างๆ ทางสังคม ในหัวข้อ ‘ทำการต่อต้านให้ปรากฏ: ศิลปะและการเมืองของการต่อต้านหลังรัฐประหาร 2557’ หรือ visualizing resistance

 

ผู้ช่วยศาสตรจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

ศิลปะกับการเมือง

ผศ.บัณฑิต กล่าวว่า visual media มีบทบาทอย่างสำคัญต่อโลกร่วมสมัย และเรามักมองข้ามว่าโลกของศิลปะไม่อิงกับการเมือง ทั้งที่หลายครั้งการเกิดขึ้นของศิลปะสักชิ้นมักมีนัยยะของการเมืองเข้าไปร่วมด้วยเสมอ

เหตุและผลของการศึกษาในเรื่องนี้ เพราะไม่ค่อยมีนักวิชาการให้ความสนใจศิลปะที่ผูกโยงกับการเมือง แต่มักสนใจในแง่มุมของประวัติศาสตร์ศิลปะเสียมากว่า คำถามของ ผศ.บัณฑิต จึงเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างของความรู้สึก หรือ structure filling เพื่ออ่านปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านงานศิลปะ

“ถ้าจะดูปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมให้ไปดูอาณาบริเวณของศิลปะ กวี นิยาย การแสดง ดนตรี ภาพเขียนต่างๆ รวมไปถึง performance art เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่ง ณ ช่วงเวลาที่เราดู เราอาจยังไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร เรายังไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร จนกว่าจะผ่านระยะเวลาไปถึงจุดหนึ่ง เราถึงจะมีคำเรียกช่วงสมัย ยุคนั้น เวลานั้น”

 

Field time and visual culture

ประเด็นทางสังคมและการเมืองที่บัณฑิตทำการศึกษา คือกรณีการรวมตัวของคณาจารย์และผู้มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะในระดับประเทศ คือ การออกมารวมตัวกันต่อต้านคณะรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในนามของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.

หนึ่งในศิลปินที่มีบทบาทในการทำงานศิลปะทางการเมืองมาโดยตลอด และได้เข้าร่วมกับ กปปส. เมื่อปี 2556-2557 ก็คือ วสันต์ สิทธิเขตต์ ซึ่งบัณฑิตวิเคราะห์ว่า แนวคิดทางการเมืองของวสันต์มุ่งเน้นไปยังการต่อต้านจักรวรรดิทุนนิยมของอเมริกาเป็นหลัก ผ่านการแสดงงานทางศิลปะทั้งในรูปของภาพวาดและบทกวี ครั้งหนึ่งวสันต์ยังเคยตั้งพรรคการเมืองในชื่อ ‘พรรคเพื่อกู’ เพื่อเสียดเย้ยรัฐบาลภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในทัศนะของวสันต์แล้วนั้น ประชาธิปไตยมีไว้เพื่อรับใช้นักการเมืองและชนชั้นนำบางกลุ่ม

“ศิลปินไทยคนอื่นๆ ก็ทำงานในเชิงการเมือง เช่น งานของสุธี คุณาวิชยานนท์ ในนิทรรศการกลุ่มชื่อ ‘ประวัติศาสตร์และความทรงจำ ปี 2544’ โดยร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ สร้างผลงานในชื่อ ‘ห้องเรียนประวัติศาสตร์’ ในรูปแบบภาพสลักนูนต่ำบนโต๊ะนักเรียนสิบสี่ตัว ทุกโต๊ะจะมีเรื่องราวแตกต่างออกไป โดยพูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองในแต่ละช่วง เช่น 14 ตุลาคม 2516 บทบาทการเมืองของเสรีไทย 6 ตุลาคม 2519 และภาพการเมืองเหล่านี้ ทุกคนสามารถเอากระดาษมาทาบแล้วใช้สีขัดผิวได้ภาพนูนต่ำเป็นที่ระลึกกลับไปบ้าน เป็นห้องเรียนประวัติศาสตร์ นอกจากห้องเรียนของสุธีแล้วก็ยังทำวิดีโอชุดเดียวกัน เป็นห้องเรียนจริงๆ มีเรื่องราวบนกระดานดำจากการเมืองสมัยใหม่ มีคำถามและคำตอบ บางตอนเลอะเลือนเพราะถูกลบด้วยแปรงลบกระดานดำ ซึ่งตอกย้ำความหมายที่หายไปและความทรงจำที่พร่าเลือนของการเมืองไทย”

ขณะที่งานสร้างชื่อของวานิต คืองานชุด ‘pink man’ ที่สอดแทรกตัวเองเข้าไปในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ในลักษณะของใบหน้าที่ไม่ทุกข์ร้อน รวมไปถึงงานของสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘อิ๋ง เค’ หลานสาวของเสรีไทย ซึ่งเขียนภาพบุคคลสำคัญทางการเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นายปรีดี พนมยงค์ และภรรยาของผู้สมคบในคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ทุกคนต่างมีน้ำตาไหลพรากและแสดงความเสียใจ

ภาพเหตุการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 ท่ามกลางการขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส. ผู้หญิงในภาพชื่อ พิจาริณี รัตนชำนอง (ภาพถ่ายต้นฉบับจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

ศิลปะเพื่อชีวิต และศิลปะเพื่อศิลปะ

ก่อนที่รูปแบบของศิลปะจะเดินทางมาถึงห้วงสมัยของการสื่อสารที่พยายามไปให้พ้นจากกรอบเดิมๆ สังคมไทยเคยถกเถียงกันมาแล้วในเรื่องรูปแบบของศิลปะว่า ศิลปะควรจะเป็นไปเพื่อตัวศิลปะเอง หรือศิลปะควรจะถูกสร้างขึ้นเพื่อมวลชนตามแนวคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ ในขณะที่ศิลปะเพื่อศิลปะจะมุ่งเน้นไปที่การเสพงานแล้วเกิดอารมณ์ซาบซึ้งในบัดดล อย่างที่เรียกว่าเสพซึ้งถึงนิพพาน ซึ่งการปะทะกันของทั้งสองแนวคิดนี้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการปลดปล่อยพลังของศิลปะ จากเดิมที่คุณต้องจบเพาะช่าง จบศิลปากร เรามีศิลปินหน้าใหม่ๆ เช่น ประเทือง เอมเจริญ ที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาเลย เขียนโปสเตอร์หน้าโรงหนัง แต่เป็นคนที่สนใจศิลปะ ไปนั่งฟังเลคเชอร์ จนสามารถสร้างสรรค์งานในระดับที่เป็นการยอมรับ หรือคนอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ที่ไม่ได้มีความรู้อย่างเป็นทางการ เข้าใจว่าขายน้ำเต้าหู้ แต่จ่าง แซ่ตั้ง เขียนบทกวีที่เป็นรูป ไม่ใช่บทกวีแบบสัมผัส แต่หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ศิลปินเหล่านี้ก็กระจัดกระจายไป เรียกว่าหายไปจากเวที ที่ทำอยู่ก็ทำแบบเงียบๆ ทำแล้วเก็บ ทำแล้วทิ้ง ทำแล้วทำลาย เพราะฉะนั้นบทบาทของศิลปินหลังยุค 6 ตุลา จึงลดน้อยลง แต่พอมีกระแสศิลปะร่วมสมัยขึ้นมา ศิลปะเชิงสัมพันธภาพ ศิลปะที่ตั้งคำถามกับสังคม ก็ทำให้มีศิลปินที่ทำงานด้านนี้มากขึ้น”

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในรอบสิบปีมานี้ การเกิดขึ้นของศิลปะสะท้อนการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ภาพหนึ่งที่ ผศ.บัณฑิต ถ่ายมาด้วยตัวเองคือ ภาพใบหน้าที่ยิ้มแย้มดีใจของข้าราชการกระทรวงการคลังในวัน ‘ชัตดาวน์กรุงเทพฯ’ ซึ่งสะท้อนสภาวะยินดีที่ไม่ต้องรับใช้รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์อีกต่อไปแล้วนั้น เป็นภาพที่บัณฑิตมองว่าประเทศไทยได้มาถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน

อีกภาพถ่ายหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงเหตุการณ์ก่อนการมาถึงของคณะ คสช. คือ ภาพเขียนป้ายประท้วงริมกำแพงวังท่าพระของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำแพงด้านหนึ่งเขียนว่า “free Bangkok free silpakorn อย่าเอามหาวิทยาลัยไปรับใช้การเมือง” อีกด้านหนึ่งเขียนว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ข้อความในทำนองเดียวกันนี้ ยังปรากฏอยู่บนพื้นผิวถนนราชดำเนินเพื่อขับเน้นวาระของการต่อสู้เพื่อชาติของกลุ่ม กปปส. ไปจนถึงความพยายามขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตั้งแต่การไปเปลี่ยนเลขวันที่ 2 กุมภาพันธ์ บนป้ายผ้ารณรงค์ริมกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เป็นวันที่ 30 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีอยู่จริง รวมไปถึงการที่มวลชน กปปส. เข้าขัดขวางและทำร้ายผู้คนที่ต้องการเข้าคูหาไปกาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งหนึ่งในภาพถ่ายที่ปรากฏออกมาและเป็นภาพที่บัณฑิตมองว่า ตัวตนของ ‘คุณป้าไฟฉายส่องทาง’ หรือ นางสาวพิจาริณี รัตนชำนอง นั้น นับเป็นศิลปะในเชิง performance art อย่างไม่ต้องสงสัย

“มองในเชิงศิลปะ คุณป้าคือศิลปินโดยแท้ ใช้ไฟฉายส่องซอมบี้”

ผศ.บัณฑิต กล่าวว่า ความกล้าหาญของพิจาริณีสะท้อนสภาวะของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ที่อยากจะพูด อยากจะแสดงออก เช่นเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ก็กลับนำป้ายผ้าที่มีข้อความ ‘เหลืองแดงมาแล้ว’ ซึ่งหมายถึงตัวธรรมศาสตร์ในฐานะของสีประจำมหาวิทยาลัย ไปแขวนไว้ที่หน้ากองทัพบก เพื่อจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำการรัฐประหาร โดยมีข้อความในบรรทัดต่อมาว่า ‘แดงเหลือง ซึ่งหมายถึงสีประจำของกองทัพบก อยู่ที่ไหน?’

ถึงปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลายคนมีคำตอบแล้ว และคำถามที่อาจจะมีหรือไม่มี ว่า แล้วกองทัพจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน สิบปี ยี่สิบปี หรือมากกว่านั้น?

“การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองของศิลปิน ในด้านหนึ่งก็เพื่อสร้างการต่อต้านให้ปรากฏ เพราะช่วงที่เวลาที่สังคมไม่อาจพูดกันได้ด้วยเหตุผล หรือไม่อาจจะสื่อสารกันได้ แต่การพูดด้วยภาพ การพูดด้วยสัญลักษณ์กลับส่งความหมายได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นการใช้ media การใช้ visual culture ในการนำเสนอจึงมีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญที่จะนำมาซึ่งการสนับสนุนหรือการต่อต้านอย่างใดอย่างหนึ่ง การสร้างการต่อต้านให้ปรากฏ จึงเป็นหมุดหมายที่ทำให้คนสามารถสื่อสารได้ในเวลาอันรวดเร็ว visual language เร็วกว่าคำอธิบาย และมีพลังมากกว่าที่เราตระหนักรู้”

 

ศิลปะหลังการรัฐประหาร

การเกิดขึ้นของศิลปะหลังการรัฐประหาร ในทัศนะของ ผศ.บัณฑิต คือการปรากฏในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยืนเป่าสากบนสถานีรถไฟฟ้าเพื่อแสดงการต่อต้านการจับผู้คนไปปรับทัศนคติ การจัดแสดงงานศิลปะเพื่อกระตุ้นให้สังคมหวนมาตระหนักในกรณีของไผ่ ดาวดิน

กระนั้น แม้จะมีการแสดงงานศิลปะในเชิงต่อต้านรัฐประหาร ก็ยังมีความพยายามที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้รักประชาธิปไตยของศิลปิน กปปส. ในการจัดแสดงงานที่กวางจู จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านและเห็นต่างต่อตัวศิลปิน คือ สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่นำเอางานศิลปะส่วนหนึ่งของตนเองในช่วงที่เข้าร่วมกับการชุมนุมในนามของ กปปส. ไปร่วมจัดแสดง

“ในความเป็นจริง ในประเทศไทย ศิลปะและการเมืองถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ผมอยากจะยกคำพูดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในสุนทรพจน์ที่งานรับรางวัล[1] เขาบอกว่า

“ยังมีสถานที่มากมายที่การจดจำและการแบ่งปันเรื่องราวเป็นเรื่องอันตราย ผมรู้ เพราะผมมาจากที่แบบนั้น คำถามคือ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและการสื่อความหมายด้วยความเห็นอกเห็นใจ ในเมื่อแต่ละแห่งดำเนินไปด้วยเหตุและตรรกะแตกต่างกัน ผมไม่รู้คำตอบนั้น แต่ผมเชื่อว่าการส่องสว่างไปที่สิ่งๆ หนึ่ง อาจจะนำพาเราพ้นจากความมืดหม่น และมาสู่ความสว่าง และแสงสว่างนั้นย่อมสะท้อนกลับไปที่คุณ เพราะสิ่งที่เราทำล้วนแต่กระทบกับเราทั้งสิ้น”

[1] สุนทรพจน์ระหว่างรับพระราชทานรางวัล prince claus award ที่เนเธอร์แลนด์

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า