ไลลา ศรียานนท์: ขอเป็นนางฟ้าได้ไหม…ในฐานะแอร์โฮสเตสก็ได้

จาก artist สู่ dream job ของใครหลายๆ คน เครื่องบินเปรียบเสมือนโรงเรียนใหม่ ไลลา ศรียานนท์ อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ ผันมาเป็น make up artist ที่เคยใช้สองมือแต่งเสริมเติมสีให้กับนักแสดง-นักร้องในวงการมาหลายต่อหลายคน เธอเลือกสมัครเป็นนางฟ้าด้วยความอยากรู้ และไม่ว่าด้วยหน้าตา ความเฉลียวฉลาด บุญเก่า หรือเรื่องของโชคลาภวาสนาตามที่เธอเชื่อ วันนี้ไลลากลายมาเป็นแอร์โฮสเตสอย่างเต็มตัว และออกหนังสือเล่มแรกในชีวิต LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ กับสำนักพิมพ์แซลมอน เราจึงเธอชวนคุย ในบรรยากาศสบายๆ ถึงสิ่งที่เธอบันทึกไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือว่า ‘แด่…ชีวิตใหม่’ กับงานที่ใครๆ ก็นิยามว่าเป็น ‘นางฟ้า’

กว่าจะติดปีก

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี อาชีพลูกเรือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ยังคงได้รับความนิยมและเป็นหนึ่งในอาชีพเบอร์ต้นๆ ที่ผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝัน ดูดีทั้งภาพลักษณ์และรายได้ แถมยังสามารถท่องเที่ยวรอบโลกแบบไม่ต้องควักเงินค่าตั๋วเอง แต่ความเป็นจริงคือ จำนวนคนที่อยากจะติดปีกมีมากกว่าตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อฤดูกาลรับสมัครมาถึง สาวๆ ทั้งหลาย จึงหลั่งไหลเข้าแย่งชิงเก้าอี้ว่าง เกิดเป็นสงครามนางฟ้าที่ไม่มีใครยอมกัน

ท่ามกลางผู้สมัครเป็นพันๆ คน คุณสมบัติหรืออาวุธอันดับหนึ่งที่ผู้เข้าสมัครควรจะพกมา คือรูปร่างหน้าตาที่ดี คุณจำเป็นต้องดูดีเป๊ะตั้งแต่หัวจรดเท้า ผิวพรรณ เส้นผม รวมไปถึงไรขนที่ขึ้นตามแขนและขาจะต้องเรียบเนียนเกลี้ยงเกลา ไม่รุงรัง สะอาดสะอ้าน เพราะยิ่งไร้ข้อตำหนิมากเท่าไร โอกาสที่จะได้ติดปีกยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

“สวัสดีค่ะ ชื่อไลลานะคะ” (ยิ้มหวาน)

บรรยากาศห้องคัดเลือกก็เหมือนห้องสอบ รู้สึกกดดัน เครียดจนปากสั่น แต่อย่างไรก็ต้องสวย! เพราะทุกอย่างไม่ต่างจากการเล่นเกม ผู้เข้าสมัครจะต้องฝ่าแต่ละด่านไปถึงเส้นชัยให้ได้ โดยมีอุปสรรคเป็นความประหม่าของตัวเองที่จะคอยคัดว่าใครจะทำได้ดีกว่ากัน

“ท่องไว้ว่า ตื่นเต้นแค่ไหน ต้องสวย ต้องสวย และต้องสวย เพราะทุกสายตาของกรรมการกำลังจับจ้องเราตั้งแต่เริ่มเกมด่านแรกจนถึงด่านสุดท้าย”

บางคนมาถึงแค่รอบชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง ไลลาเองก็เป็นหนึ่งคนที่ผ่านมาได้อย่างหวุดหวิด บังเอิญ…ถ้าวันนั้นกินข้าวเช้าเยอะกว่านี้แค่ไม่กี่ขีดก็คงต้องโบกมือลาปีกนางฟ้าไปเหมือนกัน นี่คงเป็นดวงแท้ๆ

ส่วนรอบดูตัวหรือ pre-screen ก็พีค พีคในระดับที่หาอ่านไม่ได้จากรีวิวในเว็บไซต์พันทิป

“ตกใจมากกกก เคยคิดว่าคนสมัครแอร์ฯ จะต้องสวยๆ เชิดๆ เท่านั้น ไม่เคยรู้เลยว่าจะต้องมาแลบลิ้นหรือเปิดสะดือให้ใครดู วิธีเดิมๆ ที่กรรมการเอานิ้วปาดบนผิว เช็คว่าผู้สมัครคนไหนทารองพื้นมา มันคลาสสิกไปแล้ว เพราะบางสายการบินขอดูลิ้นและสะดือ เพื่อยืนยันว่าร่างกายไม่ได้ผ่านการเจาะใดๆ ทั้งสิ้น”

แอร์โฮสเตส อาชีพที่ต้องแสดง

เมื่อฝ่าด่านการคัดเลือกจนได้ติดปีกอย่างเต็มตัว การทำงานจริงมันไม่ง่าย

‘การบริการ’ คือหัวใจหลักของแอร์โฮสเตส ไม่ว่าเจอสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหนก็ต้องผ่านมันไปให้ได้แบบ ‘สวยๆ’

เหมือนประโยคนี้ที่ถูกจั่วไว้หน้าแรกๆ ของหนังสือ ‘อาชีพของเราคือการแสดงละคร เราถูกจ้างให้เป็นคนอารมณ์ดีคนหนึ่งบนเครื่องบิน’ ลูกเรือทุกคนไม่มีทางรู้เลยว่าไฟลท์นั้นจะมีผู้โดยสารอ้วกแตกกลางเครื่องหรือไม่ แล้วถ้าเจอผู้โดยสารโวยวายเพราะอาหารไม่ถูกใจจะต้องทำอย่างไร

“เราจะสวดมนต์ พร้อมกับเอามือลูบๆ ไปที่ประตูเครื่องบิน และปลุกวิญญาณนักแสดงในตัวเองออกมา ก่อนก้าวขาขึ้นเครื่อง”

ยิ้ม…

นอกจากการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญเรื่องงานบริการแล้ว อารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่แอร์โฮสเตสต้องควบคุมควบคู่กันไป มนุษย์ทุกคนมีสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำ แต่บางครั้งก็เลือกไม่ได้ ยิ่งเป็นแอร์ฯ ยิ่งเลือกไม่ได้ สิบกว่าชั่วโมงที่ลอยอยู่บนฟ้า ความเหนื่อย ความวุ่นวาย และทุกอย่างที่เร่งรีบไปหมด จะงอแงหนีไปนอน ปล่อยให้ผู้โดยสารหิวก็ไม่ได้

แต่ไลลาบอกว่า มันเป็นเรื่องที่รู้กัน ว่าอะไรที่เกิดขึ้นบนเครื่อง ไม่ว่าจะวุ่นวายบ้านแตก ตบตีกัน คนเป็นลม ทุกอย่างเคลียร์ได้ เพราะไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าเครื่องตก… และคาถาเดียวที่จะแก้ทุกปัญหา คือรอยยิ้ม

“ยิ้มๆ ไปเถอะ ยิ้มไว้ก่อน ยิ้มแห้งแค่ไหน ก็ต้องยิ้ม”

ง่วง ล้า นอนน้อย สะสมเป็นความเครียด ขยาดกับการตื่นไปบิน ต้องยิ้มทั้งๆ ที่ไม่รู้สึก ยิ้มฝืน ยิ้มแห้ง ยิ้มเหนื่อย เธอเคยทำมาหมดแล้วทั้งนั้น แต่ต้องพยายามรักษาสมดุลของตัวเองให้ได้ ไม่ให้ปลอมจนเกินไป เพราะเมื่อไรที่แอร์ฯ หน้าบูด ดูไม่เต็มใจให้บริการ ผู้โดยสารก็จะให้เครื่องหมายติดลบ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร และอาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา

“โชคดีที่เราเป็นคนทิ้งไว ดังนั้น หากมีเรื่องทุกข์ใจก่อนขึ้นบิน จะกองทุกอย่างไว้หน้าประตูเครื่อง ส่วนปัญหาหยุมหยิมบนเครื่องก็จะไม่แบกกลับไป ทิ้งมันให้อยู่บนเครื่องนั่นแหละ”

แอร์โฮสเตส อาชีพแสนดีมีระเบียบ

ดูเหมือนว่าการเป็นแอร์โฮสเตสจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ ย้อนกลับไปตั้งแต่ยังเป็นผู้สมัครเข้าห้องเรียน ทุกคนต้องพยายามอย่างมากในการทำตัวให้เหมาะสมตรงตามคุณสมบัติที่แต่ละสายการบินต้องการ แม้จะเลื่อนขั้นเป็น ‘แอร์ฯ เด็ก’ ได้ขึ้นบินจริงๆ ก็ยังต้องอยู่ในสายตาของ purser หรือผู้ดูแลบนเครื่อง จะทำหน้าที่เป็นครูฝ่ายปกครอง ตามตรวจเช็คเราทุกฝีก้าว หากทำดีก็ชื่นชม แต่ถ้าทำผิด นอกจากโดนตำหนิแล้ว แอร์ฯ เด็กจะถูกหักคะแนนไม่ต่างจากนักเรียนมัธยมดีๆ นี่เอง

  1. นั่งหลังตรง
  2. ทาเล็บสีแดง
  3. ทาปากสีแดง

สารพัดข้อบังคับที่แอร์โฮสเตสต้องทำตามอย่างเคร่งคัด บางสายการบินโหดถึงขั้นกำหนดองศาในการฉีกยิ้ม (บ้าไปแล้ว) บางทีฟังแล้วนึกถึงศูนย์ฝึกทหาร ‘วินัย อดทน!’ ยิ่งช่วงคัดเลือก ถ้าอยากจะผ่านเข้ารอบลึกๆ ผู้สมัครทุกคนจะต้องพูดจาด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน และตอบคำถามกับกรรมการแบบโลกสวย

“ใช่ การเป็นแอร์ฯ มันดูสำเร็จรูปไปหมด อาชีพนี้จึงไม่ได้เหมาะกับคนสวยทุกคน ต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง และขีดเส้นใต้ไว้เลยว่าต้องสวยและมีความอดทนสูงด้วย”

ในโรงเรียนลอยฟ้านี้ ไลลาเป็นนักเรียนที่ไม่สุดโต่ง เลือกมองประโยชน์ของข้อระเบียบต่างๆ มากกว่า และพยายามหยิบข้อดีจากกฎเกณฑ์เหล่านั้นมาปรับใช้ การนั่งหลังตรงก็ทำให้มีบุคลิกภาพที่ดีนะ หากสิ่งไหนรู้สึกฝืนตัวเองเกินไปก็วางมันไว้ ไม่ต้องหยิบขึ้นมาให้รู้สึกขุ่นเคือง

แอร์โฮสเตส อาชีพที่ความสัมพันธ์บอบบาง

นอนตอนเช้า ตื่นตอนเย็น ขาดอิสระในการวางแผน พ่อแม่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็ไม่ค่อยได้เจอ นี่คือคำนิยามของอาชีพที่ต้องเดินทาง

“ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำงาน เราทะเลาะกับแม่ งอนกันเป็นเดือน เพราะแม่ไม่ปิดเสียงไลน์ตอนเราจะนอน”

ถ้ามองเชิงความสัมพันธ์ อาจจะเป็นเรื่องน่าขำขัน ที่เราจะทะเลาะกันเพราะแค่เรื่องเสียงโทรศัพท์ แต่เชื่อว่าคนที่มีนาฬิกาชีวิตไม่เหมือนชาวบ้านขำไม่ออก เมื่อเครื่องแลนดิ้งลงมาเหยียบพื้นโลกปุ๊บ ความเหนื่อยล้าพุ่งเข้าเล่นงานจนคิดถึงหมอนบนเตียง อยากเหยียดขานอนยาวๆ เพื่อจะชาร์จพลังสำหรับไฟลท์ต่อไป

“เมื่อล้มตัวนอนแล้วเสียงไลน์ดังขึ้นไม่หยุด มันปรื๊ดจนเผลอพูดไม่ดีกับแม่ แต่ตอนนี้ดีกันแล้ว แม่ก็เข้าใจมากขึ้น”

ยิ่งบินถี่ ยิ่งเหงา สุขภาพยิ่งแย่ นอกจากไม่มีโอกาสสร้างมนุษยสัมพันธ์กับใครแล้ว ยังจะปวดนู่นเจ็บนี่อีก แอร์โฮสเตสหลายคนต้องทนอยู่กับอาการปวดหลังอย่างรุนแรง เนื่องจากต้องเข็นรถเสิร์ฟอาหารที่มีน้ำหนักไม่ใช่น้อยๆ หลับตานึกภาพ รถเข็นที่เต็มไปด้วยอาหารเดินผ่านช่องแคบๆ บางทีมากกว่าเข็นก็ต้องลาก ยิ่งเจอไฟล์ทบินยิงยาว กรุงเทพฯ-ลอนดอน 12 ชั่วโมง นอกจากนึกถึงเตียงและหมอนแล้ว นั่นคือการโทรนัดหมอนวด

แอร์โฮสเตส อาชีพที่อยู่กันแบบพี่น้อง

เอาใจผู้โดยสารว่ายากแล้ว เอาใจเพื่อนร่วมงานกันเองยากกว่า ไม่นานมานี้เกิดข่าวดราม่าที่เกี่ยวกับความไม่เข้าใจกันในเรื่องที่นั่งระหว่างผู้โดยสารและนักบิน จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนในวงการสายอาชีพด้วยกันเอง มองเรื่องฐานะตำแหน่งอย่างไร

“ระบบอุปถัมภ์มีอยู่ในทุกอาชีพ” ไลลาบอก

กับอีกภาพที่น่ารัก หากเครื่องบินเป็นโรงเรียน purser คือผู้ช่วยฯฝ่ายปกครอง กัปตันคงเป็นเหมือนผู้อำนวยการเข้มๆ ที่มีอำนาจควบคุมอากาศยาน สามารถเชิญลูกเรือลงจากเครื่องได้ และตามวิถีที่ปฏิบัติกันมา ระดับ ผอ. จะไม่ยกมือไหว้ใครก่อน และใช้การตะเบ๊ะเบาๆ แทนการรับไหว้

แม้ไม่มีโซตัส แต่ seniority นั้นจริงจัง ใครบินก่อนคือรุ่นพี่ ตำแหน่งสูงกว่า ก็มักจะวางตัวในอีกระดับหนึ่ง ความอาวุโสมาพร้อมอำนาจบางอย่างที่ทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจ กลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครเป็นแม่ น้า อา อาวุโสกว่าแค่ไหนทุกคนคือ “พี่คะ…”

แอร์โฮสเตส อาชีพนักมานุษยวิทยา

ในโรงเรียนเครื่องบิน การอยู่กับคนมากมายหลายชาติ บ้างก็มีหนวดเคราเหมือนกันหมด มีไม่น้อยที่มองเห็นผมบลอนด์บนแถวที่นั่งเรียงยาวเป็นแนว จนไม่รู้ใครเป็นใคร แต่นี่คือข้อดีที่ทำให้แอร์ทุกคนต้องมีทักษะในการช่างสังเกตสังกามนุษย์ทุกคนบนเครื่อง

จำนวนชั่วโมงบินที่เพิ่มขึ้น เท่ากับว่ามีโอกาสได้เจอกับมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น จากหลายประเทศ หลายภาษา หลายเชื้อชาติ ทำให้บางครั้งเผลอตัดสินความเป็นปัจเจกของผู้โดยสารไปอย่างอัตโนมัติ

“คนอินเดียชอบทำอย่างนั้น คนไทยมักจะนิสัยอย่างนี้ โดยที่ก่อนจะมาเป็นแอร์โฮสเตส ไม่เคยจำแนกใครมาก่อน บางทีก็แอบรู้สึกตัดสิน แต่เราต้องแสดงหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

“ของแถมอีกอย่างคือทำให้เรามารยาทดีขึ้น ใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น จากคนที่ไม่เคยนึกถึงอะไรเลย กลับช่างสังเกตและเอาใจใส่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ผู้โดยสารมองเห็นตัวตนเรา ไม่หลบตา ไม่ทำเป็นเดินหนี ตอนเรายกมือไหว้ก่อนจะลงเครื่อง แค่นี้ก็ดีใจแล้ว”

ถ้าพูดว่าเครื่องบินเป็นโรงเรียนเตรียมนางฟ้าก็คงจะจริง อาชีพแอร์โฮสเตสช่วยดัดเสริมเติมแต่ง จนกลายเป็นไลลาคนใหม่ที่มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น ทั้งบุคลิกภายนอก คำพูด กิริยาท่าทาง ความคิดความอ่าน และความเคยชินกับรองเท้าส้นสูง

แอร์โฮสเตส คือชีวิตใหม่

“เราไม่ได้คาดหวังอะไรในอาชีพแอร์โฮสเตส มันอาจจะเป็น dream job ของใครหลายคน แต่ไม่ใช่เรา มันเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าได้ติดปีกบิน เราก็ตั้งใจจะเขียนหนังสือ” เธอบอกกรรมการไปอย่างนั้นตอนสัมภาษณ์ หนูอยากเป็นแอร์ฯ เพื่อมาเขียนหนังสือ?

อย่างที่บอก ไลลาเชื่อไปกว่าครึ่งแล้วว่าการเข้ามาเป็นแอร์โฮสเตสเกิดจากดวงที่นำพามา เธอได้ทำงานหนัก ได้เงินเดือนสูง ได้ไปท่องเที่ยว ทั้งยังได้รู้จักเพื่อนสจ๊วตหล่อเหลามากมาย จึงอยากแชร์เรื่องที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนลอยฟ้าแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยความรู้สึก สนุก เหงา เศร้า ทุกข์ และใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวช่วยบันทึกรสชาติชีวิตใหม่

ไม่รู้ว่าระยะเวลาในห้องเรียนหรือชั่วโมงบนเครื่องบินจะอยู่ได้นานถึงแค่ไหน ถ้าวันหนึ่งเครื่องบินแลนดิ้ง ต้องพับปีก และลากกระเป๋าลงมาในฐานะผู้จบการศึกษา เธอก็ไม่เสียดายเพราะได้โกยประสบการณ์ต่างๆ จากโรงเรียนเครื่องบินนี้ ยัดมันใส่ไว้ในกระเป๋า พร้อมที่จะออกเดินทางไปจุดต่อไปที่เธอเรียกว่า ‘ชีวิตใหม่’ อีกครั้ง

บทสัมภาษณ์และเนื้อหาในหนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่ง อ่านงานเขียนจี๊ดๆ และบันทึกการเดินทางของไลลาได้ที่เพจเฟซบุ๊ค airindie

ขอบคุณภาพจากสำนักพิมพ์แซลมอน โดย อดิเดช ชัยวัฒนกุล

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า