อคติทางชาติพันธุ์และศาสนาในพม่า กับที่มาของกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญา

 

ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวที่หลายคนจับตามองในภูมิภาคอาเซียนคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ (หรือรัฐอาระกัน) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า

ตั้งแต่ปี 2012 มีข่าวการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาผุดขึ้นมาเรื่อยๆ และเรามักได้ยินว่า ชาวโรฮิงญาเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการขาดขันติธรรมทางศาสนา แต่ไม่นานมานี้ ชาวโรฮิงญาถูกนำไปผูกกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มติดอาวุธ ทั้งชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมอื่นๆ ในพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกิดขึ้นมาร่วมเจ็ดทศวรรษแล้ว ดังนั้น บทความนี้ขอย้อนกลับไปในพม่ายุคอาณานิคมหรือก่อนหน้านั้น เพื่อนำผู้อ่านไปพบกับที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาที่ข้นคลั่กในพม่า

ผู้เขียนเชื่อว่า การอธิบายที่มาของ ‘ปัญหาโรฮิงญา’ ผ่านกรอบสมัยใหม่ว่าด้วยความขัดแย้งและการปรากฏกายขึ้นของลัทธิการก่อการร้ายเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า เหตุใดพม่าจึงมีสงครามกลางเมืองยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ และไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า เมื่อใดความขัดแย้งนี้จะจบลง บทความนี้เริ่มกล่าวถึงการเข้ามาของชาวมุสลิมกลุ่มต่างๆ ในพม่า ต่อด้วยการปะทะกันทางเชื้อชาติและศาสนา ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม และระหว่างชาวพม่ากับ ‘แขก’ ทั้งหลายจากอินเดีย และกายวิภาคของความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธในพม่ากับชาวโรฮิงญามุสลิมในปัจจุบัน

แอนดรูว์ เซลธ์ (Andrew Selth) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ประเทศออสเตรเลีย เขียนถึงชาวมุสลิมในพม่าไว้ในผลงานหลายชิ้น เซลธ์แบ่งกลุ่มชาวมุสลิมราว 3-4 ล้านคนในพม่า[1] ออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1. ชาวมุสลิมกลุ่มแรกจากคาบสมุทรอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดีย เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13-14 ต่อมาผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่าผ่านการแต่งงานกับสตรีชาวพุทธ และเรียกตนเองว่าเป็นชาวพม่า (Burmese Muslims) ในขณะที่ชาวพุทธเรียกพวกเขาว่า ‘เซอร์บาดี’ (Zerbadee)

2. ชาวจีนมุสลิมทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าและในรัฐฉาน หรือที่เรียกว่า ‘ปันเต’ (Panthay) ชาวจีนมุสลิมอพยพเข้ามาในพม่าภายหลังมีการกวาดล้างอาณาจักรทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ช่วงศตวรรษที่ 19

3. ชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาในพม่าตลอดยุคอาณานิคม โดยมากเป็นชาวอินเดียที่พูดภาษาอูรดู (ปัจจุบันเป็นภาษาประจำชาติปากีสถาน และเป็นภาษาประจำรัฐ/แคว้นอีกหลายแห่งในอินเดีย) และภาษาทมิฬ ชาวอินเดียกลุ่มนี้อพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจพม่าที่กำลังเติบโต

4. ชาวโรฮิงญา คือชาวมุสลิมจากรัฐเบงกอล (ปัจจุบันคือบังคลาเทศ) ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ และเพิ่มจำนวนขึ้นในยุคอาณานิคม ในปี 1986 มีชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถึงร้อยละ 56 และพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 70 ในปี 1992[2]

ในบรรดาชาวมุสลิมทั้งสี่กลุ่มนี้ ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดถึง 1 ล้านกว่าคน แต่ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายขอบที่สุดของชุมชนชาวมุสลิมในพม่า เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 135 กลุ่มในพม่า พวกเขาจึงถูกผลักออกไปเป็นชาว ‘เบงกาลี’ (Bengali) หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากเบงกอล สถานะที่อิหลักอิเหลื่อของชาวโรฮิงญานี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล และสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ได้

สังคมพม่าถูกกล่อมเกลามาหลายชั่วอายุคนว่า ชาวพม่าที่แท้ต้องเป็นชาวพุทธ ทำให้ชาวพม่าพุทธและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่นับถือศาสนาพุทธมองโรฮิงญาด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือด้วยความเกลียดชัง แม้สงครามกลางเมืองในพม่าที่มีมาตั้งแต่ปี 1948 จะเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นทั้งชาวพุทธ และศาสนิกชนในศาสนาอื่นๆ แต่เมื่อหยิบยกประเด็นเรื่องโรฮิงญาขึ้นมา ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายก็จะพร้อมใจกล่าวว่า โรฮิงญาคือ ‘คนเถื่อน’ และพร้อมให้ความร่วมมือกับกองทัพพม่าเพื่อปราบปรามคนโรฮิงญา

อคติทางชาติพันธุ์ที่ชาวพุทธมีต่อชาวมุสลิมในพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธพม่ามาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ในยุคอาณานิคม (ปลายศตวรรษที่ 19-ค.ศ. 1948) เมื่อปี 1938 ที่ย่างกุ้ง มีผู้ปล่อยแผ่นพับที่มีเนื้อหาดูหมิ่นพระพุทธเจ้า สร้างความไม่พอใจแก่สมาคมพุทธ พระสงฆ์ นักชาตินิยม และหนังสือพิมพ์อย่างหนัก จนเกิดการโจมตีชาวพม่าที่เป็นมุสลิมและชาวอินเดียอื่นๆ อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดิสเครดิตชาวมุสลิมในพม่า เช่น ชาวพุทธพม่ามองว่าการแต่งงานระหว่างผู้ชายมุสลิมเชื้อสายอินเดียและผู้หญิงพุทธพม่าเป็นการจ้องทำลายศาสนาพุทธ เพราะฝ่ายหญิงต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[3]

อคติเหล่านี้ผลักดันให้รัฐบาลพม่ารวบรัดเพื่อปราบปรามชาวโรฮิงญาหลายครั้ง คริสตินา ฟิงค์ ผู้เขียนหนังสือ Living Silence: Burma Under Military Rule ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 1948-2001 รัฐบาลพม่าเปิดฉากโจมตีชาวโรฮิงญาไปแล้ว 13 ครั้ง ‘การปราบปราม’ นี้มีทั้งการไล่ที่ เผาหมู่บ้าน ปล้นสะดม ปิดโรงเรียนและมัสยิด หรือการสังหารชาวโรฮิงญาอย่างเปิดเผย

การไล่ล่าชาวโรฮิงญากลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ เพราะมีชาวโรฮิงยาหลายแสนคนที่อพยพหนีตายเข้าไปในบังคลาเทศ แต่บังคลาเทศไม่ต้องการรับภาระและรับผิดชอบชีวิตของผู้อพยพ วิกฤติโรฮิงญาจึงสร้างภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับบังคลาเทศ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่าง UNHCR มาหลายทศวรรษ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ในรัฐยะไข่และเมืองค็อกเซสบาซาร์ (Cox’s Bazaar) ชายแดนพม่า-บังคลาเทศ อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และอยู่ได้จากการพึ่งพาเงินบริจาคและความช่วยเหลือจากภายนอกเท่านั้น และเนื่องจากชาวโรฮิงญาเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีสัญชาติ จึงไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน พวกเขาจึงต้องล่องเรือจากรัฐยะไข่เพื่อเข้าไปทำงานในประเทศที่สามอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ชาวโรฮิงญาเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘มนุษย์เรือ’ (Boat People)

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าภายใต้สลอร์ค (State Law and Order Restoration Council: SLORC) กับชาวโรฮิงญา ย่ำแย่ลงในต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลพม่าตั้งกองกำลังรักษาดินแดนขึ้นตามเขตชายแดนพม่า-บังคลาเทศ และใช้กองกำลังนี้เพื่อสอดส่องดูแลความเรียบร้อยของชุมชนโรฮิงญา

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของชาวโรฮิงญาและความต้องการแยกตัวเป็นอิสระผลักให้ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาในรัฐยะไข่เรียกตนเองว่าเป็นพวก ‘มูจาฮิดีน’ และประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือ ‘จิฮาด’ กับชาวยะไข่พุทธ จุดประสงค์ของนักรบมูจาฮิดีนโรฮิงญาคือ ต้องการแยกดินแดนออกไปเป็นส่วนหนึ่งของบังคลาเทศ เป้าหมายการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญามิใช่รัฐบาลพม่า แต่เป็นการพุ่งเป้าไปที่ชาวยะไข่พุทธ กลุ่มมูจาฮิดีนโรฮิงญาเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 จนถึงปี 1961 เมื่อรัฐบาลพม่าลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับผู้นำกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราว

เมื่อ นายพล เน วิน ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของ อู นุ ในปี 1962 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มย่ำแย่ลง กองทัพออกปราบปรามรุนแรงขึ้น จนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องกลับไปจับปืนขึ้นมาต่อสู้กับรัฐอีกครั้ง และตั้ง RIF หรือกองกำลังเพื่อเอกราชของโรฮิงญา (Rohingya Independence Force) ขึ้นมาในปี 1963 ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็น RPF หรือ แนวร่วมรักชาติโรฮิงญา (Rohingya Patriotic Front) ในปี 1974 และสมาคมโรฮิงญาสามัคคี (Rohingya Solidarity Organisation: RSO) อันเป็นกลุ่มติดอาวุธเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในทศวรรษ 1980 และ 1990 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธทั้งที่เป็นของชาวโรฮิงญา และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม ซึ่งอาจได้รับการสนับสนุนมาจากองค์กรมุสลิมหัวรุนแรงระดับโลก

การสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญากับกองทัพพม่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดยุคเผด็จการทหาร ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับปัญหาโรฮิงญาอีกครั้งเมื่อปี 2012 หลังการปราบปรามชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ จนทำให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนไหลทะลักเข้าไปยังบังคลาเทศและประเทศที่สามอื่นๆ ความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังสตรีชาวยะไข่พุทธผู้หนึ่งถูกข่มขืนและสังหารอย่างโหดเหี้ยม สังคมชาวพุทธพุ่งเป้าไปที่โรฮิงญาทันที และนำไปสู่การกวาดล้างชาวโรฮิงญา ‘อย่างชอบธรรม’ ตั้งแต่ปี 2012

ความรุนแรงด้านเชื้อชาติและศาสนาในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นอีกครั้งในปลายปี 2016 เมื่อกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญากลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘ฮารากะฮ์ อัล-ยากิน’ (Harakah al-Yaqin: HaY) ซึ่งมีผู้นำเป็นกลุ่มโรฮิงญาที่อพยพไปซาอุดิอาระเบีย[4] โจมตีป้อมตำรวจตระเวนชายแดนพม่าสามแห่ง เป็นเหตุให้มีตำรวจพม่าเสียชีวิตเก้านาย หลังการไล่ล่า ตำรวจพม่าประกาศว่าได้สังหารกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาไปแปดนาย

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วง และคาดการณ์กันว่าจะบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศและการปรองดองของรัฐบาลภายใต้พรรค NLD

วันที่ 15 สิงหาคม กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาราว 300 นาย โจมตีป้อมตำรวจและที่มั่นของกองทัพพม่าร่วม 30 แห่ง แถบเมืองหม่องด่อ บูตีดอง และราตีดอง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐยะไข่ ทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตอย่างน้อย 10 นาย กองกำลังนี้ปล้นอาวุธจากฐานที่มั่นของทหารพม่า วางระเบิดและบุกเผาบ้านเรือนของชาวยะไข่พุทธ การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังคณะที่ปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ภายใต้การนำของ โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ส่งรายงานของคณะกรรมการฯและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในรัฐยะไข่ให้กับรัฐบาลพม่า หลังการโจมตีที่มั่นของพม่าในรัฐยะไข่ กลุ่มที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบการโจมตีฐานที่มั่นของรัฐบาลพม่าในรัฐยะไข่ และการโจมตีชุมชนชาวพุทธครั้งนี้คือ กองกำลังปลดปล่อยชาวอาระกันโรฮิงญา (The Arakan Rohingya Salvation Army: ARSA) ที่พัฒนาขึ้นมาจาก ฮารากะฮ์ อัล-ยากิน เดิม

ถึงตอนนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นชาวโรฮิงญาและชาวพุทธในรัฐยะไข่พุ่งขึ้นเป็นหลายร้อยคน[5] มีผู้อพยพที่เป็นชาวโรฮิงญาหลายหมื่นที่ต้องหนีการกวาดล้างของทั้งทางการพม่าและของชาวพุทธในรัฐยะไข่ไปบังคลาเทศ และมีผู้อพยพที่เป็นชาวพุทธในกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงภายใต้การนำของ พระวีระธู ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎอัยการศึกในเมืองหม่องด่อและบูตีดอง สองเมืองที่เกิดการปะทะกันมากที่สุด

ออง ซาน ซู จี ออกมาให้สัมภาษณ์ประณามการกระทำของกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง และมองว่า การพุ่งเป้าโจมตีกองกำลังฝ่ายรัฐคือ “การกระทำที่คำนวณมาแล้วว่าจะทำลายความพยายามสร้างสันติภาพและความสมัครสมานกลมเกลียวของคนในรัฐยะไข่”[6] นับจากนี้ คงอีกนานกว่าที่รัฐยะไข่จะกลับไปสงบดังเดิม เพราะนอกจากอคติทางเชื้อชาติและศาสนาจะสร้างความร้าวฉานที่ยากจะประสานได้ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมแล้ว ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับแนวคิดแบบสุดโต่ง (fundamentalism) จากภายนอกเข้ามาที่พร้อมจะทำลายการแผนการปรองดองในประเทศทุกเมื่อ


อ้างอิง:

[1] ในการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดของรัฐบาลพม่าในปี 2014 พบว่ามีชาวมุสลิมอยู่ในพม่า 1.14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ยังไม่รวมประชากรมุสลิมโรฮิงญาที่คาดกันว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรมุสลิมอื่นๆ ในพม่าทั้งหมด; Kyaw Ye Lynn, “Census Data Shows Myanmar Muslim Population Has Fallen,” Anadolu Agency, 21 กรกฎาคม 2016:  http://aa.com.tr/en/asia-pacific/census-data-shows-myanmar-muslim-population-has-fallen/612764
[2] Andrew Selth. Burma’s Muslims: terrorists or Terrorised?. Canberra: Strategic and Defence Studies Centre of the Australian National University, 2003, p.7 อ้างจาก Moshe Yegar. The Muslims of Burma: A Study of a Minority Group. Otto Harrassowitz: Wiesbaden, 1972, p.24.
[3] Lalita Hingkanonta. (2013). The Police in Colonial Burma. PhD thesis, School of Oriental and African Studies (SOAS), pp.210-4: http://eprints.soas.ac.uk/17360/1/Hingkanonta_3529.pdf
[4] “Myanmar: A New Muslim Insurgency in Rakhine State,” International Crisis Group, 15 December 2016: https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/283-myanmar-new-muslim-insurgency-rakhine-state
[5] “เหตุนองเลือดในรัฐยะไข่มีผู้เสียชีวิตแตะหลัก 400 รายแล้ว,” ประชาชาติธุรกิจ, 1 กันยายน 2560: https://www.prachachat.net/aseanaec/news-32242
[6] “State Counselor Condemns Attacks in Rakhine,” The Irrawaddy, 25 August 2017: https://www.irrawaddy.com/news/burma/state-counselor-condemns-attacks-rakhine.html

Author

ลลิตา หาญวงษ์
เรียนและเทรนมาในสายประวัติศาสตร์อาณานิคม แต่สนใจการเมืองและวัฒนธรรมพม่าร่วมสมัยด้วย ปัจจุบันเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพม่าๆ ให้หลายสำนักข่าวออนไลน์และออฟไลน์เป็นหลัก ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซ กีฬา ฟิล์มนัวร์ และชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน

Illustrator

ชิน เอกก้านตรง
กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีลายเส้นมักน้อย แต่บรรจุความหมายในปริมาณตรงข้ามลายเส้น ‘Shhhh’ เป็นอีกนามหนึ่งที่เขาใช้ผลิตงานศิลปะ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการออกเสียงให้ถูกต้อง แหล่งวัตถุดิบในการทำงานของเขามาจากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย เพลงอินดี้พ็อพ เพลงสตริงคอมโบไทยยุคอิเล็กโทนครองเมือง และบาร์หลายแห่งในพระนครยามค่ำคืน (ศิลปกรรม WAY ถึงปี 2560)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า