ก่อนอื่นต้องขออภัยผู้อ่านที่ว่างเว้นจากการส่งต้นฉบับ ทำให้คอลัมน์ บ้านเรือนก็สิทธิของเรา ห่างหายไปมากกว่าสามเดือน โดยไม่ขออ้างเอาภาระงานมากมายเป็นข้อแก้ตัว แต่ขอเขียนงานขายความคิดเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ผู้อ่าน เพื่อชดเชยที่หายหน้าหายตาไปเสียนาน
ตอนเปิดคอลัมน์ บ้านเรือนก็สิทธิของเรา ผมถือฤกษ์เอาวันที่อยู่อาศัยสากล (World Habitat Day) เป็นวันเปิดคอลัมน์ ตอนนี้เผลอครู่เดียววันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเวียนมาถึงอีกหนึ่งปีแล้ว ผมจึงขอเขียนถึง ‘หัวใจ’ ของงานชุดนี้ คือ ‘เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย’ (Right to Housing)
ผมคิดว่า แนวคิดว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัย ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้และเข้าใจนัก มีนักวิชาการพูดถึงแนวคิดนี้ไม่กี่ท่าน ท่านหนึ่งคือ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนภาคประชาชน มีเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่จัดกิจกรรมเดินรณรงค์และยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจนถึงสำนักงานสหประชาชาติในไทยมาร่วม 20 ปี ภายใต้คำขวัญ ‘ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชน’ ผมจึงขอเริ่มต้นด้วยประเด็นนี้
โดยไม่ต้องอ้างหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศใดๆ ผมคิดว่า คนไทยเราคุ้นเคยกับคำว่า ‘ปัจจัยสี่’ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งที่อยู่อาศัยก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ร่วมกับ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค จึงบ่งบอกอยู่ในตัวว่าที่อยู่อาศัยมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ขนาดไหน คนที่ไม่มีที่จะพักอาศัยหลับนอน ย่อมทำให้การใช้ชีวิตของเขาแตกต่างหรือลำบากกว่าคนอื่นๆ ในสังคมอย่างชัดเจน
การตระหนักว่า ที่อยู่อาศัยมีความจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่และใช้ชีวิตของมนุษย์ในสังคม นั่นคือที่มาของภาษาเชิงวิชาการที่ว่า ‘ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชน’ เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร ผิวสีใด ชนชั้นไหน ล้วนแล้วแต่ต้องมี ‘สิทธิ’ ที่จะมีที่อยู่อาศัย และการไร้ที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความเป็นมนุษย์
การที่คนทั่วไปหวาดระแวงคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะ นั่นคือตัวอย่างว่า การไร้ที่อยู่อาศัยส่งผลไปถึงตัวตนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างไร ถูกเพื่อนร่วมสังคมมองในแง่ลบ การตระหนักว่า การไร้ที่อยู่อาศัยกระทบต่อความเป็นมนุษย์ในขั้นพื้นฐาน เป็นฐานคิดที่สำคัญ เมื่อเราพิจารณาสิทธิที่อยู่อาศัยในเชิงกฎหมายและนโยบายต่อไป
หากกล่าวในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้บัญญัติรับรองคำว่า ‘สิทธิในที่อยู่อาศัย’ หรือ Right to Housing อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด (กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้วประเทศในแถบยุโรปจะมีกฎหมายรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยชัดเจนกว่าในสหรัฐอเมริกา) แต่นั่นมิได้หมายความว่า ประชาชนจะเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยไม่ได้ มีคำพิพากษาของศาลสูงของรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีนัยยะรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในคดีประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันในชื่อ คัลลาฮัน กับ คารีย์ (Callahan VS Carey) ในปี 1979 โดย โรเบิร์ต คัลลาฮัน (Robert Callahan) และเพื่อนคนไร้บ้าน ยื่นฟ้อง ฮิวจ์ แอล คารีย์ (Hugh L Carey) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่บกพร่องไม่ได้จัดหาสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้านจำนวนมาก บางคนต้องนอนให้ความหนาวเหน็บของหิมะกัดมือและเท้า ท้ายที่สุดศาลสูงมีคำพิพากษาว่า รัฐและเมืองนิวยอร์คมีหน้าที่ตามธรรมนูญของรัฐที่ต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือสำหรับพลเมืองชาวนิวยอร์ค และสั่งให้มีการจัดให้มีศูนย์ที่พัก (shelter) สำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ1
ต่อมาการจัดที่พักเช่นนี้กลายเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง โดยคำนึงถึงการจัดที่พักอาศัยให้คนไร้บ้านเป็นองค์ประกอบหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากกว่านั้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ปรากฏว่า เมืองนิวยอร์คยังไม่ได้จัดการที่อยู่อาศัยให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยได้มีที่หลับนอนอย่างทั่วถึง ยังมีคนที่เข้าไปใน shelter แล้ว แต่ไม่มีที่นอน ต้องนอนตามเก้าอี้ ศาลยังสำทับให้ทำตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัดอีกด้วย2
การที่มนุษย์เกิดมาทุกคนย่อมจำเป็นต้องดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นสาระสำคัญที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยมาหลายฉบับ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างในยุค คสช. ที่ว่าแย่แล้ว คสช. ก็ยังต้องมีถ้อยความดังกล่าว ในมาตรา 4 ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” ย่อมแสดงว่า รัฐที่ไหนๆ ก็ต้องรับรองสิทธิเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
มากกว่านั้น ยังมีเหตุผลในเชิงวิชาการอื่นๆ ที่สนับสนุนว่า การเข้าถึงที่อยู่อาศัยควรเป็น ‘สิทธิ’ ของคนทุกคนและรัฐของประเทศนั้นควรรับรองให้พลเมืองของตนได้เข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานของสิทธิ (rights) ซึ่งเกี่ยวข้องกับพันธะหน้าที่ของรัฐต่อพลเมืองของตน เมื่อเรากล่าวถึงสิทธิ เราหมายถึงอำนาจความชอบธรรมของพลเมืองที่สามารถอ้างสิทธิต่างๆ ที่รัฐรับรองให้กับเรา และรัฐยังมีหน้าที่ต้องปกป้องไม่ให้สิทธิที่รัฐรับรองนั้นถูกละเมิดอีกด้วย3 (Adam, 2008)
ที่มาของความคิดนี้ มีรากทางปรัชญาการเมืองตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ว่า ทำไมมนุษย์ในสังคมจึงต้องมีรัฐ ทำไมเราจึงต้องยอมจำกัดการกระทำบางอย่างของเรา เช่น จะไปทำร้ายใครตามอำเภอใจไม่ได้ นั่นก็เพราะเราต้องการให้รัฐปกป้องและรับรองให้เราได้มีสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
นักสังคมวิทยาการเมือง ที.เอช. มาร์แชล (T.H. Marshall)4 ได้อธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิประเภทต่างๆ กับความเป็นพลเมืองว่า สิทธิต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง หากแต่มีพัฒนาการมาตามพัฒนาการของสังคม แนวคำอธิบายของมาร์แชลถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง เขาแบ่งการพัฒนาของสิทธิเป็น 3 รุ่น หรือ 3 ยุค
- สิทธิขั้นแรกคือ การตระหนักในสิทธิในความเป็นพลเมือง (civil rights) หมายถึง สิทธิที่เป็นองค์ประกอบของเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (มนุษย์ต้องไม่ถูกทำร้ายและเสียชีวิตโดยการกระทำตามอำเภอใจของผู้อื่น) สิทธิในความคิดความเชื่อ สิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และเข้าถึงความยุติธรรม
- สิทธิขั้นที่สองคือ สิทธิทางการเมือง (political rights) หมายถึง สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิที่จะเป็นสมาชิกในองค์กรที่ใช้อำนาจทางการเมือง
- สิทธิขั้นที่สามคือ สิทธิทางสังคม (social rights) ที่เรียกว่า สิทธิทางสังคม เพราะการเข้าถึงสิทธิประเภทนี้จะทำให้พลเมืองสามารถดำรงชีวิตเป็นสมาชิกในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสังคมทั้งมวล เช่น สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มตน ฯลฯ
สิทธิในที่อยู่อาศัย ก็เป็นหนึ่งในสิทธิทางสังคมนี้ด้วย มาร์แชลชี้ว่า สิทธิทางสังคมมีความสำคัญที่รัฐต้องรับรอง เพื่อช่วยลดช่องว่างในสังคม ทำให้สมาชิกในสังคมได้รู้สึกว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือเป็นพลเมืองในเชิงสังคม (social citizenship) ไม่ใช่แค่พลเมืองทางการเมือง
สอดคล้องกับที่มาร์แชลพูดถึงพัฒนาการของสิทธิในด้านต่างๆ ประกาศอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปี 1948 (United Nations Universal Declaration of Human Rights 1948) ก็ไม่เพียงแต่รับรองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง หากแต่ยังขยายความรับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมาจากฐานคิดว่า หากมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านั้น มนุษย์ก็ไม่อาจดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เช่น สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ก็เป็นหนึ่งในสิทธิที่ถูกรับรองในมาตราที่ 25 ที่ระบุว่า
Everyone has the right to a standard of living adequate for health and well-being for himself and of his family, including food, clothing, housing and medical care and necessary social services
หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ สุขภาวะของตัวเขาเองและครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการรักษาโรค และการบริการทางสังคมที่จำเป็นอื่นๆ”
จากคำประกาศดังกล่าว ต่อมาองค์การสหประชาชาติ ยังขยายความให้ชัดเจนขึ้น ในสัตยาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมปี 1966 (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights 1966) มาตรา 11 (1) ว่า “รัฐที่ลงนามในสัตยาบันนี้ ตระหนักในสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตเพื่อตัวเองและครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย การมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และมีการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพให้ดีขึ้นเสมอ รัฐที่ร่วมลงนามจะดำเนินมาตรการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การรับรองว่าสิทธิจะได้รับการตระหนัก”
ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ลงนามรับรองข้อตกลงนี้ในปี 1996 (2539)
นอกจากนี้ในข้อตกลงเดียวกัน ยังได้อธิบาย เพื่อความชัดเจน ถึงความหมายของคำว่า ‘ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ’ (Adequate Housing) ว่า ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7 ข้อ
- ความมั่นคงในทางกฎหมาย ได้รับการปกป้องจากกฎหมายจากการถูกบังคับไล่รื้อ การคุกคาม รัฐบาลต่างๆ ควรมีมาตรการทันทีที่จะให้ประชาชนมีความมั่นคงในทางกฎหมาย
- เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงการบริการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสุขภาพ ความมั่นคง ความสะดวก และทางโภชนาการ เช่น น้ำดื่มที่สะอาด แสงสว่าง ระบบการระบายน้ำ ของเสีย
- มีราคาที่เข้าถึงได้ รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรมีการอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาถูกได้
- เป็นที่อยู่ที่มีคุณภาพสามารถอยู่อาศัยได้
- เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่มในสังคม ไม่มีการกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
- ที่ตั้งของที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงการจ้างงาน การบริการสาธารณสุข โรงเรียน สถานดูแลเด็ก และไม่อยู่ใกล้กับแหล่งมลภาวะ
- ความเพียงพอทางด้านวัฒนธรรม คือสอดคล้องตามบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของผู้คนกลุ่มต่างๆ
หากพิจารณาจากองค์ประกอบของคำว่า ‘ที่อยู่อาศัยที่ (มีมาตรฐาน) เพียงพอ’ จะพบว่า ไม่ได้มีความหมายเฉพาะผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่อยู่ในที่สาธารณะเท่านั้นที่ถูกละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัย แต่ครอบคลุมถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดอีกจำนวนมากที่อยู่ในบ้านหลังโทรมและไม่มีสิทธิความมั่นคงตามกฎหมาย จะถูกเจ้าของที่ขับไล่ในวันใดก็ได้ รวมถึงการที่รัฐจัดหาที่รองรับให้คนในชุมชนแออัดไปอยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติที่อยู่ห่างไกล ซึ่งคนในชุมชนแออัดในเมืองน้อยคนนักที่จะอยากไปอยู่ เพราะโครงการเหล่านี้มีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งอาชีพการงาน ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่า รัฐได้จัดหาที่อยู่อาศัยที่เพียงพอให้กับพลเมืองของตนแล้ว
เมื่อหันกลับมาพิจารณาตัวบทกฎหมายของรัฐธรรมนูญของไทย จะพบว่า มีการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยครั้งแรกอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในหมวดที่ 3 หมวดสิทธิและเสรีภาพ มาตรา 55 โดยเขียนว่า “บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” ถือว่าเป็นมาตราสั้นๆ ที่ได้ใจความ
แต่น่าเสียดายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกไปในคราวรัฐประหารของ คสช. ปี 2557 และในรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็มีการย้ายมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่อยู่อาศัยไปไว้อยู่ในหมวด 6 นโยบายแห่งรัฐ มาตรา 71
“รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม จัดให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
“รัฐพึงส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น
“รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว
“ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”
หากเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กับ 2560 จะเห็นได้ชัดว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยไว้ชัดเจนกว่า ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 การให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว แต่ที่อยู่อาศัยไม่ได้มีแก่นความสำคัญในตัวมันเอง
มากกว่านั้น ความรู้ทางนิติศาสตร์ที่ผมได้จาก ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยมาบรรยายพิเศษในห้องเรียนของผมว่า การเขียนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยไว้ต่างหมวดกันในรัฐธรรมนูญ ยังมีผลต่อน้ำหนักในการอ้างสิทธิต่างกันด้วย กล่าวคือ หากเขียนไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ประชาชนจะมีฐานในการเรียกร้องให้รัฐปกป้องคุ้มครองหนักแน่นกว่า หากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากเขียนไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ น้ำหนักของการรับรองสิทธิจะน้อยลง เป็นเพียงการระบุสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ แต่ไม่มีนัยยะบังคับให้รัฐต้องทำ
อย่างไรก็ดี หากเรามีหลักคิดแน่นเหมือนที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า การไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยชัดๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยการมีที่อยู่อาศัยควรเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
แน่นอนว่า การจะผลักดันให้แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับในสังคม และเกิดกระแสให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องหันมาตระหนักเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและเขียนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อไป ยังจำเป็นต้องอาศัยการรณรงค์และทำความเข้าใจที่มากกว่านี้ ในทางวิชาการเองก็มีข้อถกเถียง ข้อห่วงใยว่า จะแปลงแนวคิดสิทธิในที่อยู่อาศัยไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ซึ่งผมจะขอกล่าวในตอนต่อไป (ที่จะมาเร็วๆ นี้ แน่นอน)
แต่ในชั้นนี้หลักการสำคัญ ก็คือ การขยับเพดานความคิดเรื่องสิทธิที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นมนุษย์ว่า ที่อยู่อาศัยควรเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นอันขาดเสียมิได้ เราต้องไม่ทนกับการเห็นภาพคนนอนข้างถนนและรัฐก็ไม่เหลียวแลสนใจ เราต้องไม่นิ่งเฉยกับภาพของคนที่ต้องทนอยู่ในชุมชนแออัดเพราะไม่อาจจะหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้
เชิงอรรถ
- Byrne, T., & Culhane, D. P. (2011). The right to housing: An effective means for addressing homelessness. U. Pa. JL & Soc. Change, 14, 379.
- Hartman, C. (2006). The case for a right to housing. In A right to housing: Foundation for a new social agenda, Bratt, R. G., Stone, M. E., & Hartman, C. W. (Eds.). Temple University Press. 177-192.
- Adams, K. D. (2008). Do we need a right to housing? Nevada. Law Journal, 9, 275-324.
- Marshall, T. H. (1950). Citizenship and social class (Vol. 11, pp. 28-29). Cambridge.