ความอุกอาจของโครงการอุดหนุนเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ก่อนอื่นต้องขออภัยว่า ในคอลัมน์ ‘บ้านเรือนก็สิทธิของเรา’ ชิ้นล่าสุด ผมทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนต่อไปจะเขียนถึงแนวคิด ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย’ แต่จำเป็นต้องผัดไปอีกตอน ด้วยเหตุที่เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอีกชุดหนึ่ง และหนึ่งในนั้นมีโครงการ ‘บ้านดีมีดาวน์’ ที่รัฐบาลจะอุดหนุนคนซื้อบ้านใหม่ถึงหลังละ 50,000 บาท เป็นจำนวน 100,000 ราย ผมจึงอดที่จะพูดถึงมาตรการนี้ไม่ได้

สื่อหลายแขนงรายงานเกี่ยวกับเงื่อนไขของโครงการดังกล่าวตรงกัน ผู้จะได้รับการอุดหนุนจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 100,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 1,200,000 บาท มีรายชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของกรมสรรพากร กระบวนการขอรับสิทธิเริ่มต้นด้วยการลงทะเบียนเพื่อให้ทางราชการได้ตรวจสอบคุณสมบัติ หากเป็นไปตามเงื่อนไขก็จะได้รับ SMS ตอบรับ จากนั้นก็ไปยื่นขอกู้เงินซื้อบ้านจากธนาคารต่างๆ หลังจากได้รับอนุมัติเงินกู้เรียบร้อย ระบบจะทำการตรวจสอบอีกรอบ หากถูกต้องก็จะโอนเงินสดคืนให้ 50,000 บาท

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขข้างต้น ก็ต้องกล่าวอย่างสั้นๆ ว่าเป็นการใช้งบประมาณที่เอื้อประโยชน์กับภาคธุรกิจนายทุนนายธนาคาร และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างโจ่งแจ้งที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีชนชั้นกลางที่มีรายได้ค่อนไปทางสูงจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ส่วนคนจนได้แต่มองตาปริบๆ

เรียกได้ว่า เป็นมาตรการที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ให้หนักหนายิ่งขึ้น ชนิดไม่เกรงใจชาวบ้านสามัญชนคนหาเช้ากินค่ำ

สิ่งที่สะดุดตาที่สุดของนโยบายข้างต้นก็คือ การกำหนดเพดานผู้มีคุณสมบัติรับประโยชน์จากโครงการให้ครอบคลุมถึงคนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 100,000 บาท พูดง่ายๆ ว่า คนมีเงินเดือนเดือนละ 95,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนทั่วประเทศอยู่ที่ 9,333 บาท1  ผู้ที่รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ2  หมายความว่า คนกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้วยังจะได้ประโยชน์จากเงินก้อนใหญ่ถึง 50,000 บาท

ลองนึกเปรียบเทียบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย หากจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างโครงการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ก็ต้องอดตาหลับขับตานอนลงทะเบียน (ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ไม่เป็นก็พลาดไป) เพื่อจะได้เงินไปซื้อข้าวของที่จำเป็นสำหรับครอบครัว กรณีเช่นนี้รัฐบาลอุดหนุนแบบให้เปล่าแค่คนละ 1,000 บาท (ไม่ต้องพูดถึงกระเป๋าสองที่ว่า ใช้จ่ายแล้วได้เงินคืน 15-20 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีคนใช้ไม่มาก)

ที่ผ่านมาโครงการประเภทให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ ก็ถูกวิพากษ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่าไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและไม่เกิดความยั่งยืนระยะยาว แต่ที่ยังพอรับกันได้ก็เพราะเป็นการอุดหนุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อพวกเขาได้นำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อชีวิต แต่โครงการให้เงินตอบแทน 50,000 บาท โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้สูงอยู่แล้วสามารถรับประโยชน์ได้ด้วย ต้องถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง แสดงให้เห็นว่า สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ‘ยิ่งรวยยิ่งได้มาก’

ผมขอวิเคราะห์มาตรการทางการคลังทั้งหลายที่เกี่ยวกับบ้าน จากแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัยว่า เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP เป็นสำคัญ ส่วนเหตุผลสวยๆ เช่น “ช่วยสานฝันให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายขึ้น” เป็นเพียงวัตถุประสงค์รองที่มาช่วยแต่งหน้ามาตรการเหล่านี้ให้ดูดีขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆ ที่วิวัฒนาการมาจนถึงมาตรการล่าสุด ต้องถือว่า มาถึงขั้นมุ่งเน้นด้านกระตุ้นเศรษฐกิจเสียจนมิติด้านช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยถูกบดบังจนเกือบจะสิ้นเชิง

หากพิจารณามาตรการต่างๆ ที่ส่งเสริมให้คนซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ถูกนำมาใช้บ่อย เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือเพียงร้อยละ 0.01 ที่เคยทำตั้งแต่ปี 2542 หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และมีการประกาศใช้เป็นระยะๆ รวมถึงในช่วงนี้ ก็ยังมีผลใช้บังคับไปจนถึง 24 ธันวาคมปีหน้า จะพบว่ากลุ่มผู้รับประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะคนจนที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น แม่ค้า หาบเร่ ช่างรับเหมาก่อสร้าง เป็นผู้ไม่มีสลิปเงินเดือน จึงไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารมาซื้อบ้านได้

แม้แต่พนักงาน รปภ. แม่บ้าน ที่เห็นเป็นลูกจ้างของบริษัทเอาท์ซอร์สทั้งหลาย ก็รับค่าจ้างเป็นรายวัน คนกลุ่มนี้มีรายได้เดือนหนึ่งราว 9,000-15,000 บาท แต่ก็ไม่สามารถกู้ธนาคารได้เช่นกัน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นให้คนซื้อบ้านของรัฐบาล เพราะถูกกีดกันจากระบบสินเชื่อของธนาคาร

หากขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ทำงานประจำอย่างพนักงานโรงงาน หรือกิจการขนาดเล็กที่มีรายได้ประมาณเดือนละ 15,000 บาท แม้จะมีเงินเดือนประจำ ก็หาซื้อบ้านในตลาดที่อยู่อาศัยในทุกวันนี้ได้ยาก เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่นิยมสร้างบ้านราคาถูกขาย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะขอสินเชื่อจากธนาคารไม่ผ่าน บ้านราคาถูกจึงขายยาก ดังนั้นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทจึงหาได้ยากในตลาดปัจจุบัน คนกลุ่มนี้จึงได้แต่เช่าห้องเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ และไม่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจลำบากกว่าชนชั้นกลาง หรือคนที่มีรายได้เดือนละ 80,000-100,000 บาท หลายเท่านัก

หากรัฐบาลตระหนักว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรจะเป็นมาตรการที่ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กันด้วย ก็ควรจะหาทางขจัดอุปสรรคที่ทำให้คนจนเข้าไม่ถึงมาตรการเหล่านี้ แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจด้านนั้น รัฐบาลมุ่งแต่เพียงเน้นด้านกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และพยายามขจัดอุปสรรคที่ทำให้ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล โดยดำเนินการใน 3 วิธี คือ

วิธีการแรก ขยายเพดานรายได้ของผู้รับประโยชน์ให้สูงขึ้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ความชอบธรรมของโครงการที่ให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลอยู่ที่ว่า เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย จึงต้องกำหนดเพดานว่าผู้รับประโยชน์จะต้องมีรายได้อยู่ในระดับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เริ่มตั้งแต่โครงการบ้านเอื้ออาทรสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร กำหนดผู้มีสิทธิซื้อบ้านเอื้ออาทรว่า ต้องมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (ในปี 2546) ต่อมาตัวเลขเพดานเงินเดือนก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง ปัจจุบันผู้ที่จะซื้อบ้านที่ได้รับการอุดหนุนจากการเคหะแห่งชาติต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท ซึ่งก็ถือว่า ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยเสียทีเดียวนัก

หรืออย่างโครงการบ้านล้านหลังที่อุดหนุนด้านดอกเบี้ยราคาถูก ก็ยังมีการแบ่งว่า สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท ได้รับการอุดหนุนมากกว่า คือ เสียดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 เป็น เวลา 5 ปี ส่วนผู้กู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 25,000 บาท ได้รับเงินอุดหนุนดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 ปี แต่มาตรการล่าสุดกลับขยับเพดานรายได้ของผู้มีสิทธิได้เงินอุดหนุนค่าดาวน์บ้านขึ้นไปครอบคลุมคนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 100,000 บาท ทำให้ผู้รับประโยชน์กระจายมาถึงผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง เหตุที่ทำเช่นนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเองก็เริ่มไม่มีกำลังจะซื้อบ้านแล้ว จึงต้องหันมากระตุ้นคนรวยให้ซื้อบ้านมากขึ้น

วิธีที่สอง ขยายเพดานของราคาที่อยู่อาศัยที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลให้ราคาสูงขึ้น ที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคำนึงว่า จะต้องเป็นที่อยู่ราคาไม่แพง เพราะถือว่า เป็นบ้านที่ผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้ซื้อ ส่วนบ้านราคาแพงคนซื้อเป็นคนมีฐานะดีอยู่แล้วก็ไม่สมควรได้รับการอุดหนุน เช่น กำหนดเพดานของบ้านที่จะเข้าโครงการบ้านประชารัฐในปี 2559 ว่าต้องเป็นบ้านที่ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อรัฐบาลชุดนี้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ก็กำหนดว่า ต้องเป็นบ้านที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อมาขยายเพดานเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ให้ครอบคลุมบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งก็เริ่มเป็นที่วิจารณ์อย่างมาก แต่ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดก็คือ นโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อุดหนุนให้คนนำเงินค่าซื้อบ้านไปลดหย่อนภาษีเป็นเวลา 5 ปี รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยครอบคลุมไปถึงบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ทำนองเดียวกันกับนโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาลชุดนี้เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ครอบคลุมถึงบ้านราคา 5 ล้านบาทเช่นกัน แต่มาตรการล่าสุดกลับหนักกว่าอีก คือไม่กำหนดเพดานราคาที่อยู่อาศัยเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ คนที่ซื้อบ้านหรูราคาแพง ซึ่งเป็นคนมีฐานะดีอยู่กลับยังได้รับเงินโบนัส 50,000 บาท คืนจากรัฐบาลอีก

วิธีการที่สาม ยกเลิกเงื่อนไขเรื่องบ้านหลังแรก ที่ผ่านมานโยบายอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย มักจะต้องมีข้อกำหนดว่า ผู้รับประโยชน์จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมาก่อน ดังเช่นคำว่า โครงการ ‘บ้านหลังแรก’ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรก ส่วนของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ก็มีมาตรการลดหย่อนภาษี ‘บ้านหลังแรก’ 2558-2559 เช่นกัน มาจนถึง มาตรการ ‘บ้านหลังแรก’ เมื่อเดือนเมษายน 2562 แต่มาตรการล่าสุดคือ อุดหนุนเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท กลับไม่มีเงื่อนไขนี้ นั่นเท่ากับส่งเสริมให้คนที่รวยมีเงินอยู่แล้ว สามารถซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อการลงทุน เช่น ซื้อคอนโดแล้วปล่อยเช่า ก็มีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ด้วย

ผมสงสัยว่ารัฐบาลที่จะออกมาตรการอุดหนุนเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท โดยกลุ่มผู้รับประโยชน์ไม่ได้มีความเดือดร้อนจำเป็นที่จะต้องได้รับการอุดหนุน ต้องเป็นรัฐบาลที่หน้ามืดตามัวขนาดไหน ถึงกล้าออกนโยบายที่ลำเอียงได้โจ่งแจ้งขนาดนี้ หรือเป็นรัฐบาลที่เข้าตาจนเพราะมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ล้วนไม่ได้ผล จึงกล้าออกมาตรการเช่นนี้

มากกว่านั้น หากมองมาตรการอุดหนุนเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท ให้กว้างขึ้นจะพบว่า กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ในตอนท้าย ก็คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้ขายบ้านได้ และธนาคารที่จะได้ปล่อยเงินกู้ เรียกได้ว่า รัฐบาลกำลังเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายให้กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธนาคาร เป็นมาตรการที่ภาคประชาชนไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลเอาภาษีประชาชนไปใช้อย่างลำเอียงเช่นนี้

มีผู้เปรียบเทียบความไม่เหมาะสมของนโยบายนี้ อย่างเห็นภาพอีกทางหนึ่งก็คือ เงินที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมให้แค่ 5,000 บาท แต่โครงการนี้กลับช่วย 50,000 บาท หรือ ควรนำเงินไปช่วยเหลือคนจนที่บ้านถูกไล่รื้อจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งผมก็เห็นด้วย

แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้เพิ่มเติมก็คือ การที่รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการอุดหนุนเงินดาวน์บ้านครั้งนี้ แทนที่จะช่วยคนจนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน สะท้อนว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจแล้วอย่างอุกอาจ ไม่แคร์สังคมเลยว่า จะสนับสนุนคนที่มีทรัพย์สินเงินตรามั่งคั่งอยู่แล้ว

ดังนั้น หากใครจะวิจารณ์มาตรการนี้ กรุณาอย่าใช้คำว่า ‘นโยบายประชานิยม’ เพราะไม่ได้เป็นนโยบายที่ประชาชนทั่วไปนิยมหรือได้ประโยชน์ แต่ควรจะเรียกว่า นโยบาย ‘ธนานิยม’ คือมุ่งเอาใจเหล่าผู้มีทรัพย์สินมั่งคั่งมีอันจะกินอยู่แล้ว

 


เชิงอรรถ

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2561. สรุปผลที่สำคัญการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560. น. 12
  2. เพิ่งอ้าง น. 25

 

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า