สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำสัญญาว่า จะหยุดพิจารณากฎหมายก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะไม่ได้กำหนดไว้ก็ตาม
ตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ภาพจำของ สนช. นั้นมีหลายลักษณะ ลักษณะที่ค่อนข้างโดดเด่นของ สนช. เช่น สภาทหาร-สภาข้าราชการ สภาตรายาง สภาผลประโยชน์ และสภาสืบทอดอำนาจ
สนช. = ห้องทำงานของทหาร
หลังการรัฐประหาร คสช. เปลี่ยนสภาที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ในขณะเดียวกัน ผลจากการแต่งตั้งสมาชิก สนช. จำนวน 5 ครั้ง มีสัดส่วนของบุคคลส่วนใหญ่ที่ได้รับแต่งตั้งแต่ละครั้งใช้คำนำหน้ามียศเป็นทหารมากกว่าครึ่งทุกครั้ง จนเหมือนว่า สภากลายเป็นเป็นห้องทำงานของทหารและอดีตทหาร
หากนับถึงวันที่ 8 มีนาคม 2562 ในจำนวนสนช. 242 คน แบ่งเป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 140 คน (58%) ตำรวจ 11 คน (5%) ข้าราชการ 64 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่นๆ 8 คน (3%) หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ว่า หลังรัฐประหาร สภากลายเป็นที่ทำงานของทหารในราชการและทหารเกษียณราชการ
สนช. = สภาตรายาง
หากนับถึงวันที่ 4 มีนาคม 2562 สนช. เห็นชอบกฎหมายไป 432 ฉบับ โดยเฉพาะแค่ช่วง ปี 2562 ก่อนการเลือกตั้ง สนช. เห็นชอบกฎหมายอย่างน้อย 87 ฉบับ ด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้ สนช. ถูกมองว่าเป็น ‘สภาตรายาง’ หรือ สภาที่ไม่มีอิสระเสรีในการออกเสียงลงมติของสมาชิกสภาตามหลักประชาธิปไตย หากแต่กลับออกเสียงลงมติไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและอิทธิพล
นอกจากความรวดเร็วในการพิจารณากฎหมายแล้ว สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ ลักษณะของการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ
ที่ผ่านมา สนช. ลงมติเห็นชอบกฎหมายด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ทุกฉบับ ไม่ว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นจะมีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย ก็พบว่าไม่มีร่างพ.ร.บ. ฉบับไหน ที่เสียงข้างมากจะมีมติไม่เห็นชอบเลย อย่างล่าสุด พ.ร.บ.โรงงาน หรือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ก็ผ่านด้วยเสียเห็นชอบมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
แม้แต่จะมีมติเห็นชอบอย่างเฉียดฉิวก็ไม่มี หากเป็นกฎหมายที่มีกระแสสังคมสูงมากจริงๆ เท่านั้น สนช. จึงจะยอมถอยกฎหมายดังกล่าว เช่น พ.ร.บ.ข้าว เป็นต้น แต่นอกจากนั้น สนช. ยังคงเดินหน้าออกกฎหมายด้วยจำนวนเสียงข้างมากในลักษณะเหมือนเดิมซ้ำๆ ไม่ต่างจากการประทับ ‘ตรายาง’ ลงบนเอกสาร
สนช. = สภาแห่งความอื้อฉาว
นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง สนช. ขึ้นมา สภาดังกล่าวต้องเจอกับเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ สมาชิก สนช. อย่างน้อย 50 คน ทำการแต่งตั้ง ‘ภรรยา-บุตร-เครือญาติ’ ช่วยงานโดยรับตำแหน่งเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน’ และรับเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 ถึง 24,000 บาท อีกทั้ง สมาชิก สนช. บางรายยังตั้ง ‘ลูก’ เป็นผู้ช่วยทั้งที่ยังเรียนหนังสืออยู่
เรื่องอื้อฉาวที่สองคือ การรับเงินหลายทาง เนื่องจากมีสมาชิกบางคนยังมีตำแหน่งข้าราชการประจำ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่รับราชการประจำ เป็นสมาชิกสนช. และ คสช. พร้อมรับทั้งเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
ส่วนเรื่องอื้อฉาวสุดท้าย คือ การขาดลงมติของสมาชิก สนช. อย่างน้อย 7 คน ที่อาจทำให้พ้นจากการเป็นสมาชิก สนช. แต่ทว่า จากการตรวจสอบกันเองของ สนช. พบว่า สมาชิก สนช. ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรมเนื่องจากการลาประชุมของ 7 สนช. เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงาน ที่ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม แต่ทว่า กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดหลักฐานดังกล่าว
นอกจากนี้ หลังการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบ “ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ฉบับใหม่ ที่ตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. ออก ยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน หรือหมายความว่า สนช. ขาดลงมติได้ไม่จำกัด
สนช. = สภาประสานผลประโยชน์
นอกจากเรื่องการทำหน้าที่เป็น ‘สภาตรายาง’ แล้ว สนช. ยังมีข้อกล่าวหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ เนื่องจาก สนช. ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาข้าราชการและทหาร และกลุ่มทุน มีผลประโยชน์ในการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร หรือ ร่าง พ.ร.บ.ศาลทหาร ที่เพิ่มเงินเดือนให้กับตุลาการศาลทหาร และอัยการทหาร ทั้งที่ พลเรือเอก กฤษฎา เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ และตุลาการศาลทหาร เป็นหนึ่งในสมาชิกสนช. และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และท้ายที่สุดก็เป็นคนลงคะแนนเห็นชอบด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้นำกองทัพมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการอนุมัติงบประมาณ ให้กองทัพผ่านการเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจาก บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก สนช.
ในขณะเดียวกัน กฎหมายบางฉบับก็ออกมาไม่ได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของสมาชิกใน สนช. เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายดังกล่าวคือบรรดาข้าราชการที่เป็นสมาชิก สนช. เพราะกฎหมายระบุว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปดำรงตำแหน่งในธุรกิจเอกชน และรับเงินหรือประโยชน์จากธุรกิจ
สนช. = สภารักษาและสืบทอดอำนาจ
เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สนช. มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมือง โดยแบ่งออกการทำหน้าที่ออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.ประชามติฯ) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ที่ผ่านมามีคนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเหล่านี้อย่างน้อย 110 ราย
สอง ยื้อการเลือกตั้งต่ออายุให้กับรัฐบาล คสช. โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 3 ครั้ง และ แก้ไขกฎหมายลูกอย่าง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. โดยยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไป 90 วัน
สาม ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง เช่น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ
และ สี่ เข้าไปควบคุมองค์กรอิสระแทน คสช. เช่น การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ สนช. ได้เป็นคนสรรหาคัดเลือกคนให้ คสช. และยังเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระภายใต้ คสช. ควบคุมอำนาจทางการเมืองหลังการเลือกตั้งได้