ผ่าทางตันจัดตั้งรัฐบาล เมื่อกษัตริย์สเปนเสนอชื่อผู้นำอนุรักษนิยมเป็นนายกฯ

หลังจากตกอยู่ในภาวะ ‘สภาแขวน’ (Hung Parliament) ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากผลการเลือกตั้งวันนั้นไม่มีพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียงได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล การเมืองสเปนก็ได้เวลาเดินหน้าต่อ เมื่อกษัตริย์เฟลิเป ที่ 6 (King Felipe VI) ตัดสินพระทัยเสนอชื่อ อัลเบร์โต นุญเญซ เฟย์โฆโอ (Alberto Núñez Feijóo) หัวหน้าพรรคประชาชน (Partido Popular) ให้สภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จะได้รับการเสนอชื่อจากกษัตริย์ แต่โอกาสที่เฟย์โฆโอจะชนะโหวตในสภาซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ก็ยังเป็นไปได้ยาก เพราะจนถึงนาทีที่ได้รับการเสนอชื่อจากพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 แล้ว พรรคประชาชนของเขาซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยม ยังไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 176 เสียง ตามจำนวนเสียงขั้นต่ำที่ต้องได้รับจากจำนวน สส. ในสภาทั้งหมด 350 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม พรรคประชาชนสามารถคว้าที่นั่ง สส. ได้มากที่สุด 136 ที่นั่ง เมื่อรวมกับจำนวน สส. ที่พรรรควอกซ์ (Vox) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด และพรรคเล็กๆ อื่น ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอีก 2 พรรคแล้ว เฟย์โฆโอยังคงมีเสียงในมือเพียง 172 เสียง ขณะที่พรรคแรงงานสังคมนิยม (Spain Socialist Workers) ของเปโดร ซานเชส (Pedro Sánchez) ได้ สส. เพียง 122 ที่นั่ง เมื่อรวมกับพันธมิตรฝ่ายซ้ายอย่างพรรคซูมาร์ (Sumar) และพรรคเล็กอื่นๆ อีก 4 พรรค ก็ยังได้เพียง 171 เสียง 

สเปนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional monarchy) เช่นเดียวกับประเทศไทย รัฐธรรมนูญของสเปนระบุไว้ในมาตรา 99.1 ให้กษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วยการเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาพิจารณาและลงมติ โดยไม่ได้มีการระบุว่ากษัตริย์ควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกตัวบุคคล ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาหลายครั้งที่กษัตริย์ใช้วิธีรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน เพื่อกลั่นกรองตัวเลือกของพระองค์ให้สามารถได้รับชัยชนะจากการโหวตในรัฐสภาให้มากที่สุด

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 จำเป็นต้องเลือกระหว่างเฟย์โฆโอ และซานเชส ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด 2 พรรค และในสัปดาห์ที่ผ่านมาพระองค์ได้ทรงปรึกษาและรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรค ก่อนจะตัดสินพระทัยเสนอชื่อเฟย์โฆโอให้รัฐสภา

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์อธิบายเหตุผลที่พระองค์ทรงเลือกเฟย์โฆโอว่า เพราะพรรคประชาชน “เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเก้าอี้จากการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม มากที่สุด” และเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยว่า ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุดสมควรได้รับโอกาสก่อน” 

ขั้นตอนจากนี้ไปคือรัฐสภาต้องกำหนดวันลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเฟย์โฆโอไม่สามารถได้รับเสียงข้างมาก พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 ต้องทรงเสนอตัวเลือกใหม่ให้รัฐสภา ซึ่งโดยปกติก็จะเป็นผู้นำพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงรองลงมา หากคนใหม่ยังไม่ได้รับเสียงข้างมากอีก ก็ทรงต้องเสนอตัวเลือกใหม่ จนกว่าสภาจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หากภายใน 2 เดือนนับจากวันที่สภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก รัฐสภายังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ให้ถือว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และรัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

หากเฟย์โฆโอสามารถระดมเสียง สส. ในสภา ให้ลงคะแนนเสียงให้ตนเองได้อย่างน้อย 176 เสียง การเมืองสเปนก็จะถูกเปลี่ยนมาขับเคลื่อนด้วยแนวคิดอนุรักษนิยมไปอีก 4 ปี หลังจากอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของพรรคแรงงานสังคมมาตั้งแต่ปี 2018

“ผมจะทำให้เสียงของพลเมืองมากกว่า 11 ล้านคน ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ความมั่นคง และความพอเหมาะพอดี ไม่สุดขั้วรุนแรง มีความหมาย ด้วยรัฐบาลที่ปกป้องความเท่าเทียมกันของชาวสเปนทุกคน” เฟย์โฆโอ โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) หลังรู้ว่าได้รับการเสนอชื่อโดยพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 

บทบาทของกษัตริย์สเปนในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจดูเหมือนง่าย เสนอชื่อบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากที่สุดก็จบ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น ตามรัฐธรรมนูญสเปนถือว่าเป็น ‘หน้าที่’ ของกษัตริย์ ไม่ใช่ ‘อำนาจ’ ในการจัดตั้งรัฐบาล หน้าที่คือต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยอำนาจในการจัดตั้งยังเป็นของรัฐสภาที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะฉะนั้นกษัตริย์จะต้องทรงใช้วิจารณญาณในการเลือกบุคคลให้รัฐสภาลงมติให้รอบคอบที่สุด เพื่อให้ตัวเลือกของพระองค์ได้รับการยอมรับจากรัฐสภา หากตัวเลือกที่พระองค์เสนอสู่รัฐสภาไม่ได้รับโหวตจากสภาให้เป็นนายกฯ พระองค์อาจถูกมองว่าล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ 

ที่ผ่านมาเคยมีประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 ทรงต้องเสนอชื่อผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างน้อยเพื่อให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ย้อนกลับไป ค.ศ. 2016 หลังพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 1 ปีครึ่ง สเปนมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่และพรรคประชาชนได้รับเสียงข้างมาก แต่มารีอาโน ราฮอย (Mariano Rajoy) หัวหน้าพรรคในขณะนั้น เล่นเกมการเมืองด้วยการปฏิเสธที่จะเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก ทำให้พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 ต้องตัดสินพระทัยเสนอชื่อของเปโดร ซานเชส เลขาธิการพรรคแรงงานสังคมนิยม ที่ได้คะแนนน้อยกว่าแทน ทั้งที่พระองค์และทุกคนรู้ว่าซานเชสไม่มีทางชนะโหวตในสภา 

การเสนอชื่อในครั้งนี้ก็ทำให้พระองค์ลำบากใจไม่น้อย แม้เฟย์โฆโอจะได้รับเสียงในการเลือกตั้งมากกว่าซานเชส แต่เขาก็ยังไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ และ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาเพิ่งลงมติเลือกโฆษกรัฐสภา ซึ่งปรากฏว่าคนของพรรคสังคมนิยมแรงงานของซานเชสได้รับคะแนนเสียงข้างมาก โดยได้รับคะแนนสนับสนุนจากพรรคการเมืองหลายหลายพรรคจากแคว้นคาตาลุญญา (Catalonia) ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และรวมกลุ่มกันในนาม Junts (มีความหมายว่า ‘รวมกัน’) ภายใต้การควบคุมของคาร์เลส ปุยก์เดอมงต์ (Carles Puigdemont) อดีตผู้นำคาตาลุญญาที่พยายามผลักดันแคว้นนี้ให้เป็นเอกราชในปี 2017 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

คาร์เลส ปุยก์เดอมงต์ (Carles Puigdemont)

 การเสนอชื่อเฟย์โฆโอเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 ในครั้งนี้ ทำให้พระองค์ต้องทรงแบกรับความเสี่ยงที่สูงพอสมควรว่า ตัวเลือกของพระองค์อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองพรรคเล็กๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งหมายถึงการทำหน้าที่ตั้งรัฐบาลของพระองค์ครั้งนี้ประสบความล้มเหลว

ปุยก์เดอมงต์ให้สัมภาษณ์สื่อหลังการโหวตสนับสนุนให้ผู้แทนพรรคสังคมนิยมแรงงานได้เป็นโฆษกรัฐสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นการสนับสนุนเฉพาะการเป็นโฆษกรัฐสภาเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ากลุ่ม Junts ของเขาจะต้องสนับสนุนให้ซานเชสได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่งด้วย 

อย่างไรก็ดี หากปุยก์เดอมงต์สนับสนุนให้ซานเชสได้เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่เขาจะได้กลับสเปนและเข้ามามีบทบาททางการเมืองในสเปนอีกก็มีความเป็นไปได้ The Politoco สื่อออนไลน์ที่ติดตามการเมืองทั่วโลกตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่ปุยก์เดอมงต์จะต่อรองกับซานเชสด้วยข้อเสนอว่า กลุ่ม Junts จะลงคะแนนเสียงให้ โดยแลกกับการนิรโทษกรรมให้กับตัวเขา

ทางด้านซานเชสมองว่า การที่พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 ไม่เสนอชื่อเขาในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อตัวเขาเองและต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะทำให้เขาสามารถขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม Junts ได้สะดวกขึ้นภายใต้เหตุผลการขับเคลื่อนการเมืองให้หลุดจากสภาวะ ‘สภาแขวน’ และเป็นผลดีต่อสถาบันที่จะทำให้พระองค์ไม่ต้องโดนกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพราะอย่างน้อยพระองค์ก็ได้พยายามเสนอทางเลือกอื่นก่อนแล้ว

พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ทรงพยายามปรับบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้กลับคืนสู่การเป็นสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญให้มากที่สุด การปรึกษาผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ทรงทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความพยายามปรับบทบาทสถาบันกษัตริย์ของพระองค์ โดยพบว่าตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี 2014 เพียง 9 ปี พระองค์ปรึกษาพรรคการเมืองต่างๆ ในระหว่างการทำหน้าที่ตั้งรัฐบาลมาแล้วถึง 9 ครั้ง เปรียบเทียบกับกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ที่ 1 (Juan Carlos I) พระราชบิดาของพระองค์ที่ครองราชย์ยาวนานถึง 38 ปี แต่มีการปรึกษาพรรคการเมืองต่างๆ เพียง 10 ครั้งเท่านั้น

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า