การหั่นราคาอย่างดุเดือดระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost airline) ทำให้ผู้คนเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน สายการบินทั่วโลกเปลี่ยนมาลดค่าธรรมเนียมตั๋ว แล้วหันมาคิดเงินเพิ่มจากสินค้าและบริการเล็กๆ น้อยๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยให้บริการฟรี
หนึ่งในสินค้าที่สายการบินเหล่านี้เสนอขายก็คือ ‘ที่ว่าง’
ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติมาเลเซียอย่าง Air Asia แก้ปัญหาคนล้นเครื่องด้วยการซื้อเครื่องบินใหม่ที่ลำใหญ่ขึ้น สายการบินอื่น เช่น Cathay Pacific ที่เคยขึ้นชื่อด้านอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ก็ตัดสินใจเพิ่มที่นั่งบนเครื่องบิน ด้วยการขยับที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัดให้เลื่อนเข้ามาชิดกันประมาณ 1 นิ้ว
การลดพื้นที่วางขา (legroom) กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อกวาดผู้โดยสารต่อเที่ยวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
แม้เสียงตอบรับจากผู้โดยสารและนักวิจารณ์จะไม่น่าปลื้มนัก แต่การเพิ่มยอดผู้โดยสารด้วยวิธีนี้ก็ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐได้ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีกลุ่มผู้โดยสารหลักเป็นชนชั้นกลาง ให้ความสำคัญกับราคาตั๋วมากกว่าความสะดวกสบายระหว่างบิน ตรงกับที่ ไมค์ ซุกส์ (Mike Szucs) ที่ปรึกษาผู้บริหารสูงสุดของ Cebu Pacific ประกาศในอีเมลว่า “เราคำนึงถึงความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ลูกค้ามักคำนึงถึงคือราคาค่าโดยสาร”
ราคาตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้ไปมะนิลาของ Cebu Pacific ราคาเพียง 100 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3,000 บาท แต่ยังไม่รวมราคาที่มองไม่เห็น เช่น การนั่งเบียดบนที่นั่งขนาดกว้าง 16 นิ้วครึ่ง หรือเล็กกว่าความกว้างของฝ่ามือมนุษย์สองข้างเมื่อกางเต็มที่ และสูง 18 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้ผลิตอย่าง Airbus แอร์บัส อ้างว่า “นั่งได้สบายๆ”
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Cebu Pacific ยังออกมาประกาศอีกว่าได้ซื้อเครื่องบิน Airbus A330neo ลำใหม่ ที่ห้องครัวและห้องน้ำจะถูกปรับตำแหน่งเพื่อเพิ่มยอดที่นั่งผู้โดยสารให้แตะ 460 ที่นั่ง แม้ว่าเครื่องบินลำนี้ปกติจุเพียง 260-300 ที่นั่ง และจุได้สูงสุดชนิดแน่นเอี้ยดเพียง 440 ที่นั่งเท่านั้น โดย Cebu Pacific วางแผนจะจัดที่นั่งตามนี้ทันทีที่ผังการแบ่งระหว่างเคบินชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดผ่านการพิจารณา
ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อผู้โดยสารเครื่องบิน Flyers Rights ระบุว่า ในสมัยต้นยุคปี 2000 ระยะห่างระหว่างที่นั่ง (pitch) ของผู้โดยสารชั้นประหยัดมักกว้าง 34-35 นิ้ว และปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 30-31 นิ้วในปัจจุบัน หรือ 28 นิ้วสำหรับเที่ยวบินระยะสั้น เบาะนั่งเองก็ปรับขนาดเล็กลงจากเดิม 18 นิ้ว อยู่ที่เฉลี่ย 17 นิ้วต่อที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม เจเน็ต เบดนาเร็ก (Janet Bednarek) นักประวัติศาสตร์การบินจากมหาวิทยาลัยเดย์ตัน (University of Dayton) รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า การลดขนาดเบาะนั่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชาวเอเชียที่ ‘รูปร่างเล็ก’ กว่าชาวยุโรปสหรัฐ
“คนจำนวนมากเต็มใจสละความสบายแลกกับราคาที่ถูกลง” เบดนาเร็กกล่าว
แนวคิดการลดพื้นที่พักขาและขนาดเบาะแลกกับค่าโดยสารที่ถูกลงยังคงมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อเดือนเมษายน งานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในเครื่องบินที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ได้เปิดตัว ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ รุ่น SkyRider 3.0 ออกแบบโดย Aviointeriors บริษัทสัญชาติอิตาเลียน ซึ่งผู้โดยสารจะต้องนั่งลงบนเก้าอี้ที่ค่อนข้างชันในท่าคล้ายกำลังขี่ม้า ระยะห่างระหว่างที่นั่งแต่ละแถวถูกลดเหลือเพียง 23 นิ้ว ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถเพิ่มผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในระดับการบริการที่ผู้โดยสารแต่ละคนยังสามารถ ‘นั่งได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร’
และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครเอาด้วยกับไอเดีย ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ ก็ยังน่าติดตามอยู่ดีว่าสุดท้ายการต่อรองระหว่างราคากับความสะดวกสบายของผู้โดยสารในตลาดการบิน จะปิดดีลที่ ‘ที่ว่าง’ ขนาดกี่นิ้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก: bloomberg.com airbus.com independent.co.uk airasia.com content.nokair.com lionairthai.com seatguru.com |
สนับสนุนโดย