“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นพวกเขาเล่นหมากรุก ฉันประหลาดใจมาก พวกเขามีสมาธิและจดจ่อกับการเล่นอย่างเหลือเชื่อ ฉันไม่เคยเห็นพวกเขาตั้งใจแบบนี้ในคลาสเรียนมาก่อน” จูเลีย รอดเวลล์ (Julia Rodwell) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาพาร์คเอนด์ (Park End Primary School) เมืองมิดเดิลส์โบรห์ (Middlesbrough) ประเทศอังกฤษ พูดถึงเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มหนึ่งที่นั่งเล่นหมากรุกอย่างเงียบสงบในเวลาพักเที่ยง ทั้งๆ ที่ปกติแล้ว เวลาแบบนี้พวกเขามักจะส่งเสียงดังที่สุดในโรงอาหาร
โรงเรียนดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 800 โรงเรียนประถมที่นำหมากรุกมาบรรจุลงไปในหลักสูตรการเรียน ปัจจุบันหมากรุกถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่าเพียงระยะเวลาสองปี
แม้ความตั้งใจแรกที่นำหมากรุกเข้ามายังโรงเรียนนั้น เพื่อเพิ่มทักษะให้กับเด็กที่อ่อนวิชาเลข เพิ่มทักษะการแก้ไขปัญหา รวมถึงคาดหวังว่า จะช่วยให้พวกเขาจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มากขึ้น และวางสมาร์ทโฟนในมือลงสักพัก ปัจจุบันดูเหมือนว่า หมากรุกกำลังกลายเป็น ‘การบำบัดดิจิตอล’ (Digital Detox) อีกหนทางหนึ่ง โดยคุณครูในโรงเรียนพาร์คเอนด์แทบทุกคนถูกสอนให้เล่นหมากรุกเพื่อนำไปสอนนักเรียนต่อ
“ในช่วงเวลาพักเที่ยง ชมรมหมากรุกจะเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่เข้ามาเล่นในเวลาว่าง ตรงกันข้ามกับชมรมไอแพด ที่เด็กมีจำนวนน้อยลงๆ ทุกวัน” โรดเวลล์ กล่าว
และเนื่องจากพาร์คเอนด์ไม่ใช่โรงเรียนในเมืองใหญ่ของสหราชอาณาจักร เด็กส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน จึงมีนักเรียนจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน การแข่งขันทัวร์นาเมนต์หมากรุกจึงเป็นกำลังใจสำคัญของพวกเขาที่ช่วยผลักดันให้เด็กๆ เหล่านี้รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่
“การเล่นหมากรุกเป็นเหมือนโอกาสอย่างหนึ่งที่ให้นักเรียนในโรงเรียนมีโอกาสเท่าเทียมกับเด็กในโรงเรียนเอกชน ยิ่งกว่านั้น เด็กรุ่นใหม่ยังเติบโตมากับโลกยุคดิจิตอล หน้าจอทัชสกรีนและสิ่งสำเร็จรูปต่างๆ การเล่นหมากรุกจึงเป็นเหมือนการเชื้อชวนให้พวกเขาใจจดใจจ่อกับสิ่งหนึ่งและคิดวิเคราะห์อย่างหนัก แทนที่จะปัดๆ เขี่ยๆ อยู่แต่กับหน้าจอ” มัลคอล์ม ไพน์ (Malcolm Pein) ผู้ก่อตั้งสมาคมหมากรุกในโรงเรียนแห่งสหราชอาณาจักร (Chess in Schools and Communities) กล่าว นอกจากนั้นยังเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ ในอังกฤษหันมาสนใจเล่นหมากรุกมากขึ้น
ด้าน ริชาร์ด เกรแฮม (Richard Graham) จิตแพทย์เด็กจากโรงพยาบาลไนติงเกล (London’s Nightingale Hospital) กล่าวถึงกระแสหมากรุกที่กำลังเป็นที่นิยมในโรงเรียนประถมศึกษาว่า
“ผมเชื่อมั่นว่า โรงเรียนต่างๆ มีความพยายามให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สถานการณ์กดดันที่แท้จริงผ่านการทำกิจกรรมออฟไลน์ เกมหมากรุกเป็นเกมที่น่าสนใจอยู่แล้ว หมากตัวเล็กๆ แต่ละตัวกลับมีเรื่องราว เช่น อัศวิน (knight) พระราชา (king) และราชินี (queen) แม้พวกมันจะขยับตัวไม่ได้ก็ตาม แต่องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกสนุกและมีส่วนรวมกับมันมากขึ้น”
“เวลาคุณเล่นหมากรุก หัวคุณจะวางแผนอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรก็ได้ให้เดินไปถึงฝั่งศัตรูของคุณ และใช่ ถ้าคุณอยากให้เด็กๆ เลิกหมกมุ่นอยู่แต่ในโลกออนไลน์ละก็ หมากรุกเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยม!” เซียนหมากรุกระดับ grandmaster อย่าง เดวิด โฮเวลล์ (David Howell) แสดงความคิดเห็นต่อกระแสหมากรุกที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้