จดหมายถึง พี่ตูน บอดี้สแลม จาก น้องแตม บอดี้สลิม

พี่ตูนคะ

หนูชื่นชมความคิดและการกระทำของพี่ที่ทำเพื่อคนอื่นมากๆ ค่ะ และยังเป็นกำลังใจให้คนเล็กๆ อยากออกไปแตะขอบฟ้าจริงๆ

หนูเป็นคน กทม. ค่ะ ได้ร่วมบริจาคกับพี่ไปบ้างแล้ว ที่บ้านเป็นชนชั้นกลาง กลางจริงๆ คือไม่จนพอจะได้รับบัตรคนจนของรัฐบาลลุงตู่ แต่ก็ไม่รวยพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. แบบไม่ต้องดิ้นรน ไม่มีปัญญาซื้อประกันสุขภาพแล้วเอาไปลดหย่อนภาษีปลายปี บ้านเราเป็นแค่ร้านขายของชำในตลาด จึงใช้บริการบัตรทองเมื่อยามเจ็บป่วยค่ะ (ร้านของเราไม่มีเครื่องรูดบัตรคนจน)

คุณแม่ได้รับการผ่าเข่า คุณพ่อได้ผ่าตัดใส่สายสวนหัวใจ ส่วนหนูก็ได้รับยาต้านไวรัสจากระบบบัตรทอง พี่ตูนไม่รังเกียจที่หนูเป็นผู้ติดเชื้อฯใช่ไหมคะ เมื่อได้รับยาต้านฯหนูทำงานได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวได้ค่ะ

เมื่อเดือนกันยายน คุณหมอโต้งที่หนูไปรักษาด้วยเป็นประจำบอกว่า โรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ ที่คุณหมอทำงานอยู่ จะเลิกรับคนไข้บัตรทองแล้ว วันนั้นหนูร้องไห้หนักมาก แล้วหนูก็เห็นคนไข้ใน OPD หลายคนอยู่ในสภาพเดียวกัน คุณหมอโต้งเขียนใบส่งตัวให้หนูไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นก็ตาแดงๆ


ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป) มีโรงพยาบาลเอกชนสี่แห่งขอถอนตัวออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  1. รพ.มเหสักข์ ขอถอนตัวจากการเป็นหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อระดับทุติยภูมิ รับผิดชอบประชาชนจำนวน 109,717 คน
  2. รพ.แพทย์ปัญญา รับผิดชอบประชาชนจำนวน 345,315 คน ขอยกเลิกการเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อให้คลินิกชุมชนอบอุ่น 10 แห่ง มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 90,816 คน
  3. รพ.วิภารามปากเกร็ด เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ รับผิดชอบประชาชน จำนวน 83,415 คน ขอยกเลิกการเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อให้หน่วยบริการประจำจำนวน 6 แห่ง มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 36,081 คน
  4. รพ.บางนา 1 หน่วยบริการรับส่งต่อ รับผิดชอบประชาชนจำนวน 41,858 คน ขอยกเลิกการเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อให้หน่วยบริการประจำ จำนวนสองหน่วย มีผลกระทบต่อประชาชน จำนวน 13,484 คน

พี่ตูนพอทราบใช่ไหมคะ ใน กทม. ดูเหมือนมีความพร้อมทุกอย่าง มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชนมากมาย โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ และยังมีโรงพยาบาลของ กทม. แต่แทบไม่มีที่ทางให้กับประชาชน เพราะโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาล กทม. และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มีหน้าที่หลักคือ ‘รับส่งต่อ’ เพื่อรักษาอาการที่ซับซ้อนเกินศักยภาพของโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งก็แออัดมากจะตายอยู่แล้ว

ขณะที่ กทม. มีโรงพยาบาลรัฐไม่มากที่ให้บริการประชาชนในโรคเรื้อรังและความเจ็บป่วยที่ไม่ซับซ้อน เพราะเราไม่ได้ถูกส่งต่อมาจากที่ไหน คนที่ใช้บัตรทองใน กทม. จึงต้องพึ่งโรงพยาบาลเอกชนมากถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีคลินิกตามชุมชนต่างๆ ที่เรียกว่า ‘คลินิกอบอุ่น’ ด้วย แต่คลินิกอบอุ่นจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ หากไม่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่ารับส่งต่อคนไข้หากความเจ็บป่วยนั้นเกินศักยภาพ เพื่อนหนูที่ทำงานอยู่ในคลินิกอบอุ่นที่เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลเอกชน พอโรงพยาบาลเอกชนเทบัตรทองก็ถูกเทกันหมด ทั้งคนไข้ คุณหมอเจ้าของคลินิก เจ้าหน้าที่ก็ร้องไห้โฮเหมือนกัน นี่เขาบอกว่า ปีต่อไป โรงพยาบาลเอกชนก็จะมีการเทบัตรทองอีก


การรับบริการของผู้ป่วยบัตรทอง พื้นที่ กทม. กรณีคนไข้ในแยกตามประเภทโรงพยาบาล ปี 2560

  • โรงพยาบาลเอกชน 41 เปอร์เซ็นต์
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 18 เปอร์เซ็นต์
  • โรงพยาบาลสังกัด กทม. 17 เปอร์เซ็นต์
  • โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 15 เปอร์เซ็นต์
  • โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ 9 เปอร์เซ็นต์

พวกเราไม่รู้เหตุผลจริงๆ หรอกค่ะว่า ทำไมโรงพยาบาลเอกชนถึงเทบัตรทอง เพราะเขาใช้คำว่า “ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ” แต่เท่าที่ลองรวบรวมดูเพื่อมาเล่าสู่ให้พี่ตูนได้ฟัง

โรงพยาบาลจำนวนหนึ่งถูกซื้อกิจการจากโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่อยากรับบัตรทอง โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งกำลังแต่งหน้าแต่งตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ…บ้านเราน่าจะเป็นแค่ไม่กี่ประเทศหรือเปล่าคะ ที่การรักษาพยาบาลเป็นกิจการที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เท่าที่หนูรู้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เขากำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า การรักษาพยาบาล ‘ไม่สามารถหากำไรได้’ และหากมีกำไร ให้นำมาลงทุนเพิ่มเติมในกิจการนั้นเพื่อประโยชน์ประชาชน

อีกเหตุผลน่าจะมาจากนโยบายสองสามเรื่องของรัฐบาลลุงตู่

1. นโยบายการส่งเสริมเมดิคัลฮับเพื่อรองรับคนต่างชาติ

ตอนนี้คนจีนกำลังมาแรงแซงหน้าชาวตะวันออกกลางที่เคยเป็นตลาดหลักของโรงพยาบาลเอกชนในบ้านเรา แต่หนูจำได้ว่า ช่วงแรกที่ รมว.สาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร ขึ้นตำแหน่งใหม่ๆ ท่านบอกนะ ว่าจะส่งเสริมแค่พวกนวด สปา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่เน้นเรื่องการรักษา เพราะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในบ้านเราเอง อืม ไม่รู้ท่านลืมไปหรือยัง

2. นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)

เป็นนโยบายที่ดีมากๆ ที่ตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะวิกฤติให้ได้เข้าถึงการรักษาแบบไม่เหลื่อมล้ำ แต่วิธีการจ่ายเงินของนโยบายนี้จะให้ค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรกกับโรงพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญา (พูดง่ายๆ คือโรงพยาบาลที่ไม่รับบัตรทอง) ในอีกราคาที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลคู่สัญญาทั่วไป นี่อาจจะเป็นผลข้างเคียงที่ไม่ได้คาดหมายของการออกนโยบายนี้

3. นโยบายให้ซื้อประกันสุขภาพแล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท

ตั้งแต่มีระบบบัตรทอง กระทบยอดขายประกันสุขภาพมากจริงๆ นโยบายนี้จึงเป็นที่พึ่งหวังของธุรกิจประกันเลยนะคะว่าจะเพิ่มยอดให้ได้มากมาย หนูอ่านบทวิเคราะห์ในบรรดาหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เขาบอกว่า “กลุ่มโรงพยาบาลที่จะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากมาตรการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพนี้ คงต้องเป็นกลุ่มโรงพยาบาลระดับกลางถึงล่างเท่านั้น เพราะว่าค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลระดับบนสูงเกินกว่าความคุ้มครองที่จะได้จากเบี้ยประกันในระดับนี้” แถมยังเชียร์ให้ไปช้อนหุ้นโรงพยาบาลกลุ่มนี้ และธุรกิจประกัน นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นโรงพยาบาลเหล่านี้ ‘เทบัตรทอง’

แต่พี่ตูนคะ หนูหาไม่เจอว่าการลดหย่อนครั้งนี้รัฐบาลเสียรายได้ที่ควรจัดเก็บเป็นงบประมาณแผ่นดินเท่าไร มีแต่บอกว่า “กระทบไม่มากๆ” แล้วอธิบดีกรมสรรพากรก็มาอ้างว่า นี่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน

ที่เราทำก็เพราะเป็นการช่วยประชาชน เพราะสวัสดิการของรัฐมีหลายอย่าง บางอย่างประชาชนก็ต้องจ่ายเพิ่ม

– ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

 

พี่ตูนคิดว่า นี่เป็นสวัสดิการของรัฐจริงๆ เหรอคะ

ประเด็นนี้แหละค่ะ ที่พวกเรา คนมีสิทธิบัตรทองห่วงที่สุด แม้ว่าลุงตู่จะบอกย้ำๆๆๆๆๆ ว่าไม่ล้มบัตรทอง ใครพูดเท็จจะจับไปตบปาก แต่พฤติกรรมหลายอย่างของรัฐบาลคุณลุงไม่ได้ทำให้เราสบายใจเลย หนูรู้ดีค่ะ ว่าพี่ตูนช่วยไม่ได้ แต่อยากให้พี่ตูนได้รับฟัง

ไม่ใช่แค่ออกนโยบายซื้อประกันสุขภาพเพื่อให้ไปลดหย่อน ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ‘ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม’ ซึ่งหนูว่า ประชาชนไม่มีปัญหากับการจ่ายเพิ่มจากภาษีที่เราจ่ายอยู่ แต่เราอยากจ่ายก่อนที่จะป่วย อย่ามาเรียกเก็บตังค์ตอนที่เราป่วย แล้วเราก็อยากจ่ายให้รัฐ แบบที่พี่ตูนออกวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาลรัฐ มากกว่าจ่ายเงินให้เอกชนไปเป็นกำไรกันแบบนี้

บางคนบอกว่า พี่ตูนออกวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาลที่ถูกระบบบัตรทองทำให้ขาดทุน แต่หนูเชื่อว่าพี่ตูนเข้าใจดีว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ช่วยคนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ไม่ใช่แค่คนจนหรอกค่ะ อย่างครอบครัวชนชั้นกลางถ้าเจ็บป่วย เราก็อาจล้มละลายได้เหมือนกัน

ทุกๆ ปีการคำนวณงบบัตรทองใช้หลักฐานทางวิชาการ อายุ ความเจ็บป่วย เงินเฟ้อ จนได้ตัวเลขขึ้นมา แต่ไม่เคยได้รับงบประมาณตามที่ขอ ทั้งที่การใช้จ่ายงบประมาณในระบบบัตรทองได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติว่าใช้เงินที่มีน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ต่างกับงบของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 57

หนูไม่กล้าขอให้พี่ตูนช่วยวิ่งเพื่อโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. อย่าเทบัตรทอง หรือวิ่งเพื่อสร้างโรงพยาบาลรัฐใน กทม. ให้มากขึ้น เพียงแต่หวังว่า การวิ่งของพี่ตูนจะทำให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ พิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณแบบมีเหตุมีผลมากขึ้น เพราะหนูไม่อยากเห็นพี่ตูนวิ่งไปกลับดวงจันทร์เพื่อหาเงินซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

จากใจ
น้องแตม บอดี้สลิม

 


  • ปี 2560 ได้รับ 3,109.87 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.67
  • ปี 2561 ได้รับ 3,197.32 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.81
  • แต่หากพิจารณาระหว่างงบขาขึ้น (ที่ขอไป) กับ งบขาลง (ที่ให้มา)
  • งบขาขึ้น ปี 60 บอร์ด สปสช. เสนอ ค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,150.23 บาทต่อประชากร ขอเพิ่มขึ้น 121.29 บาทต่อประชากรจากปี 59
  • งบขาลง ปี 60 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คิดเป็นเหมาจ่ายรายหัว 3,109.87 บาทต่อประชากร ได้เพิ่ม 80.93 บาทต่อประชากรจากปี 59
  • งบขาขึ้น ปี 61 บอร์ด สปสช. เสนอ ค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,374.70 บาทต่อประชากร คำนวณประชากรผู้มีสิทธิ์ 48.797 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 12,904.56 ล้านบาท หรือ 224.47 บาทต่อประชากร คิดเป็นร้อยละ 8.5 ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มงบกองทุนฯ ในปี 2561 นี้ เป็นผลจากต้นทุนบริการ ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตการบริการรวมถึงนโยบายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรจำนวน 43,828.28 ล้านบาท คงเหลือเป็นงบประมาณที่เข้าสู่กองทุนฯ จำนวน 120,846.96 ล้านบาท
  • งบขาลง ปี 61 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คิดเป็นเหมาจ่ายรายหัว 3,197.32 บาทต่อประชากร แม้จะได้เพิ่มขึ้น 87.45 บาทจากปี 60 แต่ยังห่างไกลจากการรับและให้บริการจริง

อ้างอิงข้อมูลจาก:
nhso.go.th
prachachat.net
posttoday.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า