บอลโลกแมตช์ฝรั่งเศส-เบลเยียมเพิ่งผ่านไปไม่นาน ปกติไม่ดูบอลหรอก แต่ถ้ามีใครมาถามว่าเชียร์ทีมไหน ด้วยความเป็นเด็กศิลป์ฝรั่งเศส และไปแลกเปลี่ยนฝรั่งเศสมาปีนึงก็จะบอกอย่างมั่นใจว่า “ฝรั่งเศสสิคะ!” ไหน ใครเชียร์เบลเยียมบ้าง ว้ายยยยย แพ้!
แหม แต่เดือนนี้ไม่ได้มีแค่บอลที่คนฝรั่งเศสฉลองกันนะ เพราะเขาได้มีวันหยุดเพิ่มอีกวันนึงเธอ เดี๋ยว ไม่ได้หยุดเพราะบอลชนะ แต่หยุดเพราะเป็นวันชาติของเขา
วันที่ 14 กรกฎาคม นับว่าเป็นวันชาติของฝรั่งเศส (La Fête Nationale – อ่านว่า ลาเฟต นาซองนาล) หรือเขาเรียกกันว่า ‘วันบาสตีย์’ (Bastille Day)
วันบาสตีย์ มาจากเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์โดยประชาชนในเช้าวันที่ 14 กรกฎาตม 1789 คุกบาสตีย์ในตอนนั้นมีนักโทษอยู่แค่เจ็ดคนเอง แต่ก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอันไม่เป็นธรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 การบุกคุกบาสตีย์ได้ เป็นเหมือนการประกาศการโค่นอำนาจกษัตริย์ โดยประชาชนที่หิวโหยและโกรธแค้น จนนำมาสู่การปฏิวัติการปกครองของฝรั่งเศสนั่นเอง
การปฏิวัติฝรั่งเศส นับว่าเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนครั้งแรกที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ เพราะแนวคิดที่มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้กระทบแค่ในยุโรป แต่มันกระทบไปทั่วโลก – แน่นอนว่าหลังจากนั้นร้อยกว่าปีต่อมา การปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 ก็เป็นผลพวงมาจากความคิดนี้
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝรั่งเศสมีคำขวัญที่ไม่ว่าไปไหนในฝรั่งเศสก็จะเห็นคำขวัญนี้ นั่นก็คือ ‘Liberté, Égalité, Fraternité’ (Liberty, Equality, Fraternity) แปลได้ว่า อิสรภาพ, ความเท่าเทียม, และภราดรภาพ (ความเป็นพี่น้อง) ไอเดียเรื่องการต่อสู้ของประชาชนเหมือนเป็นสัญลักษณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ขนาดว่าเพลงชาติฝรั่งเศสหรือ La Marseillaise ก็พูดถึงการต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรม มีท่อนนึงร้องว่า
Aux armes, citoyens!
Formez vos bataillons!
Marchons ! Marchons!
Qu’un sang impur
Abreuve nos sillons!หยิบอาวุธขึ้นมา เหล่าประชาชน!
ตั้งตนขึ้นมาเป็นกองทัพ!
จงเดินทัพไป จงเดินทัพไป!
เพื่อให้เลือดอันไม่บริสุทธิ์!
ไหลอาบสนามรบของเรา!
อาห์ เป็นเพลงชาติที่ฮาร์ดคอร์มาก ฟังทีไรก็อยากลุกขึ้นมาประท้วงทุกที
ถ้าให้หลับตานึกภาพวันชาติฝรั่งเสส ภาพแรกที่จะโผล่ขึ้นมาในหัวก็คือภาพ ‘Liberty Leading People’ (La Liberté guidant le peuple) หรือแปลเป็นไทยว่า ‘เสรีภาพนำประชาชน” โดยเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ในปี 1830 ภาพขนาดใหญ่ประมาณ 2.6×3.2 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หรือถ้าใครฟังเพลงสากลบ่อยๆ ก็จะคุ้นตาว่านี่คือภาพปกอัลบั้ม Viva La Vida ของ Coldplay (ซึ่งเพลง ‘Viva La Vida’ เองก็พูดถึงอำนาจที่ถูกโค่นลงมาด้วยเช่นกัน) เป็นภาพวาดที่ทรงพลังมากขนาดว่าตอนฉันไปลูฟวร์ฉันเดินเลยผ่านรูปโมนาลิซาไปเพื่อดูรูปนี้ เอามือทาบอก สูดหายใจยาวๆ น้ำตาจะไหลปริ๊บๆ
แต่ แต่แต่แต่ ภาพ ‘Liberty Leading People’ ไม่ได้พูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสรอบแรกที่เอาพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ออกจากบัลลังก์! อ้าว!
เหตุการณ์ในภาพ ‘Liberty Leading People’ เป็นการโค่นเอาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ออกจากบัลลังก์แทน! อ้าววววววว! แล้วมันจะปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อนอะไรกันเยอะแยะ ชาร์ลส์ที่ 10 เป็นใคร ทำไมมีตัวละครใหม่เพิ่มมาอีกตัว แล้วไหนบอกว่าโค่นระบอบกษัตริย์ได้แล้วไง งงไปหมดแล้วเนี่ย
อะ ใจเย็นก่อน ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก การเมืองระส่ำระสายมาก มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปมาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นเผด็จการ แล้วก็มีจักรพรรดิอย่างนโปเลียน หลังจากนโปเลียนก็มีกษัตริย์โน่นนี่นั่นอีกเยอะแยะยุ่บยั่บิ
สรุปให้สั้นๆ แล้วกันว่า การปฏิวัติในรูปเกิดระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 1830
ในวันที่ 27 ประชาชนลุกฮือขึ้นมา (อีกครั้ง) เพื่อโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 น้องชายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในการประท้วงครั้งนี้มีทั้งคนจากทุกชนชั้น ไม่ว่าจะชนชั้นแรงงาน หรือชนชั้นกลางเอง ต่างลุกขึ้นมาโค่นอำนาจด้วยกัน
ในวันที่ 29 ประชาชนก็สามารถยึด Hôtel de Ville หรือศาลาว่าการประจำกรุงปารีสได้ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 หนีออกจากฝรั่งเศส และรัฐบาลชั่วคราวตอนนั้นก็ได้แต่งตั้งญาติห่างๆ ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 คือ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิปป์ เป็นกษัตริย์ (เอ้อ งงมั้ย ลุกขึ้นมาโค่นกษัตริย์แต่ได้กษัตริย์กลับมาอีกคน โอย เหนื่อยใจ บอกแล้วว่าการเมืองฝรั่งเศสยุคนี้ปวดหัว) ถ้าใครดูหนังเรื่อง Les Miserables ก็จะมีการปฏิวัติอีกครั้งในปี 1832 ห่างจากเหตุการณ์ในรูปแค่สองปี ซึ่งก็คือช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปป์ครองราชย์นั่นเอง
กลับมาที่รูปภาพ เล่าให้ฟังก่อนว่า เออแฌน เดอลาครัว ในตอนที่เกิดการปฏิวัติครั้งนั้น เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่หลังจากเกิดการประท้วง เออแฌนก็ลุกขึ้นมาเขียนรูปทันที อย่างที่เขากล่าวว่า
ถ้าหากฉันไม่ได้สู้เพื่อประเทศของฉัน อย่างน้อย ก็ขอให้ฉันได้วาดภาพชัยชนะของเธอ
รูปเสร็จสามเดือนหลังจากนั้น ปีเดียวกับเหตุการณ์ และในปีต่อมา รูปนี้ก็ได้จัดแสดงครั้งแรก และถูกซื้อไปโดยพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปป์ แต่เอาไปแขวนในวังได้ไม่นาน ก็ถูกปลดออก และส่งคืนให้ศิลปิน ก็แหงล่ะ วาดเกี่ยวกับการโค่นอำนาจของพวกตัวเอง แล้วยังจะเอามาวางไว้ในที่ที่คนในรูปมาโค่นอำนาจแบบนี้ ก็ตลกร้ายไปหน่อยมั้ง จนสุดท้ายรูปนี้ก็ได้ถูกส่งให้ลูฟวร์ในปี 1874
ถ้าคิดถึง ‘สัญลักษณ์ของฝรั่งเศส’ เราจะนึกถึงอะไร? หอไอเฟล? ครัวซองต์? ขนมปังบาแกตต์? ไวน์แดง? ผู้ชายใส่เสื้อลายทางขวางใส่หมวกเบเร่ต์? ผิดค่ะ ผิดหมด เพราะสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่จริงแล้วคือผู้หญิงชื่อ มารีแอนน์ ที่อยู่ในรูป ‘Liberty Leading People’ นี้นี่ล่ะ
แล้วมารีแอนน์คือใคร ลูกเต้าเหล่าใคร ทำงานอะไร? ทำไมนางสำคัญเหลือเกิน?
มารีแอนน์ความจริงแล้วไม่มีตัวตนจ้า! ผ่างผ่าง! แต่มารีแอนน์เป็นตัวแทนสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและเหตุผลต่างหาก ไอเดียนี้ได้มาจากสมัยเรอเนซองส์ที่มักจะใช้เทพทั้งหลายมาแทนสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น เทพเนปจูน แทนการเดินทางทางทะเล เทพแอร์เมสแทนการสื่อสาร เทพดีมิเตอร์แทนความอุดมสมบูรณ์ ส่วนมารีแอนน์เองก็เป็นคล้ายๆ เทพที่แทนอิสรภาพเช่นกัน แต่มารีแอนน์ไม่ได้มาจากสมัยกรีกโรมัน เธอถูกสร้างมาใหม่ ประวัติของเธอยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ บ้างก็ว่า ชื่อ ‘มารีแอนน์’ มาจากชื่อ ‘มารี’ และ ‘แอนน์’ ที่เป็นชื่อสุดโหลของผู้หญิงสมัยนั้น เอามาผสมกัน (ง่ายๆ งั้นเลย เออ แค่นั้น ถ้าเป็นไทยก็คงเหมือนเอาชื่อ ‘พลอย’ กับ ‘พิม’ มาผสมกัน เป็น ‘พลอยพิม’ หรือ ‘พิมพลอย’ อะไรแบบนี้)
บ้างก็ว่าเธอเป็นผู้หญิงที่คอยดูแลเหล่าผู้ประท้วงที่บาดเจ็บ ส่วนหมวกที่เธอสวม บ้างก็ว่ามาจากการปลดแอกของทาสในสมัยโรมัน เลยสื่อถึงเสรีภาพ มีการสันนิษฐานว่า การเปลือยอกของเธอสื่อถึงการให้นมของแม่ต่อประชาชน ไม่ให้ประชาชนหิวโหย มารีแอนน์จึงไม่ได้สื่อแค่ผู้หญิง แต่สื่อถึงความเป็นแม่ เป็นภรรยา และเป็นคนที่โดนกดขี่ด้วย
มารีแอนน์ในรูป ‘Liberty Leading People’ เป็นมารีแอนน์เวอร์ชั่นแรกๆ ที่ได้รับความนิยม และนำมาพัฒนาเป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส แม้แต่เทพีเสรีภาพก็ได้แรงบันดาลใจมาจากมารีแอนน์นี่ล่ะ
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของทุกคน
รูป ‘Liberty Leading People’ เป็นรูปที่ทำให้เห็นบรรยากาศการประท้วงที่ชัดเจนมาก เราจะเห็นว่าในรูป ไม่มีใครเป็นคนที่เฉพาะเจาะจงเลย นอกจากมารีแอนน์ ที่เป็นตัวแทนของอิสรภาพแล้ว เออแฌนวาดให้มีประชาชนที่ถูกกดขี่ทุกชนชั้นอยู่ในนั้น ตั้งแต่ชายหมวกดำแต่งตัวดูดีในชุดโค้ทสีดำ ถือปืนล่าสัตว์ เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางและชนชั้นสูง มีคนสันนิษฐานว่าชายคนนี้คือการที่เออแฌนเอาตัวเองใส่เข้าไปในภาพ แต่ก็ไม่มีการยืนยันใดๆ
ทางซ้ายมือของเขา มีชายในชุดคนงานถือดาบและเหน็บปืน เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงาน ข้างล่างมารีแอนน์ ชายในชุดสีน้ำเงินที่ตะเกียกตะกายจากกองศพ เป็นเหมือนตัวแทนคนงานจากชนบท และทางขวาของภาพ มีเด็กหนุ่มในเสื้อกั๊กที่ถือปืนทั้งสองมือเหมือนคาวบอย หมวกกำมะหยี่บนหัวเขาเป็นหมวกที่นักเรียนมักจะใส่กันในสมัยนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าเด็กคนนี้เป็นตัวแทนของนักเรียน และเป็นตัวแทนว่า การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น
ถ้าใครได้ดู Les Miserables จะนึกออกว่าในเรื่องมีเด็กคนนึงอยู่ ชื่อ กาฟโรช (Gavroche) อายุน้องยังน้อยๆ อยู่เลย มีคนสันนิษฐานว่าตัวละครตัวนั้นเอง วิคเตอร์ อูโก (Victor Hugo) ผู้เขียนก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กชายในรูปนี้นี่ล่ะ
ตอนฉันดูหนังเรื่องนั้น กาฟโรชเป็นตัวละครที่ฉันชอบมากที่สุดตัวนึง เพราะน้องก๋ากั่นมาก ทำให้เห็นเลยว่าสภาพสังคมมันบีบให้เด็กคนนึงโตกว่าที่ควรจะเป็นจริงๆ
ส่วนเหล่าคนที่นอนตายอยู่ข้างล่างภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าทหารหรือผู้ประท้วง ต่างก็เสียสละให้เหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น เป็นเหมือนฐานให้มารีแอนน์เดินหน้า ทหารที่นอนตายอยู่ทางขวา เป็นทหารรับจ้างจากสวิส เออแฌนพยายามแสดงให้เห็นว่า แม้แต่คนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครอง ยังกลายเป็นเหยื่อของอำนาจอันไม่เป็นธรรม
Do you hear the people sing? Singing a song of angry men?
ความจริง ถ้าใครอยากได้อารมณ์การประท้วงในตอนนั้น ก็ไปดู Les Miserables จะเก็ตฟีลมากๆ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปีไล่เลี่ยกันเลย เหตุการณ์ก็ต่อกัน ไม่ว่าจะสภาพสังคม การเมือง บรรยากาศปารีส ความผิดหวังที่การเปลี่ยนแปลงของตัวเองไม่ได้นำมาสู่อะไรที่ดีกว่า แล้วก็ต้องลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาหลายปี คืออารมณ์นี้เลย อุ้ย พูดแล้วคุ้นๆ เนอะ เหมือนเราก็ผ่านอะไรแบบนี้มาเหมือนกัน
ความโกรธแค้นที่นำมาสู่การยืนหยัดต่อสู้ การเสียสละ การลุกขึ้นสู้โดยไม่คิดชีวิตของประชาชนที่ถูกกดขี่ คือหัวใจหลักของอารมณ์ในภาพ เราจะเห็นจากมารีแอนน์ เทพีแห่งอิสรภาพ เธอถือธงสามสีไว้ในมือ หันหลังมองไปยังประชาชน ชุดสีเหลืองของเธอเหมือนกับผ้าที่เทพกรีกมักจะใส่ แต่ชุดที่ขาดวิ่นของเธอ ไม่ได้ทำให้เธอเกรงกลัวการก้าวไปข้างหน้า การเปลือยอกของเธอ เปรียบเสมือนรูปปั้น ‘The Winged Victory’ หรือ เทพีไนกี้ การวาดให้เธอหันข้าง เหมือนกับรูปปั้นกรีก หรือรูปในเหรียญ เป็นเทคนิคที่ทำให้เธอเป็นสัญลักษณ์มากยิ่งขึ้น แม้แต่แสงที่ส่องสว่างขัดกับกลุ่มควันด้านหลัง ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนรัศมี (halo) ที่มักจะใช้วาดเทพและนักบุญต่างๆ ในรูปสมัยก่อน
มารีแอนน์ในภาพ แม้ว่าจะถูกวาดให้เหมือนเทพ แต่เธอก็เป็นเทพที่เดินเคียงข้างประชาชน เธอจะเป็นใครก็ได้ หรือจะเป็นตัวแทนแห่งการรวมตัวของประชาชนก็ได้ เธอไม่ได้เป็นเพียงอิสรภาพ แต่เธอคือความหวัง ที่จะพาประชาชนชาวฝรั่งเศสทุกคนสู่อนาคตที่ดีกว่า
ในตอนจบของ Les Miserables มีท่อนนึงที่ร้องว่า
Some where beyond the barricade is there a world you long to see?
Do you hear the people sing. Say, do you hear the distant drums?
It is the future that they bring when tomorrow comes.ข้างหลังอุปสรรคกีดขวางเหล่านั้น มีโลกที่เธออยากเห็นอยู่ใช่มั้ย?
คุณได้ยินเสียงประชาชนร้องเพลงนั่นไหม คุณได้ยินเสียงกลองอันไกลหรือเปล่า
นั่นคืออนาคตที่เราจะนำมา เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง
หลายครั้งที่การประท้วงไม่เป็นผลสำเร็จเหมือนในหนังเรื่อง Les Miserables ที่เหล่าผู้ประท้วงตายกันเป็นเบือ หรือการประท้วงไม่ได้นำมาสู่สิ่งที่คาดหวังเอาไว้เหมือนกับการประท้วงในรูป แต่หัวใจสำคัญของการประท้วง คือความหวัง ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงปัจจุบันที่เป็นอยู่ ความหวังที่จะเห็นวันข้างหน้าที่ดีขึ้น และผู้คนเหล่านี้ยอมสละชีวิตตัวเองเพื่ออนาคต ไม่แปลกเลยที่ฝรั่งเศสจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและอิสรภาพของประชาชนขนาดนี้ เพราะเขาได้เห็นถึงความเสียสละของบรรพบุรุษมานักต่อนัก เพราะเขาผ่านประวัติศาสตร์เหล่านี้มา และความเสียสละเหล่านี้ จะต้องไม่เป็นเพียงประวัติศาสตร์
มองกลับมาที่ประเทศเรา เราเชื่อล่ะ ว่ามีทุกคนยังมีความหวังอยู่ ถึงจะไม่ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงกันแล้ว แต่เราก็เชื่อว่าทุกคนมีวิธีการต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมของตัวเอง อย่าเพิ่งยอมแพ้นะ เราเชื่อว่าอนาคตจะต้องดีแน่ๆ