เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ความหมายที่สองของ ‘บรรณารักษ์’ ที่มากไปกว่า ‘บุคคลที่รับผิดชอบในการบริหารและดำเนินงานในห้องสมุด’ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542) อาจทำให้จินตนาการได้ว่า บรรณารักษ์คือบุคคลหน้าตาจริงจัง เคร่งขรึม พร้อมเสมอที่จะกระแอมไอตักเตือนผู้ที่เดินเข้ามาในห้องสมุดแล้วส่งเสียง…แม้เพียงเล็กน้อย
บรรณารักษ์อาจเป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่ทำให้ห้องสมุดมีบรรยากาศเยือกเย็น วังเวง ดูคล้ายสถานที่ที่เต็มไปด้วยข้อบังคับ มากกว่าการแสดงท่าทีเป็นมิตร เชิญชวนให้เข้าไปใช้งานค้นหาความรู้จากคลังความรู้ที่สะสมอยู่ในรูปหนังสือจำนวนมาก
นอกจากความคิดเหมารวมที่ว่า บรรณารักษ์มักเป็นคนเย็นชานั้น บางคนอาจยังคิดและติดภาพเสมอว่า ภาระหน้าที่ของบรรณารักษ์เป็นแต่เพียงผู้ให้บริการยืม-คืนหนังสือ และนำหนังสือไปเก็บเรียงเข้าชั้นเท่านั้น
“หน้าที่ของบรรณารักษ์หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลักๆ คือการจัดหาทรัพยากรวัสดุสารสนเทศ และหน้าที่การให้บริการแก่ผู้เข้าใช้” คือคำตอบเบื้องต้นถึงหน้าที่บรรณิการณ์ของห้องสมุดดังกล่าว
บทบาทที่มากกว่าการยืม-คืนหนังสือ
เฉพาะทรัพยากรวัสดุสารสนเทศที่ แจ่มจันทร์ นพบุตรกานต์ หัวหน้าหอสมุดป๋วยฯ กล่าวถึง คือหนังสือในความดูแลทั้งภาษาไทยและต่างประเทศกว่า 290,000 เล่ม หนังสือและวารสาร e-book ทั้งที่ซื้อมาจากสำนักพิมพ์ จัดทำแสกนหนังสือบางเล่มและบางประเภทเข้าสู่ระบบออนไลน์ ควบรวมไปถึงการดูแลเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างโต๊ะ เก้าอี้ ห้องประชุม ฯลฯ ไม่นับรวมการต้องจัดทำนโยบายกฎกติกาต่างๆ ที่ต้องตามให้ทันปรากฏการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น กฎการจองโต๊ะอ่านหนังสือที่ห้ามวางสิ่งของจองไว้โดยที่ผู้จองไม่อยู่นานเกิน 30 นาที ฯลฯ
ในส่วนการให้บริการแก่ผู้เข้าใช้ คล้ายกับที่คนส่วนใหญ่รับรู้ คือการให้บริการยืม-คืนหนังสือ แต่นโยบายของที่นี่ต้องการผลักความเคยชินในการยืม-คืนหนังสือที่ให้บริการโดยบรรณารักษ์ไปสู่ระบบใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการยืม-คืนแทน
“บรรณารักษ์ส่วนที่ให้บริการ เราจะเน้นให้บริการด้านเป็นผู้ช่วยตอบคำถามกับผู้ใช้ เรื่องการช่วยค้นหาหนังสือ แนะนำการสืบค้นในฐานข้อมูลออนไลน์ หรือค้นหาเฉพาะฐานแต่ละประเภท แนะนำเครื่องมือช่วยทำวิจัยหรือทำบรรณานุกรม แนะนำเครื่องมือในการสืบค้นหาวิทยานิพนธ์ออนไลน์ มีบรรณารักษ์ส่วนหนึ่งที่ดูเรื่องปัญหาการยืม-คืน เพราะห้องสมุดมีระบบการยืม-คืนจากเครื่องอัตโนมัติแล้ว เราอยากให้บรรณารักษ์เป็นเพียงผู้ช่วยตอบคำถามด้านการให้บริการเท่านั้น”
ภาระของ ‘งานบริการ’ ที่แจ่มจันทร์เลือกใช้มาเพื่ออธิบายความหมายของอาชีพบรรณารักษ์ มองให้ลึกไปกว่านั้น เธออธิบายว่าทักษะความรู้ที่บรรณารักษ์ควรมี ส่วนหนึ่งนั้นไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจในประเภทของหนังสือ แต่ต้องเข้าใจศาสตร์การบรรณารักษ์ด้วย
“หลายคนถามว่าจะเป็นบรรณารักษ์ต้องจบสาขาบรรณารักษ์หรือสาขาสารสนเทศหรือเปล่า เพราะดูเหมือนเป็นการบริการที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก เราไม่มีคำตอบตายตัวว่าบรรณารักษ์จำเป็นที่จะต้องเรียนสายตรงมาเลยหรือเปล่า แต่การบรรณารักษ์เป็นสายวิชาชีพ ที่ต้องการความรู้ความเข้าใจและทักษะในเรื่องการบริหารทรัพยากรที่เป็นเทคนิคเฉพาะทางเหมือนกัน แต่ก็ไม่เสมอไป บางคนที่จบสายวิชาอื่นก็ทำได้และอาจทำได้ดีกว่า”
เธอให้ความเห็นว่า บางคนที่จบสายอื่นมาก็อาจทำได้ดีและรู้จักประเภทของหนังสือลึกซึ้งกว่า และเพราะเป็นงานด้านบริการที่ต้องตอบคำถามและให้คำแนะนำต่อผู้ใช้บริการเรื่องประเภทหนังสือ ผู้ที่จบเฉพาะทางสาขาอื่นๆ เช่น นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วารสารศาสตร์ ก็อาจให้คำแนะนำในเรื่องเฉพาะด้านได้มากกว่าด้วย
“ห้องสมุดแต่ละที่มีบุคลิกที่แตกต่างและเป็นของตัวเอง หน้าที่งานบรรณารักษ์ที่หนึ่ง อาจไม่เหมือนกับเนื้องานอีกที่หนึ่ง”
ปัจจัยเรื่องขนาดความใหญ่เล็กของห้องสมุดเป็นปัจจัยสำคัญ ห้องสมุดป๋วยฯ ที่เธอทำงานอยู่ หน้าที่งานจะแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายชัดเจน เช่น ผู้ที่ดูแลเรื่องข้อมูลจัดหาทรัพยากร ผู้จัดเรียงให้บริการ ผู้ที่ดูแลทำฐานข้อมูลและให้บริการตอบคำถามแก่ผู้เข้าใช้ ฯลฯ แต่ทฤษฎีการแบ่งงานกันทำเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้กับห้องสมุดขนาดเล็ก
“ในห้องสมุดขนาดเล็ก บรรณารักษ์คนหนึ่งอาจเป็นทั้งผู้ให้บริการยืม-คืน เป็นผู้จัดเรียง เป็นผู้ทำข้อมูลคำค้นหนังสือ คนหนึ่งอาจเป็นหลายอย่าง เพราะฉะนั้นความแตกต่างหน้าที่ก็อาจขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละที่ด้วย” แต่สิ่งที่เธอคิดว่าบรรณารักษ์ต้องมีเหมือนกันในห้องสมุดยุคใหม่คือ ‘หัวใจของการให้บริการ’
“เราจะเห็นว่าหน่วยงานราชการทุกวันนี้ปรับตัวค่อนข้างมาก ห้องสมุดและอาชีพบรรณารักษ์ ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ และทำงานใน section ไหน สุดท้ายแล้วหน้าที่หลักก็คือการให้บริการแก่ลูกค้า แก่คนที่มาใช้บริการ”
ในคำว่า ‘บริการ’ ที่เธอพูดถึงนั้น ยังมีการบริการที่ลึกและอยู่เบื้องหลังเคาน์เตอร์ยืม-คืนหนังสือมากขึ้นไปอีก นั่นคือการดูแลบริหารหนังสือกว่า 290,000 เล่ม
“ในสำนักหอสมุด มธ. เรามีงานบริการหนึ่งที่เรียกว่า Book Delivery ที่จะจัดส่งหนังสือระหว่างห้องสมุดในสังกัดของสำนักหอสมุด มธ. ที่มีหลักๆ ห้าแห่ง ซึ่งบริการนี้ ทำให้หนังสือไหลเวียนไปได้เรื่อยๆ มีคนที่เรียกหยิบยืมหนังสือไปใช้วนอยู่ตลอด ทำให้หนังสือมีคนเรียกใช้ตลอด แต่จะมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่ไม่ถูกเรียกใช้นานๆ ก็มีการสำรวจชั้นหนังสือแล้วเรียกเก็บหนังสือไปเก็บไว้ที่ห้องสมุดรังสิต ห้องสมุดนี้จะเป็นที่เก็บหนังสือที่ไม่ถูกเรียกใช้เป็นเวลานาน แต่ฐานข้อมูลหนังสือยังคงอยู่ในระบบ ถ้ามีผู้เรียกใช้ก็จะจัดส่งด้วยบริการ Book Delivery ได้”
ด้วยความที่ห้องสมุดจะมีนักศึกษาคอยใช้งานหนังสืออยู่เป็นจำนวนมากและตลอดเวลา ทำให้หนังสือแต่ละเล่มจะถูกหยิบยืมอยู่เสมอ การตรวจสอบหาหนังสือชำรุดก็จะตรวจสอบในช่วงเวลายืมคืนของนักศึกษา
“เวลาที่นักศึกษาเอาหนังสือมายืมหรือคืน หรือเวลาที่บรรณารักษ์จัดเรียงหนังสือเข้าชั้น จังหวะเวลานี้ก็จะเป็นช่วงที่เราได้สอดส่องหาหนังสือที่ชำรุด หากชำรุดไม่มากเราก็จะจัดซ่อมกันเอง แต่ถ้ามีเล่มที่ชำรุดมากๆ เราก็จะจัดส่งเข้าแผนกซ่อมหนังสือ” เธออธิบายเพิ่มเติมว่านี่เป็นทักษะที่บรรณารักษ์แทบทุกคนจะมีติดตัว
ผู้คัดเลือกหนังสือ
“ส่วนใหญ่แล้วรายชื่อหนังสือจะถูกเสนอซื้อมาจากอาจารย์ อาจจะมีร้านค้าเสนอหนังสือไปที่อาจารย์ จากนั้นอาจารย์จะเป็นผู้คัดเลือกและเสนอกลับมาทางห้องสมุดอีกทีหนึ่ง นอกจากนั้นเราจะได้รับรายชื่อหนังสือหรือแคตาล็อกมาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยจะมีหน่วยงานที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือใหม่ที่น่าสนใจให้กับห้องสมุดในสังกัดของ มธ. ทั้ง 11 แห่งด้วย เราก็จะส่งแคตาล็อกจากหน่วยงานนี้ไปให้อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ เป็นผู้สั่งซื้ออีกทีหนึ่ง”
นอกจากอาจารย์ผู้ออกแบบหลักสูตรและกำหนดเนื้อหาในแต่ละวิชาจะเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ช่วยเสนอเลือกหนังสือตามสาขาวิชาการต่างๆ เข้าห้องสมุดแล้ว ในฐานะผู้ใช้งานส่วนใหญ่ นักศึกษาก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กำหนดหนังสือในห้องสมุดด้วย
“เราจะมีช่องทางเสนอซื้อในเว็บไซต์ห้องสมุด ส่วนใหญ่นักศึกษาจะสั่งซื้อเข้ามาที่ช่องทางนี้ นอกจากนั้นอาจเสนอซื้อผ่านเพจเฟซบุ๊ค ช่องทางอีเมล หรือแม้กระทั่งบอกโดยตรงผ่านบรรณารักษ์ก็ได้”
หนังสือที่เสนอซื้อผ่านอาจารย์จะมีน้ำหนักกว่าการเสนอผ่านเสียงของนักศึกษาไหม?
“หลักการพิจารณาคือ ถ้าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนและยังไม่เคยมีในห้องสมุด เราก็ติดต่อซื้อให้” นอกจากนั้นทางห้องสมุดยังมีกิจกรรมที่ชักชวนนักศึกษาไปร่วมคัดเลือกหนังสือใหม่ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ดำเนินการติดต่อมาจากเมื่อสองปีก่อน
การสั่งซื้อหนังสือที่สำนักหอสมุดป๋วยฯ ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากตามความหมายโดยนัยของคลังหนังสือที่เรียกว่า ‘ห้องสมุด’ ที่ให้ความรู้สึกถึงพิธีรีตองและขั้นตอนหลายชั้นตามระบบงานข้าราชการ
“การพิจารณาสั่งซื้อของหอสมุดไม่ได้ต้องรอเวลาสั่งซื้อเป็นรอบๆ เช่น ต้องเสนอและสั่งซื้อในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน หรือมีช่วงเวลาจำกัด หากมีอาจารย์หรือนักศึกษาเสนอมา และเราพิจารณาว่าเป็นหนังสือที่ไม่เคยมีมาก่อน หากเป็นหนังสือเรียน แล้วอยู่ในสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรม ถ้าเราเห็นว่าไม่เคยมีหนังสือมาก่อน เราก็พิจารณาสั่งซื้อหนังสือได้เลย”
ที่ว่าการพิจารณาต้องให้เข้าข่ายสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น ก็เพื่อให้สอดรับกับวิทยาเขตศูนย์รังสิต ที่คณะส่วนใหญ่เป็นสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และถึงแม้ว่าหอสมุดป๋วยฯ จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้และสมัครเป็นสมาชิกได้ แต่โควตาการเสนอซื้อหนังสือก็สงวนไว้ให้แก่อาจารย์และนักศึกษาเท่านั้น
ลายแทงในห้องสมุด
หน้าที่ด้านการบริการเบื้องหลังอีกส่วนหนึ่งคือการลงรหัสและจัดทำเข้าทำระบบสืบค้นออนไลน์
“พอเราได้หนังสือมาแล้ว เราก็จะส่งไปให้หน่วยงานนำข้อมูลหนังสือเข้าไปอยู่ในระบบ จัดทำรหัสและคำค้นเพื่อที่จะให้ผู้ใช้เข้าถึงหนังสือได้ว่าตอนนี้หนังสืออยู่ที่จุดไหน ยังอยู่ที่ชั้นวางหนังสือหรือเปล่า ในเรื่องการจัดทำคำค้นก็จะมีหลักการอยู่ด้วย เพราะบางครั้งผู้ใช้ไม่ทราบชื่อหนังสือหรือผู้แต่ง แต่จะค้นหาหนังสือจากคำที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น เป็นหนังสือเกี่ยวกับโปรแกรม Photoshop เราก็อาจระบุคำค้นว่า Photoshop และคำว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก
หรืออีกกรณีหนึ่งคือเลือกใช้ key word หรือคำที่ผู้ใช้คุ้นเคยหรือใช้คำนี้อยู่บ่อยๆ แต่คำนั้นอาจไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นๆ เช่น คำว่าโรคเอดส์ ในหนังสืออาจไม่ได้ใช้คำว่าโรคเอดส์ เขาใช้คำว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในขั้นตอนการทำคำค้น เราก็จะใส่คำนี้ลงไปด้วย เพื่อสะดวกแก่การค้นหาให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่าย”
ห้องสมุดในยุคดิจิตอล
“ขณะนี้เรามีความตั้งใจอยากจะให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องเข้ามาที่ห้องสมุด ไม่ว่าอยู่ที่ตรงไหนก็ยืมหนังสือในห้องสมุดไปอ่านได้ การเข้าถึงจะง่ายและกว้างกว่า โดยที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และมันจะแก้ปัญหาเรื่องหนังสือไม่เพียงพอ เพราะไม่จำเป็นต้องรอยืมต่อจากใคร”
เพราะไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะมีจำนวนปกที่มาเทียมกัน การพิจารณาสั่งจำนวนหนังสือแต่ละเรื่องจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาต่อคลาส ซึ่งขึ้นอยู่กับการแจ้งรายละเอียดของอาจารย์แต่ละวิชาด้วย
“หนังสือหนึ่งปกจะสั่งกี่เล่มจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่สั่งด้วยว่า สั่งเพื่อเป็นหนังสือประกอบการสอนวิชาอะไร มีนักศึกษาในคลาสกี่คน เช่น ถ้าเป็นวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาต้องเรียนทุกคน ก็จะสั่งในปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นคลาสเล็กๆ ก็อาจจะสั่งน้อยหน่อย ซึ่งถ้าทำเป็นหนังสือ e-book ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงหนังสือได้พร้อมๆ กัน”
แต่การสั่งหนังสือ e-book นั้น ขึ้นกับนโยบายของสำนักพิมพ์นั้นๆ ด้วยว่า มี e-book ขายหรือไม่ ซึ่งสำนักพิมพ์ที่เสนอขาย e-book ส่วนมากเป็นเป็นหนังสือต่างประเทศ
“อีกส่วนหนึ่งจะเป็น e-book ที่เราทำเอง คือหนังสือชุดอนุสรณ์งานศพ เพราะเราคิดว่ามันเป็นหนังสือแนวที่แปลกใหม่ที่ต่างประเทศไม่มีหนังสือประเภทนี้ ซึ่งมันจะเป็นตัวสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง นอกจากนี้หนังสือประเภท e-book จะเป็นวารสารที่จะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพราะตัวนิตยสารเองเริ่มเสนอขายเป็น e-book กับเรามากขึ้นด้วย”
หนังสืออีกประเภทที่ขณะนี้หอสมุดป๋วยฯ ได้จัดทำเป็นสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ คือหนังสือประเภทวิทยานิพนธ์ “เราคิดว่าหนังสือวิทยานิพนธ์จำเป็นที่ต้องอยู่ในช่องทางที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะนี้เราเปิดเนื้อหาเป็นสาธารณะ (public) หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์หรือสมาชิกก็เข้าถึงได้ และวิทยานิพนธ์เป็นฐานข้อมูลสำคัญที่นักศึกษาต้องใช้ประกอบการทำวิทยานิพนธ์ของเด็กทุกรุ่น การทำเป็นสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะเอื้อให้การทำงานสะดวกขึ้น”
ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่เข้าถึงได้ง่ายเท่านั้น วิทยานิพนธ์ออนไลน์ยังมีความสำคัญต่อนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือบุคคลใดๆ ที่ต้องการเข้าถึงความรู้ได้โดยง่ายและรวดเร็ว การทำวิทยานิพนธ์ให้เป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์จึงถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้
“ที่วิทยานิพนธ์ถูกทำให้เป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์ได้ทั้งหมดก็เพราะวิทยาพนธ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเอง จึงทำให้สามารถทำได้โดยไม่ติดลิขสิทธิ์”
นอกจากความต้องการที่จะเพิ่มศักยภาพและผลักดันข้อมูลให้อยู่ในรูปหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น การบริการส่วนอื่นๆ ก็อยากจะลดภาระงานของบรรณารักษ์ให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการออนไลน์มากขึ้นด้วย
“เราออกแบบระบบหลายๆ อย่างเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการตัวเองได้ เช่น การสืบค้นข้อมูลออนไลน์ การยืม-คืนออนไลน์ โดยที่เราเป็นผู้สนับสนุนด้านการแนะนำ สนับสนุนบริการจัดหาทรัพยากรให้กับผู้ใช้มากกว่า”
ห้องสมุดที่ไม่เงียบ
หากได้เคยมีโอกาสเดินเข้าไปที่หอสมุดป๋วยฯ ย่อมสัมผัสได้ถึงความอลเวงที่ห่างไกลจากวาทกรรมความเป็น ‘ห้องสมุด’
เรื่องที่ว่าห้องสมุด ‘ต้องเงียบ’ ต้องเป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการที่เคร่งขรึมจริงจัง มีบรรณารักษ์ที่คอยส่งเสียง ‘ชู่ว!’ ส่งเสียงลมเล็กยาวที่ให้ความรู้สึกต่อผู้ฟังว่าจะถูกกำราบอยู่ตลอดเวลา
“ห้องสมุดแต่ละแห่งก็มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ที่นี่เราพยายามทำห้องสมุดให้เป็นสถานที่ที่เข้ามาค้นคว้าหาความรู้ ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงความรู้ในหนังสือ แต่อาจเป็นที่ประชุม ที่นั่งคุยงาน เข้ามาตากแอร์ หรือทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ห้องสมุดป๋วยไม่ใช่ห้องสมุดในความหมายที่ทุกคนต้องเงียบ มีบรรณารักษ์ดุๆ ตลอดเวลา”
หอสมุดป๋วยฯ แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็นหลายระดับ มีโซนเงียบที่เอาไว้อ่านหนังสือท่องตำราที่กันไว้เป็นโซนเงียบจริงๆ มีพื้นที่อีกโซนที่เอาไว้ทำการบ้าน ประชุมงานกลุ่ม เป็นพื้นที่ที่อนุญาตใช้เสียงได้ในระดับหนึ่งและนำอาหารเข้ามารับประทานได้ มีส่วนที่สร้างไว้สำหรับเป็นห้องประชุม ที่ที่รองรับกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น มีอุปกรณ์กระดานไวท์บอร์ด มีโต๊ะยาวประชุมงานได้ เป็นต้น โดยพื้นที่ที่ทำกิจกรรมรวมและใช้เสียงได้ โดยโซนเงียบสำหรับท่องหนังสือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด เพราะกินพื้นที่ชั้น 2 และ 3 ของตัวอาคาร
“ความฝันของบรรณารักษ์คือเวลาที่ผู้ใช้อยากได้อะไรแล้วระบบเรามีบริการ รองรับได้ทุกอย่าง อยากให้ห้องสมุดเป็นที่รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศ มีทรัพยากรทางตัวหนังสือ ทรัพยากรความรู้ต่างๆ ที่สามารถให้บริการผู้ใช้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (ขำ) เพราะรู้ว่าอย่างไรก็ตามมันมีขีดจำกัดในตัวของมันเองอยู่แล้ว เราไม่สามารถหาอะไรก็ตามที่ผู้ใช้ต้องการได้ทุกอย่าง”
อีกสิ่งหนึ่งที่บรรณารักษ์แห่งหอสมุดป๋วยฯ อยากให้มีก็คือ บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ไม่มีภาพความขึ้งเครียดของงานวิชาการ เป็นที่ที่ใครก็ได้มานั่งอ่านหนังสือ ผ่อนคลาย หรือแม้กระทั่งเพื่อความบันเทิงอย่างการดูหนังฟังเพลงที่ห้องสมุด
“ไม่อยากให้คนคิดภาพว่ามาห้องสมุดแล้วต้องเจอกับบรรณารักษ์ขรึมๆ เครียดๆ อยากให้เห็นว่าเป็นแค่ผู้ที่ให้บริการคนหนึ่ง”
บรรณารักษ์แต่ละที่อาจมีบุคลิกและเสน่ห์ที่แตกต่างกัน สำคัญที่บรรณารักษ์อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการยืมและคืนหนังสือเท่านั้น แต่เนื้องานที่อยู่เบื้องหลังเคาน์เตอร์อาจเป็นผู้ให้บริการที่มีกำหนดการมองโลกผ่านการคัดเลือกหนังสือของผู้ใช้บริการได้ เป็นตัวแปรในการสร้างบรรยากาศความเป็นมิตรระหว่างผู้ใช้บริการได้ และอาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการอ่านและเข้าถึงข้อมูลหนังสือในโลกอนาคตก็เป็นได้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร PAPER ฉบับที่ 1 / กรกฎาคม 2559