เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว: ฟ้าผ่าในห้องไอซียู เมื่อ ‘เอสเอ็มอี’ เจ๊ง และรัฐบาลถังแตก

โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลมหายใจของเศรษฐกิจไทย คงไม่ต่างไปจากทุกประเทศทั่วโลกที่ถูก ‘โควิด-19’ เขย่าจนสั่นสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้า

แม้ว่า ‘ประเทศไทย’ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโรคระบาดได้รวดเร็วเป็นลำดับต้นๆ หากแต่ในมิติของเศรษฐกิจนั้น ดูจะรวยรินเต็มทน

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แล้ว เขาได้จำกัดความเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่า ตกอยู่ในสภาพ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด”

เศรษฐกิจไทย จากร้อยเหลือ 18 บาท!?

ย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อน ต้องยอมรับถึงความจริงประการหนึ่ง นั่นคือตัวเลข ‘การส่งออก’ ไม่ดีสักเท่าใด ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งก็ไม่สู้ดีนัก ฉะนั้นคล้ายกับว่าประเทศไทยมีอาการป่วยมาก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการพูดถึง ‘ยุค 4.0’ ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมาโดยตลอด หากแต่จนถึงวันนี้เราก็ไม่ได้เปลี่ยนให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่าเราต้องแบกกรรมเก่าอยู่ 2 ก้อน 1. ส่งออกไม่ได้ 2. โครงสร้างเศรษฐกิจยังเป็นแบบ 3.0 ซึ่งไม่เอื้อต่อการแข่งขัน

“พอโควิดเข้ามาเป็นก้อนที่ 3 มันเลยทุบเศรษฐกิจแรงมาก เหมือนคนที่ป่วยอยู่แล้ว พอติดเชื้อซ้ำก็เจ็บหนักกว่าคนอื่น” ดร.เกียรติอนันต์ ระบุ

อาจารย์เกียรติอนันต์ อธิบายต่อไปว่า ในอดีต ถึงแม้จะส่งออกไม่ได้แต่ก็ยังมีภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยได้ หรือส่งออกไม่ได้แต่ก็ยังพอมีรายได้จากรัฐเข้ามาบ้าง คนในประเทศช่วยซื้อของบ้าง มีการลงทุนบ้าง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นการหยุดโลก หยุดการค้า หยุดการเดินทาง หยุดการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นการหยุดทุกอย่างและบังคับให้ทุกประเทศพึ่งตนเอง

“ต้องเข้าใจว่า 100 บาท ที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยนั้น 70 บาท มาจากเงินข้างนอก แต่ตอนนี้ 70 บาทนั้นหายไป เราเลยต้องอยู่ให้ได้ด้วย 30 บาทที่เหลือ แต่ตอนนี้ 30 บาทที่ว่านั่นก็ไม่เหลือ เพราะประชาชนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เพราะฉะนั้นจาก 30 บาทที่เหลืออยู่ เราถูกหักไปอีก 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 12 บาท ก็เลยกลายเป็นว่าจากเศรษฐกิจประเทศที่เคยหมุนด้วยเงิน 100 บาท ตอนนี้หมุนแค่เงิน 18 บาทเท่านั้น” นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ เทียบเคียงให้เห็นภาพ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากพิจารณาการประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยิ่งชัดเจนว่าประเทศไทยจะต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ ‘เจ็บปวด’ เพราะเดิมคาดกันไว้ว่าในปีนี้ จีดีพีจะติดลบ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะติดลบเพิ่มเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุดไปถึง 8 เปอร์เซ็นต์แล้ว

“นี่เป็นการติดลบที่สูงมาก เป็นการติดลบที่ป่วยหนักมานาน ซึ่งจะลากเศรษฐกิจไทยเข้าไปห้องไอซียู นี่คือสภาพที่เราจะเจอ” ดร.เกียรติอนันต์ ยืนยันความจริง

ในเวลาที่เราเจอสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ คำถามคือ แล้วจะเจอผลกระทบอย่างไรบ้าง?

นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จำแนกผลกระทบที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 กลุ่ม คือผลกระทบต่อประชาชน ต่อภาคธุรกิจ และต่อรัฐบาล โดยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน

เริ่มจาก ‘ภาคธุรกิจ’ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในฐานะแหล่งรายได้ หากมองเป็นรายภาคจะพบว่าภาคส่งออกที่ว่าลำบากแล้ว ภาคบริการ-ภาคท่องเที่ยว ยิ่งลำบากกว่า เพราะเราไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์

‘เอสเอ็มอี’ เจ๊ง รัฐบาลถังแตก

“ที่น่าห่วงคือเราไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนที่จะเปิดประเทศได้อีกครั้ง จะพึ่งคนในประเทศเที่ยวกันเอง คนในประเทศก็โดนล็อคดาวน์จนตกงานเหมือนกัน จากตัวเลขหลายๆ แหล่งพบว่ามีคนตกงานราว 8-10 ล้านคนแล้ว

“ถึงคนจะเที่ยวก็เที่ยวแบบไม่ยาวเหมือนก่อน เที่ยวแล้วไม่จ่ายเยอะ พอภาคท่องเที่ยวลำบากปุ๊บก็โยงไปถึงร้านค้าปลีก ค้าส่ง ภาคเกษตร ร้านค้าในเมือง ทุกแห่งเงียบหมด เชียงใหม่ตอนนี้กลายเป็นเมืองร้าง นี่คือภาพของภาคเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวที่มีปัญหา” อาจารย์เกียรติอนันต์ อธิบาย

เขาอธิบายต่อไปว่า เมื่อพิจารณา ‘ขนาดของธุรกิจ’ จะพบว่าธุรกิจใหญ่ที่มีสายป่านยาว มีเงินสะสมเยอะ ก็ยังพอประคับประคองตัวเองไปได้ หรือถ้าเขาลำบากจริงๆ ก็ยังสามารถขอกู้เงินจากธนาคารได้ง่าย

ทว่า ในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะไซส์เอส (ขนาดเล็ก) ปกติเขาจะมีเงินสดอยู่ในมือถืออยู่ได้ประมาณ 45-60 วัน แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ที่ 90 วัน ไม่มีเงินเข้ามาเลย ธุรกิจพวกนี้จะล้มลง

“แล้วกลุ่มธุรกิจพวกนี้จะมีการจ้างงาน 30 เปอร์เซ็นต์ จากคนในประเทศ คนก็จะตกงานมากขึ้น เป็นภาพที่ว่าธุรกิจแย่ไปหมดทุกหย่อมหญ้า และที่บอกว่า 18 บาทที่เหลือ คนก็ไม่ได้ใช้จ่าย 18 บาทนะ คนจะคิดมากขึ้น คือจะใช้จ่ายแค่ 8 บาท เก็บไว้ 10 บาท เศรษฐกิจมันเลยหมุนช้าลงๆ น้อยลงๆ พอภาคธุรกิจที่มีจำนวนถึง 3 ล้านรายในประเทศไทย ต้องมาแย่งเงินที่เหลืออีกแค่ 10 บาทเนี่ย ก็เลยมีการฟาดฟันที่ดุเดือดมาก” ดร.เกียรติอนันต์ ให้ภาพความเชื่อมโยง

ประเด็นก็คือ เมื่อธุรกิจกำลังจะตาย ทุกอย่างก็จะวิ่งกลับมายังภาครัฐว่ามีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ดร.เกียรติอนันต์ บอกว่า มาตรการช่วยเหลือในขณะนี้จำเป็นต้องช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็ต้องให้เงินเขาก่อน จะ 3,000 บาท 5,000 บาท หรือเท่าไรก็ว่ากันไป แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเงินพวกนี้พอใส่เข้าไปแล้วมันไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ภาครัฐทันที

ประเด็นต่อมาก็คือเงินที่รัฐบาลเอามาช่วยเหลือนั้นมาจากไหน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจาก ‘ภาษี’ แต่เมื่อธุรกิจล้มหายตายจาก คนไม่มีรายได้ ส่งออกไม่ได้ ท่องเที่ยวไม่ได้ ภาษีก็ไม่เข้ารัฐ

“ตอนนี้รัฐบาลเลยต้องนำเงินสำรองออกมาใช้จนหมด แล้วก็ต้องกู้ ไม่มีทางเลือก มันต้องกู้ แต่ภาระหนี้ก้อนนี้จะถูกวางลงในประเทศไทยที่ธุรกิจง่อนแง่น ประชาชนกำลังลำบาก เงินชักหน้าไม่ถึงหลัง และรัฐบาลเองก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาเสริม

“ผมว่ายังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ อิทธิฤทธิ์ของโควิด-19 ก็ยังไม่จบ เมื่อยังไม่จบก็ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นอีก จีนจะกลับมาระบาดไหม ญี่ปุ่นมีไหม พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร การค้าการขายจะเหมือนเดิมไหม คนจะได้ไปเที่ยวเหมือนเดิมรึเปล่า ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย” อาจารย์เกียรติอนันต์ ทิ้งประเด็น

เหมือนฟ้าผ่าในห้อง ‘ไอซียู’

ว่ากันตามที่ ‘ดร.เกียรติอนันต์’ ว่า ขณะนี้อิทธิฤทธิ์ของโควิด-19 ยังไม่จบ นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่จะเกิดกรณีผีซ้ำด้ำพลอย และอาจรุนแรงถึงเกิดการระบาด ‘ระลอก 2’ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินตรงกันว่า หากเกิดขึ้นจริง สถานการณ์จะรุนแรงเกินจินตนาการ

“ถ้าเจอระลอกสองเหมือนคนอยู่ในห้องไอซียูแล้วโดนฟ้าผ่า ถ้าไม่แข็งแรงจริงๆ หรือหมอไม่เก่งจริงๆ ต้องอาศัยบุญเก่าถึงจะรอด”

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ จำกัดความ และว่า หากเกิดการระบาดระลอก 2 จนถึงขั้นมีการล็อคดาวน์ปิดบ้านปิดเมืองอีกครั้ง ประเทศเราจะจบสิ้นทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

“เรื่องสุขภาพกับเศรษฐกิจมันไม่ใช่เรื่องที่แยกจากกันได้ ครั้งแรกเราบอกว่าต้องเก็บคนเอาไว้ก่อน ถ้าคนไม่ตายก็หาเงินใหม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงคือถ้าเศรษฐกิจแย่ คนก็อดตายอยู่ดี ฉะนั้นผมคิดว่าหากเกิดระลอก 2 อาจไม่มีการล็อคดาวน์แบบเดิม

“อาจจะล็อคดาวน์เต็มที่สัก 15 วัน มีเงินเอามาช่วย แต่ในความจริงธุรกิจคงรับไม่ไหว เราเห็นจากเคสจังหวัดระยอง ที่กำลังจะฟื้นตัว แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่คนไม่น่ารักสองสามคนทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา ถามว่ามันกระทบขนาดไหน นั่นแค่ระยองที่เดียว ถามต่อว่าถ้ามันเป็นทั้งประเทศพร้อมกันอีกรอบ แล้วเราจะรอดกันอย่างไร นี่เป็นคำถามที่สำคัญ” ดร.เกียรติอนันต์ ระบุ

‘พลังการเลือก’ กลับไปอยู่ที่ลูกค้า

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่กลายมาเป็น New Normal ในยุคโควิด-19 แพร่ระบาด หากมองผ่านแว่นของอาจารย์เกียรติอนันต์แล้ว เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ ‘ปรากฏการณ์ชั่วคราว’ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘ความปกติใหม่’ ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง

“การมี Social Distancing มันไม่ใช่ New Normal ที่แท้จริง เพราะเมื่อใดที่มีวัคซีน คนก็จะกลับมากอดกัน นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะอยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อปลอดภัยคนจะกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น Social Distancing จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว

“นิวนอร์มอลที่แท้จริงมันซ่อนอยู่ข้างหลัง คือการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น สถานการณ์บังคับให้เราวิ่งเข้าสู่ 4.0 หรือที่เรียกว่า disruption ตอนนี้ขายของไม่ได้ ต้องปิดหน้าร้าน ต้องใช้ไลน์ให้เป็น ทุกคนถูกบังคับให้ดิจิตอลเข้ามาเป็นวิถีชีวิต โดยเฉพาะภาคธุรกิจ มันทำให้เกิด Digital Transformation เร็วกว่าที่ควร” ดร.เกียรติอนันต์ ระบุ

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อดิจิตอลเข้ามามีอิทธิพลในภาคธุรกิจมากขึ้น จะทำให้พลังในการเลือกจะกลับไปสู่ลูกค้า เมื่อก่อนเราไม่มีทางเลือก ป้าหน้าบ้านจะบูดบึ้งอย่างไรเราก็ต้องกินของเขา เราจะไม่ทะเลาะกับป้า ทั้งที่กะเพราของป้าอาจจะไม่อร่อยที่สุด

ทว่า ตอนนี้เรามีดิจิตอลอยู่ในมือ มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถสั่งอาหารได้ เราสามารถสั่งกะเพราจากสมุทรปราการมากินได้โดยที่ไม่ต้องง้อป้า คู่แข่งป้าก็จะไม่ใช่ร้านอาหารที่อยู่รอบตัว แต่คือกลุ่มธุรกิจเดียวกันทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น แล้วลูกค้าก็จะมีสิทธิเลือกมากขึ้น ช่วงโควิดเป็นคอร์สภาคบังคับที่เราต้องเสิร์ชตลอดเวลา วันนี้จะกินอะไรดี วันนี้จะสั่งอะไรดี ลูกค้าเริ่มเห็นความสำคัญของการลำดับข้อมูล อำนาจการเลือกจะไปอยู่กับลูกค้า ลูกค้าก็จะเลือกมากขึ้น ธุรกิจที่ไม่ดีก็จะตายเร็ว ธุรกิจที่ดีที่คุ้มค่าต่อราคาก็จะไปต่อได้ ลูกค้าเป็นคนคัดสรร

“มันเป็นประชาธิปไตยในการเลือก ไม่ใช่การเลือกทางการเมือง แต่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีสิทธิเลือกข้อมูลที่ครบถ้วนขึ้น ธุรกิจก็ต้องปรับตัว เมื่อก่อนเราบอกว่าแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันอาจไม่สำคัญกับสินค้าบางอย่างแล้ว”

โศกนาฏกรรมจากการผลิตซ้ำ

“มีผู้ประกอบการหลายรายที่เติบโตด้วยการไม่มีแบรนด์ แต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าตัวเองมีคุณภาพ ฉะนั้นมันจะเป็นธุรกิจสองโลก โลกของทุนเก่าหรือแบรนด์จะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ กับโลกที่เกิดขึ้นใหม่ ที่วัดจากความคุ้มค่าของเงิน ฉะนั้นธุรกิจจะต้องปรับตัวตรงนี้และต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารให้ดียิ่งกว่าเดิม” นักเศรษฐศาสตร์ ขมวดประเด็น

สำหรับธุรกิจในอนาคต อาจารย์เกียรติอนันต์มองว่า ไม่ใช่เพียงแค่ขายเก่ง หรือวางคอนเทนต์เป็นแล้วจะขายของได้ แต่จะต้องมี ‘ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ’ ที่สนใจสินค้า แต่กลุ่มเฉพาะนี้ต้องพิจารณาอีกว่าเฉพาะขนาดไหน

“เมื่อก่อนขายอาหารแมวให้เฉพาะคนเลี้ยงแมว แต่ถ้าทำแค่คอนเทนต์ขายอาหารแมวคงไม่พอ มันต้องเจาะจงไปว่าแมวพันธุ์อะไร เช่น เพจของ Scottish Fold หรือในอนาคตไม่รู้ต้องระบุถึงขั้นเพศอะไรด้วยหรือไม่ นี่คือการลงลึกไปเพื่อจับตลาดให้ได้

“นักธุรกิจในยุคหน้า นอกจากจะใช้ไอทีเป็นแล้ว ต้องรู้จักควานหาลูกค้ากลุ่มที่เป็นลิสต์ของเรา เข้าใจเขา สร้างคอนเทนต์ เจาะกลุ่มได้ มันหมดยุคของการเหวี่ยงแหแล้ว ถ้าเราสังเกตฟีดในเฟซบุ๊คตอนนี้ก็จะมีโฆษณาเยอะกว่าช่วงก่อน แต่ความน่ากลัวคือลักษณะเฉพาะของคนไทยชอบแห่ตามๆ กัน อะไรที่มองว่าคนอื่นทำได้ดีเราก็จะทำตาม ยิง ads คล้ายๆ กัน สุดท้ายกลายเป็นกินกันเอง

“นี่คือสิ่งที่ผมห่วงมากเลย 3 ล้านรายที่เป็นธุรกิจของเราตอนนี้ ผมว่าเกินครึ่งหนึ่งที่ทำอะไรซ้ำๆ กัน การแห่ตามกันมันจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ พอขายไม่ได้ก็จะเกิดการตัดราคา สุดท้ายก็จะกินเข้าเนื้อหมด มันก็จะไม่โต นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด” อาจารย์เศรษฐศาสตร์ แสดงความกังวล

สำหรับ ดร.เกียรติอนันต์ แล้ว ทางรอดคือ “ต้องค้นหาตัวเองให้พบ” เพราะยุคต่อไปเป็นยุคที่เราใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานสร้างอาชีพได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเหมือนคนอื่น ที่สำคัญคือหาตัวเองให้พบ แล้วฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองชอบให้ถึงที่สุด

“พอไปเจอโลก อย่างน้อยเราก็เจอสิ่งที่เราชอบ เราจะมองมันเป็นความท้าทายแล้วก็ปรับตัวได้ แต่ถ้าเราทำงานที่เราไม่ชอบ ถึงเงินเดือนดีจริง แต่เงินนั้นจะใช้ในการบำบัดจิตใจ บำบัดทุกข์ บำบัดสุขภาพของเรา” อาจารย์เกียรติอนันต์ เชื่อเช่นนั้น

ในส่วนของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา อาจารย์เกียรติอนันต์ฝากไว้ว่า ถึงแม้จะอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเรียนสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็ไม่ต้องกลัว เพราะนี่ไม่ใช่จุดจบของชีวิต ระหว่างนี้อาจไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่ตัวเองชื่นชอบเพื่อเตรียมตัวไว้ก่อน

ช้าตาย เร็วตาย อ้วนตาย ประหยัดตาย

“ภาคธุรกิจยุคหน้าเป็นยุคที่ ‘ช้าตาย’ คือทำอะไรช้ากว่าชาวบ้าน…ตาย แต่ ‘เร็วก็ตาย’ คือคิดไม่ดีก่อนก็ตาย อ้วนก็ตาย อุ้ยอ้ายแบกต้นทุนไว้เยอะก็ตาย และถึงประหยัดเกินไป คุณภาพไม่ดี ก็ตาย ทางตายมันมีสี่แพร่ง ธุรกิจต้องสมดุลให้ได้ว่าฉันจะอยู่ยังไง

“คนที่ขายของคนแรก ไม่ใช่คนที่ขายของได้ดีที่สุด เพราะลูกค้าจะรอคนต่อๆ ไป ชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิด commercial speed ลูกค้าจะมองจนครบสิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องช้า แต่ไม่ใช่อืดเป็นเรือเกลือ

“โดยเฉพาะช่วงโควิด คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการธุรกิจหลายอย่างตกพรวดเพราะลูกค้าจะคุยกับคน ตัวอย่างง่ายๆ คือจองตั๋วไว้ก่อน พอโควิดอาจจะเลิก แล้วพอติดต่อไปปุ๊บ AI ตอบไม่เหมือนกับคน ฉะนั้นเราจะบาลานซ์ยังไงให้เอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความเก่ง แต่ไม่ทิ้งมิติของการดูแลมนุษย์ ทั้งในด้านการเรียน การสอน การทำธุรกิจ หรือว่านโยบายอะไรก็ตาม” ดร.เกียรติอนันต์ ทิ้งท้าย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า