เรื่อง: ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
คนในเมืองพูดไม่เหมือนเรา
ไม่ใช่เรื่องสำเนียงหรอกนะ แต่ผมหมายถึงเรื่องที่เรามีประสบการณ์ตรง ได้ลงมือทำ และความรู้สึกจากสิ่งเหล่านั้น ที่กลายมาเป็นถ้อยคำ
นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่เราพูดออกมาอย่างรับผิดชอบ จริงไหม
และคนที่ทำได้อย่างนั้น ถึงจะเป็นคนที่น่านับถือ เป็นคนที่เราไว้วางใจ
ไม่เหมือนกับคนที่แสร้งว่ารู้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง
เชิดหน้าสูง แค่หยิบฉวยส่งต่อสิ่งที่คนอื่นลงมือ
ผมแค่เบื่อคำพูดกลวงเปล่าของคนเหล่านั้น
ที่สำคัญ ผมไม่อยากใช้ชีวิตแบบที่ให้คนอื่นฆ่าสัตว์ให้ แล้วก็เอาแต่บ่น ว่าควรจะฆ่ายังไง
เราตีตั๋วเดินเข้าไปในโรงหนังเล็กๆ ดูชีวิตชาวนาคนที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้…
ถึงยูตะจะเป็นแค่ตัวละครตัวหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาพูดก็เหมือนเอาด้ามเสียมฟาดหน้าเราจนฟันร่วง
เราเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด ที่เกิดเราเลือกไม่ได้ แต่มีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่ง พยายามเลือกที่ลงหลักปักฐาน เราไม่แน่ใจหรอกว่าที่นั้นจะเป็นที่ไหน และจะมีที่ใดเป็นที่สุดท้าย
เพื่อนกลุ่มนี้มีด้วยกันไม่ถึง 10 คน พวกเขาจับจองที่ดินผืนหนึ่งในภาคกลางตอนบน บริเวณที่โอบล้อมด้วยสวนยางพารา ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นไร่นาสวนผสม มีเรือนหลังกะทัดรัด บ่อน้ำใต้ดิน และจักรยานที่ไม่ได้พาไปไหนแต่ใช้ปั่นสูบน้ำ
เจ้าของเดิมอาจหวังให้ที่แห่งนี้เป็นที่มั่นสุดท้าย และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ไร้ลูกหลานสืบต่อ จนกระทั่งไร่รกร้างและถูกรุกคืบด้วยหญ้าหลากชนิดแผ่ปกคลุม แมลงต่างๆ ทวงคืนผืนดินมาเป็นของตน
กลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้จึงเข้าไปปัดกวาดหยากไย่ และเริ่มลงมือไถหว่านก่อนที่ฝนจะมา
วันเดือนปีผ่านไป ต่างคนต่างมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต ที่ดินบางผืนจึงถูกทิ้งร้างรกในความทรงจำ แต่ที่ดินก็คือที่ดิน เราทิ้งเอาไว้ได้ มันไม่หายไปไหน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปเกี่ยวข้าวกับพวกเขา แปลงนาสมัครเล่นนั้นรกรุงรังด้วยหญ้า แนวกล้าโย้เย้ไปมาแต่ก็ยังให้ผลผลิต โชคดีที่ช่วงนั้นฟ้ามีเมฆครึ้มด้วยฝนหลงฤดู การก้มๆ เงยๆ เกี่ยวข้าวกลางแจ้งจึงไม่เลวร้ายเกินไปนัก บางคนก่อฟืนไฟเตรียมหุงข้าว บ้างล้าง เด็ดผัก เมนูทุกมื้อมีไข่เป็นพระเอก จากการสังเกตการณ์ ผมได้ข้อสรุปส่วนตัวว่าการทำสวนทำไร่นั้น ‘ฝูง’ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
มันให้ทั้งแรงงานและกำลังใจ
บ่ายคล้อยเมื่อว่างเว้นการงาน เราต่างหามุมสงบผูกเปล บ้างอ่านหนังสือ บ้างให้หนังสืออ่าน
พูดถึงหนังสือ ผมอยากเล่าถึงชาวนาอีกคนหนึ่ง
เขามีพื้นเพอยู่ทางภาคอีสาน หลังจากล้มลุกคลุกคลานไถหว่านอักษรบนนากระดาษพักใหญ่ ชนแก้วกับนักเขียนปัญญาชนจนเบื่อหน่าย เขาก็กลับบ้าน ไปทำนา เลี้ยงหมา และแต่งเมีย
“ได้อ่านหนังสือบ้างไหมครับ” หนาวหนึ่ง ข้าวเพิ่งเกี่ยว กองฟางมีกลิ่นหอม เราแวะไปหาและยังคงหยิบหนังสือติดมือไปฝากเขาด้วยความเคยชิน
“โอ้ย ค่ำก็ง่วง เหนื่อย หลับปุ๋ย” เขากล่าว พลางรินเหล้ากล้วยน้ำว้าหมักให้เราอีกหนึ่งจอก “กินเป็นยา” เขายืนยัน
รุ่งขึ้นเขามอบข้าวสารถุงใหญ่ แตงโมลูกเขื่อง และผลไม้จากสวนและอื่นๆ ให้เราเอากลับบ้าน–แลกกับหนังสือสองสามเล่ม
. . .
เราไม่แน่ใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเราอย่างตรงไปตรงมาไหม ภาพที่เห็นขับเน้นชีวิตตัวคนเดียวของหญิงสาว เธอถอนวัชพืช ดูแลกล้าข้าว ผ่าฟืน ทำอาหารจากผลผลิตที่มี เธอเติบโตที่บ้านหลังนี้ ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เป็นแอ่งมรสุม แม้การทำนาจะลำบาก แต่อย่างน้อยๆ เธอก็ยังไม่พบอุปสรรคเช่นฝนแล้ง นาล่ม หรือโดนโรงสีกดราคา
ชีวิตพบความผิดหวังบางอย่าง เธอสารภาพว่าเธอ ‘หนี’ กลับมาที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้หวังจะแก่ตายที่นี่… แต่ใครจะรู้ล่ะ
คนเราต่างผิดหวังกับสถานที่ที่เราอยู่อาศัยเสมอๆ บางทีเราก็รู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา คนรอบตัวมีอยู่มากมายแต่เราไม่อาจเปิดใจพูดคุยด้วยได้ หรือกระทั่งว่าสังคมโดยรอบนั้นไม่ได้ให้ค่าในสิ่งที่เรามอบคุณค่าให้ ผมอยากจะพูดถึงรายละเอียด แต่เกรงว่ามันจะเป็น ‘คำพูดกลวงเปล่า’ อีกคำ…
อิชิโกะกลับมายังบ้านของเธอซึ่งบัดนี้ไม่มีใครอยู่ ทำสวนทำไร่ ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด ชีวิตมีเรื่องตื่นเต้นไม่กี่อย่างคือการจัดเก็บและถนอมอาหารจากผลผลิตตามฤดูกาล บางทีก็มีการทดลองสนุกๆ ว่าเกาลัดเชื่อมนั้นควรจะเติมรสอะไรได้อีกบ้าง นอกจากโชยุ ไวน์แดง หรือบรั่นดี ห้วงขณะที่จิตใจดูชื่นบานที่สุดคือการกินอาหารที่เพิ่งปรุงสำเร็จ เธออาจจะหาอะไรเข้าปากไปวันๆ พอให้อิ่มก็ได้ (ก็เธอบอบช้ำและอยู่ในห้วงผิดหวังนี่นา) แต่เราต่างก็รู้ ว่าความรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตนั้นช่วยให้ชีวิตผ่านคืนวันไปได้ แยมซิลเวอร์เบอร์รีอาจเปรี้ยวสุดๆ จนบาดลิ้น นูเทลล่าของเธอ (ที่ถ่ายทอดมาจากแม่ของเธอ) อาจมีรสชาติไม่เหมือนที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต เธอทำเองกระทั่งวูสเตอร์ซอส ทั้งที่ซื้อแบบขวดสำเร็จย่อมง่ายกว่า
เธอทำครัวลำพัง แต่ในห้วงขณะนั้น เหมือนเธอกำลังทบทวนและพูดคุยกับแม่ ผู้เคยทำอาหารเหล่านั้นมาก่อน
. . .
“ทำไมถึงต้องมาอยู่ที่นี่ล่ะ”
เราเคยคุยกันบ่อยครั้ง แต่คำพูดเหล่านั้นไม่อาจนำมาบอกต่อได้ เพราะจะกลายเป็นความกลวงเปล่าที่ไร้สาระยิ่งกว่าหนังภาพฝันฉันจะเป็นชาวนาเรื่องไหนๆ
ฤดูกาลผ่านไป ถ้าสังเกตสังกาเราจะจำแนกได้ ไม่ว่าจะเป็นฝนฟ้า ต้นคูนเหลืองกระจ่างข้างทาง เสียงเพลง EDM บนท้องถนนในวันสงกรานต์ จดหมายที่นานแสนนานมาสักที ความขุ่นเคืองที่จางลง เราต่างกำลังเคี้ยวกลืนผลผลิตของปีก่อน
ข้าวจากนาของเพื่อนแม้มีไม่มาก แต่พวกเขาก็นำมาบรรจุถุง แล้วแจกจ่ายกันได้ทั่วถ้วน
ในวันที่ใครบางคนไถพรวนที่รกร้างด้วยตัวคนเดียว คำพูดกลวงเปล่าเหล่านั้นไม่มีคุณค่านำมาบอกต่อ แต่ช่วยถักทอให้ ‘ฝูง’ ยังคงอยู่
ไม่ใครก็ใครจะต้องมีความคับข้องต่อที่ที่เรายืนอยู่ทั้งนั้น ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เรารู้ นั่นก็คือ เราคือคนแรกที่ต้องคืนความสุขให้ตัวเอง
หากความชื้นทำให้ตัวเหนอะหนะรำคาญ จงก่อไฟ
ไหนๆ ก็จุดเตาแล้ว อย่าให้เชื้อเพลิงเผาไหม้เสียเปล่า อบขนมปังสักก้อนสิ กลิ่นกรุ่นจะทำให้รู้สึกดี และแม้ว่าขนมปังก้อนใหญ่จะสามารถเก็บไว้ในมื้อต่อๆ ไป
แต่คงดีกว่า หากชวนใครมากินขนมปังอบใหม่ๆ ด้วยกัน.