ในสำนึกปกาเกอะญอ ข้าวเป็นใหญ่ในสรรพสิ่ง

สภาพภูมิประเทศ

ชุมชนบ้านผาหมอน ตั้งอยู่ในช่วงตอนกลางระหว่างเส้นทางไต่เขาก่อนขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่า ‘สูงสุดแดนสยาม’ สภาพภูมิทัศน์งดงาม ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาลาดชันสลับกับที่ราบ รายล้อมด้วยป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา มีลำห้วยไหลผ่าน 4 สาย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญต่อชุมชน 

สภาพภูมิอากาศ

อากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดปี และหนาวจัดในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสขุนเขา สายหมอก และลมหนาว 

ภูมิหลังชุมชนท้องถิ่น

บ้านผาหมอนเป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่า ‘ปกาเกอะญอ’ ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่กว่า 100 ปีมาแล้ว แต่เดิมดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน ภายหลังปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับให้กับโครงการหลวง 

อาชีพหลักที่ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันคือการทำนา การปลูกข้าวของชาวปกาเกอะญอมี 2 ลักษณะ คือทำนาขั้นบันไดบริเวณพื้นที่ลาดชัน และทำนาดำบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา  

พันธุ์ข้าว

คนปกาเกอะญอบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก พันธุ์ข้าวที่โดดเด่น ได้แก่ ข้าวเมล็ดยาว (บือพะทอ) เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เหมาะกับการปลูกในที่ลาดเชิงเขาหรือนาขั้นบันได และข้าวเมล็ดสั้นหรือเมล็ดกลม (บือโปะโหละ) มีขนาดและรูปร่างคล้ายพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น แต่เป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของชุมชนที่ปลูกกันมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีข้าวเหนียวเหลือง (ปิอิบอ) นิยมปลูกเพื่อทำขนมหรือประกอบพิธีกรรม

รอบการปลูก

ปลูกข้าวนาปีตามฤดูกาล เริ่มหว่านกล้าราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากนั้นราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จึงถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต และเฉลิมฉลองท้ายปีด้วยประเพณีกินข้าวใหม่

ถ้าอยากเรียนรู้วัฒนธรรมข้าวของชาวปกาเกอะญอ เราอาจต้องศึกษาให้ถึงแก่นสารของวิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของคนชาติพันธุ์นี้ เพราะทั้งสองสิ่งเป็นบ่อเกิดของกันและกัน หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่อาจแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากกัน 

ข้าวนั้นสำคัญไฉน สำหรับปกาเกอะญอแล้ว ทุกคนล้วนมีสำนึกร่วมกันว่า ‘ข้าวเป็นใหญ่’ ความหมายก็คือ บุญคุณของข้าวนั้นยิ่งใหญ่ คนเราเติบโตขึ้นมาได้เพราะข้าวเลี้ยงคน 

“ข้าวไม่เคยแบ่งชั้นวรรณะ ไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะข้าว” ผู้อาวุโสของหมู่บ้านเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งระหว่างสาธยายแก่ผู้มาเยือน 

ก่อนจะสำทับอีกครั้งว่า “คนเรามีแค่เงิน อยู่ไม่ได้ แต่มีข้าว คนอยู่ได้” 

ข้าวเลี้ยงคน รวยจนล้วนกินข้าว

ไกลออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ระยะทางไม่ถึง 100 กิโลเมตร ระหว่างทางแยกก่อนถึงยอดดอย ลัดเลาะไปตามไหล่เขาคดเคี้ยว มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงชนเผ่าปกาเกอะญอซ่อนตัวอยู่ เป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก จำนวนกว่า 170 หลังคาเรือน มีสมาชิกกว่า 600 คน และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวมักแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมเสมอ 

เสียงร่ำลือถึงความงดงามของบ้านผาหมอนแห่งนี้ ไม่ใช่แค่ทัศนียภาพสวยงามแปลกตาจากเส้นสายลายริ้วของนาขั้นบันไดยามต้องแสงแดด หรือความรื่นรมย์ของบรรยากาศยามเช้าที่ห่มคลุมไปด้วยสายหมอก หากอยู่ที่ผู้คน-ชาวบ้านสามัญชนที่ถูกเรียกขานว่าคนภูเขา ผู้ซึ่งดำเนินชีวิตด้วยความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและเคารพในกติกาของการอยู่ร่วมกัน 

ย้อนกลับไปช่วง 100 กว่าปีก่อน มีชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอกลุ่มเล็กๆ เดินทางจากบ้านแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านผาหมอน ด้วยเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมกับการตั้งรกราก มีดอยสูงโอบล้อม สลับกับพื้นที่ราบ และมีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านถึง 4 สาย เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับมีต้นทุนความรู้เรื่องการปลูกข้าวติดตัวมาแต่ดั้งเดิม 

ข้าวของชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอนมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ล้วนมีบทบาทสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในมิติที่แตกต่างกันไป เพราะนอกจากการเพาะปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนแล้ว ข้าวยังเป็นองค์ประกอบที่ใช้ในพิธีกรรมสำคัญ โดยนำมาแปรรูปเป็นอาหารประจำถิ่น ขนมพื้นเมือง และเหล้าพื้นเมือง โดยเฉพาะเหล้าซึ่งเป็นเสมือนโอสถทิพย์ที่ชาวบ้านนำไปถวายบูชาแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ทั้งยังเป็นสื่อกลางสร้างสายสัมพันธ์ร้อยรัดคนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ภูมิปัญญาในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เป็นองค์ความรู้เฉพาะตัวที่ทำให้ข้าวของบ้านผาหมอนสามารถเจริญงอกงามได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ จนเกิดเป็นข้าวพันธุ์ดีที่ชาวบ้านเพาะปลูกสืบเนื่องกันมา 

“สมัยก่อน เมล็ดข้าวใหญ่เท่าลูกฟัก ข้าวเมล็ดหนึ่งเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน” พะตีสุปอย บรรพตวนา หรือ ‘ลุงสุปอย’ เท้าความถึงนิทานปรัมปราของชาวปกาเกอะญอที่ได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่า 

คนโบราณมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อหลายหมื่นปีก่อน สมัยที่เมล็ดข้าวใหญ่เท่ากับลูกฟักเขียว มีเศรษฐีกับแม่หม้ายถกเถียงกันว่า เงินหรือข้าวสำคัญกว่ากัน ตัวเศรษฐีเชื่อว่าเงินสำคัญที่สุด ส่วนแม่หม้ายเชื่อว่าข้าวสำคัญกว่า จนมาวันหนึ่งลูกเศรษฐีล้มป่วย ร้องไห้ไม่หยุด จึงเอาเงินไปแช่น้ำให้ลูกดื่ม แต่เด็กก็ยังคงไม่หยุดร้อง 

“สุดท้าย เศรษฐีเหลือบไปเห็นเศษข้าวที่เหลือก้นหม้อ จึงเอาข้าวไปแช่น้ำให้ลูกกิน” พะตีสุปอยเล่าต่อ 

คงไม่ต้องเดาว่านิทานเรื่องนี้จะจบลงแบบใด ในเรื่องเล่ายังมีรายละเอียดซ่อนอยู่อีกมากมาย และมีอีกหลายตำนาน หลายสำนวนที่ชวนให้ติดตาม เรื่องเล่าเหล่านี้ยังคงถูกเล่าขานและส่งต่อ บางค่ำคืนผู้อาวุโสอาจชักชวนเด็กน้อยในหมู่บ้านมานั่งล้อมวงฟังนิทานรอบกองไฟในคืนพระจันทร์สุกสว่าง และนั่นทำให้ลูกหลานปกาเกอะญอได้ซึมซับเข้าไปในสำนึกว่า…ข้าวนั้นยิ่งใหญ่ปานใด 

ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน

หลังก่อเกิดชุมชนบ้านผาหมอนเป็นต้นมา ชาวบ้านต่างช่วยกันถากถางพื้นที่ บุกเบิกไร่นา ทำมาหาเลี้ยงชีพตามประสาคนบนพื้นที่สูงที่อิงแอบอยู่กับธรรมชาติ 

หนึ่งในวิถีดั้งเดิมของปกาเกอะญอ คือการปลูกข้าวไร่ตามที่ลาดเชิงเขา ควบคู่กับการยังชีพด้วยการเก็บหาของป่า รวมถึงการทำไร่หมุนเวียนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ

‘ไร่หมุนเวียน’ ในความหมายของปกาเกอะญอ คือวิถีการผลิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ เป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานทั้งพืชผัก ไม้ผล และพืชใช้สอยต่างๆ โดยจะโยกย้ายพื้นที่เพาะปลูกสลับไปมา เพื่อให้ผืนดินเดิมได้พักตัวและฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน 

ดังเช่นงานวิจัยของนักวิชาการหลายสำนักที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการทำไร่ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยมีข้อค้นพบประการหนึ่งว่า ไร่หมุนเวียนเป็นกระบวนการปรับตัวที่สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านนิเวศของกลุ่มคนบนพื้นที่สูง สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม รวมถึงเป็นการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

ทว่าในสายตาของรัฐ ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านคือ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ที่เป็นตัวการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะภายหลังเมื่อทางการไทยออกกฎหมายป่าไม้ อย่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ตามมาด้วย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 รวมถึงใช้มาตรการกวดขันมิให้มีการบุกรุกป่า ในที่สุดปกาเกอะญอบ้านผาหมอนจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ เลิกการทำไร่หมุนเวียนและการปลูกข้าวไร่ เปลี่ยนมาเป็นนาขั้นบันไดและนาดำ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ได้รับการส่งเสริมอาชีพจากโครงการหลวงด้วยการปลูกพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว และไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิด จนกลายเป็นรายได้หลักของคนที่นี่ และอีกส่วนหนึ่งไปทำงานเป็นลูกจ้างที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

“สมัยนี้ชาวบ้านเลิกทำไร่หมุนเวียนกันหมดแล้ว พื้นที่ไร่หมุนเวียนก็ฟื้นคืนกลายเป็นป่า มีการแบ่งแนวเขตชัดเจน ตรงไหนเป็นป่าอนุรักษ์ ตรงไหนเป็นป่าใช้สอย หรือเป็นที่ทำกิน ที่จริงคนปกาเกอะญอก็มีกฎของเราเองตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว ก่อนจะมีอุทยานฯ เสียอีก” พะตีบุญทา พฤกษาฉิมพลี หรือ ‘ลุงบุญทา’ ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านอีกท่านหนึ่ง เล่าภูมิหลังของหมู่บ้านให้ผู้มาเยือนฟัง 

ช่วงปี พ.ศ. 2522-2525 โครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้คนปกาเกอะญอเพื่อทดแทนการทำไร่หมุนเวียน พืชผักเมืองหนาวนานาชนิดถูกนำมาทดลองปลูกที่ดอยผาหมอนและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีทั้งไม้ผลใหญ่อย่างอะโวคาโด พลับ พีช และไม้ผลเล็ก เช่น กาแฟ สตรอเบอร์รี มัลเบอร์รี ราสเบอร์รี ถ้าเป็นผักก็เช่นซูกินี บล็อกโคลี มะเขือเทศโทมัส รวมถึงไม้ดอกอย่างกุหลาบ ลิลี่ ยิปโซฟิลลา เจอบีรา นับเป็นความแปลกใหม่สำหรับชาวบ้าน ณ ตอนนั้น 

“อย่างซูกินี (zucchini) ตอนปลูกใหม่ๆ ชาวบ้านยังไม่รู้จัก บางคนก็ว่าแตง บางคนก็ว่าฟัก เพราะลูกเหมือนแตงกวา แต่ใบเหมือนฟัก ดอกก็เหมือนฟักทอง ถือเป็นของแปลกสำหรับพวกเรา เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน” พะตีบุญทาเล่าพร้อมกับกลั้วหัวเราะ

พะตีบุญทาเป็นเกษตรกรคนแรกๆ ของหมู่บ้านที่เข้าร่วมกับโครงการหลวง ในช่วงเริ่มต้นลองผิดลองถูก วิธีที่พะตีบุญทานำมาใช้ในการทำเกษตรคือ คุยกับพืช คุยกับผัก เพื่อทำความรู้จักนิสัยใจคอกัน 

“พะตีชอบคุยกับต้นไม้ เวลาเราลงแปลงก็จะพูดคนเดียว อย่างนั้นอย่างนี้ เราจะพูดกับผักว่า ปลูกยังไง กินอาหารยังไง ชอบปุ๋ยแบบไหน คือเราต้องสื่อสารกับมัน พืชแต่ละตัวเราต้องรู้ภาษามัน” เขาบอกเคล็ดลับ

ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน พะตีบุญทาก็เริ่มสนิทสนมคุ้ยเคยกับพันธุ์ไม้จากต่างแดน เขาทดลองปลูกพืชทุกชนิดที่โครงการหลวงนำมาส่งเสริมให้ปลูก จนมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นและสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ไม่ยาก 

ถึงกระนั้น แม้การปลูกผักในโครงการหลวงจะเป็นรายได้ก้อนหลักของบ้านผาหมอน แต่สิ่งที่คนที่นี่ไม่เคยทอดทิ้งหรือละเลยก็คือ การทำนา 

เส้นทางศึกษาชีวิตชาวนา วิถีปกาเกอะญอ

อาชีพกสิกรรมทำนา คือมรดกทางภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ปกาเกอะญอไม่ได้ปลูกข้าวเพื่อขาย แต่ปลูกเพื่อกิน การทำนาของคนที่นี่จึงเรียบง่าย ทำแค่ปีละครั้ง ไม่จำเป็นต้องตอบสนองกลไกตลาด อาศัยกำลังแรงงานที่มีอยู่ภายในชุมชนมาช่วยกัน ‘เอามื้อเอาวัน’ หรือลงแขก ระบบการผลิตจึงสอดคล้องไปกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไร้สิ่งแปลกปลอมจากสารเคมี 

“ปกาเกอะญอปลูกข้าวเป็นหลัก ถึงไม่มีเงิน แต่เราก็มีข้าวกิน และเมื่อไม่ใช้สารเคมี เราจึงมีผัก มีหอยปูปลาเต็มท้องนา ไม่เคยอดอยาก” 

ปกาเกอะญอเชื่อว่า ข้าวเป็นใหญ่ ข้าวมีชีวิต มีจิตวิญญาณ (ขวัญ) เมื่อถึงฤดูกาลทำนาต้องปฏิบัติต่อข้าวด้วยความเคารพ ข้าวทุกรวง ทุกเมล็ด ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับดิน น้ำ ป่า นก หนู แมลง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขา สรรพสิ่งเหล่านี้ปกาเกอะญอล้วนให้ความเคารพและช่วยกันปกปักรักษาด้วยเช่นกัน จนเกิดเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สอดแทรกอยู่ในทุกกระบวนการทำนา 

แดดอ่อนๆ ยามเช้าเช่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งแก่การเดินสำรวจแปลงนา ที่บ้านผาหมอนมีการจัดโปรแกรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชาวนา คติความเชื่อ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับนา พันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดต่างๆ โดยมีพะตีบุญทารับหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น 

‘ศาลต่าหลื่อ’ คือจุดแรกที่พะตีบุญทาพาไปศึกษาเยี่ยมชม ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมลำห้วยสายหนึ่งที่มีต้นธารมาจากยอดเขาก่อนจะค่อยๆ ไหลรินลงสู่ทุ่งท้องนา ปกาเกอะญอเชื่อว่าลำห้วยแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ก่อนจะเริ่มลงมือปลูกข้าวจึงต้องทำพิธีขมาหรือบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อให้มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เพียงพอแก่การเพาะปลูก หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ‘พิธีเลี้ยงผีฝาย’

“คนข้างนอกอาจมองว่าปกาเกอะญอเลี้ยงผี บูชาผี แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราทำพิธีขอฟ้าขอฝนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากแม่น้ำ จากป่าเขา ขอให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล” พะตีบุญทาอธิบาย 

แท่นบูชาสานขึ้นจากไม้ไผ่ ลักษณะเป็นแท่นทรงสี่เหลี่ยมยกสูง เมื่อถึงเวลาประกอบพิธีจะมีเครื่องเซ่นไหว้คือไก่ 1 คู่ เหล้า 1 ขวด แล้วเชิญชวนสมาชิกทุกคนในหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเดียวกันนี้ให้มาร่วมพิธีกรรมและดื่มเหล้าศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน 

อาจจะเรียกได้ว่า คติความเชื่อเกี่ยวกับแม่น้ำลำธารของชาวปกาเกอะญอเป็นกลไกหนึ่งของการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรในชุมชน อีกด้านหนึ่งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจก่อนการทำนาในแต่ละปี 

“สมัยก่อนยังไม่มีเหมืองฝายชลประทาน พอถึงฤดูน้ำหลาก ศาลก็พังไปหมด ต้องสร้างใหม่ทุกปี แต่สมัยนี้สะดวกขึ้นมาก ชาวบ้านตั้งศาลแบบถาวรได้ น้ำมาเยอะแค่ไหนก็ไม่เป็นไร” 

นอกจากชาวบ้านจะให้ความเคารพยำเกรงต่อแม่น้ำลำธารแล้ว ความเชื่อในการใช้ทรัพยากรน้ำประเภทอื่นๆ ก็มีกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน อย่างเช่นน้ำลอด น้ำผุด หรือตาน้ำ ปกาเกอะญอจะห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนหรือใช้ประโยชน์จากน้ำบริเวณนั้น หากใครฝ่าฝืนจะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ ทำให้เจ็บไข้ไม่สบาย

“ถ้ามีน้ำออกรู (ตาน้ำ) คนโบราณบอกว่าห้ามปัสสาวะ ห้ามทิ้งขยะลงในที่ตรงนั้น สมัยพะตีเป็นเด็กๆ ก็เคยถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ทำไมถึงห้ามฉี่ลงน้ำ เขาก็ตอบง่ายๆ ว่า ถ้าฉี่ลงน้ำแล้ว เวลาเราไปเอามื้อเอาวัน ฝนจะตกหนักทั้งวัน แล้วจะทำงานไม่ได้ อีกอย่างคือแถวน้ำออกรูจะมีกบป่าอยู่เยอะ ถ้าเราไปจับกบตรงนั้นมากิน น้ำจะแห้งหมดไม่มีเหลือ”

ลักษณะของ ‘น้ำออกรู’ โดยมากมักอยู่บนพื้นที่สูงหรืออยู่ตามลำห้วย พื้นที่บริเวณนั้นชาวบ้านจะงดกิจกรรมทุกอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ไม่เข้าไปตัดไม้ ไม่เข้าไปทำสวนทำไร่ ไม่แม้กระทั่งจับเขียดจับปลา เพราะชาวบ้านเชื่อว่ามีเจ้าของ 

ความรู้ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความเชื่อ คือกุศโลบายที่คนโบราณพยายามปลูกฝังให้คนรุ่นหลังช่วยกันรักษาแหล่งน้ำไม่ให้เน่าเสีย เพราะน้ำคือชีวิต และน้ำคือบ่อเกิดของชีวิต 

ฤดูกาลของชีวิต

พะตีบุญทาเดินนำหน้าไปตามเส้นทางเลาะเลียบไหล่เขาด้วยความแคล่วคล่อง ท่ามกลางภูมิประเทศที่ลาดเอียงและสูงชันถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแถวเป็นแนว ลดหลั่นลงมาเป็นระดับเหมือนขั้นบันได ที่นาบริเวณนี้คือแหล่งเพาะปลูกข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์เด่นที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ ภูมิปัญญานาบันไดจึงเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและก้าวพ้นข้อจำกัดในการทำนา 

ก่อนที่ฝนแรกของฤดูกาลจะมาถึง ชาวนาปกาเกอะญอจะตระเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงเดือนเมษายน และเริ่มหว่านกล้าข้าวนาปีในเดือนพฤษภาคม ข้าวที่เหลือจากการหว่าน ชาวบ้านจะเก็บรวบรวมไว้ใช้ในการต้มเหล้า เพื่อนำมาประกอบ ‘พิธีต้มเหล้าบือแซะคลี’ ซึ่งเปรียบเหมือนการเรียกขวัญเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนจะเริ่มลงมือเพาะปลูกจริง 

พะตีบุญทาเล่าต่อว่า วัฒนธรรมต้มเหล้าของปกาเกอะญอ ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถต้มได้ โดยเฉพาะการทำลูกแป้งเหล้าเพื่อใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จะต้องกระทำโดยหญิงหม้ายหรือสาวโสดที่ยังไม่ผ่านการแต่งงานเท่านั้น 

“ระหว่างขั้นตอนการปั้นลูกแป้งเหล้า ปกาเกอะญอจะร่ายคาถาไปด้วยว่า คนง่าวกินจนตาย…คนฉลาดกินจนง่าว” พะตีบุญทาเล่าทีเล่นทีจริง แต่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ยึดถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

หลังหว่านไถ ปั้นคันนา ตระเตรียมพื้นที่ ระดมแรงงานทั้งหญิงและชายในหมู่บ้านมาช่วยกันเอามื้อเอาวัน จนกระทั่งหยอดเมล็ดข้าวจนเต็มผืนนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอจนถึงช่วงกลางฤดูเพาะปลูก ราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นห้วงเวลาสำคัญของกระบวนการปลูกข้าว ชาวปกาเกอะญอจะจัดให้มี ‘พิธีผูกข้อมือ’ หรือเรียกว่า ‘กี่จึ๊’ นัยหนึ่งของพิธีผูกข้อมือ ถือเป็นการเรียกขวัญกำลังใจคนในชุมชนให้มีความพร้อมทั้งแรงกายแรงใจในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่กำลังจะมาถึง

ถัดจากนั้น เมื่อข้าวในนากำลังแตกกอเขียวขจีก็จะเข้าสู่พิธีกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘พิธีเลี้ยงผีนา’ และอย่างที่พะตีบุญทาได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า คนปกาเกอะญอไม่ได้เลี้ยงผี แต่สิ่งที่พวกเขาบูชาคือจิตวิญญาณที่สถิตอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าลำธาร ป่าเขา และไร่นา 

ความหมายของพิธีเลี้ยงผีนา เปรียบเหมือนเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกปักรักษาผืนนา บันดาลให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ โดยจะมีการตั้ง ‘ศาลต่าแซะ’ เพื่อขับไล่สิ่งที่ไม่ดีงามไม่ให้มารบกวน และในช่วงนี้เองชาวบ้านจะหมั่นเข้าไปดูแลแปลงนา เก็บถอนวัชพืช ใส่ปุ๋ยในนาข้าว คอยตรวจตรารอบบริเวณ ไม่ให้นก หนู ศัตรูพืชมาทำลายต้นข้าว 

“ถ้าเปรียบเทียบว่าพิธีเลี้ยงผีฝายคือการขอน้ำขอฝน พิธีเลี้ยงผีนาก็คือให้ปุ๋ยบำรุง เพราะเป็นช่วงที่ข้าวกำลังโต เวลาทำพิธีก็จะอธิษฐานไปด้วยว่า ขอให้ต้นข้าวใหญ่เท่าต้นกล้วย ขอให้เมล็ดข้าวใหญ่เท่าฟัก แมลงศัตรูพืชทั้งหลายอย่าได้มารบกวน” พะตีบุญทาเล่าพลางเดินพลางอย่างไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อย 

ข้าวเมล็ดยาว-เมล็ดสั้น

แดดยามเที่ยงวันที่บ้านผาหมอนแม้จะไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก แต่ก็เรียกเหงื่อได้ไม่น้อย ระหว่างเดินสำรวจเส้นทางศึกษาวิถีชาวนาปกาเกอะญอได้ราวครึ่งทาง ตามตารางการท่องเที่ยวชุมชนบ้านผาหมอน พะตีบุญทาจะพานักท่องเที่ยวแวะหลบร้อน พักกินข้าวห่อใบตองมื้อเที่ยงที่ชายป่าปลายนา นอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศแบบชาวนาแท้ๆ แล้ว ยังได้ลิ้มลองรสข้าวปกาเกอะญอไปด้วย 

พันธุ์ข้าวที่โดดเด่นของบ้านผาหมอน คือข้าวเจ้า 2 สายพันธุ์หลักๆ หากเป็นพื้นที่นาแบบขั้นบันไดจะนิยมปลูกข้าว ‘บือพะทอ’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ข้าวเมล็ดยาว กับพันธุ์ข้าวอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแบบนาดำคือ ‘บือโปะโหละ’ หรือข้าวเมล็ดสั้น นอกจากนี้แล้วยังมีพันธุ์ข้าวชนิดอื่นๆ ที่มีการปลูกเสริมบ้างเล็กน้อย เช่น ‘ปิอิซู’ ข้าวเหนียวดำ ‘ปิอิบอ’ ข้าวเหนียวเหลือง ที่ปลูกไว้สำหรับทำขนม ทำลูกแป้งเหล้า และใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพี่น้องต่างอำเภอมาทดลองปลูก เพื่อเป็นการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมต่อไป 

‘บือพะทอ’ หรือข้าวเมล็ดยาว เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกกันมาแต่ดั้งเดิม เหมาะกับพื้นที่ลาดชัน ชอบน้ำที่ถ่ายเทได้แบบนาขั้นบันได น้ำไม่ขังนาน แต่ข้อเสียคือลักษณะลำต้นค่อนข้างเรียวเล็ก ไม่แข็งแรงนัก เมื่อถูกลมหรือฝนพัดกระหน่ำอาจทำให้ต้นข้าวล้มได้ง่าย 

“นาขั้นบันไดจะมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เวลาปล่อยน้ำเข้านาแล้วมันจะค่อยๆ ไหลผ่านไปเป็นขั้นๆ ตะกอนดินต่างๆ ก็จะไม่ถูกพัดออกเร็วเกินไป เหมาะกับบือพะทอที่ชอบน้ำไหลผ่าน ไม่ชอบน้ำขัง” พะตีบุญทาบอก 

จากนาขั้นบันไดที่ค่อยๆ ลดหลั่นลงมาสู่พื้นที่ราบที่ทอดยาวอยู่กลางหุบเขา คือพื้นที่ปลูกข้าว ‘บือโปะโหละ’ หรือข้าวเมล็ดสั้น ข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นหลายอย่างคือ ลำต้นแข็งแรง ทนต่อสภาพลมและน้ำท่วมขังได้ เมล็ดข้าวมีขนาดและรูปร่างค่อนข้างกลม แลดูคล้ายข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นแบบที่คนเมืองคุ้นเคย 

“คนพื้นราบมักเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวญี่ปุ่น เพราะเมล็ดสั้นๆ กลมๆ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เป็นข้าวปกาเกอะญอที่ปลูกกันมาแต่ดั้งเดิมนี่แหละ เวลากินจะมีความหวาน หอม เมล็ดข้าวอ่อนนุ่ม หุงง่าย” พะตีบุญทาบรรยายสรรพคุณข้าวพื้นเมืองด้วยความภูมิใจ 

ดูเหมือนอาหารกลางวันมื้อนี้จะอร่อยกว่ามื้อปกติ รับประทานได้อย่างสะดวกใจ ไม่ต้องตะขิดตะขวงเรื่องความปลอดภัย เพราะชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวไว้กินเอง จึงไม่ต้องเร่งรัดผลผลิตด้วยสารเคมี 

“ถ้าใช้สารเคมี เราต้องเพิ่มปริมาณเรื่อยๆ สมมุติว่าปีนี้ใช้ปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ ปีหน้าต้องเพิ่มเป็น 2 กระสอบ แต่ถ้าเราใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีนี้อาจใช้ตันหนึ่ง แต่ปีหน้าเราใช้แค่ครึ่งตัน แล้วก็ลดลงเรื่อยๆ เวลาเราใช้ปุ๋ยหมัก ดินก็ไม่เสีย ไม่เป็นอันตราย และไม่ต้องใช้เงินซื้อด้วย ก็ลองคิดดูว่า ถ้าเราอยากให้ยั่งยืนจะเลือกวิธีไหน”

ป่าและไผ่

พ้นจากเขตทุ่งนา พะตีบุญทาพาผู้มาเยือนเดินตัดเข้าสู่ชายป่า ชมแมกไม้นานาพันธุ์ที่ชาวบ้านได้อาศัยพึ่งพา ทั้งไม้ยืนต้น ผักป่า พืชสวน พืชสมุนไพร พะตีบุญทาบอกว่า ในหมู่บ้านปกาเกอะญอจะมีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ป่าอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ ต้นไม้ทุกต้นล้วนมีความสำคัญ เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติที่พวกเขาให้ความเคารพ 

“ถ้าไม่มีข้าว เราอยู่ไม่ได้ ไม่มีป่า เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ลองสังเกตบ้านปกาเกอะญอก็ได้ว่า ทุกบ้านจะต้องปลูกป่ารอบบ้าน และในป่านั้นจะมีต้นไม้ต้นหนึ่งเรียกว่า ‘เดปอทู่’ หรือต้นสายรก” 

ความหมายของ ‘ป่าเดปอ’ ก็คือ เด็กปกาเกอะญอทุกคนที่เกิดมาจะต้องมีต้นไม้ประจำตัวหนึ่งต้น ห้ามใครตัดทำลายเด็ดขาด โดยมีความเชื่อว่าหากใครตัดจะทำให้เจ้าของต้นไม้เจ็บป่วย ไม่สบาย 

“เวลาเด็กเกิดใหม่ เขาจะผูกสะดือไว้กับต้นไม้ และจะถือว่าต้นไม้นั้นเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว ต้นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และต้องรักษาต้นไม้ต้นนี้ไว้ตลอดชีวิต”

นอกจากทุ่งนา ป่าเขา และต้นไม้น้อยใหญ่ที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาไว้แล้ว ป่ารอบบ้านปกาเกอะญออีกส่วนหนึ่งที่พบเห็นได้ตลอดรายทางก็คือ ป่าไผ่ 

ไผ่กับวิถีปกาเกอะญอเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น คนปกาเกอะญอจะนิยมสร้างบ้านด้วยไผ่มากกว่าใช้ไม้ เกือบทุกบ้านจึงมีการปลูกไผ่ไว้ใช้งาน ถ้าเป็นไผ่แก่จะนิยมเอามาทำฟากหรือทำเสาบ้าน ถ้าเป็นไผ่อ่อนจะนำมาใช้ทำเครื่องจักสานหรือเครื่องมือการเกษตรต่างๆ 

“ปลูกไผ่กอหนึ่งอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี อย่างไผ่กอนี้ พะตีเกิดมาก็เห็นแล้ว ไม่รู้ว่าปลูกมานานแค่ไหน เราก็ใช้ประโยชน์มาเรื่อยๆ พอตัดแล้วแตกกอใหม่ หน่อไผ่เราก็ได้กิน ในลำไผ่ยังมีด้วง เอามาคั่วกินได้”

ทันทีที่พูดจบ พะตีบุญทาตาเป็นประกายเมื่อเหลือบไปเห็นโพรงเล็กๆ ในลำไผ่ ซึ่งปรากฏร่องรอยการเจาะไชของหนอนไม้ไผ่ 

“อยากลองชิมไหม?” พะตีบุญทาหันมาถาม แต่ยังไม่ทันฟังคำตอบ เขาก็คว้ามีดพร้าที่เหน็บเอวออกมา ตรงดิ่งเข้าไปยังกอไผ่ที่หมายตาไว้ ใช้มีดฟันฉับๆ ด้วยความแคล่วคล่อง ไม่นานนักก็ได้หนอนไม้ไผ่หรือที่เราเรียกกันว่า ‘รถด่วน’ ออกมาหลายกำมือ เสร็จแล้วก็บรรจงห่อไว้ในกาบไผ่อย่างทะนุถนอม

แน่นอนว่า อาหารมื้อค่ำสำหรับวันนี้ จะมีเมนูหนอนไม้ไผ่คั่วเกลือเพิ่มอีกหนึ่งเมนู

ภูมิปัญญาข้าวเบ๊อะ

ควันจากเตาไฟในบ้านหลังหนึ่งโชยกลิ่นมาแต่ไกล คนในบ้านกำลังช่วยกันจัดแจงสำรับกับข้าวก่อนที่แสงของวันจะหมดไป 

ค่ำคืนนี้ พะตีบุญทาแนะนำให้คณะเดินทางแวะพักค้างแรมที่บ้านของพะตีสุปอย บรรพตวนา ผู้เฒ่าที่มาเล่าขานตำนานข้าวให้พวกเราฟังเมื่อช่วงเช้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายโฮมสเตย์บ้านผาหมอน 

พะตีสุปอย กับภรรยาและลูกสาว ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยข้าวต้มหอมกรุ่น หรือ ‘ข้าวเบ๊อะ’ อาหารพื้นบ้านของปกาเกอะญอที่มีความหมายและความเป็นมา 

แต่เดิมคนสมัยบรรพบุรุษต้มข้าวเบ๊อะเนื่องจากผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค แต่ละครัวเรือนมีข้าวสารเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ปกาเกอะญอจึงคิดวิธีการปรุงอาหารที่จะทำให้มีอาหารที่เพียงพอต่อการรับประทานทั้งครอบครัว 

ข้าวเบ๊อะหม้อหนึ่งประกอบไปด้วยวัตถุดิบนานาชนิดที่หาได้จากพืชผักรอบบ้าน โดยชาวบ้านจะต้มข้าวให้เปื่อย จากนั้นใส่เนื้อสัตว์ ใส่ผัก ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดถั่ว ฟักทอง เผือก มัน เห็ด โหระพา ฯลฯ ส่วนผสมในข้าวเบ๊อะนอกจากจะสะท้อนถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์แล้ว ยังเป็นอาหารที่สะท้อนเรื่องราวความผูกพันของสังคมกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ 

เมื่อมีงานบุญประเพณีหรือพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ปกาเกอะญอจะต้มข้าวเบ๊อะหม้อใหญ่และเชิญชวนพี่น้องในหมู่บ้านมากินข้าวเบ๊อะร่วมกัน นั่นคือช่วงเวลาที่ผู้คนจะได้อยู่กันพร้อมหน้า ก่อเกิดเป็นความผูกพันและความกลมเกลียว 

จิบกาแฟยอดดอย 

รุ่งเช้าของอีกวัน พะตีบุญทาชักชวนชาวคณะไปนั่งจิบกาแฟชมหมอกยามเช้า ณ บ้านหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่จุดสูงสุดของหมู่บ้าน 

ที่นี่คือบ้านของสุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ หนุ่มกะเหรี่ยงวัย 40 ต้นๆ ที่ออกจากบ้านไปผจญชีวิตในเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะหวนคืนถิ่นฐานอีกครั้งด้วยหวังจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง 

สุรสิทธิ์หลงใหลเสน่ห์ของกาแฟ เขาจึงไปศึกษาหาความรู้และกลับมาทดลองทำ โดยนำเมล็ดกาแฟอราบิก้าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอน-หนองหล่ม เมื่อราวปี 40 กว่าปีก่อน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่วหม้อดิน ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ‘กาแฟจอปา’ อันหมายถึงกาแฟจากพระราชา 

“ผมออกไปสู้ชีวิตที่เชียงใหม่อยู่เกือบ 20 ปี ก่อนออกไปผมตั้งปณิธานไว้ว่า หนึ่ง-ขอให้ได้กลับมาอยู่ใกล้แม่ สอง-ขอให้มีโอกาสได้กลับมาพัฒนาหมู่บ้าน” 

สุรสิทธิ์เป็นลูกชาวนา ทำนามาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยที่ใช้ควายไถนา ทุกวันนี้แม้เขาจะหลงรักกาแฟ แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งอาชีพเดิมของบรรพบุรุษ โดยมีผืนนาที่เขาต้องรับผิดชอบสานต่ออยู่ 11 ไร่ 

“ข้าวที่เรากิน เราไม่รู้หรอกว่าเมล็ดไหนที่ทำให้เราโต ฉะนั้นข้าวทุกเมล็ดจึงมีคุณค่า การทำนาสอนอะไรเราหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือสอนให้เรารู้จักเชื่อมโยงกับธรรมชาติ รู้ว่าทุกอย่างพึ่งพาอาศัยกันหมด เพราะวัฏจักรของข้าว ก่อนจะเป็นข้าวสักเมล็ดหนึ่งต้องมีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ” 

ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างสุรสิทธิ์ เขามองว่าแต่ละพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งที่ต้องทำตามๆ กันไป แต่ทุกพิธีกรรมล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่ต้องตีความ เพื่อทบทวนทำความเข้าใจในวิถีการผลิตของตน 

“พิธีกรรมเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันของชุมชน ทำให้เกิดความสามัคคีของคนชนเผ่า เหมือนกับว่า ถ้าเรามีข้าวเมล็ดเดียว คงไม่สามารถเอาไปต้มยาหรือต้มเหล้าได้ ไผ่ลำเดียวก็ไม่สามารถสร้างสะพานได้” 

อาจเรียกได้ว่า หนุ่มวัยกลางคนอย่างสุรสิทธิ์ คือผู้ที่เชื่อมรอยต่อระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนให้แนบแน่นยิ่งขึ้น สิ่งที่สุรสิทธิ์พยายามทำในช่วงสิบกว่าปีให้หลังก็คือ ทำอย่างไรให้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอได้รับการยกระดับและพัฒนาเป็นองค์ความรู้เพื่อให้คนรุ่นหลังนำไปศึกษาต่อได้

ปี 2547 สุรสิทธิ์ลุกขึ้นมาทำงานวิจัยในโครงการ ‘การท่องเที่ยวเชิงศึกษานิเวศน์และวัฒนธรรมแบบยั่งยืนโดยชุมชนบ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษารวบรวมองค์ความรู้และฟื้นฟูภูมิปัญญาของชุมชน โดยมีพะตีบุญทา พะตีสุปอย และชาวบ้านในชุมชนมาร่วมกันทำวิจัย จนกระทั่งสามารถผลักดันให้เกิดระบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมาจนทุกวันนี้  

ถัดมาในปี 2560 กลุ่มนักวิจัยชาวบ้านผู้ไร้ใบปริญญา นำโดยพะตีบุญทาเป็นหัวหน้าคณะ และมีสุรสิทธิ์เป็นที่ปรึกษา ได้ต่อยอดงานวิจัยชิ้นต่อมาในหัวข้อ ‘การจัดการแหล่งเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยววิถีชาวนาชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านผาหมอน’ โดยศึกษาลงลึกไปถึงแก่นสารในวิถีชาวนาปกาเกอะญอ 

การทำงานของคณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มนี้ เปรียบเหมือนการถอดบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตของบรรพบุรุษ ทบทวนองค์ความรู้ในวิถีชาวนาและภูมิปัญญาในการปลูกข้าวของปกาเกอะญออย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนรุ่นหลังต่อไป 

พะตีบุญทาซึ่งนอนเอนหลังอยู่ข้างวงกาแฟ รำพึงขึ้นมาตอนหนึ่งว่า หากปล่อยให้ความรู้เหล่านี้เลือนหายไป ไม่แน่ว่าวิถีกสิกรรมทำนาของปกาเกอะญออาจเปลี่ยนแปลง จึงเป็นภารกิจที่คนรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันส่งต่ออนาคตให้กับลูกหลาน 

“ก็น่าเป็นห่วงคนรุ่นหลังว่า ถ้าวันหนึ่งเขาต้องกลับมาทำนา จะปั้นคันนาเป็นหรือเปล่า จะดูแลต้นข้าวได้ไหม จะรู้ไหมว่าข้าวบือพะทอกับบือโปะโหละปลูกยังไง เพราะถ้าไม่เคยทำมาก่อน เขาก็จะไม่มีความรู้” 

อย่างที่พะตีบุญทากล่าวย้ำอยู่เสมอว่า “เพราะข้าวเป็นใหญ่ คนเราไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องกินข้าว”

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า