ใครหายไป ในโลกที่เต็มไปด้วยพลาสติก

เมื่อปี 2017 องค์การสหประชาชาติเผยแพร่ข้อมูลที่น่าตื่นตกใจระหว่างการประชุม The Ocean Conference ที่มหานครนิวยอร์คว่า มนุษย์กำลังอยู่บนโลกที่มีปริมาณ ‘ไมโครพลาสติก’ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจายอยู่ทุกหนแห่งเป็นจำนวนมหาศาล มากกว่าจำนวนดวงดาวในกาแล็กซีถึง 500 เท่า ปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลต่อปีมีมากกว่า 8 ล้านตัน หรือเท่ากับเทขยะหนึ่งรถบรรทุกลงทะเลทุกๆ 1 นาที และภายในประมาณ 30 ปีข้างหน้า มหาสมุทรของเราจะมีจำนวนปลาน้อยกว่าจำนวนขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) นกทะเลเกือบทุกตัวจะต้องมีขยะพลาสติกอยู่ในท้องอย่างน้อยตัวละหนึ่งชิ้น หากเรายังคงทิ้งขยะด้วยอัตราเท่าเดิม

แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวที่ต้องเผชิญกับโลกในยุคที่พลาสติกเยอะกว่าดวงดาว และนี่คือ 9 ชีวิตต่างสายพันธุ์ที่เราสูญเสียไประหว่างค้นหาวิธีทำความสะอาดโลกจากขยะพลาสติก

 

‘มาเรียม’ ชีวิตแสนเศร้าที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์

‘มาเรียม’ คือชื่อของพะยูนเพศเมียที่ลอยมาเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือให้ย้ายไปอนุบาลในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่อ่าวทุ่งคา เกาะลิบง มาเรียมเป็นลูกพะยูนกำพร้าที่ยึดเอา แม่ส้ม หรือเรือคายัคสีส้มของเจ้าหน้าที่ดูแลแทนแม่ คำว่า ‘มาเรียม’ เป็นชื่อที่หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์ดุหยง ตำบลเกาะลิบง หนึ่งในทีมดูแลตั้งให้ แปลว่า ‘หญิงที่สง่างามแห่งท้องทะเล’ ภาพถ่ายเด็กหญิงแห่งท้องทะเลตัวอวบที่กินนมจนหลับปุ๋ยในอ้อมกอดของอาสาสมัครกลุ่มพิทักษ์ดุหยงน่าจะเป็นภาพที่หลายคนยังจำได้

ในช่วงยังมีชีวิต มาเรียมสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์พะยูนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนท้องถิ่น เช่น ทำให้เกิดมติการรื้อถอนโป๊ะน้ำตื้น ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายและอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ออกจากเกาะลิบง เกิดการอนุรักษ์พื้นที่และคุ้มครองระบบนิเวศหญ้าทะเล อาหารของพะยูน นอกจากนี้ยังช่วยกระชับมิตรภาพระหว่างชุมชน เจ้าหน้าที่ และพะยูน

มาเรียมจากไปในคืนวันที่ 17 สิงหาคม 2019 จากการผ่าพิสูจน์พบเศษพลาสติกขนาดเล็ก 8-10 เซนติเมตร จำนวน 8 ชิ้นขวางลำไส้ ส่งผลให้เกิดการอุดตันที่ปลายลำไส้และมีแก๊สสะสมในทางเดินอาหาร โดยทีมแพทย์คาดว่าน่าจะมาจากเศษพลาสติกที่ติดอยู่บริเวณหญ้าทะเลที่มาเรียมกินเข้าไป และไม่สามารถรักษาให้ทุเลาได้เหมือนอาการอื่นๆ เช่น ภาวะติดเชื้อ

สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแนวคิดจะจัดทำแผนพิทักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อเป็นมาตรการในการดูแลฝูงพะยูนไทย และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์ดูแลสัตว์ทะเลหายาก 2 แห่ง แห่งแรกกำลังดำเนินการที่จังหวัดภูเก็ต และแห่งที่สองที่จังหวัดระยองอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติ ทั้งหมดนี้เกิดจากการเกยตื้นและการตายของพะยูนในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมีกระแสตื่นตัวลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในภาคประชาชน โดยมี ‘มาเรียม’ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ

 

มหันตภัยขยะพลาสติก ปลิดชีวิต ‘เต่าทะเล’

‘เต่าทะเล’ สัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ด้วยวิถีชีวิตที่อยู่ทั้งบนบกและในน้ำ จึงยิ่งเพิ่มช่องทางความเสี่ยงให้กับสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ ธรรมชาติของเต่าต้องกลับขึ้นมาวางไข่บนบก ซึ่งเต่าบางตัวต้องฝ่าด่านกองขยะมากมายเพื่อวางไข่บนชายหาด ซ้ำร้ายยังฝังกลบไข่ด้วยขยะ แทนที่จะกลบด้วยทรายตามปกติ และเมื่อกลับลงน้ำก็ต้องพบเจอเศษขยะที่ลอยเกลื่อนในทะเลอีก เป็นวงจรชีวิตที่ยากจะหลีกหนี

หลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าวเต่าทะเลได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเศษตาข่ายดักปลาที่เต่ากลืนเข้าไป และหลอดดูดน้ำที่ติดอยู่ในรูจมูกเต่า ซึ่งข่าวเหล่านี้ดูไม่มีวี่แววจะลดลง สวนทางกับการรณรงค์เรื่องการลดใช้พลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวเผยถึงการตายของเต่าตนุสาวว่า พบขยะพลาสติกจำนวนมากอัดแน่นเต็มลำไส้ส่วนปลาย ทั้งเชือกฟาง ถุงพลาสติก เปลือกลูกอม เอ็นตกปลา เชือกอวน และหลอดดูดน้ำ ตามปกติแล้วเต่าตนุเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวได้ถึง 80 ปี และภายในอีก 10 ปี เต่าสาวตัวนี้ก็จะให้กำเนิดลูกเต่าตัวน้อยๆ อีกหลายพันตัว แต่ทว่าต้องมาจบชีวิตลงในวัยเพียง 4 ปี เพราะการกินขยะพลาสติกด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร

 

‘กวาง’ สัตว์สี่ขาผู้เป็นมิตร แต่กลับถูกทำร้ายทางอ้อมด้วยขยะพลาสติกฝีมือมนุษย์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแสนเชื่องที่ย่างเยื้องเข้าหามนุษย์เพื่อรอคอยการหยิบยื่นอาหารอันโอชะให้แก่พวกมัน สิ่งเหล่านี้มักพบเห็นได้ตามสวนสัตว์หรืออุทยานที่เปิดให้กวางกับคนได้เข้าหากันอย่างใกล้ชิด โดยที่สัตว์สี่เท้าไม่รู้เลยว่า คนเหล่านี้กำลังพาอันตรายมาจ่อปากพวกมันเอง

ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ กวาง 9 ตัว แห่งสวนสาธารณะนารา อุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ต้องจากไปเพราะกินถุงพลาสติกที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวมาด้วย แม้จะมีป้ายประกาศเตือนบริเวณสวนกวางว่า ให้ป้อนเฉพาะอาหารกวางที่มีจำหน่ายบริเวณสวนเท่านั้น ซึ่งเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับกวางและปราศจากขยะพลาสติก แต่ดูเหมือนป้ายเตือนจะไม่เป็นผล หลังผ่าพิสูจน์ท้องกวางแต่ละตัวพบเศษซากห่อขนมพลาสติกจำนวนมากอุดตันที่ลำไส้ กวางบางตัวมีพลาสติกในท้องมากถึง 4 กิโลกรัม ทำให้มีปัญหาต่อระบบย่อยอาหารและขัดขวางการดูดซึมของอาหารหลัก จะถ่ายก็ถ่ายไม่ออก จะกินอาหารใหม่ก็กินไม่ได้ ร่างกายผ่ายผอม ขนเริ่มร่วง เปลี่ยนเป็นสีขาว และหมดลมหายใจไปในที่สุด

และไม่กี่วันมานี้ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในไทยอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็พบกวางนอนแน่นิ่งอยู่ในอุทยานเช่นกัน และพบว่ามาจากสาเหตุเดียวกันกับสวนกวางนารา คือมีขยะพลาสติกอัดแน่นเต็มกระเพาะกว่า 3 กิโลกรัม ซึ่งมาจากฝีมือของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปกางเต็นท์พักผ่อนในอุทยาน และนำถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติกไปเป็นภาชนะบรรจุเสบียงอาหาร ด้วยความคุ้นชินกับมนุษย์และเข้าใจว่าในถุงพลาสติกเป็นแหล่งอาหารชั้นยอด บางครั้งเหล่าสัตว์สี่ขาจึงคุ้ยกองขยะและกินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

 

กับดักมนุษย์ ระเบิดเวลาของ ‘วาฬ’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

องค์กรพิพิธภัณฑ์ซากสัตว์ทะเล (D’Bone Collector Museum) ประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยภาพชันสูตรซากวาฬคูเวียร์ผ่านทางเฟซบุ๊คองค์กร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2019 พร้อมระบุว่า วาฬตัวนี้เป็นวาฬที่มีขยะพลาสติกอยู่ในท้องมากที่สุด ทั้งกระสอบข้าว 16 ถุง ถุงพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร 4 ถุง และถุงพลาสติกอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมแล้วน้ำหนักมากถึง 40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการพบขยะพลาสติกในท้องวาฬที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก โดยบริเวณที่พบอยู่ที่อ่าวดาเวา (Davao Gulf) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ติดอันดับ 3 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก ตามการรายงานของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ปี 2015

“วาฬตัวนี้มีพลาสติกในตัวมากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา” นักวิจัยผู้ผ่าชันสูตรศพกล่าว

ส่วนประเทศไทยที่มีประชากรน้อยกว่าอินเดียเกือบ 20 เท่า แต่ถูกจัดให้อยู่อันดับ 6 จาก 193 ประเทศที่มีขยะมากที่สุด ในขณะที่อินเดียอยู่อันดับที่ 12 ยิ่งตอกย้ำว่า ขยะพลาสติกในไทยที่ไหลลงสู่ทะเลมีจำนวนมากพอที่จะทำให้คร่าชีวิตสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2018 พบวาฬนำร่องครีบสั้น เกยตื้นที่ปากคลองนาทับ ติดทะเลอ่าวไทย จังหวัดสงขลา อยู่ในสภาพอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ทีมแพทย์เร่งเข้าช่วยเหลือแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตมันไว้ได้ วาฬตัวนี้จากไปในอีก 5 วันต่อมา ที่น่าสลดใจยิ่งกว่า ก่อนหน้านี้มันได้สำรอกถุงพลาสติกออกมา 5 ชิ้น และเป็นไปตามคาด หลังผ่าท้องพิสูจน์ พบถุงพลาสติกที่เปลี่ยนเป็นสีดำจากคราบเลือดที่มาจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของวาฬอีกทั้งสิ้น 80 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 8 กิโลกรัม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันไม่สามารถกินอาหารได้

ไม่มีใครรู้ว่าขยะพลาสติกเหล่านี้สะสมอยู่ในท้องของสัตว์ตัวโตมานานเท่าไร แต่คงนานพอที่จะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับมัน ขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลไม่ว่าจะชิ้นใหญ่หรือเล็ก สามารถลอยเข้าปากวาฬที่ขนาดใหญ่กว่ามนุษย์หลายเท่าได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นกับดักที่มนุษย์ใช้ทำร้ายสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งสปีชีส์ แม้จะไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องนับถอยหลังเวลาชีวิตตัวเอง

 

‘อัลบาทรอส’ ภาพอันลือลั่นของนกที่กระเพาะเต็มไปด้วยพลาสติก

ตลอดความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ALBATROSS ของ คริส จอร์แดน (Chris Jordan) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2018 คือการบันทึกวิถีชีวิตของฝูงนกอัลบาทรอส สัตว์ที่เชื่องช้าสง่างามและมีสมองขนาดเท่าลูกวอลนัตบนเกาะมิดเวย์

“สิ่งที่ทำใจได้ยากคือผมรู้ – แต่พวกมันไม่รู้เลย ว่าทำไมมันจึงตาย”

จอร์แดนกล่าวในสารคดี

พ่อแม่นกอัลบาทรอสจะบินออกไปไกลเพื่อโฉบหาปลาหมึกที่ว่ายใกล้ผิวน้ำกลับมาให้ลูกกิน แต่บ่อยครั้งพวกมันป้อนพลาสติกมีคมหรือปนเปื้อนให้ลูกๆ แทน เนื่องจากสับสนในสีสันและกลิ่นทะเลที่พลาสติกดูดซับไว้จนดูคล้ายอาหาร

จอร์แดนผ่าพิสูจน์ซากนกอัลบาทรอสบนเกาะมิดเวย์อย่างง่ายด้วยกรรไกรหนึ่งเล่ม เพื่อเปิดเผยว่าใต้ขนและผิวหนังของนกจำนวนมากมีเศษพลาสติกหลากหลายขนาดอัดแน่นเต็มท้อง ตั้งแต่ฝาขวดน้ำ ของเล่นพลาสติก ไฟแช็ก แปรงสีฟัน ตลับหมึกอิงค์เจ็ท ไปจนถึงขวดซีอิ๊วที่ทำเลียนแบบรูปทรงปลาที่แถมมากับซูชิแบบห่อกลับบ้าน

แม้ภัยคุกคามหลักของนกอัลบาทรอสจะมาจากปัจจัยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมากกว่าเรื่องพลาสติก แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็ชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาซากนกอัลบาทรอสหลังดำทั้งหมด พบว่าลูกนกกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ และนกโตเต็มวัยอีกกว่า 89 เปอร์เซ็นต์ ครั้งหนึ่งเคยลิ้มรสขยะพลาสติกสมัยที่ยังมีชีวิต

 

‘ปะการัง’ ป่วยตายอย่างแช่มช้าด้วยพิษพลาสติก

ความตายของปะการัง สัตว์ทะเลขนาดเล็กในโครงสร้างแข็ง อาจสร้างความสะเทือนใจให้มนุษย์ได้ไม่มากเท่ากับความตายของสัตว์อื่นๆ เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า เงียบงัน และเล็กจิ๋วจนไกลสายตาคนส่วนมากจะมองเห็น

งานวิจัยเมื่อปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า พลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน (polypropylene) เช่น ฝาขวดน้ำหรือแปรงสีฟัน ที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยเฉพาะบริเวณแนวปะการัง เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคปะการังจาก 4 เป็น 89 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยชั้นดีของแบคทีเรียก่อโรค เช่น white syndrome ซึ่งจะทำให้ตัวปะการังบริเวณฐานหรือขอบก้อนปะการังค่อยๆ ตายลงกลายเป็นโครงหินปูนสีขาวไร้ชีวิต และเมื่อปะการังสูญเสียเนื้อเยื่อนั้นไปแล้วก็หมดโอกาสจะรักษาให้กลับคืน

ซ้ำร้าย งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในปีนี้ระบุว่า ปะการังบางชนิดดูจะชื่นชอบการกินไมโครพลาสติก (microplastic) หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เช่น เม็ดบีดในโฟมล้างหน้า หรือเม็ดสครับในเครื่องสำอางและยาสีฟัน มากกว่าอาหารตามธรรมชาติอย่างไข่กุ้ง นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกว่าพบไมโครพลาสติกในปะการังธรรมชาติ โดยพบเส้นใยพลาสติกขนาดเล็กมากกว่าร้อยเส้นในตัวอย่างปะการังจากนอกชายฝั่งโรดไอส์แลนด์ ใกล้เขตเมืองในสหรัฐอเมริกา

สิ่งมีชีวิตตัวน้อยอย่างปะการังธรรมชาติ ก็หนีไม่พ้นภัยพลาสติกขนาดจิ๋วเช่นกัน

 

‘ช้าง ช้าง ช้าง’ น้องเคยเห็นช้างคุ้ยขยะหรือเปล่า

ช้างที่อื่นอาจกินกล้วย อ้อย แตงโม หรือผักผลไม้อื่นๆ แล้วใช้ชีวิตจนหมดอายุขัย แต่ช้าง 6 ตัวที่อาศัยอยู่ในหลุมขยะที่ประเทศศรีลังกากินพลาสติก และเสียชีวิตลงด้วยอาหารที่ตัวเองย่อยไม่ได้

วสันตะ จันทระพละ (Wasantha Chandrapala) นักข่าวอิสระรายงานว่า หลุมขยะแห่งนี้มีหมา นก และช้าง เข้ามาคุ้ยขยะกินเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าขยะส่วนมากในนั้นจะเป็นพลาสติกหรือขยะเคมีมีพิษ ช้างศรีลังกาใช้งวงส่งเศษอาหารบูดสลับกับขยะในหลุมเข้าปากทีละชิ้นๆ ถึงแม้จะมีกลุ่มอนุรักษ์ที่พยายามป้องกันสัตว์เหล่านี้จากการกินขยะปนเปื้อน แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากหลุมขยะแห่งนี้ไม่ล้อมรั้ว ทำให้จำนวนสัตว์ที่ป่วยและตายไม่น้อยลง ซ้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังผ่าชันสูตรช้างป่าทั้ง 6 ตัว พบว่า ในท้องเต็มไปด้วยพลาสติกประเภทโพลีธีน (polythene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติก พลาสติกห่ออาหาร หรือขวดน้ำ

 

เสียงอุ๋งสุดท้ายของ ‘แมวน้ำ’ ท่ามกลางกองขยะ

ขยะพลาสติกไม่ได้ทำอันตรายให้กับสัตว์ทะเลด้วยวิธีการกินเข้าไปเท่านั้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มนักประดาน้ำอังกฤษเพื่อการกู้ภัยสิ่งมีชีวิตทางทะเล (British Divers Marine Life Rescue: BDMLR) มีโอกาสได้ทักทายแมวน้ำสีเทาจากชายฝั่งไกลๆ ตามที่มีคนแจ้งว่าพบเจ้าแมวน้ำมาเกยตื้นอยู่ใกล้ชายฝั่งบอสแคสเซิล ในเมืองคอร์นวอล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรือเข้าถึงได้ยาก แมวน้ำตัวนั้นอยู่ในสภาพถูกเศษขยะและเครื่องมือประมงเก่าพันตัวพะรุงพะรัง โชคร้ายที่ทีมนักประดาน้ำไม่สามารถออกเรือไปช่วยในทันทีได้

รุ่งเช้า ทีมนักประดาน้ำอังกฤษเพื่อการกู้ภัยสิ่งมีชีวิตทางทะเล ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยแมวน้ำแห่งคอร์นวอล (Cornwall Seal Group Research Trust: CSGRT) รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครพายเรือที่ชาวบ้านให้ยืมมาไปยังจุดที่พบแมวน้ำสีเทาเมื่อคืน แต่ไม่ว่าจะค้นหาสักเท่าไรก็ไม่พบ

จนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม กลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือก็ได้มีโอกาสพบแมวน้ำตัวเดิมอีกครั้ง มันยังคงมีขยะพันรอบคอ แต่วันนี้มันมาเกยตื้นทักทายกลุ่มอาสาสมัครในสภาพบาดแผลเต็มตัวและไร้ชีวิตเสียแล้ว

แมวน้ำไร้ชื่อตัวนี้ไม่ใช่ตัวแรกและตัวเดียวที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกและเครื่องมือประมงใช้แล้วในทะเล สถิติจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ในปี 2017 เครื่องมือประมงที่สูญหายหรือถูกทิ้งกลางทะเลมีน้ำหนักมากกว่า 600,000 ตัน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของขยะในทะเลทั้งหมด เครื่องมือประมงเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เป็น ‘ผีจับปลา’ (ghost fishing) ที่คอย ‘ดักจับ’ สัตว์น้ำให้หลงมาติดอวน พันตัว และคร่าชีวิตสัตว์น้ำแม้จะหมดอายุใช้งานไปแล้ว

 

‘ซีลาแคนธ์’ แข็งแกร่งกว่าไดโนเสาร์ พ่ายแพ้ให้ซองขนม

‘ปลาซีลาแคนธ์อินโดนีเซีย’ เป็น 1 ใน 2 สปีชีส์ของปลาซีลาแคนธ์ทั้งหมดที่เหลือรอดมาจนปัจจุบัน มันถูกเรียกว่าเป็น ‘ฟอสซิลมีชีวิต’ เนื่องจากเอาชีวิตรอดผ่านเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาได้ ในขณะที่สัตว์ที่ถือกำเนิดทีหลังอย่างไดโนเสาร์พ่ายแพ้ไปก่อน โดยมีผู้ค้นพบอีกครั้งเมื่อปี 1938 หลังจากถูกเข้าใจผิดว่าสูญพันธุ์ไปพร้อมไดโนเสาร์ตั้งแต่ 65 ล้านปีที่แล้ว

แม้จะเอาชนะการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลกมาได้ ในปี 2016 ชาวประมงอินโดนีเซียคนหนึ่งบันทึกภาพปลาโบราณชนิดนี้ไว้ว่า มีตัวหนึ่งตายลงแล้วเพราะขยะพลาสติกจากมนุษย์ ภาพซองขนม ‘เลย์’ รสโนริสาหร่ายที่วางขายทั่วไปอย่างที่เราเห็นเป็นจำนวนมาก เบียดซุกอยู่ในท้องปลาโบราณที่เหลืออยู่ไม่กี่ตัวบนโลก

ไม่มีข้อมูลว่าปลาซีลาแคนธ์ที่ตายไปอายุเท่าไหร่ แต่ความเก่าแก่ของทั้งตระกูลซีลาแคนธ์ก็ทำให้บริษัทเป็บซี่ (PepsiCo) บริษัทแม่ของเลย์ (Lay) ออกมายอมรับว่าภาพนั้น “น่าหดหู่” และบอกว่าเลย์จะปรับมาใช้ห่อบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ หรือด้วยกระบวนการทางชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Author

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า