ที่ อินโดนีเซีย มีวัฒนธรรมการทำงานแบบที่คล้ายคลึงกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทย) หลายๆ ประเทศ ซึ่งก็คือ ห้ามเพื่อนร่วมงานแต่งงานกัน หรือก็คือ ถ้าจะแต่งงานกันจริงๆ ใครคนใดคนหนึ่งต้องลาออกไป
โดยบริษัทส่วนใหญ่ที่มีวัฒนธรรมจนไปถึงขั้นข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ลักษณะดังกล่าวให้เหตุผลว่า การคบกันจะนำมาสู่การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก และจะทำให้บรรยากาศการทำงานดูไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียไม่ได้ตั้งใจจะให้หลายๆ บริษัทกระทำเช่นนั้น แต่เพราะรูรั่วหรือช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้บริษัทและองค์กรหลายๆ แห่งยกเอาช่องว่างนี้มาเป็นเหตุยกเลิกการจ้างงานพนักงานได้
กฎหมายแรงงานอินโดนีเซีย ตามมาตรา 153 บัญญัติไว้ว่า ห้ามองค์กรธุรกิจใดๆ ยุติการจ้างงานพนักงาน แม้ว่าพวกเขาจะมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นแต่ว่าจะมีข้อตกลงว่าด้วยการทำงานร่วมกัน หรือกฎและข้อบังคับขององค์กรฯเอง
และด้วยเหตุนั้นเอง จึงทำให้ช่องโหว่ที่บอกว่า “ยกเว้นแต่องค์กรจะมีกฎหรือข้อกำหนดการทำงานร่วมกันเอง” ส่งผลให้บรรยากาศโรแมนติกในออฟฟิศอินโดนีเซียค่อยๆ จางหายไป การคบกันในที่ทำงานกลายเป็นข้อห้าม และการตัดสินใจแต่งงานนำไปสู่การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะถูกยกเลิกการว่าจ้างไปโดยปริยาย
โดยมีการรายงานว่า การไฟฟ้าของอินโดนีเซีย PLN หรือ Perusahaan Listrik Negara ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ เคยไล่พนักงานออกด้วยเหตุผลดังกล่าวอย่างน้อย 200 คน ในหลายจังหวัดของอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งคู่รักที่ทำงานอยู่ภาคส่วนเดียวกันและคนละภาคส่วนแต่ต้องถูกยุติการว่าจ้างเพราะว่าทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียก็เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อกลางสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียกำลังตัดสินใจพิจารณากฎหมายแรงงานมาตรา 153 เสียใหม่ หลังกระแสชาวตากาล็อกจำนวนมากออกมาเรียกร้องมากขึ้นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“เพื่อนฉันหลายคนมากไม่ว่าจะที่ ยกยาการ์ตา บาหลี หรือแม้แต่ที่สำนักงานใหญ่อย่างจาร์กาตา ที่อยากแต่งงานต่างก็กำลังรอคอยการตัดสินใจของศาลครั้งนี้อยู่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง พวกเขาก็จัดงานแต่งกันทันที” จอนนี (Jhoni) พนักงานของ PLN กล่าวกับสื่อออนไลน์อินโดนีเซียอย่าง Kompas.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
vice.com
marilynstowe.co.uk