สหพันธ์อาหารโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา (Urban School Food Alliance : USFA) ประกาศ โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนรัฐบาล 6 รัฐคือนิวยอร์ค ลอสแอนเจลีส ชิคาโก ไมอามี ดัลลัส และ ออลันโด ต้องปลอดไก่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ
ในแต่ละวัน ทั้ง 6 รัฐจะเสิร์ฟมื้อกลางวันให้เด็กเกือบ 3 ล้านคน และหนึ่งในวัตถุดิบยอดฮิต ซึ่งถูกนำมาปรุงแทบจะทุกมื้อ คือ ไก่
เมื่อคำนวณจากงบประมาณการด้านอาหารมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี อุปสงค์ดังกล่าวจึงกลายตลาดใหญ่สำหรับไก่ และถ้าทั้งหมดเป็นไก่ปลอดสารปฏิชีวนะ ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่แบบปลอดสาร
“มาตรฐานเนื้อไก่ที่เราเรียกร้องจากผู้ประกอบการ คือให้สูงกว่ามาตรฐานไก่ที่ซื้อหาได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต การออกมาเคลื่อนไหวโดยสหพันธ์ฯ ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ มีความห่วงใยในสุขภาพของเด็ก” อีริค โกลด์สไตน์ ประธานสหพันธ์อาหารโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุ ทั้งนี้ โกลด์สไตน์ยังเป็นซีอีโอ หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่โรงเรียนในสังกัดกรมการศึกษาแห่งรัฐนิวยอร์ค รวมถึงหลายๆ รัฐ อาทิ โรงเรียนในลอสแอนเจลีล ชิคาโก ไมอามี ฯลฯ ด้วย
การยกระดับมาตรฐานด้านเนื้อไก่ครั้งนี้ พัฒนาและเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ด้วยความช่วยเหลือของสภาความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ( Natural Resources Defense Council) ที่ไม่เพียงประกาศกร้าว เลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเด็ดขาด ยังเรียกร้องให้มีมนุษยธรรมในการเลี้ยงไก่ ซึ่งควรเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ผัก,ผลไม้ ไม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากสัตว์ด้วยกัน
ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะที่ขายในสหรัฐอเมริกา 80 เปอร์เซ็นต์ใช้กับสัตว์ และสารเหล่านี้ ไม่ถูกใช้เพื่อรักษาสัตว์ป่วย ในทางกลับกันมันถูกใช้ผสมกับอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วย และ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ในสภาพที่ทุกตัวอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด
ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC เปิดเผยว่า ในแต่ละปี ประชากรอเมริกันประมาณ 2 ล้านคน เจ็บป่วยจากการติดเชื้อเนื่องจากการดื้อยาปฏิชีวนะ และในจำนวนนี้เสียชีวิต 23,000 คน
ไก่ที่ปลอดยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่โปรเจคท์เดียวที่ USFA จะเริ่มต้นในปีหน้า สมาชิกของสมาพันธ์ฯ ยังวางแผนเลิกใช้ ถาดอาหารที่ทำจากสารโพลิสไตรลีน (สารที่นิยมใช้ผลิตโฟมซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง) จำนวน 270 ล้านชิ้น และเปลี่ยนมาใช้ถาดที่ทำจากอ้อยแทน รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ก็พยายามหาชนิดที่ย่อยสลายได้มาทดแทน
อุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง คือ กำลังซื้อนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนี้ อาจสูงเกินไปสำหรับโรงเรียน 1 แห่ง แต่อย่างน้อยการรวมกันซื้อกับโรงเรียนจากรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐใหญ่อย่างชิคาโก้ ที่มีประชากรมากที่สุด อาจจะทำให้ง่ายมากขึ้น
“เราจ่ายค่าถาดโฟม ถาดละ 4 เซนต์ ขณะที่ถาดอ้อยที่ย่อยสลายได้ราคาถาดละ 15 เซนต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปริมาณการซื้อคือตัวพลิกเกม …เราต้องการสร้างรูปแบบตลาดใหม่ขึ้นมาเอง มากกว่าจมจ่อมอยู่ในตลาดที่มีคนคอยบอกว่าเราว่า มีอะไรขายบ้าง ” เลสลี่ย์ ฟาวเลอร์ ผู้อำนวยการ nutrition support services ในชิคาโกให้สัมภาษณ์นิวยอร์คไทมส์ปีที่แล้ว
***************************
(ที่มา : takepart.com)