ในความทรงจำและมิตรภาพกับโลกศิลปะของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์

‘Manuel Lutgenhorst: Behind the Scenes’ นิทรรศการในความทรงจำและมิตรภาพกับโลกศิลปะ นิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินผู้มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ โดยรวบรวมผลงานที่เขามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ในประเทศต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางยุโรป หรือแม้แต่ทางเอเชียเองก็ตาม นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ ศิลปินชาวเยอรมัน เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 1948 เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าและนักออกแบบแสง โดยมีโอกาสไปทำงานตามเมืองต่างๆ ในประเทศเยอรมนี เช่น เมืองคีล เนิร์นแบร์ก เบรเมน บาเซิล และที่ต่างๆ อีกมากมาย

ปี 1978 เขาเดินทางไปนิวยอร์คและได้ร่วมทำงานกับผู้กำกับละครคนสำคัญ อย่าง แฮโรลด์ ปรินซ์ (Harold Prince), ฟิลิป กลาส (Philip Glass), อังเดร เซอร์บาน (Andrei Serban) และ มาร์ธา คลาร์ก (Martha Clarke) ปี 1981 เขาได้รับรางวัล Obie Awards ในงานออกแบบฉากจากเรื่อง Request Concert ของ โจแอน อคาไลติส (JoAnne Akalaitis)

การเดินทางมาทำงานที่เอเชียครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อปี 1984 นับเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสำรวจละครเอเชียและโลกของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เขาอำนวยการสร้าง กำกับ และออกแบบเรื่อง Request Concert โดย ฟรานซ์ ซาเวียร์ โครทซ์ (Franz Xavier Kroetz) ในเมืองมุมไบ เชนไน กัลกัตตา จาการ์ตา โตเกียว และโซล และทำงานร่วมกับคณะละครมิชู ที่เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย

ในปี 1989 ลุทเกนฮอสท์ได้ก่อตั้งบ้านศิลปะโบนา หรือ ARTHOUSE BONA ในบาหลี โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนศิลปินต่างประเทศ และจัดเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติ BBB ในบาหลี เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และเบอร์ลิน และในปี 2015 เขาได้ออกแบบงานละครครั้งสุดท้ายในเรื่อง ขบวนการนกกางเขน ซึ่งเป็นโอเปร่าเด็ก กำกับโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง ซึ่งร่วมงานกันมายาวนาน และเป็นผู้แนะนำเขาสู่วงการละครไทยร่วมสมัย

ธันวาคม 2017 เขาได้จากลาโลกนี้พร้อมกับโรคร้าย ทิ้งไว้เพียงความทรงจำและมิตรภาพกับโลกศิลปะ

นิทรรศการครั้งนี้พาผู้ชมทำความรู้จักกับชีวประวัติของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ ผลงานความสำเร็จในช่วงชีวิตที่ฝากไว้ในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เขาเคยมีส่วนร่วมในการเป็น art director ในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ด เบิร์ด ที่มีการนำละครเข้าไปเล่นซ้อนในคอนเสิร์ต รวมถึงได้ออกแบบฉากละครเวทีอีกมากมายร่วมกับคณะละครสองแปด และ ยุทธนา มุกดาสนิท คนในวงการศิลปะไทยยกให้ลุทเกนฮอสท์เป็นผู้ยกระดับการออกแบบฉากละครเวทีเมืองไทยยุคต้นๆ

นอกจากนี้ภายในงานยังได้รวบรวมคนสำคัญในวงการศิลปะและสายบันเทิงมาร่วมวงสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ข้อสังเกตในการทำศิลปภาพยนตร์ศึกษา วิธีคิดออกแบบงานศิลปะกับการแสดงสดขนาดใหญ่ของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ มุมมองทางศิลปะในการทำละครที่มีรูปแบบแตกต่างกัน เป็นต้น

ลักขณา คุณาวิชยานนท์ มิตรสหายของลุทเกนฮอสท์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานนิทรรศการ บอกเล่าถึงความตั้งใจในการจัดงานในครั้งนี้ว่า “นอกจากความเป็นเพื่อน เราก็เห็นถึงความรู้ความสามารถ และความพิเศษในมุมของมานูเอล ซึ่งน้อยคนนักที่เราจะเห็นคนที่ทำงานสร้างสรรค์อยู่หลังฉาก คนที่ทำงานอยู่หลังเวที ออกแบบงานใหญ่ๆ ไว้มากมาย แต่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จักเขา แล้วเขาก็จากไปในเวลาที่เร็วไปนิดหนึ่ง และรู้สึกว่าผลงานของเขานั้นมีคุณค่า มันมีหลายๆ อย่างที่เราน่าจะเอากลับมาถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ๆ ได้เห็น

“สิ่งที่ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้เรียนรู้ก็คือ การทำงานละครเวที หรือการทำงานเบื้องหลังละคร มันมีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่จะสามารถทำออกมาแล้วทำให้สำเร็จ การที่เราจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างใหญ่นั้น เราควรจะต้องมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้วย การที่เราเป็นคนไร้กรอบนั้นมันทำให้เกิดพลังในการทำงาน เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าบางทีเราต้องออกนอกกรอบบ้างอย่างที่มานูเอลเป็น”

ลักขณา คุณาวิชยานนท์

 

ทิ้งท้ายด้วยการพูดคุยและตอบคำถามของ สิงห์ เลออนฮาร์ด ลุทเกนฮอสท์ บุตรชายวัย 22 ปี ของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ เล่าถึงเรื่องราวของพ่อ ที่เป็นสมือนเพื่อนและครูในคนเดียวกัน

“ผมเองรู้สึกว่าตัวเองเป็นผลงานของพ่อเช่นกันที่จะไม่ใช่อยู่แต่ในอดีต แต่ผมจะเดินไปข้างหน้า และหวังว่าผมจะเป็นผลงานที่ดีอีกหนึ่งชิ้นของพ่อได้เหมือนกัน”

สิงห์กล่าวในวันเปิดนิทรรศการว่า พ่อของเขาค่อนข้างใช้ชีวิตอย่างไร้กรอบ และเป็นคนที่เข้าใจยากและเข้าถึงไม่ค่อยได้ ไม่ยอมอยู่ภายใต้การควบคุมหากสิ่งนั้นมันไม่ได้ทำให้เขามีความสุข แม้แต่โรคร้าย อย่างโรคมะเร็งเองก็ไม่สามารถกำหนดการใช้ชีวิตของเขาได้ เขาปฏิเสธการทำคีโม เขาเลือกที่จะศึกษาทำความเข้าใจด้วยตนเอง ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องอาหารการกินต่างๆ สิ่งเหล่านี้เองทำให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้เกือบห้าปี

สิงห์ เลออนฮาร์ด ลุทเกนฮอสท์

นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร

“งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่ออยากจะส่งต่อแนวความคิดบางอย่างของพ่อที่เขามีในการจัดการกับปัญหา หรือว่าในการที่เขาตัดสินใจใช้ชีวิตหลายๆ อย่าง ผมอยากส่งต่อความหลากหลาย ความไร้กรอบของเขาให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้เอามาใช้ และคาดหวังว่าคนที่มางานจะได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

“ที่จริงแล้วชีวิตของเรามีความหลากหลายกว่าที่เราคิด มันมีทางออกอยู่มากมายในชีวิตที่เราอาจจะลืมคิดไปหรือคิดไม่ถึง เพราะว่าในแนวความคิดภายในสังคมเราค่อนข้างจะถูกสอนในเส้นทางที่ถูกปูมาแล้ว ซึ่งจริงๆ มันอาจจะมีถนนอีกหลายเส้นที่เราไม่เคยไป ถ้าเราออกมาเราจะพบว่ามันจะมีเส้นทางอีกหลายๆ เส้นที่เราเลือกเดินได้”

ในผลงานที่หยิบยกมาแสดงในงานนิทรรศการ ส่วนตัวชื่นชอบผลงานชิ้นไหนของพ่อมากที่สุด

“นิทรรศการในครั้งนี้ผมแยกผลงานไว้เป็นประเทศ เพื่อที่จะนำเสนอความหลากหลายที่ไม่ได้อยู่ในกรอบอย่างเดียว โดยส่วนตัวผลงานที่ประทับใจจะเป็นผลงานที่นิวยอร์ค คือเขาเคยทำงานที่บรอดเวย์มาก่อน และเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การแสดงละครในฉากแต่งงาน เขาจะเอาคู่รักจริงๆ ไปเล่นบนละครเวที และเขามีการคิดการตัดสินใจที่ค่อนข้างอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง หาชีวิตที่มีอยู่จริง ไม่ได้สร้างมันขึ้นมาเพื่อความสวยงาม”

หนึ่งในละครที่นำมาแสดงในงานนิทรรศการ เรื่อง Falcon ทำไมถึงต้องเป็นเรื่องนี้

Falcon เป็นงานที่เขาทำไม่เสร็จ บทก็ไม่เสร็จ มันเป็นงานที่เขาทำออกมาแล้วยังไม่ถึงจุดที่ต้องการให้มันเป็น ซึ่งละครเรื่องนี้เป็นเหมือนการทดลอง ยังไม่ได้เอาออกมาใช้จริง เป็นสิ่งที่เขาอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ”

ได้เรียนรู้อะไรจากพ่อบ้าง

“ได้เรียนรู้แทบจะทุกอย่างเลย เขาคือครูที่สามารถสอนเราให้เข้าใจบางอย่างโดยที่เราคิดว่าเป็นความคิดของตัวเอง เวลาผมคุยกับเขา เขาไม่เคยตอบเราด้วยคำตอบเลย เขาจะตอบเราด้วยคำถาม เขาจะใช้คำถามตบทุกอย่างออกไปจากหัวเราก่อน ให้เราไปคิดหาคำตอบเอง แล้วเอาคำถามนั้นกลับมาคิด ปลูกฝังเมล็ดบางอย่างเข้าไปในหัวของเรา แล้วสุดท้ายก็ทำให้เรารู้สึกว่าไอเดียที่เราได้คือไอเดียที่เกิดจากการคิดของเราเอง สำหรับผม พ่อไม่เคยจากไปไหนจริงๆ”

ก่อนที่จะเสียชีวิตพ่อได้ฝากอะไรถึงคุณบ้าง

“เขาบอกผมว่า ทำอะไรก็ได้ แต่อย่ากลัว สามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ ไม่มั่นใจในตัวเองได้ แต่ขออย่างเดียวคืออย่ากลัว เขาบอกว่าเขาไม่เคยกลัวอะไรที่จะเกิดขึ้นเลย เขาไม่กลัวความตายเลยเพราะแม้ว่าเขาจะเอาชนะมันไม่ได้เขาก็ไม่มีอะไรให้ห่วง” สิงห์ ทายาทของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ ทิ้งท้าย

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า