“พี่น้องเอ๊ย… พม่าไม่ได้เผากรุงศรีฯ แต่พม่าเป็นคนสร้างกรุงเทพฯ” เสียงป่าวประกาศผ่านลำโพงก้องดังไปตามทางระหว่างแยกราชประสงค์ ขณะที่เครือข่ายผู้ใช้แรงงานระหว่างไทยและเมียนมา จัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล เคลื่อนขบวนผ่านห้างนายทุนที่รายล้อมเพื่อมุ่งหน้าหอศิลป์เนื่องในวันแรงงานสากล หรือ MAY DAY
หากมองผ่านๆ อาจเข้าใจผิดว่านี่คือการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยของพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในไทย ซึ่งในความจริงแล้วก็ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะปัจจุบันสถานการณ์การเมืองในพม่าก็ยังคงคุกรุ่นอยู่ตลอด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานก่อสร้างตึกและถนนหนทางในกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง
“เราทุกคนคือแรงงาน” จึงไม่ได้เป็นแนวคิดที่จำกัดอยู่แค่คนในประเทศที่มีเชื้อชาติไทย หากแต่รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่ส่วนใหญ่เจอปัญหาที่หนักกว่าที่คนไทยเจอด้วยซ้ำ
สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาผมระหว่างเข้าไปคลุกตัวในวงชุมนุม คือการที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายคนใส่เสื้อลายขบวนการ 5 สีดังภาพที่เห็น ด้วยข้อจำกัดทางภาษาทำให้ผมไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เขียนอยู่บนเสื้อได้… กุมความสงสัยไปได้สักพักผมก็ได้เจอกับพี่โฆษกคนหนึ่งที่พูดภาษาไทย ผมเลยเข้าไปชวนคุยเรื่องเสื้อตัวดังกล่าว
“มันมี work permit พาสปอร์ตแดง CI พาสปอร์ตอีก บัตรชมพูอีก มันเลยเหมือนพาวเวอร์เรนเจอร์เนาะ” พี่โฆษกพูด “มันมี 4-5 ใบ พอเราต้องทำทุกใบมันเลยเปิดช่องทางให้หน่วยงานหรือคนที่หากินกับแรงงานข้ามชาติหากินกันได้ง่ายขึ้นครับ เพราะฉะนั้นเราเลยอยากได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ดูสิครับพาสปอร์ตห้าหกอันแทนที่จะทำแค่อันเดียว”
“เห็นว่าเสียค่าทำเยอะด้วยใช่ไหมครับ”
“ราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้จริงๆ ไม่ถึงหมื่นครับ แต่เราต้องเสียค่าทำตกที่คนละสองหมื่นกว่าบาท เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้เรายิ่งยอมไม่ได้เลย วันนี้เป็นวันแรงงาน เรามีสิทธิ์ที่จะพูดได้เต็มที่ว่าปัญหาของเราคืออะไรครับ”
การร่วมชุมนุมเพื่อฟังปราศรัยจึงเหมือนเป็นการพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่แต่ละฝ่ายเจอ รวมไปถึงการพูดคุยถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเนื่องในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในอีกสิบสามวันต่อจากนี้
ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของแรงงาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมและให้ความสนใจ
เพราะเราทุกคนคือแรงงานเหมือนกัน