ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute: JELI) ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร เคยสัมผัสประสบการณ์มาแล้วหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักเขียน นักวิชาการ วิทยากรออกแบบกิจกรรมเวิร์คช็อป ไปจนถึงนักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับองค์กรด้านแรงงานหลายแห่ง เช่น เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ
ปี 2561 ดร.เกรียงศักดิ์ก่อตั้งสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเน้นหลักความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ (solidarity economy) โดยแบ่งบทบาทเป็นทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่ออำนวยให้แรงงานกลุ่มต่างๆ สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง
ต้นปี 2563 ดร.เกรียงศักดิ์เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราว ก่อนจะต้องเปลี่ยนแผนอยู่ยาวเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19
1 พฤษภาคม วันแรงงานสากลปีนี้ เขาจึงมีโอกาสรำลึกถึงขบวนการแรงงานในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของการปักหมุดวันแรงงานในปฏิทินโลก แต่ไม่มีการเฉลิมฉลองวันแรงงานด้วยเหตุผลทางการเมือง
เขาเล่าว่าแรงงานในสหรัฐอาจฉลอง Labor Day ในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนแทน เพื่อลดความสำคัญของวัน May Day ที่เคยมีประวัติศาสตร์ผูกโยงกับการชุมนุมเพื่อสิทธิแรงงานในเหตุจลาจลเฮย์มาร์เก็ต ซึ่งรัฐใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมและประหารชีวิตผู้นำแรงงาน รวมถึงสมาชิกฝ่ายซ้ายหลายราย นั่นทำให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีถูกเปลี่ยนเป็น ‘วันแห่งความจงรักภักดีต่อชาติ’ (Loyalty Day) สำหรับคนสหรัฐแทน
แต่ไม่ว่า ‘วันของแรงงาน’ จะเป็นวันที่เท่าไหร่ เกรียงศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าวันที่คือการระลึกถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน
“เราควรตระหนักถึงคุณูปการของการต่อสู้ที่ผ่านมาของขบวนการแรงงาน ที่ผลักดันสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของแรงงาน สิทธิของผู้หญิงในการลาคลอด ฯลฯ ซึ่งเรามักไม่พูดถึงกัน ในขบวนการแรงงานมีการพูดกันมานานแล้วว่าทุกคนได้รับประโยชน์จากขบวนการนี้”
จากกำเนิดขบวนการแรงงานในสหรัฐ ถึงวันที่เศรษฐกิจเปลี่ยนรูปแบบ
การขยายตัวของการผลิตแบบอุตสาหกรรม มาพร้อมกับสภาพการทำงานที่เร่งขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการทำงานวันละกว่าสิบชั่วโมง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันหยุด หรือการไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากนายจ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 สหพันธ์แรงงานในสหรัฐและแคนาดานัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องสัดส่วนการทำงานแบบ ‘8-8-8’ คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง มีเวลาให้คนงานพักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีเวลาศึกษาหาความรู้อีก 8 ชั่วโมง การชุมนุมอย่างสงบกินเวลาไปจนถึงวันที่ 3 ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งนำไปสู่การนัดชุมนุมใหญ่ในชิคาโกที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ศูนย์กลางการค้าของชิคาโกในสมัยนั้น เพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่
การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ กระทั่งมีผู้ปาระเบิดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต นำมาซึ่งการยิงตอบโต้จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และการยิงสวนเพื่อป้องกันตัวจากกลุ่มผู้ชุมนุมบ้างประปราย ก่อนจบลงที่ความตายของคนงานที่ร่วมชุมนุม 4 ราย อีก 7 รายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมอีกหลายชีวิตบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ข้อเรียกร้องของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกถูกตอบสนองด้วยการมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม
เวลาผ่านไป รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ได้ดำเนินการผลิตในลักษณะโรงงานเดี่ยวอีกแล้ว แต่มีการแยกและรับจ้างผลิตชิ้นส่วนเป็นทอดๆ ที่เรียกว่าห่วงโซ่อุปทาน ตามแต่การพิจารณาว่าทำเลที่ตั้งใดจะเหมาะกับการผลิตชิ้นส่วนใด เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด
“ตั้งแต่ทศวรรษ 70 เป็นต้นมา เกิดการย้ายฐานการผลิตออกไปนอกสหรัฐ เช่น เราจะเห็นว่าสินค้าจำนวนมากที่มีการบริโภคกันในซีกโลกตะวันตก แท้จริงแล้วผลิตจากประเทศจีน”
แนวคิดการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานทำให้สินค้าชิ้นหนึ่งอาจถูกกระจายชิ้นส่วนแบ่งย่อยไปผลิตในหลายประเทศ ก่อนจะนำกลับมาประกอบรวมกันในประเทศใดประเทศหนึ่ง การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนที่มันจะชะงักลงเพราะมีคำสั่งปิดเส้นทางคมนาคมเนื่องจาก COVID-19
ดร.เกรียงศักดิ์เล่าว่า งานใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นหลังทศวรรษที่ 70 ส่วนมากเป็นงานภาคบริการ แต่เมื่อทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา โครงสร้างเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เกิดการปฏิวัติระบบขนส่ง (logistic revolution) ที่พลิกการขนส่งจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยวิธีคิดแบบ ‘ส่งถึงทันใจ’ หรือ just-in-time ที่ทำให้วัตถุดิบและสินค้าทุกประเภทไม่ถูกเก็บสต็อกในโกดังเลย การสั่งซื้อสินค้าพึ่งพิงอยู่กับระบบขนส่งเป็นหลัก เมื่อมีผู้สั่งซื้อ สินค้าหรือวัตถุดิบนั้นจึงจะถูกขนส่งไปถึงมืออย่างตรงเวลา เช่น บริการของ Amazon
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้งานจำนวนมากตกอยู่ในภาคการขนส่ง แต่ความเคร่งครัดของงานที่ต้องส่งของให้ทันตามความยืดหยุ่นของคำสั่งซื้อที่ไม่คงที่ ทำให้งานขนส่งจำนวนมากกลายเป็นงานที่ไม่มั่นคง ขบวนการแรงงานในสหรัฐจึงตื่นตัวมากที่จะเข้าไปจัดตั้งแรงงานกลุ่มนี้
ดร.เกรียงศักดิ์เล่าว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อนได้เข้าอบรมการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการรณรงค์ที่สหรัฐอเมริกา โดยอบรมร่วมกับกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยตรง ระหว่างการอบรมก็ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งคนงานกลุ่ม Teamster ซึ่งเป็นสหภาพคนงานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และจริงจังที่จะจัดตั้งคนงานกลุ่มทำงานในโกดังและกลุ่มคนขับรถบรรทุก
“ผมสังเกตมาตั้งแต่หลายปีก่อนจนถึงทุกวันนี้ คนขับรถบรรทุกที่มีรถเป็นของตัวเองถึงกับต้องเข้าไปประมูลงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ต่างจากคนงานทำความสะอาด หรือคนส่งอาหารตามแอพพลิเคชั่น กลายเป็นว่างานถ่ายโอนความรับผิดชอบมหาศาลไปยังคนขับรถบรรทุกแต่เพียงผู้เดียว คนขับรถจำนวนมากเองก็รู้สึกว่าถูกกดขี่ขูดรีดมาสักพัก ส่วนพนักงานทำงานในโกดังก็มีลักษณะคล้ายกัน ผมไม่แน่ใจ แต่คิดว่าเป็นสัญญาจ้างแบบรายวัน ช่วงที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้จึงมีการจัดตั้งค่อนข้างสูง”
ดร.เกรียงศักดิ์เสริมว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานร้านค้าปลีกในสหรัฐ กลายเป็นอีกยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ขบวนการแรงงานให้ความสนใจเช่นกัน โดยอาศัยการรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่ได้ยินว่านายจ้างในหลายสถานประกอบการที่พยายามนำเสนอภาพลักษณ์ว่า เป็นธุรกิจที่มีจริยธรรมและส่งเสริมความยั่งยืน เช่น แบรนด์เสื้อผ้า Everlane, ซูเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติ Whole Foods Market หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาทั่วประเทศและได้รับความนิยมในบรรดาคนชั้นกลางสหรัฐอย่าง Trader’s Joe กลับพยายามขัดขวางการก่อตั้งของสหภาพแรงงาน
‘Essential Workers’ ในยุค COVID-19
คำสั่งปิดร้านค้าบางกิจการในสหรัฐอเมริกา นอกจากจะส่งผลให้กระแสบริโภคนิยมล้นเกินในประเทศปรับตัวลดลง ดร.เกรียงศักดิ์ยังเห็นว่าในคำสั่งปิดร้านค้าที่มีเงื่อนไขว่าให้เปิดได้เฉพาะกิจการเท่าที่จำเป็น ก็ยิ่งฉายให้เห็นชัดว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันขับเคลื่อนได้โดยคนกลุ่มไหนเป็นเบื้องหลัง โดยมองจากคนงานที่ยังยืนหยัดทำงานตามปกติแม้จะถูกรายล้อมไปด้วยโรคระบาด
“เราเห็นชัดว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันจริงๆ ผมคิดว่าในสหรัฐก็จะเห็นอยู่ 3-4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือแรงงานแนวหน้าในระบบสาธารณสุข เช่น พยาบาล แพทย์ พนักงานขับรถฉุกเฉิน กลุ่มถัดมาคือแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน แรงงานขนส่ง-บรรทุกของ และแรงงานในโกดังที่ต้องทำงานหนักมาก คนกลุ่มนี้กำลังจะนัดสไตรค์ทั่วประเทศ กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มบริการสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง ประปา ไฟฟ้า ตำรวจ ดับเพลิง รวมถึงไปรษณีย์”
essential worker หรือคนทำงานในกิจการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน มีคำนิยามไม่ตายตัว ในประเทศสหรัฐ การอนุญาตให้แรงงานกลุ่มใดบ้างมีสิทธิมาทำงานในช่วงเวลานี้อาจขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละรัฐ
“อย่างบ้านเรา ผมเพิ่งอ่านข่าวเมื่อวานว่าจะเปิดบริการสนามกอล์ฟและร้านตัดแต่งขนสุนัขในกรุงเทพฯ ผมยังคิดว่าการนิยามคงขึ้นอยู่กับว่าใครนิยาม (หัวเราะ)”
เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา มีรายงานว่ามียอดผู้ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการรัฐกรณีว่างงานแล้วกว่า 26 ล้านคน กลายเป็นความอุ่นใจว่าในระหว่างการระบาดของโรค COVID-19 อย่างน้อยคนงานในกิจการจำเป็นเหล่านี้ยังคงได้รับการการันตีว่ายังมีงานทำ ขณะเดียวกันการทำงานท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในสหรัฐ ก็กลายเป็นความอุ่นใจที่มีรสขมเจือ เพราะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงว่าตนอาจติดเชื้อเข้าสักวัน
ดร.เกรียงศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าประชาชนเริ่มมีความตื่นตัว และเห็นคุณค่าของคนงานในกิจการจำเป็นมากขึ้น แต่ความรู้สึกขอบคุณอาจยังไม่พอต่อชีวิตของคนงานเหล่านี้ เมื่อสำนักข่าวท้องถิ่นในเมืองฟิลาเดลเฟียรายงานว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ ดร.เกรียงศักดิ์เคยไปใช้บริการจับจ่ายซื้อของ มีคนทำงานออกมาชูป้ายประท้วงว่าพวกเขาทำงานบนความเสี่ยง ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เหมาะสม เช่น หน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือ ทั้งที่หากยืนยันว่ากิจการดังกล่าวต้องเปิดเพราะมีความจำเป็นต่อการยังชีพ ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคให้แรงงานเหล่านี้
“ผมประทับใจสิ่งที่คนงานคนหนึ่งพูดในข่าวมาก — และในเวลาต่อมาก็มีแพทย์อีกหลายรายที่พูดแบบนี้ เขาบอกว่า ‘I did not sign up for this.’ หรือแปลว่าไม่มีใครอยากเป็นฮีโร่ด้วยการทำงานในช่วงเวลาแบบนี้ ถ้าเขามีสิทธิที่จะลาโดยได้รับค่าแรง ถ้าเขามีเงินเก็บ มีสวัสดิการที่ดี เขาก็คงไม่ต้องออกมารับความเสี่ยง
“เช่นกัน คนหาเช้ากินค่ำก็พูดว่า ที่ยังมาทำงานอยู่ก็เพราะว่ามันจำเป็นที่จะต้องทำงาน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว สะท้อนความไม่มั่นคงในชีวิต หลายคนต้องมีชีวิตอยู่แบบ paycheck-to-paycheck (เดือนชนเดือน) หรือตามศัพท์ไทยที่บอกว่า ‘หาเช้ากินค่ำ’ จริงๆ ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงานก็ไม่มีอะไรกิน”
จากการติดตามข่าวสารทั้งในไทยและสหรัฐ เกี่ยวกับกรณีที่มีผู้เดือดร้อนหลายรายจำต้องแบกหน้ามาขอความช่วยเหลือจากรัฐ ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่าเมื่อเทียบกันแล้ว ระบบจ่ายเงินช่วยเหลือของสหรัฐอาจมีประสิทธิภาพกว่าไทย แม้ว่าจะพบเจอปัญหาติดขัดบางประการร่วมกันก็ตาม เช่น การลงทะเบียนออนไลน์มีความยากลำบาก ระบบล่ม ต้องใช้เวลาลงทะเบียนเป็นค่อนวัน หรือมีคนที่รอเงินช่วยเหลือแล้วยังไม่ได้รับ สุดท้ายก็มีคำอธิบายออกมาว่าเป็นปัญหาที่ประเภทของบัญชีธนาคาร
“ผมคิดว่าเงินช่วยเหลือคนตกงานของสหรัฐอเมริกายังดีกว่า และทำให้คนรู้สึกมีเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่านี้ ของเมืองไทยผมว่ามันให้ความรู้สึกราวกับคนรอรับนั้นไร้เกียรติและศักดิ์ศรี ผมคิดว่าเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงหมดหวัง หรือรู้สึกสูญเสียถึงขนาดกินยาฆ่าตัวตาย”
เขายืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่รัฐปล่อยให้ประชาชนเป็นฝ่ายร้องขอ เพราะการช่วยเหลือประชาชนในยามทุกข์ยากเป็นความรับผิดชอบของรัฐ และการจะได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้นก็เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงจะได้จากรัฐอยู่แล้ว
“การประท้วงของกลุ่มคนงานในกิจการสำคัญจึงเปิดให้สังคมได้รับรู้ปัญหาอื่นๆ อีกมากในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ทุกวันนี้สิทธิประกันสุขภาพผูกกับสถานะการมีงานทำ ใครไม่มีงานก็ไม่มีประกันสุขภาพ หรือชนชั้นแรงงานและผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากไม่มีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง ทำให้เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสิทธิแรงงานทั้งนั้น ถ้าระบบสวัสดิการสมบูรณ์ก็คงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้อง”
เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากกลุ่มทุนเอกชนในฐานะนายจ้าง ดร.เกรียงศักดิ์ให้ความคิดเห็นว่าไม่ต่างกับประเทศไทยมากนัก เช่น บริษัท Amazon ที่ทำรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดเพราะประชาชนส่วนใหญ่จับจ่ายซื้อของจากช่องทางออนไลน์อยู่กับบ้าน ก็ยังไม่มีการออกมาตรการสนับสนุนแรงงานที่เพียงพอ แต่คนงานอาจได้รับความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมหรือกลุ่มแรงงานที่จัดตั้งกันเองอย่างไม่เป็นทางการเข้ามาเสริมแทน ซึ่งในบางครั้งก็กลายเป็นว่าการช่วยเหลือกันเองระหว่างคนงานดีกว่าความช่วยเหลือจากรัฐและเอกชนด้วยซ้ำไป
ความท้าทายของขบวนการแรงงานบนเศรษฐกิจใหม่ในยุคโรคระบาด
จากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์ม (platform economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงงานทำงานเป็นรายชิ้น (gig worker) เช่น พนักงานส่งอาหาร แม่บ้านผ่านแอพพลิเคชั่น ดร.เกรียงศักดิ์เห็นว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังมีอุปสรรคในการรวมตัวกับแรงงานที่ทำงานออนไลน์อย่าง cloud work หรือแรงงานอิสระอย่าง freelance ด้วยลักษณะความต่างทางชนชั้นของแรงงานแต่ละกลุ่ม ด้วยความที่แรงงานทำงานรายชิ้นอาจมีลักษณะเป็น ‘แรงงานหาเช้ากินค่ำ’ ในขณะที่แรงงาน cloud work และ freelance นั้นพ่วงมาด้วยอุดมการณ์และเป้าหมายบางอย่างในการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้แรงงาน 2 กลุ่มหลังยังเป็นแรงงานที่มีความเป็นปัจเจกสูง มักไม่เชื่อเรื่องการรวมกลุ่มต่อรอง เมื่อเทียบกับแรงงานทำงานรายชิ้นที่ถึงแม้จะไม่เชื่อเรื่องการรวมกลุ่มนัก แต่ก็มักมีสหภาพหรือกลุ่มชุมชนเข้ามาช่วยเหลือจัดตั้ง การศึกษาขบวนการแรงงานในเศรษฐกิจใหม่ (new economy) ของ ดร.เกรียงศักดิ์จึงเน้นไปที่แรงงานทำงานรายชิ้น ซึ่งมีลักษณะแยกออกไปจากขบวนการแรงงานแบบดั้งเดิม
“มีคนพูดเหมือนกันว่าขบวนการแรงงานคงตามไม่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ คล้ายกับในไทยและหลายประเทศที่ขบวนการแรงงานเติบโตบนฐานของการนิยามงานและคนงานแบบดั้งเดิม”
ขบวนการแรงงานแบบใหม่นี้มีคนในภาคธุรกิจขนส่งเป็นศูนย์รวมของการจัดตั้ง ดร.เกรียงศักดิ์เปรียบโรคระบาด COVID-19 ว่าเป็นเสมือนไฟฉายส่องให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในกิจการสำคัญ 3 กลุ่ม เห็นภาพว่าระบบการบริโภคแบบ ‘ต้องได้-ต้องมีตอนนี้’ (on demand consumption) เมื่อถึงที่สุดแล้วจะหน้าตาเป็นอย่างไร และในระบบการบริโภคแบบนี้ตนถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร เช่น การเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนคำสั่งซื้อสินค้าที่ต้องรีบส่งให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างทันเวลา
เขายกตัวอย่างการตื่นตัวของคนงานในโกดัง Amazon และกิจการอื่นๆ เช่น FedEx ที่มีแผนเตรียมนัดหยุดงานพร้อมกันในที่ 1 พฤษภาคม เพื่อประท้วงให้กับผลกำไรของบริษัทที่พุ่งสูงขึ้นในยุค COVID-19 ระบาด ในขณะที่คนงานทำงานหนักขึ้นในสภาวะเสี่ยงมากกว่าปกติ
“มีผู้กล่าวไว้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมในต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้คนในยุโรปตื่นตัว มีการขับเคลื่อนขบวนการแรงงานไปสู่รัฐสวัสดิการ ในตอนนี้ก็อาจเป็นสถานการณ์คล้ายกันในอีกยุคหนึ่งที่ทำให้เห็นขบวนการแรงงานแบบใหม่ บนความสัมพันธ์ของการจ้างงานแบบใหม่”
อย่างไรก็ตาม ดร.เกรียงศักดิ์ยอมรับว่า แม้จะมี COVID-19 เป็นไฟฉายส่องให้คนงานตระหนักถึงสภาวะถูกขูดรีด แต่การจัดตั้งและรวมกลุ่มคนทำงานรายชิ้นเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างยังเป็นไปได้ยาก ด้วยเงื่อนไขหลายประการ เช่น การรวมกลุ่มทำได้ยาก งานรายชิ้นมีความไม่มั่นคง เสี่ยงถูกเลิกจ้างได้ง่าย หรือเงื่อนไขสำคัญอย่างคนทำงานรายชิ้นไม่ได้รับการยอมรับในฐานะ ‘คนงาน’ ของแอพพลิเคชั่น แต่มีการเลี่ยงไปใช้คำว่าหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์แทน ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มาพร้อมคำถามที่ว่า นักกิจกรรมควรเข้าไปจัดตั้งแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร หรือควรแก้ปัญหาสถานะการจ้างงานก่อน เช่น แก้ไขกฎหมายให้แรงงานได้รับการยอมรับเป็นพนักงานบริษัทก่อน แล้วจึงเริ่มงานจัดตั้ง
“ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนทำงานรายชิ้นคือการรวมตัว และความตระหนักถึงอำนาจในทางเศรษฐกิจของตนที่จะควบคุม-ขัดขวางการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการให้ชะงักงันได้ เหมือนกับคนงานในโรงงานเคยคิดวิธีต่อรองด้วยการผละงาน การนัดหยุดงาน แต่คงต้องมีการทดลองและเรียนรู้ต่อไปว่าคนทำงานรายชิ้นจะมียุทธวิธีอย่างไรในการต่อรองสิทธิแรงงาน แม้แต่คนจัดตั้งแรงงานเองก็ต้องเรียนรู้ เช่น มีกลุ่มหนึ่งพยายามใช้แอพพลิเคชั่นในการจัดตั้งพนักงานส่งอาหารในอังกฤษ แต่ก็ยังไปได้ช้า”
หลังจากนี้ ‘ความปกติ’ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในขณะที่หลายคนภาวนาให้โรคระบาด COVID-19 รีบๆ ผ่านพ้นไปเพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิต ‘ตามปกติ’ ดร.เกรียงศักดิ์กลับมองว่า เรามาถึงจุดที่จะกลับไปเป็น ‘ปกติ’ ไม่ได้อีกแล้ว แต่จำเป็นต้องละทิ้งปัญหาสะสมแบบเดิมๆ ที่กดทับสิทธิแรงงาน เอาชนะความกลัวการเปลี่ยนแปลงแล้วรื้อระเบียบเศรษฐกิจใหม่
ดร.เกรียงศักดิ์ยกตัวอย่างของ เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ที่ถอนตัวจากการเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งแคนดิเดทในนามพรรคเดโมแครต เขามองว่าภาวะ COVID-19 ทำให้ผู้คนเห็นปัญหาที่แซนเดอร์สพยายามรณรงค์มานานอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น นโยบายสิทธิประกันสุขภาพในฐานะสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน หรือ medicare for all แต่ยิ่งตระหนักรู้ชัดเจนมากเท่าไหร่ ความหวาดกลัวของคนบางกลุ่มต่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งเพิ่มเท่าทวีคูณ
“เสียดายมากที่วิกฤตินี้เข้ามาแทรกแซงหลายเรื่อง ทำให้คนวิ่งเข้าหาทางเลือกที่คุ้นเคยด้วยความกลัวการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าประชากรแอฟริกัน-อเมริกันในหลายรัฐหันไปเลือก โจ ไบเดน (Joe Biden: แคนดิเดทจากพรรคเดโมแครตเพื่อท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) ด้วยความกลัวเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ผมว่ายิ่งทำให้เห็นว่า แนวคิดรัฐสวัสดิการ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ อย่างที่ไทยพยายามเรียกร้องอยู่ตอนนี้จำเป็นยิ่งยวด ทุกคนควรมีโดยไม่ถูกจำกัดจากเงื่อนไขสถานะการจ้างงาน หรือเงินเดือน
“ถ้าผ่านช่วงนี้ไปแล้ว แทนที่เราจะรีบกลับไปสู่ภาวะปกติ ผมคิดว่าเราควรมองย้อนกลับมาตั้งสติเพื่อคุยกันว่า ความหมายของ ‘ภาวะปกติ’ แท้จริงแล้วมีความไม่ปกติอยู่สูงมาก จะดีเหรอที่เราจะกลับไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร
“ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นชัดๆ เลยว่าปัญหาของการไม่มีระบบสวัสดิการ การเข้าไม่ถึงบริการรัฐ ความมั่นคงและความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ แสดงออกมาอย่างไรกับกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะที่เมืองไทยหรือสหรัฐอเมริกา สุดท้ายแล้วคนที่แบกรับภาระในช่วงนี้คือคนหาเช้ากินค่ำ คนรายได้ต่ำ ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากลัวก็คือการกลับไปสู่ภาวะปกติ เป็นเรื่องน่ากลัวนะถ้าเราจะผ่านวิกฤติ COVID-19 ไปได้โดยที่ไม่เปลี่ยนโครงสร้างอะไรเลย”
อ้างอิง |