รัชกาลที่ 6 กับขบวนการวันที่ 4 พฤษภาคม: ความเป็นสมัยใหม่ ณ ทางแพร่งแห่งยุคสมัย

ความเข้าใจโดยทั่วไป ขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักศึกษาเพื่อประท้วงท่าทีของรัฐบาลจีนต่อสนธิสัญญาแวร์ซาย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อการปล่อยให้รัฐบาลญี่ปุ่นยึดครองเมืองซิงเต่า ในมณฑลซานตงไปไว้ในครอบครองในฐานะกองกำลังสัมพันธมิตร ซึ่งจีนเองก็ได้เข้าร่วมด้วยในฐานะกองกำลังของฝ่ายกองทัพอังกฤษ

ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมานับจากนั้นกลับมีการศึกษาน้อยเกินไปในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ขณะเดียวกันแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับประเทศไทย โดยตรงกับช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ทำให้ ผศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน มองว่าคนไทยเองกลับไม่ค่อยมีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

ผศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

ขบวนการ 4 พฤษภาคมต่อความสัมพันธ์ร่วมสมัยของไทย

วาสนากล่าวไว้ในการประชุมวิชาการเรื่อง ‘ขบวนการสี่พฤษภาคมในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน’ ภายใต้หัวข้อการนำเสนอ ‘รัชกาลที่ 6 กับขบวนการวันที่ 4 พฤษภาคม: ความเป็นสมัยใหม่ ณ ทางแพร่งแห่งยุคสมัย’ ว่าจะนำเสนอบทความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยดูความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยร่วมสมัยในยุคนั้นและพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุครัชกาลที่ 6 กับเหตุการณ์วันที่ 4 พฤษภาคม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมความคิดต่างๆ ซึ่งในมุมมองของวาสนานับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มหาศาลมากจนอาจสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งศตวรรษที่ 20 ผ่านมุมมองของ 4 พฤษภา ได้ในช่วงเวลาต่างๆ

“ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือมหาสงคราม หรือสงครามโลกครั้งที่ 1 สมรภูมิส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป แต่ก็มีประเทศในเอเชียเข้าร่วมด้วยบางส่วน ประกอบไปด้วย สยาม จีน และญี่ปุ่น เป็นหลัก เนื่องจาก ณ เวลานั้นเอเชียส่วนใหญ่กลายเป็นประเทศอาณานิคมไปหมดแล้ว จีนเองก็มีเมืองท่าที่เปิดตามสนธิสัญญาเกิดขึ้นมากมาย สยามเองก็อยู่ในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับตะวันตก และญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมได้ในปลายศตวรรษที่ 19 และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้สำเร็จ และในศตวรรษที่ 20 ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจและมีอาณานิคมแล้วในเวลานั้น”

นอกจากวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเหตุการณ์สำคัญของโลกของไทยกับจีนจะเคียงกัน อีกประการหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1910-1920 หรือในสมัยของรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7 ยังมีลักษณะร่วมกันระหว่างจีน ญี่ปุ่น และสยาม นั่นคือเป็นยุคเฟื่องฟูด้านวัฒนธรรมทางวรรณกรรมจากสาเหตุต่างๆ ทั้งการมีวรรณกรรมแบบใหม่ๆ โดยในญี่ปุ่นสมัยไทโช ซึ่งเกิดขึ้นหลังยุคเมจิ ยุคแห่งการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ หรือ ‘การปฏิรูปเมจิ’

ในยุคไทโช ญี่ปุ่นพ้นภัยจากการคุกคามจากจักรวรรดินิยม และสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ยุคไทโชจึงเป็นยุคที่การทหารอาจไม่ได้มีความกระตือรือร้นเท่าที่ควร จึงเป็นช่วงที่มีการเปิดกว้างทางความคิด วัฒนธรรม และวรรณกรรมต่างๆ ญี่ปุ่นจึงจะมีการแปลงานต่างประเทศ งานวรรณกรรมฝ่ายซ้าย และแนวคิดทางการเมือง หรือสตรีนิยมขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ในจีนก็มีขบวนการวัฒนธรรมใหม่ หรือการเกิดขึ้นของแนวคิดใหม่ๆ และส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ได้มาจากการศึกษาสมัยใหม่ของจีน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของจีน มีปัญญาชนที่จบมาแล้วกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงมีการสถาปนาชนชั้นปัญญาชนขึ้น และทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในวงวรรณกรรม ดังนั้นงานของจีนและญี่ปุ่นจึงสามารถเทียบเคียงกันได้อย่างน่าสนใจ

ในขณะเดียวกัน สยามเองก็มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงตื่นตัวด้านการเขียนหนังสือ วงการสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ที่เรียกได้ว่าอยู่ในยุคทอง การตีพิมพ์เผยแพร่ในสยามมีเสรีภาพอย่างมาก เนื่องจากไทยยังอยู่ในข้อตกลงสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือบุคคลในแวดวงสิ่งพิมพ์จำนวนมากจะเป็นคนในบังคับต่างชาติ ทำให้ปลอดภัยจากการจับกุมต่างๆ

“นอกจากจะเป็นยุคที่มีความสำคัญที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ชาติเอกราชในเอเชียเข้าร่วม นั่นก็คือในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ยังเป็นช่วงที่เกิดหลังจากการ modernize (ทำให้เป็นสมัยใหม่) ชาติต่างๆ ก็เป็นช่วงที่เริ่มจะมีชนชั้นปัญญาชนสมัยใหม่ เริ่มจะมีสาธารณูปโภคสมัยใหม่ หรือความเป็นตะวันตก การศึกษาสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ การตีพิมพ์การแสดงความคิดเห็นต่างๆ เริ่มเป็น norm ใหม่ ก็เป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในจีนกับสยามในช่วงนั้น โดยในส่วนของจีนนั้น ความเป็นสมัยใหม่และการมีเสรีภาพทางความคิดเกิดขึ้นเนื่องจากภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีนมีความอ่อนแอ ดังนั้นสถานการณ์ที่คล้ายกันระหว่างสยาม จีน และญี่ปุ่น นั่นคือความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน”

วิกฤติเอกราชหลังอาณานิคม

นอกจากความเฟื่องฟูทางด้านวัฒนธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ร่วมระหว่างสยามและจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 คือวิกฤติเอกราชหลังจากยุคอาณานิคม วาสนากล่าวว่า ลักษณะร่วมที่น่าสนใจคือการปฏิวัติเซี่ยงไฮ้ ค.ศ. 1911 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าล้มเหลว เนื่องจากว่าท้ายที่สุดจีนก็ถูกยึดครองโดยเผด็จการทหาร ดังนั้นจีนจึงเผชิญกับวิกฤติเอกราชหลังภัยอาณานิคมอย่างแท้จริง เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการจีน และสองคือความมั่นคงภายใน ขณะเดียวกันสยามก็ประสบเหตุเช่นเดียวกันนั่นคือ ในแง่หนึ่งความชอบธรรมและเหตุผลที่จะปฏิรูประบบการปกครองในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัชกาลที่ 5 จากการคุกคามของประเทศตะวันตก แต่เมื่อไม่มีการล่าอาณานิคมดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่างในจีน จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ยังจำเป็นต้องมีกษัตริย์หรือไม่

“ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ราชวงศ์ต่างๆ ของแต่ละประเทศก็เกิดการปฏิวัติ เช่น ราชวงศ์ชิง เนื่องจากราชวงศ์ชิงไม่สามารถนำพาประเทศไปเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ได้แล้ว ดังนั้นในแง่หนึ่งมันจึงคล้ายเป็นเทรนด์ในการปฏิวัติซึ่งคุกคามความมั่นคงทางการเมืองในสยามมาก และการล้มล้างราชวงศ์ชิง ก็มีการสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นมา และมีการเกิดขึ้นของกระแสชาตินิยมจีนแบบ ซุนยัดเซ็น ซึ่งปฏิเสธราชวงศ์ จึงทำให้เกิดเป็นความไม่สบายใจขึ้นมาว่าจะมีการกระทบกระเทือนการเมืองราชวงศ์ไทย ดังนั้นไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ และต้องมีการส่งเสริมให้มีนโยบายชาตินิยมเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ก็ทำได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากสยามยังคงอยู่ใต้สนธิสัญญาต่างๆ จึงเป็นอุปสรรคในการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่”

วาสนากล่าวต่อว่า ในหนังสือ Siam Map ของ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งบอกว่ารัฐสยามเกิดจากแผนที่ หรืองานของ เบน แอนเดอร์สัน Imagined Community ซึ่งบอกว่ารัฐชาติสมัยใหม่ต้องมีอาณาบริเวณที่ชัดเจน มีพรมแดนที่แน่ชัด แต่ว่าจากการสังเกตและการดูประวัติศาสตร์ชุดนี้ รัฐชาติที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ไม่ได้เกิดจากการมีพรมแดนที่ชัดเจน เพราะแม้จะมีพรมแดนที่แน่ชัดและเขียนแผนที่ มีเส้นแบ่งพรมแดน แต่ว่าถ้าประชากรจำนวนมากกลับมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

“นั่นหมายความว่า อำนาจธิปไตยไม่ได้อยู่เต็มพื้นที่หรือพรมแดนที่คุณเขียนแผนที่อันนั้นขึ้นมา ดังนั้นรัฐชาติที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5-6 จึงเป็นเพียงราชาชาตินิยม คืออิงอยู่กับตัวพระมหากษัตริย์และระบบการปกครองเท่านั้น สยามจึงต้องพยายามสร้างรัฐชาติขึ้นมาภายใต้ข้อตกลงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับเจ้าอาณานิคมจำนวนมากในประเทศ”

ผลตอบแทนของจีนและสยาม

ภายใต้ความคล้ายคลึงเหล่านี้ วาสนามองว่าทั้งสยามและจีนต่างพยายามหาประโยชน์จากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งการแก้สนธิสัญญาไม่เป็นธรรม หรือการได้รับดินแดนที่เป็นอาณานิคมของประเทศที่แพ้สงคราม ซึ่งเข้าร่วมในเวลาที่ต่างกัน โดยจีนเข้าร่วมก่อนสยาม สยามเข้าไปในตอนท้ายของสงคราม แต่ผลที่ได้นั้นต่างกันมาก โดยสยามนั้นนับว่า ‘ได้’ มากที่สุดในการเข้าร่วมสงคราม ทั้งสินทรัพย์ของผู้แพ้สงคราม เรือของเยอรมนีที่จอดไว้ก็ถูกยึดไป รวมทั้งได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ได้ฝึกทักษะทางการทหารด้านการขับเครื่องบินจากฝรั่งเศส

“ในส่วนของการเมือง การเข้าร่วมสงครามกับอังกฤษนับว่าเป็นพระบรมราโชบายที่ประสบความสำเร็จที่สุดของรัชกาลที่ 6 มีหน้ามีตาอยู่ในฐานะประเทศที่ชนะสงคราม อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจมากในการสถาปนาภาพลักษณ์ทางการทหารของรัชกาลที่ 6 เนื่องจากพระองค์ไม่ได้จบด้านการทหารโดยตรง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากเหล่าทัพต่างๆ เท่าที่ควร ดังนั้นการที่พระองค์เป็นจอมทัพในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นการสถาปนาพระราชอำนาจในการควบคุมทหารด้วยส่วนหนึ่ง”

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมากในมุมมองของวาสนาคือ สยามก่อนการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น รัฐบาล ประชาชน และกลุ่มอำนาจต่างๆ ไม่เห็นความจำเป็นในการรบกับเยอรมนี เนื่องจากเชื้อพระวงศ์หลายคนเรียนจบจากเยอรมนี การโน้มน้าวให้เข้าร่วมกับฝ่ายอังกฤษ ก็ทำให้สถานภาพทางการเมืองของพระองค์มั่นคงขึ้น

“ไทยจึงมีความเหนือชั้นในการฉวยโอกาสในสงครามโลกครั้งนี้อย่างมาก ในขณะที่จีนไม่ได้อะไรเลย ซึ่งนำมาซึ่งเหตุการณ์ 4 พฤษภาในขณะเดียวกัน ทหารที่ส่งไปนั้นล้วนแต่เป็นทหารชั้นสัญญาบัตร (officer) ห้ามนำเข้าไปรวมกับกุลีที่มาจากจีนหรืออินโดจีน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเป็นอารยประเทศ ดังนั้นการที่จีนส่งแรงงานไป ทำให้จีนดูเหมือนกุลีที่นำมาจากอินเดีย จีนจึงไม่ได้รับการยอมรับในฐานะของชาติทหารที่ไปร่วมรบด้วย และจีนก็ล้มเหลวในการต่อรองต่างๆ และสถานภาพของจีนและสยามในสายตาของตะวันตก ชาติตะวันตกเองก็ไม่ได้อยากยกเลิกสนธิสัญญานอกอาณาเขตกับจีนเนื่องจากยังต้องการเข้าไปค้าขายในจีน ขณะที่สยามก็เป็นทางผ่านหรือกันชน ญี่ปุ่นเองก็พยายามแทรกแซงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในจีน ขณะที่เคสเหล่านี้ไม่มีปัญหากับสยามเท่าไร”

จุดพลิกผันคือความแตกต่างของผลที่เกิดในสยามและจีน อยู่ตรงจุดที่จีนไม่ได้รับอะไรกลับมาเลย จีนจึงเรียนรู้ว่าไม่สามารถคาดหวังให้ชาติตะวันตกเห็นใจและมาปกป้องตนเองได้ สิ่งที่จีนเรียนรู้จึงเป็นการกลับมาถามตนเองว่าเราทำอะไรผิด มีอะไรในสังคมจีนที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาได้ ระบบสังคมมีปัญหาไหม ต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า หรือต้องยึดแนวทางสังคมนิยม?

“มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามตลอดเวลาว่ามีอะไรที่ไม่ดีในตัวเราที่ทำให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ แล้วมันก็จะทำให้เราถามตัวเองซ้ำๆ ในทุก movement ใหญ่ๆ ของจีน ที่คนออกมาตามท้องถนน ด้วยคำถามว่าทำไมจีนเป็นอย่างนี้ แล้วจีนจะแก้ไขตัวเองอย่างไร movement มันจึงเกิดจากมหาชน จากล่างขึ้นบน ในขณะที่สยามประสบความสำเร็จสวยงามมากในสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ่งที่สยามเรียนรู้จากตรงนี้คือเราต้องเลือกเข้าข้างมหาอำนาจให้ถูกต้องแล้วเราก็จะอยู่ได้”

การปรับตัวของชนชั้นนำไทย

วาสนาในความเห็นไว้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 เราก็จะเห็นกระแสการเข้าข้างมหาอำนาจที่ถูกต้องมาตลอดจนถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถอธิบายประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่โดยดูว่าชนชั้นนำไทยเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายไหน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็คืออังกฤษอย่างชัดเจน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรัฐบาลคณะราษฎร์ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลของประชาชนก็เลือกที่จะเข้าข้างมหาอำนาจก็คือญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยอยู่ข้างญี่ปุ่นแต่กลับไม่ใช่ประเทศพ่ายแพ้สงคราม กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็เข้าข้างอเมริกาตลอดในยุคสงครามเย็น

“แล้วเราก็รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ขณะที่เพื่อนบ้านเราเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งหมด แต่ไทยอยู่ได้โดยการร่วมมือกันของชนชั้นนำกับชาติมหาอำนาจ มันจึงทำให้พัฒนาการทางการเมืองจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างโดยมีการสนับสนุนจากมหาอำนาจจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ และตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศ เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้เป็นผู้นำ โดยมาเข้ากับในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้นถามว่าใครนำเทรนด์ในการคบกับจีน คำตอบก็คือชนชั้นของไทยนั่นเอง แล้วก็มีพัฒนาการในความสัมพันธ์กับจีนเรื่อยมาก่อนกระแสจีนจะเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1990-2000 มาจนถึงทุกวันนี้”

ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้วเมื่อหวนกลับมาพิจารณาปัจจุบัน การที่ทั้งสองประเทศวนมาเจอกัน โดยจีนจากเดิมเป็นประเทศด้อยพัฒนา ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขมขื่นมาตลอด 100 ปี ผ่านความคิดว่าต้องทบทวนตัวเอง ต้องแก้ไข ต้องปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมตัวเองมาจนกระทั่งในศตวรรษที่ 21 จีนก็เป็นอภิมหาอำนาจอันดับต้นๆ ของโลก ทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาอยู่ ส่วนไทยก็ยังคงลักษณะสำคัญในการใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจจากข้างนอกอยู่เช่นเดิมดังที่เคยมา

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า