เวที UNGA อาจไม่สำคัญอย่างที่คิด เมื่อผู้นำหลายชาติเมินเข้าร่วมประชุม

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย บนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ครั้งที่ 78 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นที่จับตามองอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แง่หนึ่งคือ ในที่สุดไทยก็มีนายกรัฐมนตรีที่สามารถใช้ทักษะภาษาอังกฤษสื่อสารกับสังคมโลกอย่างภาคภูมิเสียที 

อีกประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ เศรษฐาได้ให้คำมั่นสัญญากับคนไทยไว้ว่า จะเดินหน้าพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะ Tesla, Google, Microsoft และ Estée Lauder เพื่อโน้มน้าวให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ (hub) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อย่างไรก็ดี หากถอยออกมามองในภาพกว้างจะเห็นได้ว่า การประชุม UNGA ครั้งนี้มีผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ตั้งแต่กลุ่มขาประจำที่ขาดประชุมอย่างรัสเซียและจีน ไปจนถึงกลุ่มก๊วนสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ปล่อยให้อเมริกาฉายเดี่ยวแต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่พิจารณาเอาอย่างผิวเผิน อาจจะมองได้ว่าทั้ง ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้น ต่างก็กำลังว้าวุ่นอยู่กับตารางงานของตนเอง โดยเฉพาะกับมาครงที่ต้องจัดเตรียมแผนรับรองการเสด็จเยือนฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) ในจังหวะเดียวกับการประชุม UNGA พอดี 

ผู้นำทั้ง 2 ประเทศข้างต้นจึงตัดสินใจยกเลิกการเข้าร่วมเวที UNGA แต่ข้อคำนึงเหล่านั้นจะยังสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย แอนโทนี อัลบาเนซี (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) เจ้าชายแห่งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นรายสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ก็ไม่ได้เดินทางไปนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยตนเองทั้งสิ้น

แค่เวทีพูดคุย ไม่ผูกมัด

ก่อนอื่น ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ณ จุดนี้คือ จุดมุ่งหมายหลักของการจัดประชุม UNGA ปีละครั้งนั้น อยู่ที่การให้ผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศได้มาพบเจอและแสดงวิสัยทัศน์ของตนเองบนเวทีโลก และในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในไม่กี่โอกาสที่ผู้นำประเทศต่างๆ จะสามารถเปิดห้องแยกเป็นกลุ่มเพื่อพูดคุยกันในหัวข้อทางนโยบายที่เป็นประเด็นสนใจกับผู้นำของประเทศที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อยเรื่องนิวเคลียร์ ความมั่นคงทางอาหาร หรือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวข้อร้อนแรงในรอบหลายปีมานี้ตามการผลักดันของเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน 

ทั้งนี้ กรณีที่ว่าคุยกันแล้วได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่นั้น ตอบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ‘ไม่ได้’ อยู่แล้ว เพราะมติที่คลอดออกมาจากการประชุม UNGA เป็นมติที่ไม่มีผลผูกมัดกับประเทศสมาชิก เรียกได้ว่าที่ประชุม UNGA นั้นไม่ใช่องคาพยพที่มีอำนาจในมือจริง เมื่อเทียบกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่มีผลผูกพันประเทศสมาชิก

อีกทั้งตามปกติแล้วการประชุม UNGA มักจะได้รับความสนใจอยู่แค่ 1-2 วันแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นการเน้นแสดงจุดยืนทางด้านนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจรายสำคัญ เช่น อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เนื่องด้วยปี 2023 นี้ผู้นำหลายประเทศมีภาระติดพันอยู่กับกิจการภายในของตนเอง เวที UNGA จึงกลายเป็นพื้นที่ให้โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ และโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน ร่วมกันผลักดันประเด็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนไปโดยปริยาย 

ในอีกมุมหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประเทศมหาอำนาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ UNGA แบบที่หลายๆ คนเข้าใจก็คงจะไม่เป็นการเกินเลยไป เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาท่าทีของผู้นำแต่ละประเทศมหาอำนาจที่ไม่ยอมมาเข้าร่วมนี้ พร้อมกับตารางการเข้าร่วมประชุมในเวทีระหว่างประเทศแต่ละแห่งในรอบปีก็สะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่า ผู้นำประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญกับการประชุมใดมากกว่าแบบขาดเสียไม่ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของฝรั่งเศสที่คนระดับรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าว Politico ตรงๆ ไปเลยว่า การประชุมที่ UNGA นั้น โดยมากแล้วเป็นเพียงเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศของผู้นำ แต่ฝรั่งเศสยังไม่ได้เปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ประธานาธิบดีไปขึ้นเวทีซ้ำๆ ทุกปี 

อย่างไรก็ดี แม้มาครงจะมีท่าทีไม่ต้องการเข้าร่วม UNGA แต่ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา มาครงก็มีความพยายามอย่างมากที่จะขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ไม่ใช่แค่ BRICS เท่านั้นที่มาครงต้องการจะมีส่วนร่วมอย่างออกนอกหน้า แต่ยังนับรวมถึงการประชุม ASEAN และ APEC ด้วย หรือหากกล่าวถึงในกรณีของริชี ซูแน็ก เองก็จะเห็นว่ามีลักษณะการเข้าร่วมการประชุมที่ไม่ค่อยแตกต่างจากมาครงเท่าใดนัก คือเน้นกรอบความร่วมมือขนาดย่อยมากกว่า เช่น G7, G20 และ Australia-United Kingdom-United States (AUKUS)

ยุคเสื่อมถอยของความร่วมมือพหุภาคี?

นักวิชาการบางส่วนอาจตั้งข้อสังเกตไปว่า สภาพการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างกรอบความร่วมมือรูปแบบพหุภาคี (multilateralism) นั้นกำลังอยู่ในช่วงเสื่อมถอย ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศมหาอำนาจหลายแห่งหันมาให้ความสนใจกรอบความร่วมมือขนาดเล็กและเฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในการแยกตัวทางเศรษฐกิจ (economic decoupling) ของอเมริกาออกจากจีน ทำให้เกิดการแบ่งแยกกลุ่มก้อนที่แตกต่างกันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยกลุ่มหนึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศแถบทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกและภูมิภาคยุโรปตะวันตก (NATO) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก่อตัวขึ้นผ่านการนำของจีนและประเทศด้อยพัฒนาจำนวนกว่า 100 แห่ง (The Global South) 

อย่างไรก็ดี คำอธิบายลักษณะนี้อาจไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทของความเป็นจริงเสมอไป เพราะหลักการสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศนั้นตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ หากรัฐหนึ่งๆ มองเห็นผลประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มก้อนในกรอบความร่วมมือที่มีขนาดเล็กลง (regionalism) เช่น BRICS หรือ ASEAN รัฐนั้นๆ ย่อมมีแรงจูงใจในการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะผู้นำรัฐบาลมีประชาชนต้องเลี้ยงดู ประเด็นความต้องการทางเศรษฐกิจจึงขับเคลื่อนการตัดสินใจในระดับรัฐ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ากรอบความร่วมมือขนาดใหญ่ในลักษณะพหุภาคีกำลังเสื่อมถอยลง เพราะมันยังมีอีกหลายเวทีในระดับพหุภาคีที่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิก แต่ข้อจำกัดหลักๆ ในเวทีพหุภาคี คือ หัวข้อการประชุมมักเป็นประเด็นที่กว้างและห่างไกลเกินกว่าจะสามารถทราบผลที่จับต้องได้ ทำให้รัฐหรือประเทศสมาชิกมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการจะเข้าร่วม

ในเมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนั้นแล้ว เหตุใดผู้นำหลายประเทศจึงยังต้องดั้นด้นเดินทางไปถึงนิวยอร์กเพื่อกล่าวสุนทรพจน์เพียง 15-20 นาที บนเวทีที่เต็มไปด้วยผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศนี้ด้วย ซึ่งก็อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้ UNGA จะถูกมองว่าเป็นกิจกรรมสำหรับให้ผู้นำประเทศมาถ่ายรูปกระทบไหล่กับผู้นำจากประเทศพันธมิตร (Photo Ops) แต่ในขณะเดียวกันผู้นำหลายๆ ประเทศก็มักเลือกใช้โอกาสนี้ในการเข้าถึงผู้มีบทบาทระดับนโยบายและภาคเอกชนขนาดใหญ่ในอเมริกา เพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจด้วย ดังจะได้เห็นจากที่เศรษฐาได้ติดต่อขอเข้าพบอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เพื่อโน้มน้าวให้บุคคลดังกล่าวมาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ผลการเจรจาระหว่างไทยกับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกจะสำเร็จหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นกรณีที่ประชาชนคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักกันในที่นี้ คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ไม่ได้มีแค่เศรษฐาคนเดียวแน่นอนที่ติดต่อขอเข้าพบอีลอน มัสก์ เพื่อชักชวนให้ไปลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ก็มีทั้งอินโดนีเซียและฝรั่งเศสที่พยายามเจรจาขอให้ Tesla และบริษัทในเครือไปตั้งโรงงานในประเทศของตนเหมือนกัน สุดท้ายจึงขึ้นกับว่า ผลประโยชน์ต่างตอบแทนของกันและกันนั้นสมน้ำสมเนื้อหรือไม่

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า