พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องยาที่มีการบังคับใช้ในประเทศไทยมานานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งนับว่าเก่าแก่และล้าสมัยเกินกว่าที่จะก้าวทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน กระทั่งนำมาสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบเรื่องยา ได้ทำการยกร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วาระสำคัญอันใกล้จะถึงก็คือ การชงเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เมื่อพิจารณาสาระสำคัญที่ซ่อนระหว่างบรรทัดในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข กลับพบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดอ่อนและช่องโหว่หลายประการที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพเวชกรรมทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วย ‘การแบ่งประเภทยา’ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการจ่ายยา ทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
+ จุดเริ่มของความสับสน
ความเห็นแย้งต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เริ่มขยายวงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ทุกสถาบันในประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 27 องค์กร ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการทบทวนแก้ไขก่อนที่จะเสนอต่อ สนช. เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรม ระบุถึงความสำคัญในการออกกฎหมายว่า พ.ร.บ.ยา ถือเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน การเข้าถึงยาที่จำเป็น การพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และการพัฒนาระบบยาของชาติให้มีความเข้มแข็ง ประเทศชาติมีภูมิคุ้มกันและมีความมั่นคงทางยา ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของประชาชน
ทว่าข้อกังวลของสภาเภสัชกรรมที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ยา คือ บทบัญญัติเรื่องการแบ่งประเภทยาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา 2.ยาที่จ่ายโดย ‘ผู้ประกอบวิชาชีพ’ 3.ยาสามัญประจำบ้าน จากเดิมที่มีการแบ่งตามระดับความเข้มงวดในการควบคุมไว้ 4 ระดับ ได้แก่ 1.ยาควบคุมพิเศษ 2.ยาอันตราย 3.ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ และ 4.ยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะสร้างความปั่นป่วนในระบบการจ่ายยา
เมื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างร่างกฎหมายฉบับใหม่กับกฎหมายเดิม สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
นิยามประเภทยา
พ.ร.บ.ยา 2510 | ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ |
1. ยาควบคุมพิเศษ (แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย) | 1. ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา (คงเดิม) |
2. ยาอันตราย (เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย) | 2. ยาที่จ่ายโดย ‘ผู้ประกอบวิชาชีพ’ |
3. ยาสามัญประจำบ้าน (ประชาชนเลือกซื้อได้เอง) | 3. ยาสามัญประจำบ้าน (คงเดิม) |
4. ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ (ประชาชนเลือกซื้อได้เอง) |
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม และอนุกรรมการด้านกฎหมาย สภาเภสัชกรรม ให้คำอธิบายว่า ในหมวดของ ‘ยาอันตราย’ ซึ่งถูกแก้ไขนิยามใหม่เป็น ‘ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ’ นั้น มีการขยายความด้วยว่า ‘ผู้ประกอบวิชาชีพ’ ในที่นี้ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตกรรม เภสัชกรรม สัตวแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ยาอันตรายต้องจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น
นั่นหมายความว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพข้างต้นจะมีอำนาจในการจ่ายยาได้เองทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะมีวิชาชีพเภสัชกรไว้เพื่ออะไร
สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการแบ่งนิยามของยาแต่ละประเภทตาม พ.ร.บ. ยา 2510 ได้แก่
1. ยาควบคุมพิเศษ หมายความว่า ยาที่มีอันตรายสูงสุด ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือมีจำหน่ายในร้านขายยาเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น
การจ่ายยาประเภทนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคโดยละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะใช้ยากลุ่มนี้หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วจึงออกเป็นใบสั่งยา จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเภสัชกรในการรับช่วงต่อ โดยจะพิจารณาถึงเรื่องขนาดยา ข้อห้าม เพศ วัย ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย อีกทั้งในใบสั่งยาหนึ่งๆ อาจจะมียามากกว่า 1 ตัว เภสัชกรก็จะดูว่าตัวยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต่อกันหรือไม่ รวมทั้งให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา สิ่งนี้เรียกว่าเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ยา
2. ยาอันตราย จัดเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอันตรายสูง แม้ไม่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของเภสัชกร บทบาทนี้ถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับแพทย์ส่วนหนึ่ง และแบ่งเบาภาระให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทุกกรณี
“จะเห็นว่าบทบาทของเภสัชกรมีความสำคัญต่อการจ่ายยาอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง โดยเฉพาะวิชาชีพเภสัชกรซึ่งผ่านการศึกษาและฝึกอบรมตามหลักสูตร 6 ปี เพื่อจะสามารถพิจารณาสั่งจ่ายยาที่ถูกต้องเหมาะสมตามขนาด ความแรงตัวยา โรคหรืออาการของโรค ข้อห้ามในการใช้ยา การแพ้ยา อาการอันไม่พึงประสงค์ของยา การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา คำแนะนำในการใช้ยา เพศ และวัยของผู้ใช้ยา เป็นต้น” ภก.วรวิทย์ กล่าว
3. ยาสามัญประจำบ้าน และ 4. ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ โดยรวมคือยาที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และใช้รักษาหรือบรรเทาโรคที่มักจะพบได้บ่อย ซึ่งประชาชนสามารถเลือกซื้อได้เองตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป
+ สวนทางหลักสากล
หากหยิบยกเฉพาะประเด็นเรื่องการแบ่งประเภทยาตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เปรียบเทียบกับหลักสากลในการแบ่งประเภทยา จะพบว่านานาประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอื่นๆ มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ เท่านั้น ได้แก่
- ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (Prescription Only Medicines)
- ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย (Pharmacy Only Medicines)
- ยาที่ประชาชนเลือกซื้อได้เอง (Over-the-Counter Medicines)
“ถ้าร่าง พ.ร.บ.ยา ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ สามารถก้าวข้ามมาทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายยาด้วย ก็จะเกิดคำถามมากทีเดียว ว่าทำไมเราแบ่งประเภทยาที่ผิดแปลกไปจากหลักสากล นอกจากนี้ สิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมากมายก็คือ จะมีแหล่งจ่ายยากับประชาชนมากขึ้น เพราะต่อไปนี้พยาบาลก็จ่ายยาได้ กายภาพบำบัดก็จ่ายยาได้ ขณะที่ระบบเดิมมีเภสัชกรเป็นผู้รับผิดชอบในการประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน มันก็จะผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติทันที” ภก.วรวิทย์ ระบุ
ภก.วรวิทย์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลในลำดับถัดไป หากประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทว่าการแบ่งประเภทยากลับผิดแผกไปจากประเทศสมาชิก จะทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัวให้ผสมกลมกลืนกับหลักสากล
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สภาเภสัชกรรม เสนอว่า การแบ่งประเภทยาตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ไม่สอดคล้องตามหลักสากลว่าด้วยการแยกหน้าที่ระหว่างผู้สั่งใช้ยาและเภสัชกรในฐานะผู้จ่ายยา ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายยาและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าวก่อนที่จะเสนอให้ สนช. พิจารณา
+ ใครๆ ก็ปรุงยาได้?
นอกเหนือจากการแบ่งนิยามประเภทยาที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักประกันความปลอดภัยแล้ว ในร่าง พ.ร.บ.ยา มาตรา 24 ยังเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพ อันได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตกรรม เภสัชกรรม สัตวแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ สามารถนำยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับแล้วมา ‘ผสมยา’ และ ‘แบ่งบรรจุยา’ ให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้
ก่อให้เกิดคำถามซ้ำเดิมว่า หลักสูตร 6 ปีของวิชาชีพเภสัชกร ไร้ความหมายไปแล้วหรือไม่ เพราะใครต่อใครต่างก็สามารถผสมยาเพื่อจำหน่ายเองได้
ภญ.โศรดา หวังเมธีกุล นายกสมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) หรือ สภอท. เปิดเผยว่า หลักในการผสมยานั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) โดยคำนึงถึงความเข้ากันได้ของตัวยา ความสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน และไม่มีการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมและภาชนะ รวมถึงการปนเปจากยาตัวหนึ่งไปสู่ยาอีกตัวหนึ่ง
“ยกตัวอย่างเช่น ในคลินิกผิวหนัง ถ้าเจ้าหน้าที่ไปซื้อยามาผสมกับครีมกระปุกหนึ่ง ถามว่าเขาจะรู้ได้อย่างไรว่ายานั้นเข้ากันได้ดีหรือเปล่า เป็นเนื้อเดียวกันไหม ความคงตัวของตัวยาจะอยู่ได้นานแค่ไหน วันหมดอายุเมื่อไหร่ ไม่ใช่ว่าเอามาบีบๆ คนๆ แล้วแบ่งบรรจุขาย ถามว่าในตลับหนึ่งมันมีตัวยาครบไหม อันนี้คือความเสี่ยงของคนไข้”
ภญ.โศรดา อธิบายด้วยว่า ผลร้ายจากการผสมยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ผิดหลัก GMP หรือเกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิตอาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดการระคายเคือง เกิดผลข้างเคียง ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นแพ้ยา ดังนั้น ในโรงพยาบาลหรือโรงงานผลิตยาจึงต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น การแยกเครื่องมือ การควบคุมความสะอาดเพื่อให้ยาปลอดเชื้อ
นอกจากนี้ ในขั้นตอนการติดฉลากจะต้องมีความแม่นยำ ระบุตัวยาชัดเจนว่ากี่มิลลิกรัม สรรพคุณ และข้อบ่งใช้ ฉลากยาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภค และเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รู้ว่ายานั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ถ้าผสมยาผิดหรือติดฉลากผิด ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ รวมถึงหากนำตัวยาไปผสมเองโดยขาดความรู้ ขาดอุปกรณ์ หรือสถานที่ไม่สะอาดพอ ก็อาจทำให้ยาที่ผสมนั้นไม่ปลอดเชื้อและเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยา เช่น ยาตา หรือยาที่ฉีดเข้าเส้น จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
“ในร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้กว้างมาก คุณจะสามารถผสมอะไรก็ได้ มันกว้างเกินไป ซึ่งหลักวิชาใครก็ของวิชาชีพนั้น หมอก็เรียนมาสำหรับรักษาคนไข้ วินิจฉัยโรค กายภาพบำบัดก็เรียนอีกอย่าง เทคนิคการแพทย์ก็อีกอย่าง จะมาเหมารวมหมดไม่ได้ แม้แต่เภสัชกรเองจะไปรักษาโรคหรือทำกายภาพก็ไม่ได้ เพราะหลักวิชาชีพของเราไม่เหมือนกัน แล้วถามว่าถ้ากฎหมายออกมาแล้ว ผู้บังคับใช้กฎหมายจะสามารถดูแลได้ทั่วถึงไหม ทุกวันนี้ก็มีปัญหาเรื่องยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเต็มไปหมด แต่ก็ยังควบคุมไม่ได้” ภญ.โศรดา ระบุ
ทางด้าน ภก.วรวิทย์ ให้ความเห็นเพิ่มว่า ข้อกังวลจากร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ เปิดช่องให้มีการนำยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วมาผสมใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตยาใหม่ๆ โดยไม่ต้องขออนุญาต และจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของยาได้
“การนำยา 2 ตัวมาผสมกันก็ดี หรือนำยามาแบ่งบรรจุก็ดี ตาม พ.ร.บ.ยา 2510 ถือว่าเป็นการผลิตใหม่ แต่ถ้าปล่อยให้ผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ตามหลักวิชาเภสัชกรรมมาทำการผสมยาก็จะเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย แล้วยังผิดหลักการว่า ยาทั้งหลายทั้งปวงเมื่อจะนำมาใช้ต้องได้รับการตรวจสอบก่อนว่ามีประสิทธิผล มีความปลอดภัย และมีคุณภาพดี โดยจะอนุญาตเป็นตำรับๆ ไป ซึ่งการนำยามากกว่า 1 ชนิดมาผสมกัน มันก่อให้เกิดตำรับใหม่ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตและไม่ผ่านการตรวจสอบเลย” ภก.วรวิทย์ กล่าว
+ เดิมพันชีวิตผู้บริโภค
ผลพวงจากร่าง พ.ร.บ.ยา ไม่เพียงจะกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรโดยตรง หากยังส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนผู้บริโภคยาทั่วประเทศ
รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ประชาชนในการได้รับยาที่ไม่เหมาะสม เกิดการบริโภคยาที่เกินความจำเป็น และนำไปสู่อันตรายได้
การเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในการจ่ายยาอันตรายได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา จะยิ่งทำให้ประชาชนเสี่ยงมากขึ้น เพราะใครก็สามารถขายยาหรือส่งมอบยากลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยได้ กลายเป็นช่องโหว่มหาศาลของระบบจ่ายยา
“ทุกวันนี้ประเทศไทยเราก็มีปัญหาเรื่องการใช้ยาหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ยาหลายชนิดถูกใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล ยกตัวอย่างยาปฏิชีวนะก็ใช้พร่ำเพรื่อ กินแค่วันสองวันก็เลิก เรามีปัญหาทั้งขาดแคลนยาที่จำเป็นและมีปัญหาใช้ยาสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่มีวิชาชีพไหนคุมได้ เภสัชกรเองก็คุมไม่ได้ เพราะร้านต่างๆ ก็ขายยากันหมด ไม่ต้องมีใบสั่ง ไม่ต้องมีใบขออนุญาต หลายที่ก็ขาย การบังคับใช้กฎหมายของเราก็มีปัญหา” รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ กล่าว
รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ อธิบายว่า ตามแบบแผนการแพทย์ตะวันตกนั้นนิยมจำแนกอาชีพเภสัชกรกับแพทย์ออกจากกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะหากแพทย์สั่งจ่ายยาผิดพลาด ย่อมเกิดผลร้ายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ ดังนั้น ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจึงกำหนดให้แพทย์ทำหน้าที่หลักในการวินิจฉัย รักษาโรค และเขียนใบสั่งยา จากนั้นเภสัชกรจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อจัดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
หลักการทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก มิได้ยึดถือผลประโยชน์ของวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเป็นที่ตั้ง
“อยากฝากให้สาธารณชนเข้าใจว่า ทำไมเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรจึงต้องออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เราเห็นด้วยว่า พ.ร.บ.ยา ควรจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้มานานถึง 47 ปีแล้ว สมควรแก้ไขให้ทันสมัย แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่คิดแต่ในแง่ผลประโยชน์ของวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง แต่ต้องคิดถึงผลประโยชน์ที่จะตกไปสู่ประชาชนส่วนรวมว่าจะได้อะไร” รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่ง ณ เวลานี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษ คงเหลือเพียง สนช. ที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าจะอยู่หรือไป
หากไร้ซึ่งผลประโยชน์บังตา ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายควรต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ และยังมีเวลาที่จะทบทวนแก้ไข เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมไทย