งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณสมบัติด้านการรักษาโรคของกัญชาเกิดขึ้นมากมาย แต่อาจมีข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายและความคิดความเชื่อที่มีอยู่แต่เดิม ข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ได้รับการเผยแพร่มากนักในสื่อกระแสหลัก และนี่คือ 5 งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกัญชาโดยตรงที่เราไม่อาจมองข้าม
1. ลดอัตราการเสียชีวิตหลังผ่าตัดในผู้ป่วยบาดเจ็บทางสมอง
ทีมศึกษาจากศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA Medical Center) ในสหรัฐ ทดสอบกัญชากับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บด้านสมอง (Traumatic brain injury: TBI) 446 ราย ตลอดระยะเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มที่มีผลทดสอบกัญชาเป็นบวก ร้อยละ 97.6 รอดชีวิตจากการผ่าตัด ขณะที่ผู้ป่วยที่มีผลทดสอบกับกัญชาเป็นลบ มีอัตราการรอดชีวิตจากการผ่าตัดร้อยละ 88.5 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร American Surgeon
2. ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่
บทความตีพิมพ์ในวารสาร Carcinogenesis เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า สารสำคัญในกัญชาที่ให้ผลทางการรักษา คือสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่าง cannabigerol หรือ CBG โดยสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และควบคุมการเจริญของเนื้อร้ายที่อาจกลายเป็นมะเร็ง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนเปิล ในอิตาลี พบคุณสมบัติของสาร CBG ที่สามารถยับยั้งกระบวนการเกิดเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (colon tumorigenesis) ทั้งยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชาและการตายของเซลล์มะเร็งดังกล่าว โดยผลการทดสอบในสัตว์เป็นที่น่าพอใจ
ข้อสรุปจากทีมวิจัย คือเสนอให้ใช้ CBG เป็นทางเลือกในการป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
3. เสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยพาร์กินสัน
กรณีผลทดสอบประสิทธิภาพสาร cannabidiol หรือ CBD ในกัญชา เมื่อเทียบกับยาหลอก (placebo) โดยทีมศึกษามหาวิทยาลัยเซาเปาโล บราซิล เผยแพร่ในวารสาร Journal of Psychopharmacology ฉบับเดือนกันยายน
หลังการคัดเลือกผู้ป่วยพาร์กินสัน 21 รายเข้าทำการทดสอบ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 2 กลุ่มแรกได้รับ CBD ในปริมาณ 75 และ 300 มิลลิกรัม ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสุดท้ายได้รับยาหลอก ที่ไม่ให้ผลใดๆ ในการรักษา
ผลปรากฏว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับ CBD เป็นประจำทุกวัน แม้จะมีอาการทางร่างกายไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่จากแบบประเมินด้านคุณภาพชีวิตและสุขภาพโดยรวม ผลออกมาดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก
4. ลดผลกระทบจากการเลิกยาเสพติดอื่นๆ
สิ่งน่าสนใจที่ทีมวิจัยค้นพบคือ การได้รับกัญชาในปริมาณเหมาะสมสามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นระหว่างบำบัดอาการติดยาเสพติดกลุ่มเมธาโดนได้
บทความชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร The American Journal on Addictions โดยสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ฟาร์เบอร์ (Farber Institute for Neurosciences) แห่งมหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน ในสหรัฐ ศึกษาผู้ติดยาเสพติด 91 รายที่เข้ารับการบำบัด
หลังจากให้อาสาสมัครได้รับกัญชาระหว่างบำบัดยาเสพติด ทีมศึกษาพบว่า อาการและผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัดลดความรุนแรงลง วัดได้จากแบบประเมินอาการถอนพิษยาของผู้ป่วย (clinical opiate withdrawal scale: COWS) บทสรุปงานวิจัยนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการใช้กัญชาในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องการเลิกใช้ยาเสพติดตัวอื่นๆ
5. บรรเทาอาการทางเดินอาหารอักเสบ
วารสาร Clinical Gastroenterology and Hepatology เผยแพร่งานวิจัยของทีมศึกษาด้านทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การแพทย์เมียร์ (Meir Medical Center) ในอิสราเอล จากการทดสอบเพื่อหาระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของกัญชาเมื่อเทียบกับยาหลอก ในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคโครห์น (Crohn’s disease: CD) 21 ราย เป็นเวลา 8 สัปดาห์
โรคโครห์น ถือเป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนที่เป็นปัญหาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน 3 อาการหลักๆ ที่ผู้ป่วยโครห์นต้องประสบ ได้แก่ ท้องเสีย ปวดท้อง และมีไข้
ทีมวิจัยสรุปว่า การสูดไอระเหยจากกัญชาช่วยลดอาการของโรคโครห์นได้ โดยยืนยันจากดัชนีของอาการป่วย (Crohn’s Disease and activity index: CDAI) นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่เกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ กับผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษา
ที่มา: alternet.org