ก่อนกาลอวสาน ตำนานแก่งแม่น้ำโขง

 

เรื่อง: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

 

เริ่มต้น…

ในสายตานักท่องเที่ยว–ตรงนั้นเป็นส่วนโค้งของแม่น้ำที่มีแก่งหินมาก ช่วงชั้นของโขดหิน หน้าผา เคลื่อนเข้ามาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด พ้นโขดหินหนึ่งก็มีโขดหินใหม่ ดูเหมือนอันตราย แต่ชวนตื่นตะลึงพรึงเพริด และน่าชื่นชมพอจะควักประเป๋าจ่ายเงินให้กับไกด์ท่องเที่ยว

ในสายตาคนขับเรือ–เกาะแก่งที่เห็น เป็นเหมือนเพื่อนที่รู้จักรู้ใจ คนขับเรือจะคอยสังเกตการหายใจของก้อนหิน พรายฟองอากาศยามสายน้ำกระทบหิน บอกให้รู้ว่าควรขับเรือแล่นผ่านร่องน้ำไหน

ในสายตาใครต่อใคร–คงเคยได้ยินว่า แก่งโขงไม่ใช่ก้อนหินที่ไร้ค่า อย่างน้อยก็เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนกฝูงปลา

และในสายตา ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ทุกเกาะแก่งคือส่วนประกอบของแม่น้ำโขงที่มีคุณค่าอย่างสำคัญ และเป็นไปได้ว่าจะหาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว

ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตอนบน บริเวณพรมแดนเชียงราย-แขวงบ่อแก้ว แบ่งออกเป็น 11 ระบบ ได้แก่ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม ลำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน แต่ละระบบแตกต่างกัน เป็นแหล่งอาศัยของทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด (ภาพ: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

-1-

ในสายตาชาวอำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พวกเขาคุ้นเคยกับแก่งในแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เกิด เป็นจุดจอดเรือหาปลา เป็นที่พักกลางแม่น้ำ เป็นที่ทำการเกษตร

แต่คำนิยามว่า ‘แก่ง’ คืออะไร ไม่เคยอยู่ในความสนใจ

ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่บางคนที่ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เคยพูดคุยด้วย ก็บอกว่าไม่เคยสำรวจแก่งแม่น้ำโขงโขงอย่างจริงจัง ตำราวิชาการเกี่ยวกับแก่งในเมืองไทยมีอยู่น้อยมาก หนึ่งในนั้นมาจากหนังสือ ‘แม่น้ำโขง: แม่น้ำแห่งชีวิตและวัฒนธรรม งานวิจัยจาวบ้าน โดยคณะวิจัยจาวบ้าน เชียงของ-เวียงแก่น’ ที่บอกว่า ‘แก่ง’ ในภาษาไทยกลาง ตรงกับ ‘ผา’ ในภาษาไทยเหนือ เป็นแท่งหินหรือกลุ่มหินในแม่น้ำ มีลักษณะสลับซับซ้อน

จากการสอบถาม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (Siamensis) อธิบายว่า แก่งเกิดจากการผุกร่อนและกัดเซาะของชั้นดินและชั้นหินใต้แม่น้ำ หินส่วนที่แข็งน้อยกว่าเมื่อเจอน้ำกัดเซาะทุกวันก็ผุกร่อนไป เหลือส่วนที่แข็งกว่าค้างอยู่ในน้ำ เมื่อน้ำไหลมาพบแก่งจึงทำให้มีพื้นที่ในการไหลน้อยลง การไหลของน้ำจึงเร็วขึ้น แก่งจึงเป็นบริเวณที่น้ำไหลแรง

ใต้ผิวน้ำ แก่งส่วนมากมักตื้นเขิน จากที่มีหินผุกร่อนตกค้าง เมื่อถูกแสงแดดส่องจึงเกิดตระไคร้น้ำ มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเข้ามาเกาะอาศัย เกิดสังคมผสมของพืชและสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว

การไหลของน้ำผ่านแก่งอย่างยากลำบากยังทำให้น้ำตอนเหนือของแก่งเอ่อและยกตัวสูงขึ้น เกิดเป็นบริเวณที่มีตะกอนและกรวดตกทับถม ส่วนท้ายแก่ง ถ้าสภาพทางธรณีเอื้ออำนวย น้ำที่ไหลผ่านแก่งมาด้วยความแรงจะเซาะท้ายแก่งจนกลายเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ เรียกว่า ‘วัง’ เป็นที่อยู่ของปลาพ่อแม่พันธุ์

หลังจากนั้นน้ำจะไหลช้าลงเหมือนคนหมดเรี่ยวแรง ตะกอนจะตกลงบนพื้นท้องน้ำ กลายเป็นบริเวณที่น้ำตื้นเขิน เรียกว่า ‘ดอน’

ทั้งเหนือแก่ง บริเวณแก่ง และท้ายแก่ง เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด

ถ้าไม่มีแก่ง น้ำคงจะไหลอย่างราบเรียบ ไม่มีเกาะ ไม่มีวัง ไม่มีดอน พื้นท้องน้ำจะแบนราบเหมือนท่อส่งน้ำ ไม่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่มีความมั่นคงทางอาหารให้กับนก สัตว์น้ำ รวมทั้งมนุษย์

เกาะแก่งในแม่น้ำโขงบริเวณคอนผีหลง จังหวัดเชียงราย (ภาพ: นายแพทย์สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์)

-2-

ฝั่งตรงข้ามของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นที่ตั้งแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ทั้งสองประเทศมีเพียงแม่น้ำโขงขีดคั่น

เรานั่งเรือเพื่อสำรวจแก่งในฐานะคนต่างถิ่น ครูตี๋เกริ่นให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำโขงไม่ได้ขึ้นลงตามธรรมชาติ เพราะคันเขื่อนทางต้นน้ำ เมื่อเขาเห็นสายน้ำโขงไหลเร็วคล้ายช่วงต้นฤดูฝนก็สันนิษฐานได้ว่า เขื่อนจิงหงน่าจะปล่อยน้ำลงมา

เรือแล่นผ่านภูมิประเทศแปลกตา มีชุมชนตั้งอยู่บนเนินผา ฝั่งลาวมีชาวบ้านจับกลุ่มกันซักเสื้อผ้า และอาบน้ำริมแม่น้ำโขง

พรรณพืชตามตลิ่งเป็นพืชตระกูลไคร้ ทั้งไคร้น้ำ ไคร้หางนาค ส่วนพืชที่อยู่บนดอนก็ขึ้นกับว่าเป็นดอนประเภทไหน ถ้าเป็นดอนดินขนาดใหญ่จะมีไม้ใหญ่และไม้ยืนต้น แต่ถ้าเป็นดอนทรายจะเป็นแขม อ้อ และไคร้ เป็นหลัก

ในสายตาสัตว์น้ำ พืชที่จมอยู่ใต้น้ำ คือที่อยู่อาศัย ใบและต้นที่เปื่อยยุ่ยกลาย คืออาหาร

สำหรับแม่นกตั้งครรภ์ ดอนหินเหล่านั้นเป็นที่ทำรังและวางไข่

ในสายตาไก่ป่า เกาะแก่งกลางน้ำเป็นที่พักระหว่างทางหากต้องการบินข้ามไปอีกฟากหนึ่ง

ถ้า ‘ไก’ หรือสาหร่ายแม่น้ำโขงมีสายตา พวกมันคงพร้อมใจกันตอบว่า “เกาะแก่ง ดอน หาด ในแม่น้ำโขง คือบ้านของพวกฉัน สิ่งมีชีวิตสีเขียวที่กลายเป็นอาหารของคนและปลาอีกที”

ในสายตาสัตว์มากมายที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำและบนบก ผาหินที่เห็นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชุดหินที่จมอยู่เบื้องล่าง ใต้ผืนน้ำยังมีโลกอีกใบ อาณาจักรที่มนุษย์ยังเข้าไม่ถึง

ข้อมูลจากงานวิจัยจาวบ้าน บอกว่า ผาหินเหล่านี้เป็นตัวฟอกอากาศ ทำให้แม่น้ำใสสะอาด และควบคุมการไหลของน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือตามร่องน้ำ นับเป็นการรักษาสถานภาพของแม่น้ำให้มีร่องน้ำลึก

ผาหินเป็นทำนบคอยกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง

เสถียรภาพของผายังมีส่วนอย่างสำคัญในการเป็นกันชนไม่ให้กระแสน้ำซัดตลิ่ง

ผาหินยังก่อให้เกิดระบบนิเวศอื่นๆ ในแม่น้ำโขงตามมาอีกมากมาย นอกจากตัวผาเองที่ถือเป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่งแล้ว งานวิจัยจาวบ้านระบุว่า ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตอนบน จังหวัดเชียงราย แบ่งได้ถึง 11 ระบบ นอกจาก ‘ผา’ แล้วยังมี…

‘คก’ บริเวณที่มีหลุมลึก และมีน้ำไหลวนในแม่น้ำโขง

‘ดอน’ เกาะกลางแม่น้ำ เกิดจากทรายและก้อนหินเล็กๆ

‘หาด’ มีทั้งหาดทรายและหาดหิน ทั้งส่วนที่ปริ่มน้ำและพ้นน้ำ

‘ร้อง’ ร่องน้ำที่ไหลอ้อมผาหรือดอน แล้วไหลออกสู่แม่น้ำโขงสายหลัก

‘หลง’ เป็นร่องที่น้ำไม่สามารถไหลเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักได้

‘หนอง’ แอ่งน้ำที่มีน้ำขังในหน้าแล้ง

‘แจ๋ม’ คือแหลมที่ยื่นออกไปในแม่น้ำ มักจะประกอบด้วยกลุ่มหินผาในส่วนปลายแจ๋ม

‘ลำห้วย’ และ ‘แม่น้ำสาขา’ เป็นแหล่งเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่แม่น้ำโขง

‘ริมฝั่ง’ เป็นบริเวณที่เชื่อมต่อกับหาดทราย หาดหิน กลุ่มหินผา ฯลฯ ส่วนใหญ่ริมฝั่งโขงบริเวณคอนผีหลงจะมีความสูงชันมาก

และ ‘กว๊าน’ มีลักษณะเป็นคุ้งน้ำคล้ายคก แต่หมุนวนเป็นวงกว้างกว่า มักเกิดตามส่วนโค้งของแม่น้ำโขง

ในสายตา เสาร์ ระวังศรี พรานปลาวัย 88 ปี เกาะแก่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับคนหาปลา แต่ด้วยต้นกำเนิดของระบบนิเวศอันหลากหลาย ทำให้คนหาปลาต้องใช้เครื่องมือแตกต่างกันไป

ลุงเสาร์เล่าว่า การเลือกใช้เครื่องมือหาปลาขึ้นตรงกับฤดูกาลและขึ้นกับระบบนิเวศ บริเวณหน้าผาคนหาปลามักใช้เบ็ดล่าม ต่วง แห แต่ถ้าเป็นด้านหลังผาที่กระแสน้ำไม่เชี่ยวแรง จะใช้เบ็ดแขวน แช่กุ้ง มองยัง

บริเวณคก ต้องทอดแหจากริมฝั่ง

บริเวณหลง นิยมใช้สวิง แห จ้ำ เบ็ดแขวน คอยดักจับปลาที่ติดอยู่เวลาน้ำลดแล้วหนีไม่ทัน

บริเวณร้อง จะใช้สอด สวิง แหตาถี่

มีการสำรวจพบว่า บริเวณคอนผีหลงมีระบบนิเวศข้างต้นถึง 10 ระบบ ขาดก็แต่เพียงกว๊าน

แหล่งหาปลาหลายแหล่งยังเป็นมรดกตกทอดของครอบครัว คนหาปลาจะหาปลาตามจุดที่เคยวาง ชาวบ้านคนอื่นจะเคารพในสิทธินี้ เมื่อเจ้าของพื้นที่หาปลาตายไปหรือไม่สามารถหาปลาได้อีก ก็จะตกทอดสู่ลูกหลาน

“เคารพในธรรมชาติและความเท่าเทียมกันของมนุษย์” ครูตี๋พูดระหว่างที่เรือแล่นผ่านร่องน้ำลึกกลางแม่น้ำโขง

เรือท่องเที่ยวลาวแล่นผ่านเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ปัจจุบันเรือสินค้าขนาด 150 ตัน สามารถแล่นจากจีนถึงหลวงพระบางได้ตลอดปี และอาจมีขนาดใหญ่กว่านั้นตามฤดูกาล ซึ่งตามข้อตกลงร่วม 4 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กำลังหาทางระเบิดแก่งเพื่อปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาด 500 ตัน แล่นผ่านได้ (ภาพ: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

-3-

ปลายทางของการล่องเรือสิ้นสุดลงที่บ้านดอนทางฝั่งไทย ตรงกันข้ามคือ บ้านน้ำเกื๋องฝั่งลาว

ขากลับเรือแล่นตามน้ำ ครูตี๋บอกให้ ชฏิล เฉียบแหลม คนขับเรือ แวะที่ดอนตุ๊ เกาะดอนใหญ่กลางแม่น้ำโขง พื้นดอนเป็นก้อนกรวดก้อนหิน ปะปนด้วยเม็ดทราย

ไม่มีใครทำเกษตรบนดอนตุ๊วันนั้น แต่กลับพบรอยเท้าคนบนพื้นทรายจำนวนมาก และขึงตาข่ายเพื่อดักนก

จากการพูดคุยกับ จักร กินีสี นักดูนกแห่งดอยอินทนนท์ ผู้ตระเวนดูนกจนทั่วแผ่นดินไทย เล่าว่า คนทั่วไปอาจคิดว่าแม่น้ำโขงมีแต่ปลา แท้จริงแล้วตามเกาะแก่งยังมีนกและแมลงหายาก

ไม่นานมานี้ เขาเพิ่งรวมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ ออกสำรวจระบบนิเวศบริเวณคอนผีหลง พบนกสารพัดชนิดวางไข่และอนุบาลลูกนก บางดอนพบรังนกนับสิบๆ รัง

“ที่ดอนตุ๊ เราพบนกแอ่นทุ่งเล็กวางไข่อยู่บนพื้นหินกรวด แลดูกลมกลืนกับธรรมชาติ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็น”

นักดูนกเล่าต่ออีกว่า เคยสำรวจพบนกบนแก่งแม่น้ำโขงถึง 76 ชนิด เฉพาะที่พบในการสำรวจช่วงสั้นๆ 2 วัน คือ วันที่ 11-12 พฤษภาคม 2559 มีไม่น้อยกว่า 20 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพหนีอากาศหนาวจากทางเหนือลงมา มีนกที่ถูกขึ้นทะเบียนใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกกระแตหาด หรือคนท้องถิ่นรู้จักในชื่อ นกแต๋นแต๊หัวดำ

“นกหลายชนิดเป็นนกที่ต้องทำรังและฟักไข่บนเกาะกลางแม่น้ำเพื่อความปลอดภัย พวกมันจะไม่บินไปหากินไกลๆ ความสมบูรณ์ของเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงจึงส่งผลกับนกเหล่านี้โดยตรง”

นกท้องถิ่น ประกอบด้วย นกแอ่นทุ่งเล็ก นกเต็นจ้าง นกแต๋นแต๊ นกแต๋นแต๊หัวดำ นกจิดจิดน้ำ นกเป็ดน้ำ

นกนกอพยพ เช่น นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย นกปากซ่อม นกอีแจว นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอุ้มบาตร นกเหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก เป็นต้น

ลุงชฏิล คนขับเรือวัยเกินเกษียณ เห็นภาพจากอดีตว่าเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงเคยมีนกอพยพมาหากินมาก โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำชอบมากันเป็นฝูงใหญ่

วันเวลาและความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำโขงกับชาวเชียงของผู้มีอาชีพขับเรือมาตั้งแต่เยาว์วัย ถึงแม้จะสูญเสียพ่อในแม่น้ำโขงขณะพายเรือหาปลา แต่ก็ยังเป็นความหลังที่น่าระลึกถึง ทั้งจนบัดนี้และต่อไปในอนาคต ยังคาดหวังให้เกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่การเรียนรู้ และเป็นแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาระหว่างคนแต่ละรุ่น

ในสายตาผู้ที่ชอบมองหาความเกี่ยวโยงกันของสรรพสิ่ง แบบเดียวกับที่ พอล ดิแรก (Paul Dirac) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ถ่ายทอดออกเป็นประโยคเด็ดว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ คงพอคลำทางได้ว่า เพราะมีแก่งในแม่น้ำจึงมีนกมาอาศัย เพราะมีนก เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้จึงได้แพร่กระจายพันธุ์ นกยังคอยจิกกินแมลงเป็นอาหาร ถ้าไม่มีนกแมลงจะมากขึ้น เมื่อแมลงมีมากขึ้นคนปลูกผักในท้องถิ่นก็คงต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่ม เมื่อใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น ทำลายทั้งสุขภาพและเสรีภาพ

แต่ในสายตาคนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ริมฝั่งแบบลุงชฏิล เรื่องราวของแก่งแม่น้ำโขงอาจไม่ได้มีความสำคัญถึงขั้นต้องสนใจ

กระทั่งได้ยินว่าจะมีโครงการ ‘ระเบิด’ แก่งแม่น้ำโขง ซึ่งลงมือไปแล้วทางต้นน้ำ

และกำลังรุกคืบเข้ามายังคอนผีหลง!

นกหลายชนิดทำรังและวางไข่ตามดอน หาดหิน และหาดทรายของแม่น้ำโขง (ภาพ: จักร กินีสี)

-4-

“แม่น้ำโขงจะเปลี่ยนไป อนาคตข้างหน้าถ้าลูกหลานของเราเห็นว่าเขื่อนเป็นปัญหา ก็ยังมีโอกาสรื้อเขื่อนได้ แต่แก่งแม่น้ำโขงถ้าถูกระเบิดไป จะไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีกแล้ว” สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา หนุ่มเชียงของวัยกลางคนเชื่ออย่างนั้น

เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลและเห็นของจริงมากับตา

เมื่อปี 2543-2547 มีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงบริเวณตอนใต้ของจีน ลงมายังพรมแดนจีน-พม่า และพม่า-ลาว ห่างจากจังหวัดเชียงรายขึ้นไปไม่กี่กิโลเมตร เกาะแก่ง หินผา ดอน ถูกระเบิดเพื่อปรับปรุงร่องน้ำแล้วประมาณ 20 บริเวณ ทำให้เรือพาณิชย์ระวางบรรทุก 300 ตัน แล่นถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดปี จากเดิมเรือใหญ่สุดที่สามารถแล่นจากจีนตอนใต้ลงมาถึงหลวงพระบาง มีระวางบรรทุกเพียง 60 ตัน

นับตั้งแต่นั้นคนริมน้ำ คนหาปลา ก็อยู่กันอย่างไม่เป็นสุข เพราะกระแสน้ำถูกควบคุมเพื่อเตรียมการระเบิดแก่ง มาจนถึงตอนลงมือระเบิดและสร้างคันกั้นน้ำ เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างเห็นชัด คือมีการทับถมของตะกอนทราย รวมถึงทิศทางการไหลของน้ำและร่องน้ำเปลี่ยน

สมเกียรติเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2545 คกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ถูกตะกอนทรายทับถม คกหลายแห่งตื้นเขิน เช่น คกหลวงซึ่งเป็นคกขนาดใหญ่ ขณะที่ระบบนิเวศแบบดอนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของกระแสน้ำ คนหาปลาและคนขับเรือสังเกตว่า น้ำในฤดูน้ำหลากไหลแรงขึ้น เพราะไม่มีเกาะแก่งคอยซับแรงน้ำไว้ นอกจากนี้ยังเกิดการกัดเซาะดอนทรายซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก บางดอนมีพื้นที่เล็กลง บางดอนหายไปทั้งหมด เช่น ดอนมะเต้าที่บ้านดอนที่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

นอกจากปัญหาที่กล่าวมา สมเกียรติยังเล่าด้วยว่า มีการพังทลายของตลิ่งจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ทำให้น้ำพุ่งเข้าหาตลิ่งด้วยความเร็ว ส่วนที่ได้รับความเสียหายมีทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทำการเกษตร หลายหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงต้องประสบกับปัญหา เช่น บ้านแซว บ้านปงของ บ้านสวนดอก บ้านสบยาย อำเภอเชียงแสน บ้านดอนที่ บ้านผากุบ บ้านเมืองกาญจน์ บ้านดอนมหาวัน บ้านปากอิง อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น

ด้วยเหตุนี้ถ้าศึกษารายละเอียดของโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเพื่อรองรับเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน อย่างลึกซึ้งทุกมิติ จะพบว่าความวิตกกังวลของสมเกียรติไม่ได้เกินกว่าเหตุ

หากปล่อยให้มีการระเบิดแก่งอีก จะทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงตลอดกาล และคงไม่มีอำนาจใดย้อนคืนวันให้กลับมาเป็นอย่างเก่าได้อีก

แต่ในสายตาจีนและอีก 3 ประเทศที่ร่วมกันเซ็นสัญญา ก็ยังมีความเห็นว่าจำเป็นต้องระเบิดแก่ง!

การระเบิดแก่งเพื่อลดขนาดโขดหินใต้น้ำบริเวณแก่งตังซาลัม แม่น้ำโขงพรมแดนลาว-พม่า เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ภาพจากรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง มิถุนายน 2547

-5-

20 เมษายน 2543 เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

ตัวแทนรัฐบาล 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย ลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อการเดินเรือเสรี ฝั่งไทยนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

การเซ็นสัญญาในวันนั้น เป็นการตั้งต้นอย่างเป็นทางการของโครงการร่วมระหว่างประเทศ ที่นำมาสู่โครงการสำรวจเส้นทางเดินเรือ จากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนานของจีน มาถึงท่าเรือหลวงพระบางของลาว ระยะทางรวม 886.1 กิโลเมตร

ปีถัดมา คณะทำงานร่วมศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคณะศึกษารายละเอียดเพื่อการสำรวจออกแบบ ซึ่งมีฝ่ายจีนเป็นผู้ประสานงาน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามตั้งแต่ 18 เมษายน ถึง 12 มิถุนายน รวมระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน แต่รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ลงมติอนุมัติรายงานฉบับดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้นำรัฐบาลอื่น จนนำมาสู่การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2545

รายงานดังกล่าวเสนอให้แบ่งการดำเนินการปรังปรุงร่องน้ำเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ระเบิดแก่งและกลุ่มหินใต้น้ำรวม 21 บริเวณ เพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ 100 ตัน สามารถเดินเรือได้เป็นเวลาอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี โดยระยะแรกนี้มีแก่งคอนผีหลงของไทยรวมอยู่ด้วย

ระยะที่ 2 ระเบิดแก่งและขุดลอกสันเพิ่มเติมอีก 51 บริเวณ เพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ 300 ตันได้ มีเกาะแก่งและสันทรายที่อยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ของลาว ที่ต้องถูกระเบิด

ระยะที่ 3 ปรับปรุงแม่น้ำโขงให้มีลักษณะคล้ายคลอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Canalization’ เพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ 500 ตัน เดินเรือได้

การระเบิดแก่งระยะแรก เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2545 ตั้งแต่จีนลงมายังพรมแดนจีน-พม่า และพม่า-ลาว แต่มาติดขัดเอาตรงบริเวณแก่งคอนผีหลงของไทย เมื่อกลุ่มนักวิชาการ ชาวบ้านริมฝั่งโขง และกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นคือ กลุ่มรักษ์เชียงของ ออกมาคัดค้าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ชะลอการระเบิดแก่งคอนผีหลง และให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการทำข้อตกลงเรื่องการปักปันเขตแดนทางน้ำกับลาวให้แล้วเสร็จ รวมทั้งให้มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้จัดทำรายงาน แล้วเสร็จในปี 2547

หลังจากนั้นอภิมหาโครงการข้ามชาติก็ถูกระงับไปนานกว่า 10 ปี กระทั่งสังคมไทยเปลี่ยนผ่านจากยุครัฐบาลพลเรือน สู่รัฐบาลเผด็จการทหาร

26 มีนาคม 2559 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า จีนจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาช่องทางจัดส่งหลักในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยจะมีการขุดลอกเพื่อเปิดทางให้เรือขนาด 500 ตัน แล่นในแม่น้ำโขงได้ตลอดทั้งปี ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง (Lanchang-Mekong cooperration: LMC) ที่จีนเป็นผู้ริเริ่มในเดือนเดียวกันนี้

23 ธันวาคม 2559 หลิว ลีหัว รองประธานบริษัท CCCC Second Habor Consultant ที่ได้รับสัมปทานจากจีน เข้าพบ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นำเสนอข้อมูลและการดำเนินการช่วงที่ผ่านมา ชี้แจงว่าทางบริษัทเคยได้รับสัมปทานโครงการปรับปรุงร่องน้ำระยะที่ 1 เมื่อราว 15 ปีก่อน และชนะการประมูลโครงการระยะที่ 2 บริษัทจึงมีหน้าที่ดำเนินการตามแผนหลักที่ 4 ประเทศวางไว้

27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558-2568

นับตั้งแต่นั้นกระแสการคัดค้านโครงการเป็นระลอกสองก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ มีการยื่นเอกสารคัดค้าน จัดเสวนาให้ความรู้ รณรงค์ต่อต้านเรือสำรวจสัญชาติจีนที่เข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งประกอบด้วยเรือ 3 ลำ แบ่งกันรับผิดชอบงานสำรวจทางธรณีวิทยา ชลศาสตร์ และวิศวกรรม

เรือแต่ละลำเริ่มสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม กระทั่งกลางเดือนพฤษภาคม 2560 ทุกลำแล่นกลับประเทศ พร้อมข้อมูลประกอบการพิจารณาระเบิดแก่ง ที่ยังไม่แน่ชัดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด

 

อีกไม่นาน…

ไม่ว่าในสายตาใครก็ตามที่เคยมาสัมผัสแก่งแม่น้ำโขงจะเต็มไปด้วยความทรงจำ

แต่สำหรับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นั้นคงไม่เหลืออะไร

เมื่อเกาะแก่งหายไป แม่น้ำโขงคงถึงกาลอวสาน

 


หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เมื่อปลาจะกินดาว ปีที่ 15 โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า