ตอนอายุ 16 ปี ผมเคยพูดกับพ่อว่า “พ่อ อย่ามาสนิทกับผม”
ช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย พ่อเคยพูดกับผมว่า “เอาคณะอะไรก็ได้ลูก คณะเป่าลูกโป่งพ่อก็เอา ขอแค่เป็นมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ ก็พอ”
มันทำให้ผมรู้สึกว่า “พูดเพื่ออะไรวะ”
‘Memorabilia’ เป็นหนึ่งในผลงานศิลปนิพนธ์ที่จัดแสดงในนิทรรศการ WHIPLASH: MADs Pre-degree Exhibition 2021 ภายในหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต้องตัดโซ่เปิดประตูเพื่อติดตั้งผลงานเอง
ภาพครอบครัวสีพาสเทลที่ไม่ต่างอะไรกับความทรงจำอันเลือนราง ถูกฉายสลับไปสลับมาอยู่บนฝาผนังสีขาวมุมหนึ่งของนิทรรศการ มีเสียงคล้ายพัดลมเพดานเปิดเบาๆ ก่อนที่ภาพทั้งหมดจะหายไปพร้อมกับเสียงตึงที่ดังขึ้นมากระชากวิญญาณผู้ชมที่ยืนเหม่อลอยอยู่ท่ามกลางความเจ็บปวดนั้น
อินทร์ สีอ่อน จากสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้าง Memorabilia ขึ้นมาจากความทรงจำในบ้านที่คำพูดของพ่อคืออาวุธกัดกินหัวใจลูกสาวและลูกชายทั้ง 4 คน ตอนเริ่มโปรเจ็คต์เขากับพี่เคยคิดให้งานชิ้นนี้เป็นตัวแทนในการด่าพ่อของ 4 พี่น้อง แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เลือกพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพ่อ แก้ปมในใจของตัวเองมากกว่าจะสร้างให้พ่อเป็นปีศาจในชีวิตของลูกๆ ผ่านผลงานศิลปะแห่งการจบการศึกษาของเขา
ช่วยเล่าคอนเซ็ปต์ของงานชุดนี้ให้ฟังหน่อย
มันเริ่มมาจากตอนที่ผมเริ่มทำวิจัยแล้วเราอยากเล่าเรื่องในครอบครัวของเราขึ้นมา ส่วนหนึ่งผมอยากกลับไปคลายปมตัวเอง กลับไปทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และพยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกตัวเองที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ ก็เลยทำงานชิ้นนี้ออกมา
อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ลองกลับไปดูความเป็นตัวเอง เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เพื่อค้นหาบางอย่าง ก็เลยลองกลับไปหา archive เดิมที่ผมเคยสัมภาษณ์พี่สาวคนที่ 3 ไว้ ผมไปเจอว่าความทรงจำของเรากับพี่ในเรื่องเดียวกัน มันไม่เหมือนกัน แต่ความทรงจำที่จำได้เหมือนกันกลายเป็นความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องหลักของงานชิ้นนี้ เป็นคีย์หลักที่ทำให้ผมกับพี่มองบ้านคล้ายๆ กัน ผมเลยหยิบเอาความทรงจำที่มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน การมองบ้านที่เหมือนกัน มาทำเป็นตัวงาน ดูว่ามันจะออกมาอย่างไร
สุดท้ายแล้ว ภาพ เสียง หรือว่าคำพูด ทุกอย่างไม่ได้ถูกรวมกันเป็น story เดียวกัน หลายอย่างสะเปะสะปะ เราก็เลยเล่าแยกกันทั้งหมด กลายเป็น 4 องค์ประกอบ
อย่างแรกคือ ตัวเสียงที่ผมพยายาม simulate เสียงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตอนนั้น มันทำให้เรานึกถึงบางสิ่งที่เกิดขึ้น นึกถึงความรุนแรงในตอนนั้น
ตัวภาพผมใช้ไฮเตอร์ ซึ่งเป็นของใช้ในบ้าน เอามา develop กับภาพของบ้านที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น การละลายไปของตัวภาพที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความทรงจำของเราที่รายละเอียดบางอย่างมันหายไป เหลือแต่เค้าโครงรางๆ ที่ทำให้เรานึกถึงมัน
ส่วนตัวบท ผมใช้ screenplay ซึ่งบอกถึงบทบาทของคนในบ้าน screenplay พวกนี้จะบอกถึงรายละเอียดทางอารมณ์ สีหน้า หรือแม้แต่การแสดงออกบางอย่าง พอถึงจุดหนึ่งแล้วรายละเอียดพวกนั้นจะค่อยๆ หายไป ตัวบทจะทำงานกับเราได้เอง ลูกจะพูดอย่างนี้ ตัวพ่อจะพูดประมาณนี้ แล้วผมจะไม่ใส่ตัวบริบทของพ่อลงไป เปรียบเทียบเหมือนกับว่าสุดท้ายแล้วพอเกิดความรุนแรงขึ้น บทบาทของพ่อหรือความรู้สึกที่เรามีต่อพ่อ มันเริ่มหายไปด้วย
ผมเอาทั้งหมดมาให้ดูเพื่อให้เห็นความรู้สึกในระหว่างทางที่เกิดเหตุการณ์พวกนี้ แต่แล้วมันก็กลายเป็นแค่บางสิ่งบางอย่างที่เลือนราง จำได้แค่รูปร่าง มีแค่เราคนเดียวที่สามารถจำรูปร่างอันเก่าได้ และสุดท้ายมันจะ develop กลายเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราก็ไม่สามารถควบคุมได้
ตัวบทพวกนี้เป็นเหตุการณ์จริงหรือเป็นเรื่องที่คุณแต่งขึ้นมา
ส่วนหนึ่งผมยึดโยงมาจากตัวพี่สาว โดยช่วงท้ายผมพยายามใช้ตัวผมเข้าไปแทนในมุมมองของพี่สาวอีกส่วนหนึ่ง ผมมาคิดกับตัวเองว่า เราต้องการพูดอะไรบ้างในตอนนั้น เรามีอะไรบางอย่างที่อยากจะพูดกับพ่อไหม หรืออยากระบายออกมาไหม แล้วผมก็ใส่มันลงไปในนั้น
การที่ผมออกมาเล่าอะไรบางอย่างโดยที่ไม่ใช่ชื่อเรา มันทำให้เราสบายใจที่จะเล่ามากขึ้น เหมือนเรากลายเป็น anonymous ที่แฝงตัวเข้าไปสร้างเนื้อเรื่องในนั้นอีกทีหนึ่ง ทำให้เราสามารถเล่าปัญหาทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้
ผมยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าผมไปพูดไดอะล็อกแบบนี้ที่บ้าน มันจะกลายเป็นเหตุการณ์แบบไหน แต่ก็รู้สึกดีทุกครั้งที่มีคนรู้สึกถึงมันด้วย อย่างน้อยก็ยังมีคนที่เข้าใจเราว่า การไม่ได้รับความเชื่อใจจากผู้ปกครอง หรือการที่รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเพราะเกิดจากความรุนแรงทางจิตใจมันเป็นอย่างไร
อะไรคือเหตุผลที่ต้องฉายแยกเป็นส่วนๆ
ในความทรงจำเราก็จำทุกอย่างแยกกันอยู่แล้ว ถ้าหากเราเอาบทสนทนาไปอยู่ซับเดียวกันกับภาพ มันก็จะกลายเป็นเรื่องเดียวกันที่แยกจากกันไม่ออก ซึ่งผมอยากให้มันแยกออกมามากกว่า
อีกอย่าง ด้วยความที่มันเป็นความทรงจำ เราแยกมันออกมา เราก็อยากให้คนดูรู้สึกสับสนเหมือนกับเรา
ส่วนการที่ใช้จอเล็ก ทำให้คนต้องก้มลงไปดูหรือไปอ่าน เราอยากให้คนมีปฏิกิริยากับจอนี้ เหมือนที่พ่อมีปฏิกิริยากับตัวเราในอดีต หรือการที่คนเรามองเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของแต่ละบ้าน ซึ่งผมอยากให้คนได้เข้ามานั่งในระดับเดียวกับมัน พยายามดูมัน แล้วเข้าใจในสถานการณ์ตรงนั้น
หลายคนเลือกที่จะปกปิดบาดแผลของตัวเอง แต่ทำไมคุณถึงเลือกเปิดมันออกมาในงานชิ้นนี้
ส่วนหนึ่งผมพยายามก้าวข้ามความกลัวบางอย่าง ตอนที่ผมเขียนบทพวกนี้ผมก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ว่า เราควรจะพูดดีไหม คนที่ได้รับผลกระทบก็คือครอบครัวเราอีกทีหนึ่ง ภาพลักษณ์ของครอบครัวเรามันจะเสียหายไหม
แต่มาคิดอีกที ถ้าหากเราไม่ก้าวข้ามความกลัวพวกนี้ เราก็จะไม่สามารถแก้ปมของตัวเองได้เหมือนกัน ตอนเด็กๆ เวลาเกิดเรื่องขึ้น เราแค่อยากเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อปรึกษา แต่สุดท้ายไฟในอย่าเอาออก ไฟนอกอย่าเอาเข้า เราไม่อยากทำให้ภาพพจน์ครอบครัวเราเสีย ในทางกลับกัน เราก็เก็บกดสิ่งนั้นไว้ในใจตลอดเหมือนกัน
คุณเริ่มรับรู้ถึงความรุนแรงทางคำพูดที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่ตอนไหน
น่าจะประมาณตอน 7 ขวบ เราเริ่มรู้เรื่องแล้ว และเริ่มมีอาการสมาธิสั้น ซึ่งทำให้พ่อแม่ไม่แน่ใจในตัวเรา คิดว่าเรามีอาการทางจิต เป็นเอ๋อหรือเปล่า ตอนนั้นผมก็งงงวยกับตัวเองเหมือนกัน เวลาเราเดินเหมือนเราลังเลกับอะไรสักอย่าง เราก็จะเดินวนไปวนมา แล้วก็ลังเลอีก เดินวนกลับไปใหม่ คนข้างนอกก็จะเห็นเราเดินวนไปวนมา มันเป็นเรื่องที่เราก็ทำใจยาก เราไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้น
ตอนนั้นเราได้ไปพบจิตแพทย์ เขาสรุปว่าเราเป็นสมาธิสั้น พ่อเหมือนจะเข้าใจ แต่สุดท้ายเขาก็พูดเล่นๆ ว่า “พ่อไม่ได้คาดหวังอะไรหรอก” เข้าใจว่าเขากำลังพูดให้ตัวเองรู้สึกโอเคกับลูกตัวเอง แต่ส่วนหนึ่งผมก็รับรู้ว่า เขาพยายามที่จะไม่คาดหวังกับเรา
เราไม่รู้ว่า เขาจะมั่นใจในตัวเราตอนไหน มันทำให้เราคิดว่า เมื่อไหร่เขาจะมั่นใจในตัวเรา เมื่อไหร่เขาจะเชื่อว่าเราสามารถทำได้ เชื่อว่าเราแม่งทำในสิ่งที่เราต้องการได้จริงๆ
สำหรับครอบครัวผม การใช้ความรุนแรงทางคำพูดหรือการทำร้ายจิตใจมันค่อนข้างเกิดขึ้นบ่อย และเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งจุดนี้กลายเป็นจุดที่สามารถเชื่อมผมกับพี่สาวอีก 3 คน
บางทีความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทางกายภาพหรือทางเพศอย่างเดียว ครอบครัวคุณอาจจะอบอุ่นก็จริง แต่การที่ครอบครัวคุณไม่ concern ถึงเรื่องบางอย่าง มันก็ทำให้เกิดความรุนแรงบางอย่างในบ้านขึ้นได้
ทำไมถึงเลือกรูปภาพพวกนี้ขึ้นมา มันมีความหมายอะไรบ้าง
ผมรู้สึกว่ามันย้ำเตือนความทรงจำอะไรบางอย่างได้ ความทรงจำบางอย่างมันก็ตลก อย่างรูปนี้พ่อผมล้างรถตัวเองตอนฝนตก ซึ่งจะล้างทำไมก็ไม่รู้ หรือภาพตอนเด็กที่เราไปเที่ยวด้วยกัน มันก็เหมือนภาพจำที่เรามองบ้านในทางที่ดี
ตลกด้วย รุนแรงด้วย?
ใช่ มันค่อนข้างมีความย้อนแย้ง
ผมรู้สึกว่าผมก็มีความย้อนแย้งกับบ้านตัวเอง เราโอเค เราใช้ชีวิตปกติอยู่กับที่บ้านได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากกลับบ้าน เพราะทุกครั้งที่กลับบ้าน เราจะเจออะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึก trigger อีกแล้ว
รอบล่าสุดที่กลับไป พ่อผมนั่งดูหนังแล้วก็พูดขึ้นมาว่า “ตัวละครนี้ห่วยเหมือนลูกเลย” มันทำให้เรารู้สึกว่า “เชี่ย เราเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ เราทำให้คุณรู้สึกไม่เชื่อเราขนาดนั้นเลยเหรอ” ก็ทำให้เกิดความน้อยใจขึ้นมาในตอนนั้น
คุณผ่านวัยเด็กในบ้านที่คำพูดทำร้ายคุณมาได้อย่างไร
พูดจริงๆ ผมก็งงว่าตัวเองรับมือกับเรื่องพวกนั้นมาได้ยังไง ผมเป็นลูกคนสุดท้อง ได้ออกจากบ้านเป็นคนสุดท้าย ต้องอยู่บ้านนานสุด
พ่อกับแม่ผมเป็นข้าราชการ เราไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกันมาก เขาต้องไปเข้าเวร พ่อแม่ก็จะปล่อยให้พี่เลี้ยงน้องไปเรื่อยๆ ผมถึงสนิทกับพี่ทั้ง 3 คน พอถึงจุดที่พี่ทุกคนต้องไป การที่ผมจะมาพูดกับพ่อหรือแม่ก็กลายเป็นเรื่องที่เรารู้สึกอึดอัดไปแล้ว
ช่วงก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่บั่นทอนมากจนผมไม่อยากออกจากห้องเลย อยู่ในห้องตลอดเวลา เพราะต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย และทุกครั้งที่ออกไปก็จะต้องเจอคำถามเดิมๆ หรือคำตอบเดิมๆ เช่น “เอาคณะอะไรก็ได้ลูก คณะเป่าลูกโป่งพ่อก็เอา ขอแค่เป็นมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ ก็พอ” คำพูดของเขาเหมือนกับเรียนอะไรก็ได้ จะไร้สาระขนาดนั้นก็ได้ แต่ขอมหาวิทยาลัยดีๆ มันทำให้เรารู้สึกว่า คุณไม่ได้มองถึงความฝันเราเลย ไม่ได้มองถึงความต้องการของเราเลยสักนิด มันให้ผมรู้สึกว่า “พูดเพื่ออะไรวะ”
คนอื่นในบ้านที่ได้ยิน มีใครช่วยปกป้องหรือกอบกู้คุณขึ้นมาจากคำพูดของพ่อไหม
แม่ก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนห้ามเมื่อถึงจุดที่เลยขอบเขตไปแล้ว ด้วยความที่พ่อจะพูดติดตลกอยู่ตลอด เลยทำให้ความล้อเลียน ความเหน็บแนมบางอย่างถูกแฝงเข้ามา จนทำให้เรารู้สึกว่าจะตลก จะน้อยใจ หรือจะโกรธดี
แต่ในจุดหนึ่งเขาก็ทำให้เรารู้สึกเจ็บมาก
เคยคุยกับพ่อตรงๆ ไหมว่า สิ่งที่เขาพูดทำให้เราเป็นแผลในใจ
ผมเคยพูดกับพ่อว่า “พ่อ อย่ามาสนิทกับผม” ตอนอายุประมาณ 16 ปี
ตอนนั้นเขาก็พูดอะไรของเขาไปเรื่อย ผมก็จำไม่ได้ แต่ผมรู้สึกว่าผมทนไม่ไหวแล้ว ไม่อยากอยู่ใกล้ด้วยซ้ำไป ผมเลยบอกพ่อไปว่าอย่ามาสนิทกับผม
เราพยายามป้องกันตัวเองในจุดหนึ่ง ทุกครั้งที่คุยกันมันจะต้องเจ็บอะไรสักอย่างกลับไป กลายเป็นว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการหนีปัญหาเหมือนกัน
ผมออกจากบ้านหลังจากพี่คนที่ 3 นานถึง 3 ปี เท่ากับว่าผมต้องอยู่คนเดียวไป 3 ปี คำถามเดิมของพ่อก็จะวนเวียนอยู่ว่า อยากเรียนต่อที่ไหน คิดหรือยัง มีแผนอะไรหรือยัง ตอนนั้นเราเพิ่งอายุ 16 ปี เราจะมีแผนอะไรไปสู่อนาคตได้ ถ้าคุณอยากให้ผมมั่นคงขนาดนั้น คุณก็ให้ผมไปสอบตำรวจเหมือนคุณเลยก็แล้วกัน มันเป็นความมั่นคงเดียวที่เขาเชื่อ
ผมเรียนศิลปะ พ่อก็จะชอบถามว่ามันจะมีทางไปต่อไหมลูก เรารู้ว่าเขาคาดหวังลึกๆ ว่าเราจะได้ดี แต่เขาแค่ไม่พูดออกมา
ความที่พูดไม่เคลียร์ของพ่อเคยทำให้เกิดเรื่องมาแล้ว ตอนที่ผมสอบได้ทุน AFS เขาพูดว่าไม่ต้องไปหรอก เงิน 300,000 บาท กับเวลาแค่ปีเดียว กลับมาจะได้อะไรก็ไม่รู้ ต้องกลับมาเรียนใหม่อีก ซึ่งเหตุผลจริงๆ คือเขาไม่มีเงิน ถ้าเขายอมพูดว่าไม่มีเงินตรงๆ เรายังรู้สึกยอมรับได้ ไม่เป็นไร สถานะทางบ้านผมก็ยังเป็นชนชั้นกลางอยู่ แต่เขากลับให้เหตุผลว่าสิ่งที่เราทำไร้ประโยชน์
มันไม่ไร้ประโยชน์ มันคือประสบการณ์การไปอยู่ต่างประเทศเลยนะ จนแม่ต้องมาพูดว่าไม่สามารถหาเงินให้ทันตอนนั้นได้
“แค่คุณพูดตรงๆ กับผมมา ผมก็รับได้แล้ว มันไม่ได้ยากอะไรเลย” ผมพยายามออกมาพูด เพราะผมรู้สึกว่าเรื่องในครอบครัวมันพูดได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราจะพูดเพื่อปรึกษาหรือพูดเพื่อทำร้ายกัน
ตอนไปปรึกษาคนอื่นแล้ว คุณพบอะไรบ้าง
เกือบจะเป็นครั้งเดียวเลยด้วยซ้ำที่ลองปรึกษาคนอื่น แล้วเขาทำให้มันเป็นเรื่องโจ๊กใส่ เราปรึกษาเพราะเราอยากปรึกษาจริงๆ อยากพูดแบบไม่ไหวแล้ว
สุดท้ายแล้วผมรู้สึกว่า คนอื่นเขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรขนาดนั้น มันเป็นเรื่องของบ้านมึง ไม่ได้เกี่ยวกับกูอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจได้
ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการพยายามพูดแค่กับเพื่อนสนิท หรือคนที่เขาต้องการถามประเด็นเรื่องนี้จริงๆ
เคยพูดกับแม่ไหม
กับแม่ผมจะปรึกษาเรื่องอื่น จำได้ว่าเคยพูดถึงเรื่องพ่อ แล้วแม่ก็บอกว่า “อย่าไปทำให้พ่อโมโหมาก” เพราะพ่อขึ้นแล้วลงยาก การที่แม่ประนีประนอมกับเขาก็ทำให้พ่อติดบ่วงลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วทุกครั้งที่เรามีการทะเลาะกัน พ่อก็จะไม่ขอโทษ เขาไม่ยอมรับด้วยว่าตัวเองผิด
ถ้าหากมันเกิดการขอโทษกันอย่างจริงๆ จังๆ แบบที่ผู้ปกครองเข้ามาขอโทษเราก่อน ก็ยังทำให้เรารู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน ยังสามารถพึ่งพากันได้ เปิดใจให้กันได้ ที่จริงมันควรจะเป็นแบบนั้น
เวลากลับไปอยู่ในจุดที่ต้องปะทะกับพ่อ หรือกลับไปเจอหน้ากันที่บ้าน คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ไม่รู้สึกอะไรมาก ถ้าเขาไม่คุยกับเราก่อน
ส่วนใหญ่เหตุการณ์มันจะเกิดขึ้นเพราะเขาอยากจะพูดกับเรา แต่เขาเข้าหาเราไม่เป็น แล้วก็พูดโพล่งเรื่องอะไรสักเรื่องขึ้นมา โดยที่เขาไม่รู้ว่ามันรุนแรง
รอบล่าสุดที่พ่อว่าผมห่วย (ตอนนั่งดูหนังด้วยกันที่บ้าน) ผมยังเฉยๆ กับพ่อเลยนะ เราก็พอจะเข้าใจธรรมชาติของเขา แต่พอเขาพูดขึ้นมาอีกรอบ ผมรู้สึกว่าห่างกันสักนิดดีกว่า
เวลานั่งโต๊ะกินข้าว เราไม่อยากพูดกับพ่อ ถ้าพ่อจะพูดเรื่องเกี่ยวกับเราขึ้นมา เราจะเดินหนีออกไปเลย พ่อเองก็รู้ว่าลูก 4 คน เป็นแบบนี้ แม่ก็เคยพูดว่า “พ่อกลัวลูกเกลียด”
ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในบ้านก็มาจากความเป็น gen แต่ละ gen ก็มีแนวคิดความเชื่อต่างกัน แล้วต้องมาอยู่ในที่เดียวกัน เพราะความสัมพันธ์ทางสายเลือด เลยทำให้มีการต่อสู้ทางความคิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
การถกเถียงและอำนาจของความเป็นครอบครัวในความคิดเก่าที่บอกว่าคุณเป็นลูก คุณต้องเชื่อฟังฉัน ฉันเป็นบุพการี ผู้มีบุญคุณสูงสุดของเธอ ฉันคือผู้ที่กุมอำนาจทุกอย่างได้ ยิ่งเขาเป็นตำรวจ ในจุดหนึ่งเขาเป็นคนออกคำสั่งบ่อย พอมาอยู่กับลูก เขาก็ใช้วิธีการนั้นกับลูกด้วย
เวลาอยู่กับพ่อ เรารู้สึกเหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชากึ่งลูก 60 เปอร์เซ็นต์คือผู้ใต้บังคับบัญชา มีโมเมนต์พ่อลูกกันหลายที แต่หลายครั้งเขาก็เริ่มที่จะข้ามเขตแดนเรา
พ่อเหมือนกับคนรู้จักที่คุณไม่อยากสนิทด้วยหรือเปล่า
คล้ายๆ เรารู้ว่าเรามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับเขา แต่เราไม่อยากคุยกับเขา
นาทีที่ใช้ไฮเตอร์ราดลงไปบนรูปภาพครอบครัวที่เลือกมา คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นภาพเราคนเดียวหรือภาพผมกับพี่ สำหรับผมคือการสื่อถึงความหมายของคนที่หายไป ตัวตนจริงๆ ที่เรามีอยู่มันหายไป
ถ้าเป็นภาพถ่ายที่เป็นเหตุการณ์ ภาพนั้นมันก็ถูกบิดเบือนบางอย่างไป เราควบคุมมันไม่ได้ มุมมองของภาพก็เปลี่ยนไปตามการทำลายล้างโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพเหลือแค่เค้าโครง มันเป็นความรู้สึกที่ตอบโจทย์ในใจเราระดับหนึ่ง
พอภาพทั้งหมดถูกไฮเตอร์ทำให้สีซีดจางลง คุณเจ็บปวดน้อยลงไหม
มันเหมือนเป็นโค้ดบางอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าสิ่งนี้เคยมีอยู่ ถึงแม้จะถูกทำลายไปแล้ว แต่ถามว่ามันรักษาตัวเราไหม หรือรู้สึก heal กับตัวเองไหม เราว่าเราสนุกกับมันมากขึ้น เราดูความทรงจำตัวเองแล้ว “เชี่ย! เออ มันว่ะ” หรือว่า “ช่วงนี้มันก็ดีเหมือนกันนะ”
ช่วงไหน
ช่วงที่เราไปเที่ยวด้วยกัน เป็นโมเมนต์ที่มีความสุขในระดับหนึ่งที่ทำให้ควรคิดถึง
ไดอะล็อกไหนที่คุณอยากให้พ่อพูดกับคุณ
แค่คำว่า ‘ขอโทษ’ เลย เราแค่อยากได้ยินคำนั้นจากพ่อ มันเป็นคำเดียวที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเขาเริ่มเปิดใจให้เรา และหันมาเข้าใจเรามากขึ้น แค่คำว่าขอโทษเอง มันพูดยากตรงไหน
บทบาทของพ่อ บทบาทของผู้ปกครองที่เขาเป็นแบบนั้นมานาน จะให้เขามาขอโทษลูก เขาก็คงรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราต้องการคือคำว่า ขอโทษ
ผมไปอ่านเรื่องหนึ่งมา เขาบอกว่าการเขียนความทรงจำของเราใหม่ หรือการลดสเกลของความรุนแรงลง และให้อภัยกับเหตุการณ์นั้น จะช่วยทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น ผมเคยคุยกับพี่ถึงเรื่องความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับพี่ ผมก็บอกพี่ว่า “เออ ไม่เป็นไร มันไม่เป็นไรแล้ว” แค่เขารู้ว่าทำไรลงไปก็ดีแล้ว และเราก็รู้สึกว่าเราอยู่กับปัจจุบันได้ดีมากขึ้นระดับหนึ่งเลย
คิดว่าเราต้องสู้หรือต้องให้อภัยไปเรื่อยๆ
เราควรสู้
เราให้อภัยได้ แต่ในจุดหนึ่งเราต้องยืนหยัดสิทธิของตัวเองด้วยว่า สิ่งที่คุณทำมันไม่ถูก ถ้าคุณต้องการที่จะขอโทษ เราก็พร้อมจะให้อภัยเขาได้ตลอด เหมือนบางสิ่งบางอย่างมันกำลังจะดีขึ้น และผมก็อยากให้มันดีขึ้น ไม่ได้อยากให้มันแตกไปเลย
การทำงานชิ้นนี้ยากกว่าชิ้นอื่นไหม
มันยากตรงที่เราจะให้ความสำคัญกับตรงไหนมากกว่า เราไม่ได้อยากมาบอกว่า เฮ้ย พ่อทำร้ายเรานะ พี่เคยตีเรา หรือบาดแผลตรงนี้มันเกิดขึ้นเพราะใคร เราไม่ได้อยากจะพูดแบบนั้น เราอยากพูดในเชิงเสียงที่เราอยากจะพูดกับพ่อและสิ่งที่เราต้องการระบายออกมามากกว่า
เราไม่ได้ออกมาไล่ล่าเขา การไล่ล่าเขามันได้แหละ แต่แล้วมันจะจบตรงไหน สุดท้ายแล้วผมก็ยังอยากประนีประนอมกับเขาก่อน ให้ผมได้พูดกับเขาก่อน ถ้าวันใดวันหนึ่งที่ผมกล้าพูดมันออกไปจริงๆ ก็ไม่อยากให้เป็นแบบในบทสนทนานั้น
อย่างชื่องาน ‘Memorabilia’ ความหมายของมันคือความทรงจำที่สำคัญ ความทรงจำที่ควรจำ อีกนัยหนึ่งก็หมายถึงของที่ระลึก เราใช้ชื่อนี้เพราะเรารู้สึกว่า ภาพพวกนี้ยังเป็นความทรงจำสำคัญที่ทำให้เรานึกถึงมันอยู่ เป็นของแทนบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงมันได้
ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีหรอกนะ ถ้าให้คุณเลือกระหว่างโดนพ่อทำร้ายร่างกายไปทีเดียวตอนอายุ 7 ขวบ กับให้เขาทำร้ายทางคำพูดแบบนี้ไปเรื่อยๆ คุณอยากจะเผชิญเหตุการณ์แบบไหน
เจอตอน 7 ขวบทีเดียวคงดีกว่า ถ้าคนที่โดนทำร้ายร่างกายตอน 7 ขวบ มาฟังจริงๆ คงคิดว่ามึงจะอยากมาโดนเหมือนกูทำไม แต่ผมคิดว่าถ้าเขาใช้ความรุนแรงแบบนั้น แล้วเขาคิดได้ว่าสิ่งที่เราโดนไม่ควรโดนอีกแล้ว และเขากลายเป็นคนที่ดีขึ้น ก็อาจจะไม่เป็นปมแล้ว
เทียบกับการที่เราถูกความรุนแรงทางคำพูดมาตลอด มันทำให้เรารู้สึก low self-esteem ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันสำคัญกับการใช้ชีวิตของเราในระดับหนึ่ง เราต้องการความมั่นใจมากขึ้น เพื่อให้เราใช้ชีวิตแล้วไม่กลัว อยากพูดอะไรแล้วไม่กลัวบ้าง เราอยากทำอะไรแล้วเรารู้สึกมั่นใจที่จะพูดมันออกมา
ความรู้สึกนี้มันติดตัวออกไปนอกบ้าน เรากลัวคนอื่นจะตัดสินว่าเราก็ห่วย เหมือนเขามาย้ำในสิ่งที่เรากลัวอยู่แล้วอีกทีหนึ่ง มันดูอ่อนแอนั่นแหละ เราอาจจะห่วยจริงๆ ก็ได้ แค่เราไม่ยอมรับตัวเอง และเราก็พยายามปกป้องความรู้สึกตัวเอง แต่เราก็พยายามจะพิสูจน์ตัวเองนะ เรากำลังจะดีขึ้น
อยากเอางานนี้ไปฉายให้พ่อดูที่บ้านไหม
อยากนะ อยากรู้ว่าเขาจะรู้สึกยังไง บางทีเขาอาจจะรู้สึกถึงคำที่ว่า “เพราะอย่างนี้ไง ลูกทุกคนถึงไม่อยากคุยกับพ่อ” ซึ่งมันค่อนข้างแรง เราไม่อยากให้มันกระทบใจเขาขนาดนั้น เขาก็รู้ตัวเองดีอยู่แล้ว ลูกทุกคนค่อยๆ ทิ้งห่างจากเขาไป
ตอนนี้แม่ก็ยังพูดเลยว่า “พ่อกลัวลูกเกลียด” เขาเริ่มแก่แล้ว เขาก็รู้สึกอยากจะสนิทกับลูกๆ มากขึ้น
ในสายตาคุณ เขาเป็นพ่อแบบไหน
เขาเป็นพ่อที่พยายามพยุงทุกอย่าง แต่ด้วยความต่างของ gen หรือหน้าที่ที่เขารับมา หลายๆ อย่างมันทำให้เขามีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง เขาเป็นทั้งพ่อที่ดีและพ่อที่แย่ในเวลาเดียวกัน
ขณะเดียวกัน เราต้องการให้เขากลายเป็นคนที่ดีขึ้น แม้ว่าเรื่องบางอย่างมันจะกลายเป็นปมของเรา แต่เราก็อยากให้เขาเป็นพ่อที่ดีขึ้นจริงๆ
เราอยากเชื่อว่าเขาเป็นพ่อจริงๆ สามารถพูดกับเขาได้ ปรึกษาเขาได้ อยากให้ตัวเองรู้สึกรักเขาเพราะเขาเข้าใจเรามากขึ้น
เราอยากเชื่อว่าเขาเป็นพ่อสักครั้งหนึ่ง