ผลสำรวจของกลุ่ม ‘stem4’ ทีมทำงานด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น (Teenage Mental Health Charity) ประเทศอังกฤษ ทำการศึกษานักเรียนประถมจำนวน 500 คน พบว่า ร้อยละ 79 ยอมรับว่าพวกเขาเคยประสบกับภาวะเศร้าซึม และมีนักเรียนเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่เลือกจะปรึกษาครู
เขาให้เหตุผลว่าอะไร?
เด็กๆ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า พวกเขาต้องการการเข้าถึง การได้รับข้อมูล และรับรู้ปัญหาที่แท้จริง มากกว่าการได้รับการดูแลเยียวยาเพียงผิวเผิน มากกว่านั้น หมายความว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการเพียงครูที่เข้าใจ แต่ต้องการครู ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ถูกเทรนด์มา
พวกเขายังเห็นว่า การปรึกษาปัญหากับศูนย์สุขภาพวัยรุ่น (Young People’s Health Hubs) เป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่า เพราะหนึ่ง-แน่นอนว่าปลอดจากความเป็นโรงเรียน สอง-มั่นใจได้ว่าเรื่องเหล่านี้จะถูกติดป้ายไว้ว่าเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’
นิฮารา เคราส์ นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ร่วมก่อตั้ง stem4 กล่าวว่า วัยรุ่นสมัยนี้กล้าที่จะยอมรับและไม่คิดว่าการประสบภาวะซึมเศร้านั้นเป็นปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องดี เพราะนั่นเท่ากับการเดินเข้าไปทำความเข้าใจกับอารมณ์ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย เป็นสิ่งถูกต้องและง่ายในการรับมือ
เธอเห็นว่า วิธีการจัดการกับสุขภาวะทางจิตของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่มีปัญหาในประเทศอังกฤษมานานแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและตรงตามความต้องการของเด็กๆ ดังผลที่ปรากฏในโพลก็คือ การเข้าถึงข้อมูลความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่พวกเขาเชื่อมั่นและเข้าถึงได้ง่าย
9 มกราคมที่ผ่านมา เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศเจตนารมณ์ต่อสื่อมวลชนเรื่องหมุดหมายในการทำงานของเธอว่า ต้องการสร้างสังคมเพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่า หรือที่เธอใช้คำว่า ‘shared society’ และขอให้มั่นใจว่า
“เด็กๆ ทุกคนต้องได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจิตใจ ครูต้องได้รับการเทรนด์ด้านการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ และในปีนี้ ครูโรงเรียนประถมจำนวนหนึ่งจะได้รับการฝึก โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเติมเต็ม และจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตถ้วนทั่วทุกโรงเรียนภายในสองปี”
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยต่างวาระจำนวนสี่ชิ้น เรื่อง ภาวะซึมเศร้าของเจนเนอเรชั่น ‘ME’ ที่ชี้คล้ายๆ กันว่า โซเชียลมีเดียมีผลทำให้ ‘พวกเขา’ เศร้าลง ถูกรวบรวมไว้ใน Selfie Generation: โซเชียลมีเดีย ทำให้ฉันเศร้า
*ภารกิจหลักของกลุ่ม stem4 คือการดูแลปัญหาด้านจิตใจสี่ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.ปัญหาด้านการกินผิดปกติ (eating disoder) เช่น อะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย 2.พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง (self-harm) 3.ภาวะซึมเศร้า (depression and anxiety) และ 4.อาการติดยา (addiction)
ที่มา: theguardian.com