Met Gala 2021: เมื่อแฟชั่นส่งสารแสดงจุดยืนบนพรมแดง

Met Gala หรือที่รู้จักกันในชื่อ Met Ball คืองานระดมทุนประจำปีเพื่อหารายได้เข้าสถาบันเครื่องแต่งกาย (the Costume Institute Gala) แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ในนครนิวยอร์ค (the Metropolitan Museum of Arts: MET) ที่ราคาค่าเข้าต่อคนสูงถึง 30,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 100,000 บาทเป็นขั้นต่ำ ซึ่งแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 500-600 คน เท่ากับมีเงินจากการระดมทุนแต่ละครั้งมากถึง 15 ล้านดอลลาร์ หรือราว 400 กว่าล้านบาท

งานนี้เปรียบเสมือนออสการ์และโอลิมปิกของเหล่าคนดังที่แต่งตัวมาประชันกันแบบไม่มีใครยอมใคร โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2021 ภายใต้ธีม ‘American Independence’ 

แอนดรูว์ โบลตัน (Andrew Bolton) ภัณฑารักษ์แผนกเครื่องแต่งกายของ the MET ได้ให้เหตุผลในการจัดงานครั้งนี้ว่า นอกจากจะเป็นการครบรอบ 75 ปีของสถาบันเครื่องแต่งกาย (Costume Institute) แล้ว ยังเป็นการเชิดชูการทำงานของเหล่าดีไซเนอร์อเมริกันที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม อีกทั้งได้แรงบันดาลใจจากแคมเปญ ‘Black Lives Matter’ ด้วย

กล่าวได้ว่า Met Gala 2021 เป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าคนดัง รวมถึงดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดได้หยิบยกประเด็นทางสังคมมาแสดงในงานได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าปีก่อนๆ 

ลองมาดูกันว่า บนพรมแดงท่ามกลางแสงสปอตไลท์นั้น มีประเด็นอะไรที่เหล่าคนดังหยิบยกมาแสดงผ่านเครื่องแต่งกายสุดหรูบ้าง

Alexandria Ocasio-Cortez: ‘TAX THE RICH’ ผลักดันเก็บภาษีคนรวย

เริ่มที่ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ (Alexandria Ocasio-Cortez) หรือที่รู้จักกันในนาม AOC นักการเมืองสาวชาวอเมริกัน สังกัดพรรคเดโมแครต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากเขตเลือกตั้งรัฐนิวยอร์คที่ 14 เขตที่มีประชาชนคนรากหญ้าอาศัยอยู่มากที่สุดในกรุงนิวยอร์ค อย่างบรองซ์และควีนส์

เธอมาพร้อมกับชุดราตรีสีขาว เปิดไหล่ ประทับด้วยอักษรสีแดงเด่นด้านหลังว่า ‘TAX THE RICH’ หรือ เก็บภาษีคนรวย ชุดของแบรนด์ Brother Vellies ที่ถูกออกแบบโดย ออโรรา เจมส์ (Aurora James) ผู้สนับสนุนแคมเปญ ‘ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ’ ในปี 2020 โดยเรียกร้องให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาต้องวางสินค้าที่เจ้าของแบรนด์เป็นคนผิวสีอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ บนชั้นวางในร้านค้าต่างๆ โดยแคมเปญนี้สามารถทำให้ธุรกิจคนผิวสีมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากกลับมาดูประเทศไทยแล้ว จากการรายงานของสำนักข่าว VOA ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2021 ว่า ธนาคารโลก (World Bank) เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้ของผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำมาจัดการกับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลไทยที่สูงถึง 45,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่แม้จะเกิดวิกฤติโรคระบาดอันส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สะเทือนถึงมหาเศรษฐีหลายคนที่ยังคงร่ำรวย อย่างเช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีทรัพย์สินสุทธิ 18.1 ล้านดอลลาร์ และถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 103 ของบุคคลที่รวยที่สุดในโลก โดยนิตยสาร Forbes ปี 2021

Cara Delevingne: ‘PEG THE PATRIARCHY’ กับการต่อต้านแนวคิดชายเป็นใหญ่

นักแสดงและนางแบบชื่อดังที่นิยามตัวเองเป็นแพนเซ็กชวล (Pansexual) หรือ บุคคลที่รักได้ทุกเพศ ไม่ว่าจะหญิง ชาย หรือเพศทางเลือกอื่นๆ อย่าง คารา เดเลอวีน (Cara Delevingne) ปรากฏตัวด้วยลุคเท่ๆ ตามสไตล์ กับเสื้อคล้ายเสื้อเกราะขาวเรียบ แต่ปนความเซ็กซี่โชว์สัดส่วน และร้อนแรงด้วยตัวอักษรสีแดงด้วยคำว่า ‘PEG THE PATRIARCHY’ ประโยคเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และต่อต้านแนวคิดชายเป็นใหญ่ 

ชุดลุคสาว working women นี้ได้รับการออกแบบจาก มาเรีย กราเซีย คิอูรี (Maria Grazia Chiuri) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ Christian Dior ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการออกแบบชุดเกี่ยวกับการสนับสนุนสิทธิสตรีและสตรีนิยมในปี 2016 เรียกได้ว่า ต่อต้านชายเป็นใหญ่ตั้งแต่คนออกแบบยันนางแบบกันเลยทีเดียว

Billie Eilish: ราตรีหรูที่ไม่พึ่งขนสัตว์

บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) นักร้อง-นักแต่งเพลงชื่อดังวัย 19 ปี ขวัญใจวัยรุ่น ที่ปกติแล้วเธอจะมาพร้อมลุคสุดจี๊ดด้วยผมสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ แต่ใครจะรู้ว่าสาวเท่คนนี้ เธอเป็นมังสวิรัติและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ด้วย 

อย่างที่บอกว่าลุคที่เห็นจนชินตาของสาวบิลลี ไอลิช ที่มักแสดงภาพความเท่ออกมาซะส่วนใหญ่ ทว่าในงาน Met Gala ครั้งนี้เธอกลับมาพร้อมชุดราตรีสีชมพูหวานสไตล์เจ้าหญิงสูงศักดิ์ ฝีมือการออกแบบของ ออสการ์ เดอ ลา เรนตา (Oscar de la Renta) ดีไซเนอร์ชาวโดมินิกัน นักเรียกร้องสิทธิสัตว์ตัวยงที่เคยตั้งคำถามและออกมา call out ให้บริษัทเสื้อผ้า หรือห้องเสื้อต่างๆ หยุดใช้ขนสัตว์เพื่อนำมาประกอบเป็นเสื้อผ้า

แม้ชุดของเธอจะดูอ่อนหวาน แต่ก็ไม่สามารถกลบความเป็นไอลิชได้ ด้วยแนวคิดที่หนักแน่นในการอนุรักษ์สัตว์ กับชุดที่ไม่พึ่งขนสัตว์เพื่อความหรูหราและสวยงาม เธอกล่าวกับ Vogue ว่า “น่าตกใจมากที่การสวมขนสัตว์ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งๆ ที่นี่มันปี 2021 แล้วนะ”

Saweetie: แสดงความต่างทางเชื้อชาติ ผ่านความเป็นสาวลูกครึ่ง

เมื่อธีมงาน ‘American Independence’ ประกาศ ก็เกิดการตั้งคำถามว่า ความเป็นอเมริกันคืออะไรกันแน่ 

แร็ปเปอร์สาว สวีทตี้ (Saweetie) หรือ ไดมอนเต คีอาวา วาเลนติน ฮาร์เปอร์ (Diamonté Quiava Valentin Harper) ที่โด่งดังจากเพลง ‘Icy GRL’ กับยอดเข้าชม 117 ล้านวิว ในปี 2017 ได้สื่อสารถึงอัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันผ่านชุดของ คริสเตียน โควาน (Christian Cowan) ดีไซเนอร์จากประเทศอังกฤษ ที่โดดเด่นด้วยการตกแต่งด้วยคริสตัล พร้อมปล่อยชายกรุยกรายด้านหลังแยกเป็นสองชิ้นสองกลุ่มสี หนึ่งคือแดง ขาว น้ำเงิน เหลือง จากธงชาติฟิลิปปินส์ และอีกด้านคือ แดง ดำ จากแบบธง Black American Heritage แรงบันดาลใจในการออกแบบข้างต้น สืบเนื่องจากการที่เธอเป็นหญิงสาวเชื้อสายฟิลิปปินส์ และแอฟริกัน-อเมริกัน

ด้วยความเป็นชาวเอเชียผสมอเมริกันและแอฟริกัน เธอจึงออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านกระแสความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงกับชาวเอเชียและคนผิวสี ผ่านการให้สัมภาษณ์ของ Vouge ด้วยว่า 

“ฉันเป็นทั้งคนผิวสีและเป็นคนเอเชียด้วย การแบ่งแยกและกีดกันทางเชื้อชาติเป็นเรื่องจริงและยากเสมอสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี เราต้องรับมือกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังทั้งการเป็นคนเอเชียและคนผิวดำ 

“หากเราเริ่มยืนหยัดเพื่อผู้คนรอบๆ ตัวที่ถูกกดขี่ และทำให้พวกที่เหมารวมและลดทอนคนเอเชีย-อเมริกัน รับผิดชอบกับการกระทำของตน ก็จะเป็นการเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็มีประสิทธิภาพที่จะต่อสู้กับระบบอันกดขี่นี้ได้”

Megan Rapinoe: ‘IN GAY WE TRUST’ เพราะเรื่องเพศต้องเท่าเทียม

เมแกน ราพิโน (Megan Rapinoe) นักฟุตบอลหญิงในชุดสูทสีแดงสดกับผมสีชมพูสุดแจ่ม และดาวสีขาวบนเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินที่มองจากปากซอยก็เห็นถึงความอเมริกัน แต่นั่นหาใช่สิ่งที่เป็นจุดเด่นไม่ เพราะใครๆ ต่างโฟกัสที่กระเป๋าคลัทช์ใบเล็กสีน้ำเงินของเธอ กับประโยคที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมอย่าง ‘In Gay We Trust’

นอกจากเมแกนจะสนับสนุนเรื่องเพศแล้ว หากใครเข้าไปดูทวิตเตอร์ของเธอแล้วล่ะก็ นักฟุตบอลสาวยังได้ตั้งรูปโปรไฟล์ด้วยข้อความว่า ‘Black Lives Matter’ ดังนั้น การเรียกเธอว่าเป็นนักกิจกรรมผลักดันสังคมก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแปลกแม้แต่น้อย

อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า