ประเทศไทยมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนฉิ-หาย!
ทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดแกมประชดที่แฝงความจริงอันน่าเจ็บปวดนี้มาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าฤดูกาล (season) ของประเทศไทยจะประกอบด้วยฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอากาศส่วนใหญ่นั้น ‘ร้อน’ จนชวนให้หน้ามืด สายฝนก็แวะมาเยี่ยมแค่ไม่กี่วัน ส่วนอากาศเย็นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมาไวไปไวยิ่งกว่ารถเมล์สาย 8
ถึงแม้อากาศจะร้อนแค่ไหน แต่การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลจะทำให้ ‘ลมฟ้าอากาศ’ แปรผันตาม นี่คือความจริงของธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธ
คำว่า ‘ลมฟ้าอากาศ’ (weather) หมายถึง ลักษณะของอากาศ ณ บริเวณหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง เราสามารถบรรยายความเป็นไปของลมฟ้าอากาศด้วยตัวแปรต่างๆ เช่น ความกดอากาศ ความเร็วลม อุณหภูมิ ความชื้น จุดน้ำค้าง ทัศนวิสัย ปริมาณแสงอาทิตย์ จำนวนเมฆ ความเข้มฝน ความสูงคลื่น และปรากฏการณ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง หากรูปแบบของลมฟ้าอากาศค่อนข้างมีความเสถียรและคงอยู่เป็นเวลานานประมาณ 30 ปี เราจะเรียกรูปแบบระยะยาวของลมฟ้าอากาศว่า ภูมิอากาศ (climate)
ลมฟ้าอากาศในวันพรุ่งนี้ วันมะรืน และวันต่อไปจะเป็นอย่างไร แดดแรงแค่ไหน ฝนตกกี่โมง เราควรพกร่มไปด้วยหรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกคร่าวๆ ด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ‘การพยากรณ์อากาศ’ (weather forecast) แต่สำหรับประเทศไทยที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อน-ชื้น มีลมมรสุมพัดผ่าน เป็นแอ่งรองรับอากาศเย็นจากประเทศจีน แถมอาณาเขตส่วนหนึ่งยังถูกขนาบข้างด้วยทะเล คงต้องทำใจสักนิด เพราะปัจจัยทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำน้อยกว่าเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่น
นอกจากผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน ลมฟ้าอากาศยังส่งผลต่อ ‘อารมณ์’ ของเราไม่น้อยเลยทีเดียว ลองสังเกตว่าวันที่อากาศร้อน เรามักจะรู้สึกหงุดหงิด วันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เราจะรู้สึกปลอดโปร่ง และวันที่สายฝนโปรยปราย เราอาจรู้สึกเหงาหรือคิดถึงใครบางคน (ถ้ามี)
ความสัมพันธ์ระหว่างลมฟ้าอากาศกับอารมณ์ของมนุษย์เป็นหัวข้อที่นักอุตุนิยมวิทยา นักจิตวิทยา นักพฤติกรรมศาสตร์ และนักสถิติศาสตร์ ร่วมกันศึกษามานานตั้งแต่ช่วงปี 1800 แถมผลการวิจัยยังพบว่า ลมฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของมนุษย์จริงๆ ซะด้วย (แม้จะไม่สามารถฟันธงเป็นรายกรณีได้ก็ตาม)
วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าวเรียกว่า อุตุนิยมจิตวิทยา (meteorological psychology) ซึ่งมีขอบเขตการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่สภาพจิตของแต่ละคน พฤติกรรมส่วนบุคคลที่แสดงออก ไปจนถึงพฤติกรรมของกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง
ลมฟ้าอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเราเท่านั้น เพราะหลายครั้งสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ภายในก็ถูกผลักดันให้แสดงออกมาภายนอกผ่านทาง ‘พฤติกรรม’ ในหลากหลายแง่มุม เช่น
- วันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เราจะมีแนวโน้มอยากออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากกว่าวันที่ท้องฟ้ามืดมัว
- วันที่อากาศร้อน เราจะรู้สึกฉุนเฉียว หิวโหย และมีความอยากอาหารมากกว่าวันที่อากาศเย็น
- วันที่อากาศเย็น เราจะอยากใช้เวลาร่วมกับคนรักหรือคนในครอบครัวมากกว่าวันที่อากาศร้อน
- วันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน เราจะมีแนวโน้มจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างและสามารถคิดอย่างลุ่มลึกมากกว่าปกติ ผลการสำรวจบางชิ้นพบว่า เราอาจจดจำรายละเอียดของสินค้าต่างๆ ที่วางขายอยู่ในร้านค้าได้แม่นยำมากขึ้นและใช้เวลาไตร่ตรองก่อนจะซื้อสินค้านานขึ้น
- วันที่ฝนตก เราจะรู้สึกเหงา ง่วง และอยากนอนเฉยๆ ผลการสำรวจบางชิ้นพบว่า จำนวนคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะลดลงในวันที่ฝนตก (อาจเพราะบางคนกลัวเป็นหวัด)
- บางคนจะมีอาการป่วยตามฤดูกาล (seasonal affective disorder) เนื่องจากลมฟ้าอากาศทำให้กลไกการหลั่งฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ ภาวะซึมเศร้าในฤดูหนาว (winter depression)
- นักวิชาการบางกลุ่มตั้งสมมุติฐานว่า คนที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นจะมีความคิดสร้างสรรค์และกระตือรือร้นมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของที่อยู่อาศัยกับจำนวนของนักวิชาการที่ได้รับรางวัลโนเบล (แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็แย้งว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมน่าจะมีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์มากกว่าภูมิอากาศ)
อิทธิพลของลมฟ้าอากาศที่ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่พฤติกรรมเชิงลบนี่สิน่ากังวล เพราะผลการศึกษาทางอาชญาวิทยา (criminology) พบว่า ‘อากาศร้อน’ กับ ‘พฤติกรรมที่รุนแรง’ มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างชัดเจน เช่น
- วันที่อากาศร้อน เสียงบีบแตรบนท้องถนนจะถี่และนานกว่าวันที่อากาศเย็น รูปแบบดังกล่าวสอดคล้องกับเหตุทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้น
- วันที่อากาศร้อนจัด คดีอาชญากรรมทุกประเภทจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโจรกรรม การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย และการฆาตกรรม โดยจำนวนคดีอาชญากรรมจะเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ (bell curve) พูดง่ายๆ คือ เมื่ออากาศร้อนขึ้น จำนวนพฤติกรรมที่รุนแรงจะสูงขึ้น แต่เมื่ออากาศร้อนจัดจนถึงจุดหนึ่ง คนส่วนใหญ่จะไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ จำนวนพฤติกรรมที่รุนแรงจึงลดลง
- วันที่ฝนตก อากาศหนาว หรือมีพายุ จำนวนคดีอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะจะลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะคนส่วนใหญ่หลบอยู่ในบ้าน แต่กลับทำให้ปัญหาความรุนแรงในที่พักอาศัยและสถานที่อโคจรเพิ่มขึ้นแทน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้
แม้ว่าพฤติกรรมร้ายๆ ที่บางคนแสดงออกมาอาจเกิดจากการกระตุ้นด้วยอากาศร้อน ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของเขาหรือเธอคนนั้น แต่จำนวนคดีอาชญากรรมที่ก่อโดย ‘คนหัวร้อน’ ก็เป็นเรื่องที่ชวนปวดใจนะครับ เพราะสมัยที่ผมเรียนวิชานิติวิทยาศาสตร์ (forensic science) จำได้ว่านักวิชาการหลายท่านถึงกับขนานนามช่วงเวลาดังกล่าวว่า ‘ฤดูแห่งอาชญากรรม’ เลยทีเดียว!
เอาล่ะ เล่าเรื่องร้ายๆ มาเยอะแล้ว ผมขอเปลี่ยนมาเล่าเรื่องรักๆ บ้างดีกว่า
ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะมี ‘เพื่อนรัก’ หรือ ‘คนรัก’ ที่สามารถเปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่องใช่ไหมครับ สมัยก่อน เวลาที่เราจะเริ่มสานสัมพันธ์กับใครสักคน หัวข้อที่เลือกมาเป็นประเด็นพูดคุยคงจะเป็นดาราคนโปรด ภาพยนตร์ที่ชอบ เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน อาหารที่กิน กีฬาที่เล่น สัตว์เลี้ยงแสนรัก สถานที่ที่เคยไป ส่วนสายฮาร์ดคอร์หน่อยก็อาจคุยเรื่องวิทยาศาสตร์ ปรัชญาชีวิต ความเชื่อทางศาสนา หรือพรรคการเมืองในดวงใจ
แต่สำหรับยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) กลายเป็นภัยคุกคามทุกชีวิตบนโลก และค่านิยมรักษ์โลกกำลังมาแรง การสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ หรือการที่ ‘คนโสด’ จะหาแฟนสักคน อาจจำเป็นต้องนำทัศนคติเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกัน (อย่างสุดขั้ว) ความสัมพันธ์ในอนาคตก็อาจแตกร้าวแล้วพังครืนลงมาเหมือนกับขอบของธารน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย
ถ้าคิดว่าการหาแฟนที่มีมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตรงกันเป็นเรื่องยากแล้ว ผมขอบอกว่า ‘คนมีคู่’ ก็อาจพบปัญหาที่วุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น มนุษย์จึงเกิดความเครียดและมีความต้องการทางเพศลดลง เพศชายจะมีอสุจิที่อ่อนแอลง ประจำเดือนของเพศหญิงจะมาไม่ตรงตามนัด แถมภาวะโลกร้อน (global warming) ก็อาจกระตุ้นให้คนเรามีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงเพิ่มขึ้นจนอาจ (เผลอ) ทำตัวไม่ดีใส่คนรักอีกด้วย
คิดดูแล้วก็น่าปวดหัวนะครับ โลกก็แปรปรวน อากาศก็ร้อน การเมืองก็แย่ เศรษฐกิจก็พัง แฟนก็หายาก แถมยังจะมีลูกยากอีก เฮ้อ… ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกหัวร้อนขึ้นมาแล้วสิ!
อ้างอิง
- Trevor Harley. (2018). The Psychology of Weather.
- Meteorological psychology: The psychological and behavioral effects of weather and climate
- Weather and behaviour
- How Weather Influences The Mind
- 4 ways that climate change could be affecting your love life