เมื่อกระแส #MeToo ถูกตีกลับในสังคมชายเป็นใหญ่ 

การถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทั้งโลกไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง และเป็นสิ่งที่สังคมทั่วโลกตีตราว่าน่าอาย เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับหญิงสาวคนใด พวกเธอส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเงียบ แต่แล้วกระแส #MeToo หรือ ‘ฉันก็โดน’ ที่เกิดขึ้นในอเมริกาและแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็ปลุกให้ผู้หญิงทั่วโลกกล้าที่จะลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อสาธารณะ บนความหวังว่าชายผู้กระทำผิดซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมต้องได้รับการลงโทษ

มีตัวเลขรายงานว่าภายใน 24 ชั่วโมง หลังจาก อลิซซา มิลาโน (Alyssa Milano) นักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันทวิตข้อความเมื่อเดือนตุลาคม 2017 ว่า “หากคุณเคยถูกคุกคามทางเพศ ให้เขียนสเตตัสว่า MeToo” สังคมอเมริกันก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Weinstein Effect’ โดยมีประชากรบนโลก Twitter (ในขณะนั้น) ติดแฮชแท็ก #MeToo มากกว่า 1 ล้านราย ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ส่วนแพลตฟอร์ม Facebook ก็มีปฏิกิริยาต่อกระแสนี้ถึง 12 ล้านราย

ทว่าเมื่อมองลึกไปในระดับประเทศจะพบข้อเท็จจริงว่า ในหลายประเทศกระแส #MeToo ไม่เพียงเป็นลมใต้ปีกที่คอยประคองและปกป้องให้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นยืนหยัดและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย ในทางกลับกันยังแปรเปลี่ยนเป็นพายุที่กระหน่ำชีวิตพวกเธอให้บอบช้ำยิ่งขึ้น เพียงเพราะการลุกขึ้นมาป่าวประกาศกับสังคมให้เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง เพราะการบอกว่า ‘ฉันก็โดน’ เป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเกินกว่าสังคมจะยอมรับได้ 

ญี่ปุ่น: สังคมรับไม่ได้ เมื่อผู้หญิงด้อยค่าความเป็นชาย

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของประเทศที่ความรุนแรงทางเพศยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลความตระหนักของสังคม และการเปิดเผยเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่เกิดในที่ลับ ควรต้องเก็บในที่ลับ 

ชิโอริ อิโตะ (Shiori Ito) อดีตนักข่าวสาวชาวญี่ปุ่น ลุกขึ้นมาบอกสังคมว่าเคยถูกชายที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในญี่ปุ่นข่มขืน แล้วเธอก็ตกเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนเธอไม่สามารถทนใช้ชีวิตในญี่ปุ่นต่อไปอีกได้ ต้องออกไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศ 

แม้กระแส #MeToo ในระดับโลกจะขับเคลื่อนและเติมพลังความกล้าหาญให้กับผู้หญิงญี่ปุ่น แต่การออกมาขับเคลื่อนในลักษณะที่ด้อยค่าหรือทำให้ผู้ชายเสื่อมเสียอย่างชัดเจนในสังคมที่ชายเป็นใหญ่อย่างญี่ปุ่น อาจเป็นการกระทำที่ก้าวหน้าเกินกว่าที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคม แม้แต่จากเพศหญิงด้วยกันเอง ชะตากรรมของชิโอริ อิโตะทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีของญี่ปุ่นต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ ในประเด็นที่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงโดยไม่ทำให้ผู้ชายเสียหาย 

#KuToo จึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว โดยคำว่า Ku มาจากภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือ kutsu (靴) แปลว่ารองเท้า และ kutsū (苦痛) แปลว่าเจ็บปวด KuToo จึงเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เคลื่อนไหวต่อต้านการบังคับให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน ซึ่งออฟฟิศในญี่ปุ่นมักบังคับพนักงานสวมส้นสูงสูง 5-7 ซม. หรือประมาณ 1.9-2.75 นิ้ว กระแสนี้เริ่มต้นโดย ยูมิ อิชิกาวา (Yumi Ishikawa) นักแสดงชื่อดัง และได้รับการตอบรับจากสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก โดยมีประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญคือ สิทธิในการกำหนดรูปแบบการแต่งกายและประเด็นด้านสุขภาพของผู้หญิง

ไทย: กระแส #MeToo ปลุกไม่ขึ้น เพราะสังคมยังมีอคติ 

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จุดกระแส #MeToo ไม่ขึ้น เพราะเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ถูกนำมาเปิดเผยในที่สาธารณะมักถูกมองว่าเป็นความ ‘มั่ว’ หรือ ‘สมยอม’ ของฝ่ายหญิงเอง การออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่น่าละอายของตัวเองจึงเป็นเรื่องน่าขยะแขยงและสมควรถูกประณาม

ย้อนกลับไปในช่วงที่ #MeToo โด่งดังใหม่ๆ ชื่อของ ธารารัตน์ ปัญญา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่รู้จักของคนในสังคมไทย เมื่อเธอลุกขึ้นมาเปิดเผยว่าถูกเพื่อนชายในกลุ่มที่ทำกิจกรรมด้วยกันล่วงละเมิดทางเพศ และเธอตัดสินใจร้องเรียนไปยังสถาบันเพื่อให้มีการลงโทษ ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสถาบันที่ใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ธารารัตน์ต้องทนอยู่กับเสียงวิจารณ์บนโลกออนไลน์ที่สื่อออกมาในทำนองว่า เธอเป็นฝ่ายผิดที่ไปกินดื่ม และนอนร่วมห้องกับชายผู้ก่อเหตุเอง 

ขณะที่กระแส #MeToo ในประเทศไทยถูกโต้กลับด้วยทัศนคติของสังคมที่ตำหนิว่าผู้หญิงไม่ระวังตัวเอง แต่งกายไม่มิดชิด ไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยว จนทำให้กระแสนี้ไม่สามารถจุดติดในประเทศไทย ดังที่ เมลิซซา อัลวาราโด (Melissa Alvarado) ผู้จัดการระดับภูมิภาคของโครงการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) กล่าวว่า เป็นประเทศที่การคุกคามทางเพศยังถูกมองเป็นเรื่องปกติ

“อคติต่อความคิดเสรีนิยมในประเทศไทย ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะออกมาพูดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจเหนือกว่า”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยใกล้เคียงกับที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น คือการใช้โอกาสที่โลกตื่นตัวเรื่อง #MeToo ขับเคลื่อนสิทธิผู้หญิงในประเด็นอื่น แฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress จึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมีเสียงตอบรับจากผู้หญิงด้วยกันอบอุ่นกว่ากระแส #MeToo 

#DontTellMeHowToDress จุดประเด็นโดย ซินดี้ สิรินยา บิชอป นางแบบและนักแสดงชื่อดังที่เจอประสบการณ์ตรงจากการถูกลวนลามในวันสงกรานต์ แล้วเขียนบอกเล่าเรื่องราวเตือนภัยและตำหนิสังคม แต่แล้วกลับถูกภาครัฐตอบโต้ด้วยการออกประกาศเตือนให้ผู้หญิงแต่งกายให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้โดนลวนลาม 

สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง #KuToo กับ #DontTellMeHowToDress คือการปลุกพลังผู้หญิงโดยไม่พุ่งเป้าไปที่ผู้ชายคนใดคนหนึ่งโดยตรง ไม่ทำให้ใครเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิโดยตรง นี่อาจเป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกำลังดีกับประเทศที่ถูกหล่อหลอมให้ผู้หญิงต้องยอมเป็น ‘ช้างเท้าหลัง’ มาตลอด เพื่อปกป้องส่งเสริมศักดิ์ศรีและความก้าวหน้าของมนุษย์เพศชายมาหลายศตวรรษ จนมองไม่เห็นว่ามีความรุนแรงทางเพศดำรงอยู่ในสังคม

ปัจจุบันการออกมาเปิดตัวของผู้หญิงในฐานะ ‘ฉันก็โดน’ ล่วงละเมิดทางเพศยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมไทย โดยผู้ถูกกล่าวหามีทั้งผู้มีชื่อเสียง นักวิชาการ หรือเป็นบุคคลรุ่นใหม่ในแวดวงการเมือง นั่นทำให้ข้อหา ‘อยากดัง’ ถูกโยนใส่ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเปิดประเด็นในทันที เป็นต้นว่า “เรื่องเกิดขึ้นตั้งนานทำไมเพิ่งมาพูด” “นี่มันจงใจสร้างภาพให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อชัดๆ” 

แนวคิดเรื่องการแบ่งขั้วแบ่งข้างทางการเมืองที่ฝังรากและปรากฏอย่างเด่นชัดมากขึ้นในสังคม เริ่มเข้ามามีบทบาทกำหนดทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อประเด็นความรุนแรงทางเพศที่มีบุคคลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นมิติของความคิดทางสังคมว่า นักการเมืองของพรรคการเมืองที่ตนรักไม่น่าจะเคยล่วงละเมิดทางเพศใคร

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือ เหยื่อผู้ถูกกระทำกล้าลุกขึ้นมานำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังเช่นกรณีที่เกิดกับ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่กระบวนการยุติธรรมในประเทศก็อาจยังไม่สามารถสนับสนุนความเข้มแข็งของหญิงที่ตกเป็นเหยื่อได้อย่างที่ควรจะเป็น

จีน/อินเดีย: ความเหลื่อมล้ำและการละเมิดทางเพศยังรุนแรง

จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผู้หญิงที่ออกมาเปิดเผยประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศ โดนกระแสสังคมตีกลับอย่างรุนแรง สังคมชายเป็นใหญ่ทำให้จีนเป็นประเทศที่อ่อนไหวมากกับข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือมีที่ทางในสังคม ดังตัวอย่างที่เกิดกับ หลิว จิงเหยา (Liu Jingyao) นักศึกษาสาวจีนจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา จากกระแสการตอบรับ #MeToo ในอเมริกา ทำให้เธอตัดสินใจออกมาเปิดเผยว่าถูก หลิว เชียงตง (Liu Qiangdong) มหาเศรษฐีชาวจีนข่มขืน โดยหวังว่าจะทำให้สังคมในบ้านเกิดของเธอตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น แต่เธอกลับต้องเผชิญกับการดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน เธอจึงเลือกใช้เสรีภาพและกระแสสตรีนิยมของประเทศอเมริกาด้วยการยื่นฟ้องแพ่งมหาเศรษฐีผู้นั้นในอเมริกาแทน 

ส่วนเรื่องราวของอินเดีย ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง กลับสวนทางกับความน่าจะเป็นของสังคม

ตอนกระแส #MeToo กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก เรื่องราวของการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน คู่เดท อดีตแฟน อาจารย์ เพื่อนรวมงาน และบรรดาคนดัง ถูกเปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งการถูกพูดจาด้อยค่า ถูกบังคับจูบ การที่ฝ่ายชายแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจการปฏิเสธ การไม่ยินยอม ไปจนถึงการถูกลวนลามตอนหลับ และการถูกข่มขืนตอนออกเดท ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การตรวจสอบและเอาผิดชายผู้ก่อเหตุได้จริง 

แต่แล้วกระแสความกล้าหาญของพวกเธอก็สะดุดลง เมื่อมีการออกมาตักเตือนหรือดักคอกันเองโดยกลุ่มผู้หญิงที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรี ที่เกรงว่าการออกมาพูดโดยไม่มีหลักฐานจะทำให้เสียหายต่อขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ทำให้ข้อมูลจำนวนหนึ่งถูกลบออกจากโลกออนไลน์ ก่อนที่การเคลื่อนไหว #MeToo แทบจะดับสนิทในเวลาต่อมา เมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงจากนักการเมืองชายคนหนึ่งที่ตกเป็นเป้าของการถูกเปิดโปง 

เอ็ม เจ อัคบาร์ (M. J. Akbar) หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางในขณะนั้น ถูกหญิงสาวมากกว่า 10 คน ออกมาเปิดโปงว่าถูกเขาล่วงละเมิดทางเพศ และเรียกร้องให้เขาลาออก แต่นอกจากอัคบาร์จะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว เขายังฟ้องหญิงสาวคนหนึ่งที่ออกมากล่าวหาเขาในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้ชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมานานต้องเสียหาย การกระทำของอัคบาร์เป็นประหนึ่งการเชือดไก่ให้ลิงดู ทำให้กระแส #MeToo ในอินเดียแทบดับสนิทในช่วงนั้น ด้วยผู้หญิงจำนวนมากตระหนักดีว่าสถาบันทางสังคมในอินเดียไม่เคยมีที่ยืนให้ผู้หญิง 

แต่ รามาณี (Ramani) หญิงสาวที่ตกเป็นจำเลยเลือกที่จะสู้ในชั้นศาล โดย 3 ปีให้หลัง กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2021 คำพิพากษาของศาลจุดประกายให้การขับเคลื่อนของผู้หญิงเดินหน้าต่อไป เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง คำอธิบายเหตุผลของพิพากษาคือ “ผู้หญิงไม่ควรต้องถูกลงโทษ เมื่อออกมาส่งเสียงต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ” และ “ผู้ที่มีสถานะทางสังคมก็อาจล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นได้เช่นกัน” นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลยังมีความเห็นต่อข้อโต้แย้งจากทนายความของอัคบาร์ว่า เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1993 ไม่ควรถูกนำมาเป็นประเด็นในปี 2018 แต่ศาลกลับมองว่า “ผู้หญิงมีสิทธิที่จะหยิบความทุกข์ระทมในใจมาเป็นประเด็นได้ แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว” 

คำพิพากษาที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ ทำให้หญิงสาวในอินเดียมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะขับเคลื่อนสังคม เพื่อปกป้อง รับฟัง และหาที่ยืนที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงมากขึ้น

บทเรียนจากอเมริกาและปฏิกิริยาไวน์สตีน

ญี่ปุ่น ไทย จีน และอินเดีย เป็นเพียงตัวอย่างของประเทศที่ความรุนแรงทางเพศยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยสังคมก็ไม่ได้หยุดนิ่ง การขับเคลื่อนยังคงดำเนินไปท่ามกลางอุปสรรค บนความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้จะน่าอยู่สำหรับทุกคนโดยไม่เลือกเพศและสถานะทางสังคม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส #MeToo ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความรุนแรงทางเพศค่อนข้างสูง และสังคมช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อปกป้องเหยื่อผู้เสียหายมากกว่าการปกป้องคนทำผิดที่มักมีชื่อเสียงในสังคม และทำให้เหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องการขับเคลื่อนสังคมตนเองไปในทิศทางเดียวกับอเมริกา

ภายในเวลาเพียง 4 เดือน ตั้งแต่เกิดปฎิกิริยาไวน์สตีน (Weinstein Effect) ในเดือนตุลาคม 2017 ถึงมกราคม 2018 มีหญิงสาวอเมริกันจำนวนมากลุกขึ้นมาบอกเล่าเหตุการณ์ ‘ฉันก็โดน’ รวมจำนวนผู้ถูกกระทำที่เปิดเผยผ่านทางสื่อต่างๆ ได้ถึง 150 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลในอุตสาหกรรมบันเทิง 48 คน นักข่าวและพิธีกรโทรทัศน์ 21 คน นักการเมือง รวมถึงบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอีก 9 คน รูปแบบการถูกกระทำมีตั้งแต่การส่งข้อความแทะโลม การลูบคลำ ทำอนาจารร่างกาย ไปจนถึงการข่มขืน

ปฏิกิริยารวมถึงชะตากรรมของชายเหล่านั้นมีตั้งแต่ยืนกรานปฏิเสธ ยินดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเองในชั้นศาล ฟ้องกลับคนที่ออกมากล่าวหา ออกมาขอโทษต่อสังคม โดนไล่ออกจากวง (กรณีนักร้อง/นักดนตรี) การลาออกจากตำแหน่งหรืองานที่ทำ ถูกตั้งกรรมการสอบ ถูกฟ้องและศาลสั่งดำเนินคดี

ปฏิกิริยาไวน์สตีน เริ่มขึ้นจากการที่นักแสดงหญิง 1 คน ลุกขึ้นมาบอกว่าถูก ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์มือทองแห่งฮอลลีวูดล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากนั้นนักแสดง นางแบบ ไปจนถึงลูกจ้างหญิง รวมมากถึง 40 ราย ออกมาเปิดเผยตัวว่าเคยถูกไวน์สตีนล่วงเกินด้วยเช่นกัน ความกล้าหาญของผู้หญิงกลุ่มนี้ทำให้สังคมอเมริกันและสังคมโลกได้รับรู้ความจริงว่า ชายผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกนี้ข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงติดต่อกันนานถึงกว่า 30 ปี และระบบยุติธรรมของอเมริกาทำให้เขาได้รับคำพิพากษาจำคุกแน่นอนแล้ว 23 ปี และคาดว่าจะมีโทษเพิ่มจากคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์อีก 18-24 ปี 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า