นม

Time

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

 

ในวันสำเร็จการศึกษา ลูกสาววัย 3 เดือนของ คาร์เลชา เธอร์แมน ก็เกิดหิวขึ้นมา เธอจึงแหวกชุดครุยออกเผยทรวงอกอิ่มแบบผิวสีให้ลูกดื่ม ภาพเธอกำลังให้นมลูกในที่สาธารณะปรากฎสู่สาธารณะแบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งเสียงชื่นชมและตำหนิ ว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่และไม่ถูกกาลเทศะในคราวเดียว เช่นเดียวกับกรณีของบัณฑิตหญิงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำอย่างเดียวกัน หากประเมินจากน้ำเสียงของทั้งสองกรณี ดูเหมือนว่ากระแสชื่นชมจะดังกว่า

ในฝั่งของเสียงตำหนิ ต่างก็มองว่านี่คือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ในกรณีของบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะชุดที่เธอสวมใส่อยู่เป็นชุดครุยพระราชทาน จึงไม่เหมาะที่จะอนุญาตให้ทรวงอกขาวผ่องเผยออกมา ขณะที่เธอร์แมนถูกวิจารณ์ว่าขาดการอบรมฝึกฝนมาจากครอบครัว และร้ายแรงถึงขั้นถูกตราหน้าไปในทางที่ว่าเธอเป็นผู้หญิงแรงๆ

คาร์เลชา เธอร์แมน เขียนจดหมายเปิดผนึกไว้ในเพจของเธอถึงการตั้งครรภ์ในปีสุดท้ายของการศึกษา เธอเล่าว่า “ลูกสาวเป็นแรงผลักดันให้ฉันก้าวต่อไปบนเส้นทางการศึกษา ดังนั้นในวันที่ฉันสำเร็จการศึกษา มันคือช่วงเวลาของเรา” ด้วยความตกเป็นเป้าความสนใจ ทั้งเสียงชื่นชมว่านี่คือการกระทำที่ยิ่งใหญ่ แต่เธอร์แมนบอกว่า “ฉันไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ มันคือเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา ฉันไม่เคยคิดว่าการให้นมลูกในที่สาธารณะมันจะกลายเป็นข้อโต้เถียงที่รุนแรง จนกระทั่งเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นกับฉัน”

คาร์เลชา เธอร์แมน
คาร์เลชา เธอร์แมน

การให้นมลูกในที่สาธารณะของเธอร์แมนไม่เพียงเป็นประเด็นถกเถียงในกรอบสิทธิในเรือนร่างของผู้หญิงผิวสีเท่านั้น แต่ไปไกลถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม อาจจะระคายเคืองดวงตาของผู้วิจารณ์กว่านี้ หากพวกเธอปั๊มนมใส่ขวดนมให้ลูกดื่ม แต่การให้นมลูกในที่สาธารณะของเธอร์แมนก็ลากจูงไปสู่ประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะในขวดนมพลาสติกจะมีสาร BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพลาสติก รายงานของ Environment California Research & Policy Center ชี้ให้เห็นว่า ขวดนมพลาสติกใสแบบที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีพิษจากสารเคมีที่เป็นภัยต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ ดังนั้นในหมู่คนที่ชื่นชมการกระทำของเธอร์แมนจึงมองว่า การให้นมลูกจากเต้าของเธอเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่เธอร์แมนมองว่าไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรอย่างการให้นมลูกในที่สาธารณะได้นำพาข้อถกเถียงไปสู่เรื่องความยุติธรรมด้วย

บทความที่ชื่อ ‘A Life Cycle Approach to Food Justice: The Case of Breastfeeding’ โดยนักสังคมวิทยานามว่า แจนน์ โอลคอมบ์ รายงานว่า มารดาที่ยากจนไม่มีโอกาสให้นมลูก เพราะพวกเธอต้องทำงานหนัก

อัตราการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต่ำมากในผู้หญิงผิวสีและแม่ที่ใช้แรงงาน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น นักสังคมวิทยามองว่าเป็นเพราะโครงสร้างทางสังคม โอกาสที่จำกัดในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือปั๊มน้ำนมมาเก็บไว้ มักอยู่ในคนที่มีค่าแรงต่ำ รวมไปถึงการขาดสำนึกของความเป็นแม่ในสหรัฐ ซึ่งกรณีนี้ต้องแยกกับกรณีที่น้ำนมของแม่ไม่มีคุณภาพ คนที่ร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพต่อทารกไม่ได้หมายความว่าขาดสำนึกของความเป็นแม่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือ การขาดการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมเช่นสังคมที่ทำงาน

ใส่ชุดครยให้นมลูก

สาเหตุหนึ่งที่กีดกันผู้หญิงผิวสีจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือทัศนคติของสามี งานวิจัยของ ลอรี ดาร์บี และ เนโอมิ บรอมเบิร์ก บาร์-ยัม รายงานว่า “ทัศนคติของพ่อที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจของแม่ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง” งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกว่า บรรดาผู้ชายในครอบครัวผิวสีมักละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และปัญหาการติดคุกของผู้ชายผิวสีด้วยข้อหายาเสพติดยังโยงมาถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในบรรดาผู้หญิงผิวสีด้วย

การรณรงค์ให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยนั้นชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ต่อร่างกายของทารก และเผยให้เห็นกลยุทธ์ของธุรกิจนมผงในการวิ่งเข้าหาโรงพยาบาลทุกรูปแบบ กระนั้นก็ตามสิทธิ์ในการลาหยุดงานตามกฎหมายของผู้หญิงที่เป็นแม่ น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ถึงโอกาสและความยุติธรรมในแต่ละสังคมที่มีต่อผู้หญิง

ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิการลาคลอดมากที่สุด หญิงทำงานมีสิทธิลาคลอดเป็นระยะเวลานานและยังได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาการลาคลอดด้วย เช่น สาธารณรัฐเช็ก และโครเอเชีย ซึ่งให้สิทธิลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างนานถึง 7 เดือน ประเทศฮังการีให้สิทธิการลาคลอด 6 เดือน ประเทศรัสเซียและประเทศอิตาลีให้สิทธิการลาคลอด 5 เดือน

ขณะที่ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ให้สิทธิในการลาคลอด 4 เดือนครึ่ง โดยมีสำนักงานประกันสังคมหรือผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้รับภาระในการจ่ายค่าจ้างระหว่างลาคลอด ส่วนประเทศออสเตรเลียถึงแม้จะให้สิทธิลาคลอดถึง 12 เดือน แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องจ่ายค่าจ้างให้ในระหว่างการลาคลอด ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้สิทธิลาคลอดโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพียงแค่ 12 สัปดาห์

breastfeeding

ประเทศตูนิเซียเป็นประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดน้อยที่สุดคือให้เพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น ในกลุ่มประเทศเอเชีย เวียดนามเป็นประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 25 สัปดาห์หรือ 6 เดือนเต็ม โดยได้รับค่าจ้างเต็มตามจำนวนจากประกันสังคม โครงสร้างทางสังคมอุษาคเนย์มีระบบการสืบสายเครือญาติทั้งสองฝ่าย ทำให้ผู้หญิงมีสถานะที่ดีกว่าหากเทียบกับผู้ในสังคมที่มีระบบสืบสายเครือญาติแบบฝ่ายเดียว และสังคมไทยร่วมสมัยก็ให้ความสำคัญกับแม่ แต่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาไม่เกิน 45 วัน

บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองหญิงทำงานที่ต้องคลอดบุตรโดยห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ บางประเทศได้ขยายขอบเขตการคุ้มครองไปถึงหญิงที่ทำงานหลากหลายอาชีพมากขึ้น เช่น หญิงที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม งานบ้าน งานส่วนตัว และในบางประเทศยังให้สิทธิ์บิดาในการลางานเพื่อเลี้ยงทารกที่เพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นจากเต้านมของบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นและคาร์เลชา เธอร์แมน

 

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Way ฉบับที่ 81, มกราคม 2558)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า