ฟ้องปิดปาก MILLI: ความกลัวของรัฐบาลต่อพลังเยาวรุ่น

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2564) ที่ สน.นางเลิ้ง นางสาวดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ (MILLI) ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดังพร้อมด้วยทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อหากล่าวหา หลังจากที่ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับมิลลิ จากกรณีแต่งเพลงเสียดสีนายกรัฐมนตรี ในข้อหา ‘ดูหมิ่นโดยการโฆษณา’

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ออกมาแถลงเตือนศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสี่ยงอื่นๆ ที่ใช้พื้นที่ในสื่อออนไลน์ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งนายชัยวุฒิเห็นว่าอาจเป็นการเข้าข่ายเฟคนิวส์ สร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายรัฐบาล และประกาศว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย 

จากรายงานของวันนี้ระบุว่า มีศิลปิน นักแสดง ไม่ต่ำกว่า 10 ราย ที่อาจจะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในข้อหาเดียวกันกับมิลลิ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของสังคมที่เห็นว่า การแสดงออกทางการเมืองถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลต่อการบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19 

ในด้านหนึ่งเราอาจจะพิจารณากรณีการดำเนินคดีกับมิลลิในฐานะที่เป็น ‘ของกลาง’ ยืนยันความขัดแย้งของสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งระหว่างรุ่น (war of generation) ที่มีเงื่อนไขอย่างน้อย 4 ประการ มาบรรจบกัน ณ จุดตัดของกาลเวลา ได้แก่ 1) โลกเปลี่ยน แต่ระบอบการเมืองไทยยังล้าหลัง 2) การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจขณะที่โลกกำลังพลิกผัน (disrupt) 3) เกิดกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ (คนรุ่นโบว์ขาว) และ 4) ความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ระบุว่า การแจ้งความดำเนินคดีมิลลิครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 36/2563 ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนรุ่นโบว์ขาวเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลอย่างหนักตลอดปี 2563 จนถึงปี 2564 

ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ (MILLI) จึงนับเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจากการแสดงออกทางการเมืองกับศิลปิน ดารานักแสดง ในระดับ pop culture ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอด 7 ปี ของการบริหารประเทศของรัฐบาลมีการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมุ่งเน้นไปยังประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยเป็นจำนวนนับพันคนในหลากหลายกรณี แม้ว่ากรณีของมิลลิในวันนี้ ตำรวจได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท และผู้กล่าวหาแจ้งว่าไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ควรนับว่านี่เป็นการใช้กฎหมายข่มขู่ 

เนื่องจากภาพแทนของมิลลิ คือศิลปินแร็ปเปอร์ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้คนรุ่นโบว์ขาวร่วมกับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก หลายต่อหลายครั้งบทเพลงของเธอยังทำหน้าที่เชื่อมโยงเอาความทุกข์ร้อนของคนรุ่นโบว์ขาวเข้ากับการต่อสู้ทางการเมือง นอกจากนั้น มิลลิยังเป็นภาพแทนของหนุ่มสาวที่มีความสามารถแต่เผชิญกำแพงปิดกั้นจากสังคม แม้เธอจะได้รับความนิยมจากบทเพลงที่มียอด streaming สูงด้วยวัยเพียง 18 ปี ตัวมิลลิเองยังสร้างชื่อให้ประเทศไทยด้วยการรับเลือกให้ไปแสดงในเฟสติวัลออนไลน์ของ 88rising ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก โดยชื่อของเธอยังไปปรากฏใน New York Times ความข้อนี้บ่งบอกคุณภาพของเธอได้เป็นอย่างดี

หากเราวางภาพเล็กจากการดำเนินคดีกับมิลลิ กับภาพใหญ่ของคน Gen Z ลงไปในเค้าโครงร่างปัญหาทางสังคม จะพบว่า การแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ล้วนสอดคล้องกับปัญหาของโครงสร้างทางสังคมไทย ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม คำถามคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งของอะไร 

ในหนังสือ สงครามเย็น (ใน) ระหว่าง โบว์ขาว ที่มาจากการวิจัยของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างในระดับโลกทัศน์ระหว่างคน 2 รุ่น ที่เป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกว่า 1 ปีที่ผ่านมา 

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนรุ่นโบว์ขาวนับร้อยคนทั่วประเทศตลอดปี 2563 งานชิ้นนี้สังเกตเห็นว่า มีความกังวลของคนรุ่นใหม่ที่มีต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนและยากลำบากขึ้นทุกวัน ยากในระดับที่คนรุ่นก่อนหน้าจะเข้าใจ และไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียนเก่งหรือไม่เก่ง เด็กฐานะดีหรือยากจน สาเหตุที่พวกเขาสนใจการเมืองและอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดคือ ‘ปัญหาปากท้อง’ และ ‘อนาคตอันไม่แน่นอน’ 

ที่น่าสนใจคือ ปัญหาทั้งหมดไม่สามารถแยกส่วนได้จากโครงสร้างอำนาจนิยมของสังคม ทั้งที่เกิดในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา ครอบครัว ที่ทำงาน สถานีตำรวจ ศาล รัฐสภา ไปจนถึงรัฐบาล ฯลฯ นี่จึงแสดงให้เห็นการปะทะของโลกทัศน์เก่าและใหม่ แทบจะในทุกพื้นที่ของสังคม ข้อเรียกร้องของคนรุ่นโบว์ขาวจึงเกิดขึ้นในทุกมิติ โดยในทางเศรษฐกิจและสังคมพวกเขาเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ในทางการเมืองพวกเขาเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและก้าวทันโลกในยุคพลิกผัน ในทางวัฒนธรรมพวกเขาเรียกร้องการเคารพความแตกต่างหลากหลาย เป็นต้น 

เราอาจจะสรุปแนวทางการดำเนินคดีกับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ ได้ตามข้อเสนอของกนกรัตน์ที่ว่า เป็นการปะทะกันระหว่างโลกที่เปลี่ยนกับโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลง 

ความเหลวแหลกที่เกิดขึ้นได้หล่อหลอมให้คนรุ่นโบว์ขาวกลายเป็นคนกลุ่มที่มีลักษณะและค่านิยมที่แตกต่างจากคนรุ่นสงครามเย็นในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ค่านิยมแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตย ไม่ผูกติดกับความขัดแย้งในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสงครามเย็นหรือความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความเป็นอิสระจากพรรคการเมืองและแกนนำการเคลื่อนไหว ที่สำคัญคือคนรุ่นโบว์ขาวเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าพวกเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ 

ขณะที่คนรุ่นสงครามเย็นเชื่อมั่นในอำนาจนิยมและระเบียบวินัยเพื่อสร้างสังคมที่เป็นหนึ่งเดียว เน้นรักษาสังคมลำดับชั้น เด็กมีหน้าที่เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ ไม่ไว้ใจประชาธิปไตย ไม่เชื่อและกลัวการเปลี่ยนแปลง ดังที่เกิดขึ้นให้เห็นแล้วจากปฏิบัติการของรัฐบาลนี้ น่าเสียดายว่าสิ่งที่เหมาะที่ควรในเวลานี้อาจจะเป็นการรับฟัง ปรับปรุงข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ แต่รัฐบาลกลับเลือกใช้กำลังและกฎหมายปิดปากเสียงของคนรุ่นใหม่ (อีกแล้ว) 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า