‘MILLI’ ดนุภา คณาธีรกุล: จาก สน.นางเลิ้ง ถึง Coachella ฉันแรปในสมัยเผด็จการ

หากต้องกล่าวถึงศิลปินไทยสักคนที่กำลังถูกพูดถึงหรืออยู่ในกระแสหลักในช่วงนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘มิลลิ’ (MILLI) หรือ ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีระดับโลกอย่างโคเชลลา 2022 (Coachella 2022) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา 

การแสดงของมิลลิบนเวที Coachella 2022 ในครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งในฐานะศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีระดับโลก และเนื้อร้องที่ถูกแต่งขึ้นใหม่เพื่อการแสดงครั้งนี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในสื่อสังคมไทย

จากเด็กสาวผู้มีความฝัน สู่เส้นทางการเป็นศิลปิน

มิลลิ ศิลปินแรปเปอร์ไทยที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในวัยเพียง 20 ปี เธอค้นพบว่าตัวเองมีความชื่นชอบในแนวดนตรีนี้และเริ่มฝึกการแรปมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อีกทั้งนี้ยังมี นิกกี มินาจ (Nicki Minaj) แรปเปอร์หญิงชาวอเมริกันเป็นแรงบันดาลใจ ปัจจุบันมิลลิกำลังศึกษาอยู่ที่คณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC School of Music) 

จุดเริ่มต้นในวงการบันเทิงของมิลลินั้นมาจากการเข้าร่วมแข่งขันรายการเดอะแรปเปอร์ ซีซั่น 2 ซึ่งเธอถือเป็นผู้เข้าแข่งขันที่ถูกจับตามองจากผู้ชมและคณะกรรมการเป็นอย่างมากด้วยสไตล์การแรปที่แตกต่างไปจากผู้เข้าแข่งขันคนอื่น หลังจากจบรายการมิลลิจึงได้เข้าเป็นศิลปินในสังกัดค่ายเพลง YUPP! โดยเป็นศิลปินหญิงเพียงคนเดียวของค่าย ผลงานเพลงที่ถูกปล่อยออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพลง พักก่อน, สุดปัง หรือ หนูทำเอง สามารถตีตลาดเพลงไทยและสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี

เส้นทางการเป็นศิลปินของมิลลิเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น เมื่อเธอมีโอกาสได้คอลแลปกับศิลปินเกาหลีอย่าง ชางบิน (Changbin) สมาชิกวง Stray Kids ในซิงเกิล Mirror Mirror อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับค่ายเพลงสัญชาติเอเชียที่มีศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง 88rising ในเพลง The Weekend (Remix) ซึ่งนอกจากมิลลิจะมีชื่อเสียงและได้รับรางวัลมากมายในประเทศไทยแล้ว เธอยังคว้ารางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของเอเชีย (Best New Asian Artist Thailand) จากเวที Mnet ASIAN MUSIC AWARDS 2020 หรืองานประกาศรางวัลผลงานเพลงและมิวสิกวิดีโอระดับเอเชียของเกาหลีใต้ ที่ถือได้ว่าเป็นงานประกาศรางวัลที่ใหญ่ที่สุดของวงการบันเทิงเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

นอกจากการแรปและสร้างสรรค์ผลงานเพลงแล้ว มิลลิยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร ไม่เพียงแค่มิลลิเท่านั้นที่ออกมาแสดงจุดยืน แต่จะเห็นได้ว่ามีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มแรปเปอร์ซึ่งแสดงออกผ่านแนวบทเพลงที่เรียกว่า ‘Political hip hop’ หรือฮิปฮอปการเมือง ที่มีลักษณะเสียดสีสังคมและสะท้อนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการดนตรีอยู่ไม่น้อย

#saveมิลลิ ในวันที่รัฐบาลสั่งฟ้องปิดปาก

การแสดงออกทางความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของมิลลิเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนั้น ส่งผลให้เธอถูก อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าแจ้งความในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี ข้อหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา หลังจากที่เธอได้ทวีตและโพสต์ข้อความลงโซเชียลเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เอกสารหมายเรียกผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งความนั้นออกโดยสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มิลลิถูกดำเนินคดีดังกล่าวเนื่องจากได้มีการแสดงความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ ซึ่งมีบางข้อความที่มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ว่าเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หยาบคาย 

ด้วยเหตุนี้ มิลลิจึงถูกปรับ 2,000 บาท ข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ตามความผิดมาตรา 393 ที่ระบุว่า ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

แม้จะถูกดำเนินคดีจากฝั่งรัฐบาล แต่มิลลิในฐานะศิลปินแรปเปอร์และเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ก็ยังคงส่งเสียงและแสดงออกทางความคิดเห็น รวมถึงแสดงออกผ่านผลงานเพลงที่สร้างขึ้นต่อไป จะเห็นได้จากภายหลังเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว เธอยังคงทำหน้าที่เชื่อมโยงความทุกข์ร้อนและความต้องการในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ต่อไป อย่างการปล่อยเพลง อนาคตคือ ที่เธอได้ร่วมกับ ยังโอม (Youngohm) รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ รุ่นพี่ในวงการแรปเปอร์ โดยเพลงมีใจความที่ต้องการสื่อสารออกไปว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูด 

เส้นทางวงการบันเทิงในฐานะศิลปินแรปเปอร์ของมิลลิยังคงทะยานไปข้างหน้า แม้จำนวนผลงานเพลงของเธออาจจะดูเหมือนว่ายังมีไม่มากนัก แต่ผลงานเพลงทุกๆ ชิ้นที่ปล่อยออกมา ล้วนได้ผลตอบรับอย่างมหาศาลและโลดแล่นอยู่ในกระแสเสมอ จนกระทั่งการขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่ระดับโลกอย่าง Coachella 2022 ครั้งล่าสุด ที่เรียกได้ว่าเป็นการจุดกระแสให้เธอกลับมาเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงในสังคมไทยอีกครั้ง 

‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ และความเป็นไทยบนเวทีตะวันตก

ปรากฏการณ์ ‘ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์’ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการแสดงคอนเสิร์ตของมิลลิที่สหรัฐอเมริกา สร้างแรงกระเพื่อมอันมหาศาลมายังประเทศไทย โดยเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ (The Coachella Valley Music and Arts Festival) หรือที่เรียกติดปากกันว่าโคเชลลา เป็นงานแสดงที่รวบรวมศิลปินจากทั้งสาขาดนตรีและศิลปะอย่างหลากหลายทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุด และทำเงินมากที่สุดในสหรัฐฯ และทั่วโลก

สำหรับมิลลิซึ่งเป็นแรปเปอร์น้องใหม่จากประเทศไทย การได้แสดงบนเวทีโคเชลลานับเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง เช่นเดียวกันกับ 88rising ค่ายเพลงสัญชาติเอเชียที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดการแสดงบนเวทีหลักของโคเชลลาในปีนี้ และได้พาศิลปินชาวเอเชียไปสร้างสีสันจัดจ้านบนเวทีตะวันตก โดย 88rising เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ฌอน มิยาชิโร่ (Sean Miyashiro) ที่ต้องการหาพื้นที่ให้กับศิลปินเอเชียและเอเชียอเมริกันที่มีความหลากหลาย ท่ามกลางตลาดเพลงโลกที่กำลังสนใจตลาดเพลงในอเมริกาเป็นหลัก โดยความตั้งใจของฌอนคือ การผลักดันศิลปินที่มีความเก่งและโดดเด่น แต่ยังขาดการโปรโมต รวมถึงยังไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก 88rising จึงกลายเป็นโอกาสที่ฌอนใช้เพื่อคว้าตัวศิลปินเอเชียในแต่ละประเทศมาผลักดันต่อให้เข้าสู่กระแสหลักให้ได้ ซึ่งการยืนบนเวทีโคเชลลาของมิลลิในครั้งนี้เองก็เช่นกัน

Rap performance เริ่มขึ้นด้วยชุดสีแดงสดสะดุดตาท่ามกลางพื้นหลัง LED ที่ฉายภาพเปลวไฟขนาดมหึมา ล้อไปกับเสียงรายงานสภาพอากาศที่บอกว่าประเทศไทยนั้นมีเพียงฤดูที่ร้อนและร้อนยิ่งขึ้น มิลลิเลือกใช้โชว์นี้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยที่แสนจะแสบคันผ่านสายตาของเด็กสาววัย 20 ปี

“เสาไฟกินรีต้นละแสนก็มี รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 120 ปี”

“I can play pingpong without hands”

“Country is good, people is good, our food is good, but government is bood”

ท่อนแรปแสดงทัศนะต่อประเทศไทยและปัญหาโครงสร้างสังคมถูกตีแผ่ผ่านฝีปากเยาวชนไทยสู่นานาชาติ ความตลกร้ายซึ่งถูกสอดแทรกผ่านบีตดนตรีชวนโยก ไม่ทำให้ความร้อนแรงของเนื้อหานั้นถูกลดทอนลงแต่อย่างใด

‘เสาไฟกินรีต้นละแสน’ บอกเล่าประเด็นการใช้งบประมาณที่ดูมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจส่อทุจริตในโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรีของ อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทย

‘รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 120 ปี’ เสียดสีอดีตที่เคยรุ่งเรืองของแดนสยาม ซึ่งมีความทันสมัยเป็นอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะด้านการรถไฟและการไฟฟ้า หากแต่ปัจจุบันกลับล้าหลังไปกว่าประเทศใกล้เคียง

‘play pingpong without hands’ พูดถึงโชว์สยิวที่ ‘Only in Thailand’ อันลือชาซึ่งคนไทยรู้จักกันในนาม ‘ปิงปองโชว์’ ถูกนำเสนอสู่ชาวโลกบนทวิตเตอร์ของนักร้องชื่อดังอย่าง Rihanna ผู้ป่าวประกาศถึงอาชีพที่มีอยู่จริง สวนทางกับภาพลักษณ์เมืองพุทธโดยสิ้นเชิง

อีกหนึ่งสิ่งที่ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจชาวเน็ตไทยอยู่ไม่น้อยคือ การผนวกคำแสลงไทยเข้ากับภาษาอังกฤษอย่างลื่นไหล เพื่อบอกให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยก็มีดี จะติดก็ตรงที่รัฐบาลที่ ‘บูด’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงหมดอายุ แต่หมายถึงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่าน ไม่เข้าท่า

ไฮไลต์ของการแสดงครั้งนี้คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากการจ้วงข้าวเหนียวมะม่วงเข้าปากบนเวที ท่ามกลางผู้ชมนับหมื่นแสนก่อนจะตบท้ายด้วยประโยค “I’m MILLI from Thailand” ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่มองว่าเป็นการแสดงออกที่ดูไม่เหมาะสมและไม่มีเหตุผลที่จะกินอาหารระหว่างทำการแสดง ในขณะที่อีกฝั่งมองว่าเป็นการนำเสนอความเป็นไทยที่ซื้อใจต่างชาติได้อย่าง ‘สุดปัง’

อย่างไรก็ดี ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพลังข้าวเหนียวมะม่วงที่โกอินเตอร์ไปถึงโคเชลลาได้ชุบชีวิตพ่อค้าแม่ค้าข้าวเหนียวมะม่วง รวมไปถึงชาวสวนมะม่วงในประเทศไทยได้อย่างเหลือเชื่อ ยอดขายที่พุ่งกระฉูดในวันที่ 17 เมษายน นับเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลังจากวิกฤติมะม่วงล้นตลาด ราคาตกจนขายแทบไม่ได้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบการทำงานของรัฐบาลซึ่งควรเป็นผู้ที่แก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน แต่กลับกลายเป็นผลงานของเด็กสาวตัวเล็กๆ ที่เคยถูกแจ้งความในคดีหมิ่นการทำงานของรัฐบาลเสียอย่างนั้น

การหยิบยกเอา ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ซึ่งเป็นเมนูของหวานขึ้นชื่อ นอกเหนือไปจากเมนูอาหารไทยที่ชาวต่างชาติคุ้นเคยอย่างต้มยำกุ้งหรือผัดไทย ทำให้ #ข้าวเหนียวมะม่วง ขึ้นเป็นเทรนด์ดิ้ง (trending) อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ของประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา รวมไปถึงยอดค้นหาคำว่า ‘Mango Sticky Rice’ ใน Google ก็พุ่งสูงขึ้นจากเดิมอย่างมากด้วยเช่นกัน เมื่อดูจากกราฟในไทยแล้ว ยอดค้นหาคำดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นจากเดิมตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 09.16-11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่มิลลินำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นมากินบนเวที และในส่วนของกราฟทั่วโลกนั้นก็มีอัตราการค้นหาเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

กราฟแสดงยอดการค้นหาคำว่า ‘mango sticky rice’ ในภาพรวมทั่วโลก

ภายใต้สีสันของดนตรีและเวทีโคเชลลาอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ การนำเสนอความเป็นไทยสู่สากลโลกในมุมของเยาวชน ซึ่งผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกไม่เห็นด้วย 

ความงดงามที่ถูกเคลือบแข็งไว้ในจารีตประเพณีไทย โดนสวนแทงด้วยความจริงในสังคมและแนวคิดสมัยใหม่ผ่านเพลงแรปต่างวัฒนธรรม ที่แม้จะสื่อสารด้วยภาษาเดียวกันก็อาจฟังดูไม่เข้าหู

“One thing, I didn’t ride an elephant”

คือเนื้อร้องที่แรปเปอร์สาวตะโกนใส่ไมโครโฟน หนึ่งในเรื่องเล่าขำขันที่บ่งบอกถึงความอัดอั้นตันใจของคนไทยต่อชาวต่างชาติ และเกิดเป็นคำถามให้ต้องทบทวนกันอีกครั้งว่า ทำไมคนไทยในสายตาคนภายนอกจึงต้องขี่ช้าง ทั้งที่ในปัจจุบันแทบทุกพื้นที่ในโลกสามารถเข้าถึงการคมนาคมด้วยรถยนต์

เมื่อนโยบายการนำเสนอความเป็น ‘ไทย’ ถูกตีกรอบเอาไว้ให้เป็นไปในทางที่เห็นว่าเหมาะสม อันว่าด้วยการอนุรักษ์และสืบสานความดีงามโดยคงความเป็นต้นตำรับเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การฉีกกรอบและหยิบยกขึ้นมาเสียดสีอย่างตะบี้ตะบันจึงกลายเป็นเรื่องที่ดูรุนแรง เป็นเหตุให้วงการเพลงแรปไทยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เท่าที่ควร แม้จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ก็ตาม

การขึ้นเวทีระดับโลกอย่าง Cochella 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ศิลปินและเยาวชนไทยมีความสามารถอย่างมากที่จะไปถึงระดับโลกได้ หากรัฐบาลเห็นคุณค่าและสนับสนุนพวกเขาอย่างจริงจัง อาจเป็นไปได้ว่าจะสามารถส่งเสริมศิลปินคนอื่นๆ ในประเทศไทยได้อีกจำนวนมากเลยทีเดียว อย่างที่ อัษฎกร เดชมาก หรือ ‘อัตตา’ (AUTTA) แรปเปอร์หนุ่ม เคยกล่าวไว้ขณะขึ้นรับรางวัลสาขา Best Record of The Year หรือ การบันทึกเสียงยอดเยี่ยมแห่งปี บนเวที TOTY Music Awards 2021 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า

“คุณลองคิดดูว่า พวกเราทำกันเองแม่งยังได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเกิดว่ารัฐสนับสนุน เราจะไปได้ขนาดไหน?”

วันนี้เสียงของ ‘มิลลิ’ ดังก้องออกสู่โลกใบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ในฐานะแรปเปอร์จากรัฐประชาธิปไตยไม่สมประกอบ ความหวังอันเรืองรองถูกจุดขึ้นอีกครั้งด้วยปลายปากกา ไมค์ลอย และถ้วยข้าวเหนียวมะม่วงในมือเด็กสาว รอคอยวันที่การเปลี่ยนแปลงจะมาถึงประเทศอันเป็นบ้านเกิดของตัวเอง

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า