ปรีชญาณ์ นักฟ้อน: ถอดโมเดลเกาหลี แปลง ‘ซอฟต์โปรดักต์’ ให้เป็น ‘พาวเวอร์’

ไม่นานมานี้เราเดินทางไปสำรวจความหมายของคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กับอาจารย์ ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ไม่ไกลจากที่ทำการพรรคเพื่อไทย ศูนย์กลางสารตั้งต้นที่ทำให้สังคมตื่นตัวและหยิบยกเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

เรานั่งพูดคุยกันต่อกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว ผู้ที่คลุกคลีกับการศึกษาเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะ ควบคู่ไปกับบทบาทการเป็นติ่ง K-POP อย่างสุดตัว 

“เดี๋ยวไปสัมภาษณ์ที่ห้องประชุมแทนนะ เพราะห้องเรามันจะเต็มไปด้วยบังทัน” ประโยคแรกของอาจารย์ปรีชญาณ์ที่บ่งบอกได้ว่าเป็นแฟนตัวยงของบอยแบนด์ชื่อดังแห่งเกาหลี โดยที่เราอาจจะไม่ต้องซักไซ้ไถ่ถามให้มากความ 

อาจารย์ปรีชญาณ์จึงเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่น่าจะไขคำตอบเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ได้ดีอีกคนหนึ่ง ในการอธิบายถึงมุมมองเชิงนโยบายควบคู่ไปกับบทเรียนซอฟต์พาวเวอร์จากโมเดลเกาหลี ที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นคู่เทียบอยู่บ่อยครั้งเวลาเราพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ในแถบเอเชียที่ไทยจะเอาเป็นต้นแบบ ซึ่งคนไทยเองก็ได้รับอิทธิพลหรือค่านิยมบางอย่างจากการติดตาม K-POP และ K-Series ค่อนข้างมากพอสมควร 

“เวลาดูซีรีส์มันทำให้อยากรู้เหมือนกันนะว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นแบบนี้ ประกอบกับได้มาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนานโยบาย ทำให้ได้เห็นว่าเขามีความตั้งใจบางอย่าง เลยไม่แปลกใจที่ซีรีส์เกาหลีสามารถผลิตอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเห็นสังคมของเขา จนทำให้หลายคนอินและไปอยู่ใจกลางโซลหรือปูซาน แล้วก็อยากจะมีวิถีชีวิตเหมือนคนเกาหลี” ปรีชญาณ์เอ่ยขึ้นหลังจากที่เราเริ่มเปิดประเด็นเรื่องโมเดลเกาหลี ก่อนที่จะเหลียวกลับมามองประเทศไทย

สำรวจวิธีคิดซอฟต์พาวเวอร์สไตล์เกาหลี 

อาจารย์ปรีชญาณ์เริ่มต้นด้วยการพาย้อนกลับไปมองหลายทศวรรษก่อน การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีนับว่าช้ากว่าไทยอยู่มาก หลายคนมักจะพูดเรื่องนี้ตลอดเวลาว่า ประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบมานานปีแล้วตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจุดที่ประเทศเราต้องการพัฒนาคือ ‘ความ (ไม่) อยู่ดีกินดี’ ซึ่งเป็นโจทย์ธรรมดาของทุกสังคม 

ถ้าย้อนไปมองหลายประเทศในอดีตจะเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องหาให้เจอว่าอะไรคือตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เกาหลีทำมีอยู่หลายมิติ เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงจุดหนึ่งจึงมองเห็นว่าของดีของตัวเองคืออะไร 

ปรีชญาณ์ให้ความเห็นว่า “สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ สิ่งที่เกาหลีพยายามดีไซน์คือมองตั้งแต่การพัฒนาเมือง การสร้างเมืองเก่าเมืองใหม่คู่ขนาน และจะเห็นว่า traditional บางอย่างของเกาหลีก็ยังสามารถไปต่อ นี่คือสิ่งที่เกาหลีคิด”

เกาหลีพยายามที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วสามารถสร้างประโยชน์ได้ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลเกาหลีมองตั้งแต่หลายสิบปีมาแล้ว จนเกิดการสร้างองค์กรที่เข้ามาดูแล content creative โดยตรง และใช้หลักในการรวบรวม culture ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วของเอกชน หรือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลายมาประมวลโดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคอนเซปต์ของรัฐสมัยใหม่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และเกาหลีสามารถทำออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองไม่ได้เพิ่งเปิดรับอิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์จากต่างประเทศอย่างเกาหลี แต่ก่อนหน้านี้ก็รับเอาซอฟต์พาวเวอร์จากโลกตะวันตกมาไม่น้อย ทั้งในด้านวิทยาการความรู้ต่างๆ 

“อย่างความรู้ด้านรัฐศาสตร์ในประเทศไทย หรือด้าน PA (Public Administration – รัฐประศาสนศาสตร์) เราก็จะได้ความรู้ด้านนี้มาจากการไปเรียนอเมริกา แปลว่าคอนเซปต์การบริหารสไตล์อเมริกันที่เข้ามานี้ก็คือซอฟต์พาวเวอร์นะคะ” ปรีชญาณ์ยกตัวอย่าง

“เพราะฉะนั้นชื่อมันเลยซื่อตรง มันคือสิ่งที่ ‘ซอฟต์’ ที่สร้าง ‘พาวเวอร์’ ได้ เกาหลีเขาสามารถเอาซอฟต์โปรดักต์ไปสร้างพาวเวอร์ต่อคนอื่นได้ ตอนนี้บ้านเรากำลังพยายามหาตัวซอฟต์โปรดักต์ ซึ่งเราเองก็มีอยู่ไม่น้อย

“สรุปว่าวิธีคิดเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีคือ เขาตั้งเป้าที่จะผลักดันตั้งแต่ต้น ซึ่งเราเรียนรู้จากเขาได้ง่าย เพราะสิ่งที่เขาขายมันมีความ Asian และใกล้เคียงกับบ้านเรา”

ทิศทางนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย ไปทางไหนดี

ในแง่การผลักดันนโยบายของรัฐ อาจารย์ปรีชญาณ์อธิบายว่าต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ ข้อมูล องค์ความรู้ และอำนาจ ถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้จะสามารถผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดีได้ ซึ่งในเวลานี้อำนาจรัฐมีแน่ๆ ส่วนเรื่ององค์ความรู้ อาจารย์ปรีชญาณ์เองก็เชื่อว่ามีแน่นอน แต่ยังสะท้อนออกมาไม่ชัดเจนนัก และข้อมูลยังคงกระจัดกระจายมากจนน่าเสียดาย

ทุกวันนี้เรามองเห็นความตั้งใจอย่างมากของรัฐ ในการหันมาให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ แต่การจะออกนโยบายของตัวเองเพื่อผลักดันเรื่องนี้จริงจัง แน่นอนว่าต้องมีกลไกเชิงโครงสร้างมารองรับก่อน อย่างของเกาหลีมีหน่วยงานที่ชื่อว่า KOCCA (Korea Creative Content Agency) ไต้หวันมี TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ของไทยเราก็มี THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่รัฐบาลเซ็ตเอาไว้

จุดนี้เป็นสิ่งที่รัฐไทยพยายามวางโครงสร้างไว้ ส่วนในเชิงคอนเซปต์ทั้งวัตถุประสงค์ และภารกิจที่จะทำ หากดูข้อมูลนโยบายเท่าที่มีการเผยแพร่ จะเห็นว่ายังคงมีโจทย์ที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก

นโยบายนี้ถูกผลักดันและหาเสียงในฐานะนโยบายของพรรคเพื่อไทย เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจึงถูกผลักดันออกมาเป็นนโยบายสาธารณะของรัฐ เมื่อเอามาวางเป็นนโยบายของรัฐ มันถูกเคลื่อนจริงอย่างไร ถูกตอบรับจริงในเชิงกลไกที่รัฐบาลจะเอามาสวมกับระบบราชการอย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ยังไม่ชัด ซึ่งอาจารย์ปรีชญาณ์ย้ำว่า “ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่เตรียม เพียงแต่การสื่อสารออกมาต่อสังคมอาจจะยังไม่ชัด”

ถ้าล้อไปกับนโยบายเพื่อไทยและหยิบยกนโยบายทั้งก้อนของเพื่อไทยมาวาง จะเห็นว่าสิ่งที่มาคู่กับการตั้ง THACCA คือสโลแกน ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่จะผลักดันให้คนในแต่ละครอบครัวสามารถไปเรียนเพื่ออัปสกิล/รีสกิล ในเรื่องที่ creative ในมิติต่างๆ 20 ล้านครอบครัว พร้อมกับจะเปิดอัตราการจ้างงาน 20 ล้านตำแหน่งรองรับ 

“โอเคไปเรียนแล้วได้งานทำ แล้วมันก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขายได้ คำถามคือแล้วอะไรคือ ‘ซอฟต์’ ที่จะไปสร้าง ‘พาวเวอร์’ ยังไม่เห็นเลย มันอาจจะเป็นโครงการที่ทำขึ้นแล้วมีโครงสร้างบางอย่างรองรับ แต่หัวใจสำคัญของการจะสร้างให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์มันหายไป

“อย่างเรื่องอาหาร ทุกวันนี้คนยังเถียงกันอยู่เลยว่า ต้มยำกุ้งเป็นอาหารประจำชาติจริงไหม ใน 365 วัน กินต้มยำกุ้งไปกี่วันถ้าเทียบกับน้ำปลาพริก ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอะไรแบบนี้ ขนาดคนไทยเองยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในวิถีนั้น เพราะฉะนั้นต้องถอดออกมาให้เจอว่าอะไรคือโปรดักต์ที่มีอยู่แล้ว โดยรัฐไม่ต้องเริ่มต้นจาก 1 หรือ 0” 

การที่รัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างไรต่อกับสิ่งที่เดินหน้าไปไกลแล้ว สำหรับปรีชญาณ์ไม่ได้มองว่าเป็นการ ‘เคลม’ แต่อย่างใด แต่รัฐบาลต้องรู้วิธีว่าจะเข้าไปซัพพอร์ตอย่างไร เติมเต็มอย่างไร ไม่ใช่แย่งผลงาน หรืออะไรที่ดูมีทรง แต่ยังไปต่อไม่ได้ รัฐบาลจะช่วยอย่างไร 

ปรีชญาณ์เสนอว่า ต้องมองเป็นหลายๆ เลเวล เพื่อวางนโยบายให้เอื้อกับสิ่งที่เป็นอยู่

“เรากำลังปนๆ กันอยู่ระหว่างคำว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ กับ ‘ซอฟพาวเวอร์’ เรารู้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการนำเอาวัฒนธรรมมาขายให้ได้ สร้างมูลค่าจากวัฒนธรรม ใช้ไอเดียบางอย่างมาสร้างมูลค่าที่มากขึ้น แต่บางทีมันปนกันว่า พอเราสร้างขึ้นมาปุ๊บ มันคือซอฟต์พาวเวอร์เลย มันไม่ใช่” ปรีชญาณ์พูดขึ้นหลังจากถูกถามถึงปัจจัยที่จะทำให้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ ในเชิงเศรษฐกิจ สินค้าทางวัฒนธรรมจะสร้างมูลค่าได้มากขึ้นจากความ creative ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์อาจไม่ได้เป็นการผลิตโปรดักต์ออกมาตรงๆ แต่ใช้วิธีการสร้างภายใต้สภาพลักษณะสังคม ความเป็นศิลปะ และความเป็นวิถี ซอฟต์พาวเวอร์จึงมีขอบเขตที่กว้างขวาง ซึ่งต้องคุยกันให้ชัดเจนและแน่นอนก่อน

“อีกประเด็นที่สำคัญมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่เวลาออกนโยบายชอบทำทุกอย่างให้มันแกรนด์ ตีความว่านโยบายสาธารณะต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะเรื่องสาธารณะคือเรื่องของคนในสังคม คนไม่กี่คนก็เป็นเรื่องสาธารณะได้ถ้าเรารู้สึกร่วมไปด้วย และสังคมรู้สึกว่ารัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ ถือว่าเป็นเรื่องสาธารณะหมด

“ปัญหาของรัฐไทยเวลาคิดนโยบายสาธารณะ คือคิดว่าทำ 1 ปี แล้วจะเปลี่ยนแปลง 30 ปีที่ผ่านมาได้ หรือทำ 1 เรื่อง แล้วเปลี่ยนทั้งกระดานได้ นี่คือวิธีคิดหรือมุมมองแบบรัฐไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีลักษณะการออกนโยบายแบบ ‘ผ้าโหล’ ทุกอย่างต้องเหมารวม แปลว่าถ้าทำซอฟต์พาวเวอร์ให้กับซีรีส์วาย เดี๋ยวมวยไทยงอน เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเรามองไม่ครอบคลุม ซึ่งในความเป็นจริงการที่รัฐจะอุ้มทุกอย่างไว้ มันประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่แล้ว”

อาจารย์ปรีชญาณ์เล่าว่า เกาหลีเองก็ไม่ได้เริ่มต้นทำทุกมิติ แต่เริ่มต้นจากบางประเด็นแล้วค่อยๆ ทำไป “ถ้าย้อนกลับไปพูดถึงซีรีส์เกาหลีอย่างเรื่อง Winter Love Song (Winter Sonata) ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ทัวร์ตามรอยที่เกาะนามิ มีรูปปั้นพระเอกนางเอกยืนอยู่ ขายทัวร์ได้วันละเท่าไร เกาหลีส่งมาให้ไทยฉายไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์สักบาท ขอแค่ให้ได้ฉาย” 

ต่อมาเกิดแรงกระเพื่อมอีกรอบเต็มๆ กับแดจังกึม (대장금) “นั่งดูกันน้ำลายไหล อาหารดูน่ากินไปหมด ในขณะที่เราไม่ค่อยเห็นละครไทยกินข้าวกันจริงจัง วางไว้แต่ไม่ค่อยกิน วางเอาไว้เพื่อจะทะเลาะกันบ้าง เพื่อจะคุยกันบ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ต้องมี story มีบท แต่ไม่กินข้าวนะ”

ตรงนี้ทำให้เห็นว่าเขาตั้งใจทำเป็นเรื่องๆ แล้วต่อยอด จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องเดียวกัน K-POP ที่มาหลังซีรีส์ไม่นาน เอาเข้าจริงก็เป็นความแข็งแรงของอุตสาหกรรมบันเทิงอยู่ก่อนด้วย 

ปรีชญาณ์ยกตัวอย่างวง BTS จากค่ายเพลงที่พยายามจะเชื่อมต่อกับอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ด้วยตัวของบริษัทเอง รัฐบาลรู้ว่าสิ่งนี้สามารถไปได้ด้วยตัวมันเองก็จะวิ่งเข้าไปซัพพอร์ต อันไหนที่ยังไม่ถูกมองเห็น แต่มีความตั้งใจอยากส่งออก รัฐก็จะผลักดันเต็มที่

ในส่วนของประเทศไทย ปรีชญาณ์ให้ความเห็นว่า “ตอนนี้ไม่รู้ว่าต้นทุนเรามีเท่าไร แต่พร้อมที่จะเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้งหมด ซึ่งเราอาจจะต้องหันกลับมาทำความเข้าใจและตีความกันให้ชัดเจนอีกทีว่า การที่เราจะเลือกทำทีละอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอย่างอื่น”

ระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ อุปสรรคต่อนโยบายแก้ไขได้ด้วย THACCA

อาจารย์ปรีชญาณ์เสนอว่า ถ้าเราจะมองเกาหลีเป็นโมเดลคู่เทียบ สิ่งที่เกาหลีทำและน่าจะเป็นโมเดลเดียวกันกับไต้หวัน และไทยเองก็ดีไซน์เอาไว้อยู่แล้ว คือการลดความเป็นกฎระเบียบลง เพราะภาครัฐจะมีการใช้อำนาจอยู่ 2 แบบ คือการ ‘ให้’ กับ ‘ห้าม’ จะให้อะไรต้องให้ให้ถูก ห้ามก็ต้องห้ามให้เหมาะ เพราะฉะนั้นตรงนี้อันดับแรกต้องคลี่เสียก่อน 

“วันนี้มีคนพูดถึงเยอะมากว่าทำไมภาพยนตร์ไทยโปรดักชันบางอย่างมันไม่ไป ทำไมบทมันไม่สมเหตุสมผล ถ้าจะเอาเรื่องนี้จริงๆ ไปถอดออกมาให้หมดว่าแท้จริงแล้วปัญหานี้คืออะไร รัฐบาลต้องเริ่มต้นจากปัญหาพื้นฐานก่อนจึงจะกำหนดนโยบายได้ชัดขึ้น อันนี้คือหลักคอนเซปต์ง่ายๆ อยู่แล้ว วงการภาพยนตร์พูดถึงการเซนเซอร์เอยอะไรเอยมาตลอด รัฐบาลสามารถทอนมันได้ไหม”

‘แผนการปฏิรูปประเทศ’ ดูจะชัดขึ้นมาหน่อยหากพูดถึงเรื่องกฎระเบียบ โดยปรีชญาณ์ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และขยายเป็น 13 ด้าน ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีด้านหนึ่งชื่อว่า ‘การบริหารราชการแผ่นดิน’ ตรงนี้เขียนชัดเจนมากว่าให้ระบบราชการมีการทบทวน และปรับให้มีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ในการทดลอง หรือการทำองค์กรของภาครัฐแบบใหม่ (แบบสับ) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของระเบียบราชการปกติ เพื่อที่จะตอบโจทย์งานที่ไม่ต้องการเอากฎหมายอื่นใดมาข้องเกี่ยว และทำให้เป็น sandbox ของบางภารกิจ

สิ่งนี้รัฐพยายามทำมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาจารย์ปรีชญาณ์เองคาดหวังว่า THACCA จะพยายามใช้พื้นที่จากกฎหมายนี้ในการสร้างองค์กรที่สามารถปลดล็อกอะไรบางอย่างได้ 

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า อำนาจของ THACCA ไปถึงตรงไหน เนื่องจากยังมีอำนาจของหน่วยงานประจำ เพราะบ้านเราดีไซน์ระบบแบบแยกภารกิจกันมาก เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรสักเรื่องต้องขอความร่วมมือจากกระทรวง A B C ซึ่งไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

“คุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน) ไม่ผิด เพิ่งมาเป็นนายกฯ ไม่กี่เดือน อดีตมันเป็นภาระของคุณเศรษฐา เป็นภาระของเพื่อไทย ณ วันนี้ เรื่องบางเรื่องอย่างเช่นคนทำหนังเขาเคยขอไปแล้วหลายรอบ เซนเซอร์อยู่นั่นแหละ ปลดล็อกให้ได้ไหม ไม่เคยได้ มันกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในรัฐ รัฐที่แปลว่ารัฐบาลโดยรวม ไม่ว่านายกฯ จะชื่ออะไร พอวันนี้มาบอกว่าฉันจะมีองค์กรใหม่ (THACCA) คนที่เคยขอ เคยเรียกร้อง อาจจะคิดว่ามันก็เหมือนเดิม มันก็จะมีอคติบางอย่าง ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ได้ ไม่งั้นก็คงเป็นบรรยากาศที่ยังไม่แน่ใจกันและกันแบบนี้”

เป้าหมายปลายทางในเชิงเศรษฐกิจ

“เราทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่ออะไร เราต้องการเปลี่ยนใจคนเหรอ ต่อให้อาหารไทยโคตรดี เขาก็คงไม่เปลี่ยนมาเป็น Thai citizen หรือขอเปลี่ยนมาเป็นสัญชาติไทยหรอก ไม่มีทาง มันไม่ใช่เรื่องของการขยายอาณาเขตอีกต่อไปแล้ว แต่พลังแบบนี้จะกลับมาในรูปแบบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ถนนทุกสายมุ่งเข้ามาอินกับการใช้ชีวิตแบบคนไทย อินกับวัฒนธรรมการกิน ละคร อยากมีสไตล์เหมือนคนไทย ผ่านซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้” อาจารย์ปรีชญาณ์ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจจากซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะนำมาซึ่งผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้เราพูดกันมาตลอดว่า เศรษฐกิจไทยโตจากการท่องเที่ยว แต่เมื่อก่อนท่องเที่ยวไทยโตเพราะความโดดเด่นจากทรัพยากรธรรมชาติ การมีซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นตัวเติมอีกอย่างหนึ่ง จะไม่ได้เป็นแค่การมาเที่ยวเกาะ เที่ยวทะเล แต่เป็นการมาเที่ยวเพื่อมาใช้ชีวิต เพื่อซึมซับบรรยากาศวิถีคนไทย 

ปรีชญาณ์กล่าวว่า หากซอฟต์พาวเวอร์จะมีพลังที่สุด ต้องผูกพันกันหลายอุตสาหกรรม อาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่า 11 อุตสาหกรรมที่รัฐสนใจสามารถเอามาเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ หรือเชื่อมกันได้อย่างไรบ้าง

ถ้ารัฐเป็นตัวผสานแล้วใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวดึงหรือสร้างมูลค่าได้ การจ้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง และความคาดหวังในเชิงเศรษฐกิจปลายทางที่ควรเกิดขึ้นจากการผลักดันให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์คงไม่ใช่เรื่องยาก 

‘ซีรีส์วาย’ ซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปไกลกว่าที่คิด

“ตอนนี้สิ่งที่สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เลยในมุมเรานะ คุณเชื่อไหมว่ามันมีพลังมากเลยคือ ‘ซีรีส์วาย’ เด็กต่างชาติที่มาเรียนแลกเปลี่ยนที่ มศว อย่างชาวจีนเลือกมาเรียนที่นี่ ทั้งที่จีนมี MOU (Memorandum of Understanding) กับอีกหลายมหาวิทยาลัยในเมืองไทย แต่เด็กบอกว่าเลือกมาเรียน มศว เพราะอยู่ใกล้แกรมมี่”

ปรีชญาณ์มองว่า ซีรีส์วายแทบไม่มีที่ไหนในเอเชียสู้เราได้เลย มันมีความเฉพาะ นี่คือสิ่งที่ไปไกลแล้ว แต่ไม่มีใครใช้มันต่อหรือเปล่า ทำไมคู่จิ้นไทยจากซีรีส์วายไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น นี่คือสิ่งที่ภาคธุรกิจทำ อย่างไรก็ตาม หากต้องการชูประเด็นนี้รัฐบาลยิ่งต้องให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ไทยเป็นตัวแทนของสังคมที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง

หรือกรณีของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างหนาหูในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเอาเข้าจริงเวลาพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในโปรดักต์หรืออุตสาหกรรมที่ทุกคนเล็งอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก ในมุมรัฐบาลที่ควรทำคือการซัพพอร์ตและบอกให้เขารับรู้ว่าคุณทำได้ดี เดี๋ยวเราจะพยายามเป็นฝ่ายที่เข้ามาซัพพอร์ตคุณได้มากกว่านี้

“ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสัปเหร่อ ธี่หยด พรหมลิขิต ทุกอย่างกระแสมันมาได้ เขามาถึงเลเวล 8 แล้ว จะทำยังไงให้เขาไปถึงเลเวลสูงๆ รัฐบาลต้องสื่อสารกับเขาให้ชัดเจนกว่านี้”

และเนื่องจากว่าเรามีต้นทุนจำนวนมาก เราอาจไม่จำเป็นจะต้องเคาะว่าเราจะไปกี่ด้าน กี่แบบ อาจไม่จำเป็นต้องผลักดันทุกด้านเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ซัพพอร์ตอุตสาหกรรมม เราต้องซัพพอร์ต เพราะไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งสิ้น 

“แต่มันสมควรจะอยู่ในตะกร้าอันนี้ แล้ววิ่งไปในภารกิจซอฟต์พาวเวอร์หรือเปล่า”

อีกประเด็นที่ช่วงหลังเริ่มพูดถึงกันมาเรื่อยๆ เมื่อพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ไทย คือการที่รัฐราชการส่วนกลางจะเปิดใจยอมรับซอฟต์พาวเวอร์ที่มาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลายได้มากน้อยขนาดไหน

อาจารย์ปรีชญาณ์ให้ความเห็นว่า สังคมตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ความหลากหลายมีมากขึ้น บริบทความหลากหลายกลายเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เปิดใจ ตัวรัฐเองก็ค่อยๆ เปิดใจกับหลายอย่าง ดังนั้นปัญหาเรื่องของการพยายามสร้าง ‘ตัวตนเดียว’ หรือไม่ยอมรับความหลากหลายจึงไม่ถือเป็นข้อจำกัดในปัจจุบันเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่มากกว่าคือ เมื่อซอฟต์พาวเวอร์พัวพันกับพันธกิจทางการเมืองด้วย ทั้งยังมีโจทย์ของกรอบเวลาในการประสบความสำเร็จ รัฐบาลเองมีภาระทั้งงานด้านการบริหารประเทศ และภารกิจในการสร้างความยอมรับทางการเมือง บางครั้งอาจเกิดความคิดที่ว่าจะต้องเป็นแบรนด์เราเท่านั้น หรือมองว่าการสานต่อความสำเร็จจากงานเดิมมันไม่ใช่งานเรา น่าจะต้องปลดล็อกความคิดแบบนี้ออกไปก่อน ซึ่งค่อนข้างยากในมิติทางการเมือง

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า