อดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทโทรคมนาคม Mytel รายหนึ่ง ซึ่งลาออกจากบริษัทหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา เปิดเผยว่าบ้านพักของนายพลมินอ่องหล่าย ในกรุงเนปิดอว์ประกอบไปด้วยคฤหาสน์หลังใหญ่และบ้านหลังเล็กอีกหลายหลังอยู่ภายในอาณาบริเวณรั้วเดียวกัน ถัดจากบ้านพักของนายพลมินอ่องหล่าย เป็นบ้านพักของนายพลโซวิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด บ้านพักนายพลเมียนมาได้รับการเสริมกำลังอย่างแน่นหนา บ้านแต่ละหลังมีทหาร 60 นายพร้อมสุนัขทหารลาดตระเวนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
บริเวณบ้านพักนายพลอาวุโส อยู่ไม่ไกลจากอาคารกระทรวงกลาโหมอันโอ่อ่าตระการตา ที่สำคัญก็คือ ภายในบริเวณบ้านพักของนายพลมินอ่องหล่าย มีหอโทรคมนาคมส่วนตัวตั้งสูงตระหง่านเป็นของตัวเอง ดำเนินการโดย Mytel ซึ่งเป็นกิจการร่วมกันระหว่างกองทัพและ Viettel ของเวียดนาม
พื้นที่ 30 เอเคอร์และอาณาบริเวณเชิงเขาทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเนปิดอว์ในเขตปกครองเซยะตี่ริ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเขต ‘Military Zone’ เป็นพื้นที่ควบคุมที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไป เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหม และเป็นที่ที่นายพลระดับสูงของเมียนมาและเหล่าผู้นำทหารอาวุโสคนอื่นๆ อาศัยอยู่ วงล้อมพิเศษนี้นอกจากมีกองกำลังป้องกันอย่างแน่นหนาแล้ว ยังโอบล้อมไปด้วยปราการธรรมชาติ โดยมีแนวเขื่อนเหย่ซินเป็นปราการทางทิศตะวันตกและแนวเทือกเขาเป็นปราการขวางกั้นอยู่ทางทิศตะวันออก
หากดูจากภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่ 30 เอเคอร์นั้นตั้งอยู่ที่พิกัด 19 ° 51’33.4” N และ 96 ° 19’28.8” E ซึ่งสามารถมองเห็นบ้านพักนายพลมินอ่องหล่าย สระว่ายน้ำส่วนตัว สนามเทนนิส และสระน้ำขนาดใหญ่อย่างชัดเจน รวมถึงพิกัดหอ Mytel ที่ใช้รหัสเรียกว่า NPW0291, VIP Site (Mytel) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านพักนายพล ตามการเปิดเผยของอดีตเจ้าหน้าที่ Mytel
หอคอย Mytel ในบ้านพักนายพลเมียนมา
Mytel ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ โดยส่วนแบ่งของรัฐบาล 28 เปอร์เซ็นต์ จะถูกจัดสรรให้กับบริษัท Star High
Star High ก่อตั้งโดย Myanmar Economic Corporation ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททหารที่ควบคุมโดยนายพลมินอ่องหล่าย การแบ่งรายได้ให้ Star High จึงเสมือนกับว่ากองทัพนั้นถือครองหุ้นใน Mytel นายพลมินอ่องหล่ายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง Mytel โดยเป็นผู้นำการเจรจากับกองทัพเวียดนามและเป็นประธานในการเปิดตัว Mytel
ข้อมูลในเอกสารของ DDoSecrets เปิดเผยว่า ขิ่นตี่ริแต๊ะก์หมู่น – ลูกสาวของนายพลมินอ่องหล่ายมีข้อตกลงทางธุรกิจจำนวนมากกับ Mytel ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ควบคุมโดยกองทัพ และเธอยังเป็นผู้ถือหุ้นใน Pinnacle Asia ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลการสร้างเสาสัญญาณสำหรับ Mytel
Pinnacle Asia เชื่อมโยงกับ Mytel ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กองทัพได้รับหุ้นใน Mytel ต่อมากลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่สี่ของเมียนมารองจาก Telenor, Ooredoo และ MPT
รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการสร้างรัฐเฝ้าระวัง
“พวกเขาพบรูปนั้น และพาตัวเธอไป เธอบอกว่าพวกเขาใช้อุปกรณ์เช็คโทรศัพท์ของเธอ เพื่อต้องการรูปที่ถูกลบไปกลับคืนมา” ชาวบ้านในเมืองฮมอบี เล่าถึงกรณีของหญิงมีครรภ์ที่แท้งลูกหลังจากทหารทุบตีเธอ เมื่อพบรูปถ่ายของเธอที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหาร “พวกเขาใช้โทรศัพท์เพื่อตามล่าผู้ประท้วง”
การอ่านข่าวเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเราบ้าง พวกเขาเชื่อว่าการจับกุมโดยพลการหลังเหตุการณ์รัฐประหารส่วนใหญ่มาจากการดักจับทางโทรศัพท์ ซึ่งมันไม่น่าแปลกใจเลย เพราะตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2021 มีรายงานว่ากองทัพเมียนมาพยายามเข้าถึงเทคโนโลยีการสอดแนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบ WiFi, การถอดรหัสผ่าน, การดึงข้อมูลจากโทรศัพท์, การกู้คืนไฟล์ที่ถูกลบ, แมปเครือข่ายโซเชียลมีเดียของผู้คน และอื่นๆ ในเอกสารงบประมาณที่รั่วไหลออกมาหลายร้อยหน้าจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar รวมถึงข้อมูลรั่วไหลอื่นๆ และสื่อโอเพ่นซอร์ซเปิดเผยว่าบริษัทตะวันตกประมาณ 40 แห่งทั้งจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ปรากฏชื่อในเอกสารเหล่านี้ เราไม่ทราบว่ามีผลิตภัณฑ์กล้องวงจรปิดระดับแนวหน้าจำนวนเท่าใดที่จำหน่ายได้จริง แต่เรารู้ว่ามีบางผลิตภัณฑ์ส่งถึงเมียนมา เราพบเอกสารประกวดราคาเพื่อจัดหาเครื่องมือเหล่านี้จำนวนมาก ซึ่งชนะการประมูลและรายละเอียดการจัดส่งสำหรับเครื่องมือเหล่านี้บางส่วน
นับตั้งแต่วันรัฐประหารเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ 2021 และทันใดนั้น การรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลก็กลายเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย
“ฉันจะไม่ใช้ Mytel SIM อีกต่อไปเพราะฉันไม่ไว้ใจพวกเขา ฉันใช้ Telenor และ Ooredoo เพราะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นกว่าหน่อย” แหล่งข่าวหลายรายรวมถึงนักเคลื่อนไหวกล่าวถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างชาติสองรายในเมียนมา
“ตราบใดที่เราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เราจะไม่คุยโทรศัพท์ หากเราต้องการใช้โทรศัพท์ เราจะใช้ซิมการ์ดของ Telenor หรือ Ooredoo และไม่เอ่ยถึงสถานที่ แผนงาน หรือชื่อจริงของเรา”
ไม่นานก่อนรัฐประหาร กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารสั่งให้ตำรวจเมียนมาจัดตั้งทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อติดตามการโทรศัพท์และการใช้โซเชียลมีเดีย
ทีมงานดังกล่าวสังกัดหน่วยงานพิเศษของตำรวจเมียนมา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะกองสอดแนมประชาชน คดีเฉพาะของหน่วยนี้จะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต
แม้ว่าการสอดแนมประชาชนจะเริ่มโครงการขึ้นในโค้งสุดท้ายภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี แต่การเฝ้าติดตามได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในความพยายามของรัฐบาลทหารใหม่ในการสร้างสิ่งที่บางคนเรียกว่า ‘แนวรบเสมือนจริง’ ซึ่งทางการได้ติดตามการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด และยึดอุปกรณ์สื่อสารจากประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาเป็นวัตถุพยานในการจับกุมในคดีที่พวกเขาถูกกล่าวหา
ทีมงานใหม่เริ่มทำงานอย่างหนักตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 หนึ่งเดือนหลังการทำรัฐประหาร ทีมงานจะตรวจสอบการโทร ข้อความ และตำแหน่งของผู้ใช้ ที่เลือกได้แบบเรียลไทม์ โดยระบบ AI หากมีการกล่าวถึงคำเฉพาะ เช่น ‘ประท้วง’ หรือ ‘การปฏิวัติ’ ระหว่างการโทร ระบบจะบันทึกคำนั้นโดยอัตโนมัติ และส่งสัญญาณแจ้งเตือนตำรวจ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการโทรได้ และหากเข้าข่ายต้องเฝ้าระวังฉุกเฉิน ผู้ใช้งานนั้นๆ อาจตกอยู่ภายใต้การจับตามองและการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
นั่นหมายความว่า หากระบบพบการสนทนาที่น่าสงสัยหรือถ้าเกิดตรวจพบคำบางคำที่เข้าข่ายขึ้นมา ทีมงานจะได้รับการแจ้งเตือน ไม่แน่ใจว่าจะมีการบันทึกการสนทนาไว้หรือไม่ … แต่การพูดคุยทางโทรศัพท์ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
การตรวจสอบแบบเรียลไทม์นี้ รู้จักกันในชื่อ ‘การสกัดกั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย’ ซึ่งก่อนหน้านี้ กองกำลังรักษาความปลอดภัยสามารถเข้าถึงข้อมูลจากการระบุตำแหน่งเสาสัญญาณที่พวกเขาเชื่อมต่อด้วย โดยการส่งคำขอไปยังผู้ให้บริการโทรคมนาคม
Free Expression Myanmar กลุ่มทำงานที่สนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกและข้อมูลในเมียนมา ระบุว่า ไม่มีการจำกัดประเภทหรือปริมาณของข้อมูลที่สามารถดักจับได้ และไม่มีความชัดเจนว่าควรจัดการกับข้อมูลที่สกัดกั้นอย่างไร หรือนานแค่ไหน ซึ่งแสดงถึง ‘ความเสี่ยงของพลเมืองในพื้นที่’
สู่ประเทศที่มีแต่หอคอยสอดแนมและไม่มีหนังสือพิมพ์
นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 พื้นที่ออนไลน์ในเมียนมา ได้กลายเป็นสนามรบคู่ขนานที่กองทัพและฝ่ายตรงข้ามพยายามระดมผู้สนับสนุน แบ่งปันข้อมูล และควบคุมเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ การต่อสู้เสมือนจริงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองฝ่าย แต่ระดับความโกรธแค้นของประชาชนต่อกองทัพ ความช่ำชองทางเทคโนโลยี และนโยบายของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ยากที่กองทัพเมียนมาจะช่วงชิงความได้เปรียบ
ในตอนแรก รัฐบาลทหารใช้การตัดอินเทอร์เน็ตชั่วคราวและกรองเว็บไซต์ แต่เมื่อปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย รัฐบาลก็เริ่มปิดการสื่อสารในวงกว้าง ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ในเมียนมาขาดการเชื่อมต่อ ดูเหมือนว่าจะไม่มีกลยุทธ์ระยะยาวในการควบคุมพื้นที่ออนไลน์ ในขณะที่รัฐบาลต่างประเทศและบริษัทเทคโนโลยีพยายามรักษาพื้นที่อินเทอร์เน็ตของเมียนมาให้เปิดกว้าง และให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การเปิดเสรีในด้านโทรคมนาคมเป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของการทดลองระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2010 ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ใช้กลยุทธ์ผูกขาดบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ ด้วยการเชื้อเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากต่างประเทศมาลงทุน รัฐบาลกึ่งพลเรือนของเขายกเลิกข้อจำกัดบนเว็บไซต์ ปรับปรุงกฎหมาย และอนุญาตให้มีเกตเวย์ระหว่างประเทศใหม่ๆ เชื่อมต่อประเทศเมียนมากับอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ส่งผลให้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ไหลเข้าประเทศ ถึงขนาดว่ามีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่มีซิมการ์ดมากกว่าหนึ่งใบ ขณะนั้น มีรายงานว่า กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเมียนมาออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ
ทดสอบเพื่อปราบปราม?
แม้ว่าการทำรัฐประหารจะทำให้เสรีภาพออนไลน์ส่วนใหญ่ยุติลงอย่างกะทันหัน แต่ทว่าตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเสรีภาพของอินเทอร์เน็ตในเมียนมาก็ถูกคุกคามอยู่แล้วนับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เข้ารับตำแหน่งในปี 2016 โดยทางการได้หันไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาท จากการใช้ถ้อยคำคลุมเครือ เพื่อจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไป ตามคำร้องขอของตั๊ดมะด่อหรือกองทัพเมียนมา ตอนนั้น รัฐบาล NLD ได้ร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีเก็บข้อมูลผู้ใช้ และส่งต่อให้ทางการเมื่อได้รับการร้องขอ นอกจากนี้ยังดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้แบบเรียลไทม์จากโอเปอเรเตอร์
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตตรงนี้ว่า แม้กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารจะเริ่มต้นการตรวจสอบการโทรและอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี แต่ก็ยากที่จะบอกว่าแรงผลักดันนี้มาจากกองทัพหรือรัฐบาลพลเรือน เพราะในกระทรวงยังคงมีอดีตเจ้าหน้าที่จากกองทัพหลายคนทำงานอยู่ด้วย
หลังยึดอำนาจ กองทัพเมียนมาได้เพิ่มการปราบปรามทางออนไลน์อย่างหนักหน่วง โดยได้ตรากฎหมายแก้ไขเพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้และดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังออกประกาศรายวันไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อจำกัดการเข้าถึงบางเว็บไซต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากองทัพตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญของโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลและการกำหนดความคิดเห็นของประชาชน ส่งผลให้การจัดการพื้นที่ออนไลน์และเครือข่ายโทรคมนาคมได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการทำรัฐประหาร
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลทหารได้ไล่เพิกถอนใบอนุญาตในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว/พิมพ์ต่างๆ แม้ว่าบางองค์กรจะสามารถย้ายพนักงานไปยังพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพ และดำเนินการรายงานต่อไปได้ แต่หลายสำนักอย่างเช่น 7 Day News Journal และ The Voice Daily ได้ยุติการดำเนินงานโดยสิ้นเชิง มีรายงานว่านักข่าวถูกจับกุมจำนวน 107 ราย (รวมถึง แดนนี เฟนสเตอร์ (Danny Fenster) นักข่าวอเมริกันซึ่งได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2021) ในจำนวนนี้ยังคงมีนักข่าวถูกควบคุมตัวจำนวน 37 ราย
ปัจจุบันเมียนมาเป็น ‘ประเทศที่ไม่มีหนังสือพิมพ์’ นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2021 เมียนมาไม่มีหนังสือพิมพ์อิสระสักฉบับที่ตีพิมพ์ มีแต่หอคอย Mytel ของนายพลมินอ่องหล่าย และเรื่องราวของการโต้กลับหอคอย Mytel อย่างเช่นข่าวของเต็งอ่อง อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Mytel ถูกลอบยิงเสียชีวิตคาที่บนถนนเตนุหยิ่น ในเมืองย่างกุ้ง, รวมถึงข่าวการเผาทำลายเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ Mytel ในพื้นที่ต่างๆ และข่าวการเผาทำลายซิมการ์ด Mytel
‘Over 80 Myanmar Military-Owned Telecom Towers Destroyed nationwide’ – The Irrawaddy
อ้างอิง
- Min Aung Hlaing House
- Justice For Myanmar publishes details of Myanmar’s tools of digital surveillance and repression
- စစ်တပ်၏ ရိုက်နှက်မှုကြောင့် မှော်ဘီဒေသခံ ကိုယ်ဝန်ပျက်ကျ
- Over 80 Myanmar Military-Owned Telecom Towers Destroyed Nationwide
- The youths in TaChileik destroyed Mytel sim card as a sign of rebelling Military
- Karenni Nationalities Defense Force [KNDF] has destroyed packs of MyTel sim card and top up cards worth nearly 25 millions in Kyats in value
- A joint-force of People Revolution Army and Black Tiger Guerrilla Group said the group destroyed MyTel tower
- Senior officer from Mytel shot dead in Ygn