Silent Monks: คำถามถึงความเงียบงันของพระสงฆ์พม่ากับการต่อต้านเผด็จการทหาร

พระพม่า (เมียนมา) ไม่โกนคิ้ว พระพม่าถกจีวรตั้งวงเตะตะกร้อลีลาในยามเย็น พระพม่าออกบิณฑบาตสาย เพราะยังถือธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องบิณฑบาตข้าวปลาอาหารที่เหลือของชาวบ้านในมื้อเช้า เพื่อนำไปฉันเพล พระพม่านั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ใส่หมวกกันน็อก พระพม่าขึ้นรถเมล์และหากมีโยมสีกามานั่งข้างๆ ชนิดที่นั่งเบียดชิดโดนจีวรหรือถูกเนื้อต้องตัวพระพม่าก็ไม่เป็นไร ไม่อาบัติ เพราะไม่ได้มีเรื่องเพศกำหนัด ผู้หญิงถวาย/ประเคนสิ่งของแด่พระสงฆ์แล้วหากมือไม้เผลอไผลไปโดนจีวรพระเข้า ก็ไม่เป็นไรเช่นกัน พระพม่ายุ่งการเมือง เทศนาหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างกว้างขวาง

ในฤดูแล้ง ช่วงพลบค่ำ หลังเลิกงานประจำวัน ตามข่วงลานประจำเมืองหรือชุมชน ญาติโยมอุปัฏฐากมักนิมนต์พระมาเทศนาให้พุทธศาสนิกชนหรือศิษยานุศิษย์สดับฟังกัน ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสไปฟังเทศน์ที่ลานประจำชุมชนในเมืองมัณฑะเลย์อยู่หลายวันตลอดช่วงเดือนฤดูหนาว เรื่องที่เทศน์กันส่วนใหญ่นอกจากเป็นธรรมะทั่วไปแล้ว จะเป็นชาดกที่มีเนื้อหาหรือตัวละครอิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และบ่อยครั้งก็พาดพิงถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ ทั้งเป็นการวิพากษ์ เสนอแนะ เสียดสี หรือแม้แต่ปลุกระดม

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องที่พระพม่ายุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสายตาคนนอก ทว่าในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาในพม่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยองค์กร International Crisis Group ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขข้อขัดแย้ง มีฐานอยู่ที่กรุงเจนีวา ได้วิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในรายงานชื่อ ‘A Silent Sangha’ หรือ สังฆะเงียบ ด้วยการตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพพม่ารอบปัจจุบัน 

คณะสงฆ์ซึ่งประกอบรวมพระสงฆ์และแม่ชีในพม่า มักเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศ เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 20 การประท้วงทางการเมืองของประเทศในทศวรรษที่ 1970 1980 และ 1990 การปฏิวัติผ้าเหลืองในปี 2007 กลุ่มพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้นำและอยู่แนวหน้าการเคลื่อนไหวมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะมีความไม่สบายใจหรือขัดกับหลักทางศาสนา และความรู้สึกที่ว่าพระสงฆ์ควรหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในเรื่องทางโลกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์นี้ก่อให้เกิดความคาดหวังในหมู่ชาวพม่าและผู้สังเกตการณ์ภายนอกจำนวนมาก ว่าชุมชนสงฆ์จะตอบโต้อย่างเฉียบขาดต่อการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และความรุนแรงที่ตามมา หลายคนคิดว่าการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์มีความสำคัญและอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดต่อขบวนการต่อต้านกองทัพ ในทางกลับกันก็สร้างความหวาดกลัวว่าพระสงฆ์จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่แข็งกร้าวอาจสนับสนุนเผด็จการทหาร อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยนายพลมิน อ่อง หล่าย มหาเถรสมาคมเสียงแตกเป็นหลายฝ่าย และพระสงฆ์มีบทบาทในแนวหน้าของการประท้วงต่อต้านหรือเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวน้อยกว่าที่หลายคนคาดไว้

อย่างไรก็ตาม มีคำถามและข้อโต้แย้งตามมาต่อประเด็นข้อเสนอในรายงานฉบับดังกล่าวว่า ทำไมรายงานถึงบอกว่าพระสงฆ์ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งๆ ที่ในบางพื้นที่พระสงฆ์ยังคงกล้าออกมาประท้วงภายในอาราม และเดินขบวนตามท้องถนนแทบทุกวันเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร อย่างเช่น พระชินสาริตะ อดีตพระหนุ่มรูปหนึ่งตัดสินใจสละสมณเพศออกมาเข้าร่วมกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) หลังจากที่บวชมานานกว่า 14 พรรษา เพื่อลุกขึ้นต่อต้านกองทัพพม่า และตั้งฉายาใหม่หลังเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธต่อต้านกองทัพพม่าว่า ‘ฟีนิกซ์’

แม้ว่าพระสงฆ์บางรูปจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารก็จริง แต่คำถามของรายงาน A Silent Sangha คือ พระสงฆ์อยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งพวกเขากำลังถามถึงตำแหน่งแห่งที่ของพระสงฆ์หลังการรัฐประหาร 2021 รายงานเสนอว่าไม่พบกลุ่มพระสงฆ์ในภาคความเป็นผู้นำทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อน รายงานฉบับนี้มองว่าในวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ไม่เข้มแข็ง และผลกระทบที่ตามมาของข้อเท็จจริงนี้ เป็นสิ่งที่รายงานนี้กล่าวถึงเป็นหลัก 

แล้วทำไมพระพม่าถึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเหมือนเมื่อก่อน?

ใน A Silent Sangha มองว่ามีเหตุผลแตกต่างกันไป ข้อแรกคือ ในสมัยรัฐบาล NLD ของ ออง ซาน ซู จี กลุ่มชาตินิยมศาสนา อย่างกลุ่มมะบะตะ (MaBaTha – Ma มาจาก အမျိုး แปลว่า เชื้อชาติ, Ba มาจาก ဘာသာ แปลว่า ภาษา, Tha มาจาก သာသနာ แปลว่า ศาสนา) หนึ่งในผู้นำที่เป็นที่รู้จักกันดี อย่างเช่น พระวีระธู ซึ่งใช้หลักชาตินิยมทางพุทธศาสนาในการเคลื่อนไหวเริ่มอ่อนแอลง พรรค NLD ชุมนุมเรียกร้องต่อต้านกลุ่มมะบะตะมานานหลายปี สมาชิกของมะบะตะหลายคนเริ่มเสียขวัญกำลังใจ เนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองที่พวกเขาเผชิญจากการบริหารของพรรค NLD และจากการรับรู้ของนานาชาติว่ากลุ่มมะบะตะเป็นกลุ่มหัวรุนแรง 

ในปี 2018 เฟซบุ๊ก (Facebook) ดำเนินการลบเพจของกลุ่มมะบะตะ ทำให้การระดมสมาชิกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มลดลงอย่างมาก กอปรกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลกระทบถึงเครือข่ายของกลุ่มมะบะตะในท้องถิ่นหลายแห่งจนต้องยุติหรือไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนก่อน 

ประการถัดมา คือ หลังการประกาศสงครามป้องกันตนเองของ NUG หรือที่รู้จักกันในนามรัฐบาลเงา เห็นได้ชัดเลยว่าขบวนการต่อต้านรัฐประหารเปลี่ยนไปต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธมากขึ้น ในแง่นี้ อาจมองได้ว่านักบวชไม่สามารถให้ความร่วมมือในแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธได้ อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์การเมืองพม่ามีหลักฐานว่าพระเคยมีส่วนร่วมในการปฏิวัติด้วยอาวุธ ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาเงียบ นี่คือข้อค้นพบของรายงาน A Silent Sangha

ประเด็นต่อมา เมื่อเราดูขบวนการต่อต้านรัฐประหารและกองกำลังปฏิวัติรอบ 2021 คนที่ขึ้นมาเป็นแกนนำหรือเป็นแนวหน้าในการต่อต้านรัฐประหาร คือ คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงสาว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีการศึกษา พวกเขามีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแนวคิดโบราณในการเมืองพม่าด้วยการปฏิวัติ พวกเขามีมุมมองว่าองค์กรและสถาบันทางศาสนาไม่ควรเป็นศูนย์กลางทางการเมือง ดังนั้นจึงเชื่อว่าการปฏิวัติจะขจัดแนวคิดจารีตนิยมที่อิงกับศาสนาและชาติพันธุ์ออกไปพร้อมกับระบอบเผด็จการทหาร

ประเด็นนี้เห็นได้ชัดในการแสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ คนหนุ่มสาวพม่ารุ่นใหม่เริ่มมีความคิดโน้มเอียงไปทางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติกุล ซึ่งทำให้ผู้มีมุมมองแบบอนุรักษนิยมค่อนข้างกังวล หรืออย่างเช่นกรณีของ NUG ก็มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีพันธมิตรทางการเมืองและทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์กะฉิ่นและชิน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว รายงานฉบับนี้จึงสรุปว่ามันคือความเงียบ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่มีส่วนร่วมกับมวลชนในการต่อต้านการรัฐประหาร

คำถามต่อมาหลังจากอ่านรายงาน A Silent Sangha ก็คือ เราสามารถพูดได้จริงหรือว่าพระสงฆ์เงียบต่อสถานการณ์การต่อต้านรัฐประหาร หรือที่พม่าเรียกว่าการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ

เพราะเมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงบางรูป ยกตัวอย่างเช่น พระตี่ตะกู่ (Sitagu Sayadaw) กำลังฉวยใช้โอกาสจากสถานการณ์ปัจจุบันและใกล้ชิดกับทหารมากขึ้น ที่กล่าวอย่างนี้เนื่องจากพระตี่ตะกู่เคยเทศนาวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารพม่าก่อนหน้านี้อย่างโจ่งแจ้ง แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนไปหลังจากกองทัพโค่นล้มรัฐบาล NLD ของ ออง ซาน ซู จี หลายคนตกใจที่รู้ว่าพระเถระชื่อดังรูปนี้รับรองระบอบรัฐประหาร ด้วยการให้การสนับสนุน มิน อ่อง หล่าย อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งเดินทางไปรัสเซียกับ มิน อ่อง หล่าย เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเปิดวัดพุทธที่นั่น 

พระตี่ตะกู่ได้สร้างความเดือดดาลให้กับหลายๆ คนที่เคยยกย่องเขา ในพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่า ซึ่งจัดขึ้นไม่ถึง 2 เดือน หลังการรัฐประหาร 2021 ผู้นำเผด็จการคนใหม่ของพม่าได้กล่าวถึงคำสรรเสริญของพระสงฆ์รูปนี้เพื่อแสดงความยินดีกับบทบาทของเขาในการกำจัด ‘bad kalars’ (คำที่ใช้เรียกดูถูก เหยียดคนเชื้อสายอินเดียหรือแขก ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ชาวโรฮิงญา) ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2021 มิน อ่อง หล่าย ได้เพิ่มการโจมตีพลเรือนที่ต่อต้านการปกครองของเขา และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนทั่วประเทศ 

ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลได้สังหารประชาชนอีกหลายพันคน ในเขตภูมิภาคสะกาย ที่ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นฐานที่มีจำนวนศิษยานุศิษย์ของพระตี่ตะกู่มากที่สุดในพม่า มีรายงานข่าวไม่เว้นแต่ละวันว่ากองกำลังของรัฐบาลทหารได้จุดไฟเผาหมู่บ้าน มีชาวบ้านจำนวนนับไม่ถ้วนเสียชีวิตในการโจมตีเหล่านั้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อข่มขวัญพวกเขาให้ยอมจำนน ทั่วประเทศมีผู้พลัดถิ่นกว่าล้านคน และถึงกระนั้น เกือบ 2 ปีเต็มหลังหายนะที่เกิดจากรัฐประหารของกองทัพพม่า การสนับสนุนของขบวนการต่อต้านรัฐประหารยังคงแข็งแกร่ง หากมองในประเด็นนี้ก็พูดได้ว่าพระสงฆ์จำนวนมากที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ ย่อมไม่ถูกมองว่าเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอีกต่อไป 

หากเป็นเช่นนี้แล้ว A Silent Sangha ส่งผลต่อขบวนการประชาธิปไตยในพม่าอย่างไร?

การที่พระสงฆ์ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา เปิดช่องให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาก้าวขึ้นมามีบทบาทแทนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงสาว แรงผลักดันของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ทำให้เส้นทางการปฏิวัติเปิดกว้างขึ้น อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า พวกเขามีเป้าหมายที่จะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร สิ่งนี้ได้เปลี่ยนทิศทางทั้งหมดของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า ซึ่งถูกครอบงำโดยผู้ชาย ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ 

แต่ก็เป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในลักษณะนี้อาจเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า พื้นฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ในพม่า คือ พุทธศาสนา ดังนั้น ทั้งพระสงฆ์และประชาชนอาจมีความหวาดหวั่นต่อกระแสการเมืองใหม่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปฏิกิริยาเชิงลบที่มีต่อการเมืองที่เปิดกว้างและเป็นอิสระภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่ 

ที่กล่าวเปรียบเทียบอย่างนี้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็น อย่างเช่นหลังปี 2010 พม่าเปิดประเทศมากขึ้น การปฏิรูปประเทศในช่วงเวลานั้นก้าวไปสู่ค่านิยมสมัยใหม่ จนมีความกังวลกันว่าบทบาทของพุทธศาสนาจะหายไป ซึ่งความกังวลนี้ ต่อมาได้กลายเป็นแรงผลักดันหลักที่อยู่เบื้องหลังของขบวนการมะบะตะ

กล่าวสำหรับกรณีของพม่าแล้ว หากการเมืองในอนาคตเป็นการเมืองภายใต้วัฒนธรรมที่มีผู้คนหลากหลายศาสนา จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงของปฏิกิริยาเชิงลบจากพลังที่น่ากลัวเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจ คือ คณะสงฆ์ยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมพม่า ความคิด ความอ่านของพระสงฆ์มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมนี้ การที่พระส่วนใหญ่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและนิ่งเฉย จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก เพราะไม่อาจรับประกันได้ว่าจะทำให้การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิที่กำลังดำเนินอยู่ไปถึงเส้นชัย

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า