มหาภัยเหมืองแร่: ถอดรหัสนักสู้ชาวบ้าน VS สารพิษ คดีความ และคำโกหกของรัฐไทย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ณ​ โรงเรียนบ้านแหงเหนือ ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จัดงาน 12 ปีแห่งการสู้เหมือง โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่​-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มทะลุฟ้า คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาศ จังหวัดสกลนคร กลุ่มราษฎรคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นและยมบนยมล่าง และกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำแม่ลาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกับจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ถอดรหัสการต่อสู้กลุ่มรักษ์บ้านแหง 12 ปี แห่งชัยชนะ’

เหมืองถ่านหินลิกไนต์บ้านแหง: ชุมชนต้องการความปลอดภัย แต่รัฐให้คดีความ

กมลเนตร เชียงโฉม

กมลเนตร เชียงโฉม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประเด็นที่ต่อสู้กันมาคือเรื่องเหมืองถ่านหินลิกไนต์ โดยมียุทธวิธีคือใช้วิธีตั้งด่านสกัดคนเข้าออกพื้นที่ และส่งตัวแทนของกลุ่มเข้าเป็นผู้นำชุมชนทั้งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นของกลุ่มรักษ์บ้านแหงทั้งหมด ส่วนของตน กว่าจะเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็มีความยากลำบาก โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 และถูกดำเนินคดีมาแล้ว 2 คดี เงินเดือนไม่พอสู้คดีจนต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนยุติธรรมมาต่อสู้คดี ทั้งนี้ฝ่ายปกครองมองว่าตนทำผิดระเบียบ ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องออกไปต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน แต่ตนก็ไม่ฟัง หากไม่ติดธุระทางราชการก็จะไปร่วมฟังอยู่เสมอ 

“ประเด็นเหมืองแร่บ้านแหง เราต่อสู้กันมา 12 ปี เรายังยืนยันจะต่อสู้ต่อไป ถ้ามีบุคคลไม่หวังดีเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านก็พร้อมสกัดกั้น ที่สำคัญในเรื่องของการยึดครองตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา อบต. ในส่วนที่หมดวาระลงในปี 2566 เราก็จะเดินหน้าต่อ รวมไปถึงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคสามัญชน ที่เราจะยึดมาเป็นของกลุ่มรักษ์บ้านแหงต่อไปด้วย อีกทั้งในอนาคตเราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งข้าวและกระเทียมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”

เหมืองแร่เมืองเลย: การฟื้นฟูเหมืองที่ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จังหวัดเลย กล่าวว่า ยุทธการการต่อสู้ที่ผ่านมา ชุมชนสู้แบบยิบตา นั่นเพราะพื้นที่จังหวัดเลยได้รับผลกระทบแล้วจากการถลุงแร่ และสกัดแล้วผ่านกระบวนการที่ต้องใช้สารไซยาไนด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

“เราต่อสู้จนชาวบ้านโดนฟ้องกว่า 30 คน รวมเรียกค่าเสียหายจากเอกชนกว่า 100 ล้านบาท พี่น้องชาวบ้านถูกฟ้องเพื่อปิดปาก ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว แต่เราฮึกเหิมกันมาก ไม่กลัวคดีใด เพราะเรามีทีมทนายที่เก่งมาก ทั้งนี้เราต่อสู้จนเหมืองล้มละลายและปิดเหมืองได้ก่อนที่เหมืองจะถูกสั่งปิดจากภาครัฐ คดีสิ่งแวดล้อมเราก็ชนะ เป็นชัยชนะสูงสุดของพวกเรา ถึงจะปิดเหมืองและเหมืองล้มละลายไปแล้วเราก็ยังต่อสู้อยู่ ซึ่งปิดเหมืองนั้นว่ายากที่สุดแล้ว แต่การฟื้นฟูเหมืองยิ่งยากกว่า ซึ่งเราก็ยังเดินหน้าฟื้นฟูอยู่”

ภรณ์ทิพย์ มองว่า แม้ในวันนี้ชุมชนจะต่อสู้จนกระทั่งปิดเหมืองได้ แต่ในรัฐบาลเผด็จการนั้น อาชญาบัตรพิเศษอาจจะออกมาเมื่อใดก็ได้ เพราะรัฐไม่สามารถยกเลิกเหมืองได้หากนายทุนไม่ยอม เหมืองก็ยังคงอยู่ราวกับสัญญาทาสที่ประเทศไทยเสียเปรียบมากที่สุด 

“ที่ผ่านมาเราเคยเสนอขั้นตอนการฟื้นฟูเหมืองไป พร้อมกับขอให้มีตัวแทนเข้าไปร่วมในคณะกรรมการให้มีสัดส่วนที่สมดุล แต่เขาก็ไม่รับแผนนี้ ทั้งนี้ห่วงในเรื่องงบประมาณในการฟื้นฟูเหมืองทองซึ่งต้องใช้งบเป็นพันๆ ล้านบาท”

เธอยกตัวอย่างกรณีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมืองในอดีต โดยภาครัฐใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทในการฟื้นฟู ทว่าชาวบ้านกลับไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในกระบวนการ ดังนั้น หากในอนาคตมีเลือกตั้งใหม่ ประชาชนมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ภรณ์ทิพย์มองว่าในวันนั้นจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษให้ชาวบ้านได้สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมาเหมือนเดิม 

“ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มฟื้นฟูแล้วโดยไม่รอภาครัฐ โดยการนำพืชพื้นถิ่น เช่น ผักบุ้ง ผักกูด ผักหนาม มาปลูกเพื่อดูดซับสารโลหะทั้งหลาย ซึ่งในส่วนของรัฐบาลยังเพิกเฉยอยู่ จึงฝากไว้ว่าปีหน้าถ้ามีการเลือกตั้งเราเลือกพรรคไหนก็ได้ที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ”

เหมืองหินปูนดงมะไฟ: ฟื้นฟูป่าชุมชน ต้านแหล่งหินอุตสาหกรรม

สุนีย์ อนุเวช

สุนีย์ อนุเวช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ชุมชนเริ่มคัดค้านเหมืองหินในพื้นที่ดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู มาแล้ว 28 ปี ต่อสู้กันมาจนคนรุ่นพ่อแม่ล้มหายตายจากไปแล้ว สะบักสะบอมมามาก เพราะก่อนนั้นไม่มีเครือข่ายอื่นมาให้ความรู้ ใช้แต่กำลังในการต่อสู้ จนมีนักวิชาการ และเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยต่อสู้ จนปิดเหมืองหินได้ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ทุกวันนี้ชุมชนก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่ และใช้กลยุทธ์ปิดทางเข้าออกเหมือนกัน ปิดมา 2 ปีกว่าแล้ว และมีการยึดและทวงคืนพื้นที่เหมืองเพื่อมาทำป่าชุมชน มีการเข้าไปจัดการกับ อบต. เวลาที่เขาจะลงมติเราก็จะเข้าไปล้มเวที จนเขาต้องไปจัดการประชุมที่อื่น ทำให้การลงมติของเขาไม่ถูกระเบียบและต้องยกเลิกมตินั้นไป วันนี้สิ่งที่ชาวบ้านทำคือการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ให้เป็นป่าชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และยังต้องเดินหน้าผลักดันยกเลิกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมที่รัฐประกาศเอาไว้ต่อไป 

เหมืองโปแตซวานรนิวาส: เมื่อรัฐลักไก่ออกใบอาชญาบัตรใหม่

สุดตา คำน้อย

สุดตา คำน้อย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ชาวบ้านวานรนิวาสต่อสู้กับการมาของเหมืองแร่โปเเตชตั้งแต่ปี 2558 โดยต่อสู้กับทุนจีนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่โดยรัฐบาลไทย แม้เขาจะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็จริง แต่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมใดๆ ตั้งแต่กระบวนการแรก 

“ชุมชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแร่โปแตซคืออะไร คุณจะมาทำอะไรในบ้านของเรา เรายื่นหนังสือตั้งแต่ระดับ อบต. อำเภอ จังหวัด เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้าน 9 คนที่ต่อสู้ถูกดำเนินคดีบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 3.6 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นฎีกา สิ่งที่เราต้องทำในขณะนี้คือการติดตามและคัดค้านการออกใบอาชญาบัตรใหม่ และไม่ใช่แค่อาชญาบัตรในพื้นที่ของเราท่านั้น แต่เราติดตามร่วมกับทุกเครือข่าย เราต่อสู้เพื่อบ้านเกิดและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องปกป้อง แต่กลายเป็นว่าเราไม่เคยใช้สิทธิชุมชนได้เต็มที่และรัฐกับนายทุนเป็นฝ่ายที่ทำร้ายเรา

“ถ้าปีนี้เขาได้ใบอาชญาบัตรพิเศษมา คิดว่าการต่อสู้จะดุเดือดมากกว่าคราวที่แล้ว บทเรียนในการปิดถนนต้องถูกนำกลับมาใช้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

“ทำไมเราต้องยอมแลกและต่อสู้ เพราะว่าถ้าเราปล่อยไป หากมีการให้อาชญาบัตรในการสำรวจ คิดว่าใบประทานบัตรต้องมาถึงเราแน่นอน ของเราได้รับอาชญาบัตรพร้อมกันกับด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา วันนี้เรายังมีความปลาบปลื้มที่วานรนิวาสยังไม่มีการทำเหมือง แต่ด่านขุนทดเกิดขึ้นและมีผลกระทบแล้ว” สุดตากล่าว 

เหมืองฟลูออไรต์แม่ฮ่องสอน: แหล่งน้ำของชุมชนอาจถูกทำลาย

จวน สุจา

จวน สุจา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำแม่ลาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การทำเหมืองในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มตั้งแต่ตนเป็นเด็ก 30 กว่าปีมาแล้ว โดยไม่เคยมีการทำประชาคม ภาครัฐประกาศให้สัมปทานเหมือนป่าไม้ ที่ผ่านมาเหมืองแร่ฟลูออไรต์ปิดไปแล้ว 20 กว่าปี บริษัทเดิมสืบทอดกิจการจากพ่อ ซึ่งเป็นของชาวจีน เขารู้ว่าแร่ยังมีอยู่จำนวนมาก จึงเข้ามาอีกรอบหนึ่ง มาแบบพวกเราไม่รู้เรื่อง เราโดนปกปิดข้อมูลข่าวสาร เหมืองตัวนี้จะเริ่มยื่นขอประทานบัตร ซึ่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บอกเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และเป็นลุ่มน้ำชั้นบี ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นลุ่มน้ำชั้นบี ตนได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมาดูพื้นที่ด้วยตัวเองและ กมธ. พบว่าไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด 

“การทำเมืองจะกระทบกับการทำน้ำประปาและการเพาะปลูกของหมู่บ้าน หากมีสารตะกั่วปนเปื้อนลำน้ำแม่ลาน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน ที่ผ่านมาเราได้ยื่นหนังสือในทุกระดับทั้ง อบต. อำเภอ ผู้ว่าฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ถ้ายังมีการทำเหมืองต่อ เราจะต่อสู้ด้วยปฏิบัติการขั้นสูงสุดคือปิดพื้นที่ไม่ให้เข้า และจะมอบหมายให้ทนายฟ้องร้องในเรื่องการปกปิดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งจะมีการยื่นถวายฎีกาต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับอุโมงค์เหมืองเดิมที่มี 10 อุโมงค์ เราเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป” 

เขื่อนแก่งเสือเต้น: การต่อสู้ของชาวสะเอียบกับคำโกหกของรัฐตลอด 30 ปี

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา จากกลุ่มราษฎรคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นและยมบนยมล่าง กล่าวว่า เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบนยมล่างยังไม่จบ การต่อสู้กว่า 30 ปียังไม่สำเร็จ วันนี้รัฐยังมีการแนวคิดในการสร้างเขื่อนอยู่ จากประสบการณ์ของชาวสะเอียบ รัฐไม่เคยจริงใจกับประชาชน หลอกลวงมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการทำประชาคม สิ่งสำคัญที่สุดคือการขอให้รัฐบาลเพิกถอนมติ ครม. ในเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งรัฐบาลบอกว่าเลิกแล้ว แต่มตินี้ยังอยู่และอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย จึงเป็นเรื่องที่ชาวสะเอียบต้องต่อสู้กันต่อไป โดยมีการจัดเวรยาม เพื่อป้องกันไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่ได้ ซึ่งหน่วยงานไหนเข้าสะเอียบโดยไม่แจ้งความประสงค์ ชาวบ้านจะไม่รับรองความปลอดภัย 

“ตอนนี้มีศึกใหญ่เข้ามา 2 ทัพ ทั้งทิศเหนือและใต้ ศึกแรกคือร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ซึ่งเป็นอันตรายต่อพวกเราในการวมกลุ่ม ชาวสะเอียบกลัวที่สุดคือกฎหมายตัวนี้ พรรคไหนคิดขึ้นมาอย่าหวังจะได้ใจชาวสะเอียบ อีกศึกเป็นทัพใหญ่ เป็นเรื่องของแก่งเสือเต้น ยมบนยมล่างโดยตรง ท่านอย่าเอาแก่งเสือเต้นมาหาเสียง วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้เบื้องต้น ทุกพรรคที่ไม่เอาแก่งเสือเต้นได้ใจชาวสะเอียบแน่นอน”

ประชาชนจะไม่ทน

ส.รัตนมณี พลกล้า

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า เดิมชาวบ้านนักต่อสู้ในประเด็นสิทธิชุมชนเริ่มต้นจากการต้องคดี เป็นผู้ที่ถูกรัฐและเอกชนฟ้อง ถูกแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งสิ่งที่เราใช้ในการต่อสู้คดีคือข้อเท็จจริง ทำให้ชนะคดีเกือบทั้งหมดด้วยการที่ศาลยกฟ้อง ดังนั้นการสู้คดีด้วยข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญและปกป้องประโยชน์สาธารณะได้ อีกส่วนคือการที่เราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ บริษัทลากไปสู้คดีแล้ว เราก็ใช้กฎหมายในการปกป้องสิทธิของเราบ้าง ซึ่งหลายคดีที่เราต่อสู้ เช่น กรณีบ้านแหงที่ร้องต่อศาลปกครอง จนหยุดใบประทานบัตรได้ แม้จะยังมีการอุทธรณ์คดีอยู่ แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำให้โครงการชะลอได้จริง ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ไปแก้เกมด้วยการแก้กฎหมายแร่ในเรื่องขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้กับรัฐในเรื่องการแก้กฎหมายแร่ที่ภาคประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตลอดจนหยุดแผนแม่บทแร่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลงให้ได้ 

ส.รัตนมณี มองว่า การต่อสู้ทั้งหมดต้องอาศัยแรงกายและใจจากพี่น้องประชาชน โดยทีมทนายที่เขามาช่วยนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่สามารถอยู่กับพี่น้องได้ตลอดเวลา กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ที่สุดของกระบวนการต่อสู้ของพวกเรา ถึงที่สุดจะเห็นว่าคำพิพากษาในหลายๆ คดีไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ดังนั้นเราจะต้องทำงานควบคู่กันไป ในการยื่นหนังสือต่างๆ ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เขามาละเมิดสิทธิเราได้ 

“เวลาพวกเราออกมาต่อสู้ เราถือเป็นนักปกป้องสิทธิฯ แต่ยังไม่มีกฎหมายใดถูกตราขึ้นมาปกป้องเราเลย จึงเห็นควรให้มีกฎหมายออกมาคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในการปกป้องทรัพยากรและประโยชน์สาธารณะ คนเหล่านี้จะต้องไม่ถูกฟ้องและขอให้พรรคการเมืองรับเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายด้วย” ส.รัตนมณี กล่าว

นอกจากกิจกรรมการจัดเวทีเสวนาแล้ว ในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมงานยังได้ร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่ายและรำวงระดมทุนของกลุ่มฯ ทั้งยังจัดเวทีเปิดประสบการณ์การต่อสู้ของของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง และจัดขบวนรถเทรลเลอร์พาผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายเครือข่ายเข้าไปสำรวจพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกต์ไนต์ พร้อมทั้งมีการจำลองสถานการณ์การรับมือกับบริษัทเอกชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่จะเข้ามาในพื้นที่อีกด้วย 

รวมทั้งมีการส่งกำลังใจให้กับเอกชัย อิสระทะ นักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่กำลังรักษาตัวด้วยอาการป่วยที่โรงพยาบาล

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า