เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก: ประตูสู่ขุมทรัพย์หรือเค้าลางแห่งหายนะ

เดือนมกราคม ปี 2024 ที่ผ่านมา รัฐสภาประเทศนอร์เวย์มีมติอนุญาตการทำเหมืองใต้ทะเลลึก (deep sea mining) เป็นชาติแรกของโลก ณ บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ของทะเลนอร์วีเจียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำแร่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม มอเตอร์ ชิ้นส่วนของยานพาหนะ ที่สะสมอยู่ใต้ทะเลลึกขึ้นมาใช้งาน เนื่องจากปริมาณแร่สำรองบนแผ่นดินกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

เหมืองส่วนใหญ่ที่เราเห็นถูกจัดเป็นเหมืองผิวดิน (surface mining) กับเหมืองใต้ดิน (underground mining) แต่แนวคิดการทำเหมืองบนพื้นทะเล (seabed mining) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันถูกจินตนาการและบอกเล่าผ่านนิยายวิทยาศาสตร์มาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ในอดีตการทำเหมืองใต้ทะเลลึกถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่าความเป็นจริง แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

คำถามมีอยู่ว่า การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกจะเป็นประตูสู่ขุมทรัพย์หรือเค้าลางแห่งหายนะกันแน่?

กำเนิดของขุมทรัพย์ใต้มหาสมุทร

พื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ 71 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 29 เปอร์เซ็นต์คือแผ่นดิน ทรัพยากรส่วนใหญ่ที่บรรพบุรุษของเรานำมาใช้งานจึงเป็นทรัพยากรที่มีแหล่งกำเนิดอยู่บนบก แต่ความจริงแล้วทะเลคือบ้านของทรัพยากรมากมาย อีกทั้งแม่น้ำยังทำหน้าที่พัดพาทรัพยากรบนบกให้ไหลลงสู่ทะเลที่เปรียบเสมือน ‘กะละมัง’ คอยรองรับสิ่งต่างๆ ใต้ผืนน้ำอันกว้างใหญ่จึงอุดมไปด้วยทรัพยากรล้ำค่า โดยเฉพาะ ‘สินแร่’ (ore) ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

แหล่งแร่ใต้ทะเลลึกสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. เปลือกโลกเฟอร์โรแมงกานีสที่อุดมด้วยโคบอลต์ (cobalt-rich ferromanganese crusts) หมายถึง สินแร่ในแผ่นเปลือกโลกบริเวณภูเขาใต้ทะเล ซึ่งเกิดจากซากที่หลงเหลืออยู่ของภูเขาไฟที่ดับแล้ว (extinct volcano)

ลักษณะของเปลือกโลกเฟอร์โรแมงกานีสที่อุดมด้วยโคบอลต์ | photo: Christopher Kelley

2. ก้อนโพลีเมทัลลิก (polymetallic nodules) หมายถึง ก้อนสินแร่ขนาดจิ๋วจนถึงขนาด 20 เซนติเมตร เกิดจากการตกตะกอนของธาตุต่างๆ บริเวณที่ราบก้นทะเล (abyssal plain) โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

ก้อนโพลีเมทัลลิกบนพื้นทะเล | photo: National Oceanic and Atmospheric Administration

3. โพลีเมทัลลิกซัลไฟด์ (polymetallic sulfides) หมายถึง เศษธุลีของสินแร่ที่เกิดจากการตกตะกอนของธาตุนานาชนิดที่ถูกพ่นออกมาจากปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล (hydrothermal vent)

แหล่งกำเนิดโพลีเมทัลลิกซัลไฟด์ | photo: Ifremer

แหล่งแร่ใต้ทะเลลึกเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลกและมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเขตคลาเรียน-คลิปเปอร์ตัน (Clarion-Clipperton Zone) บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างรัฐฮาวายกับประเทศเม็กซิโก ถูกจัดเป็นแหล่งแร่ใต้ทะเลลึกขนาดใหญ่และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง การประกอบกิจการใดๆ บนพื้นทะเลถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานพื้นทะเลสากล (International Seabed Authority) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea)

ตำแหน่งของแหล่งแร่ใต้ทะเลลึก | photo: International Society of Automation (2021)

เทคโนโลยีการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก

การทำเหมืองแร่บนบกและเหมืองแร่ใต้ทะเลมีกระบวนการคล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่รูปแบบของเทคโนโลยีและความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ เพราะพื้นทะเลถูกกดทับด้วยความดันสูง มืดมิดไร้แสงสว่าง และเย็นยะเยือก การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกจะเริ่มจากการสำรวจลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ ระบุชนิดของแร่ รวมถึงคาดการณ์ปริมาณและคุณภาพของแร่ ก่อนจะลงมือขุดจริง

นิยามคร่าวๆ ของ ‘เหมืองบนพื้นทะเล’ คือ การสำรวจและนำทรัพยากรต่างๆ เช่น ธาตุ แร่ อัญมณี หิน ทราย ดิน จากใต้ทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่บทความนี้ผมจะขอเล่าเฉพาะ ‘เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก’ ที่เน้นเสาะหาแร่ที่ความลึกมากกว่า 200 เมตร เช่น โคบอลต์ ลิเทียม วานาเดียม โมลิบดีนัม พลาตินัม ตะกั่ว สังกะสี ทองคำ ทองแดง เงิน นิกเกิล แมงกานีส ธาตุหายาก (rare-earth element)

การเก็บเกี่ยวสินแร่ที่ปะปนอยู่กับหิน ทราย ดิน และแร่อื่นๆ จะใช้อุปกรณ์เก็บทรัพยากรบนพื้นทะเล (seabed resource collector) ที่มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การดูด การหยิบ การตัก การขุด การเจาะอุโมงค์ การฉีดอัดด้วยน้ำแรงดันสูง จากนั้นสินแร่จะถูกบรรจุเข้าสู่ระบบยก (lifting system) ซึ่งอาจเป็นระบบถังบนสายพานลำเลียงแบบต่อเนื่อง (continuous-line bucket system) หรือยานพาหนะแบบควบคุมจากระยะไกล (remotely operated vehicles) แล้วจึงเคลื่อนย้ายไปสู่เรือบรรทุกบนผิวน้ำ (surface vessel)

เทคโนโลยีการเก็บสินแร่ใต้ทะเล | photo: Ed Harrison / China Dialogue Ocean

หลังจากนั้น สินแร่ที่มีมลทินปะปนอยู่จะเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ (mineral processing) และถลุงแร่ (smelting) เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ต้องการออกให้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้คือแร่ที่มีความบริสุทธิ์สูง เรียกว่า หัวแร่ (concentrate) ส่วนแร่ที่ไม่ต้องการจะถูกคัดทิ้ง เรียกว่า หางแร่ (tailing) และอาจมีแร่ที่มีลักษณะผสมระหว่างหัวแร่กับหางแร่ เรียกว่า แร่คละ (middling) ซึ่งจะถูกนำไปถลุงอีกครั้งหนึ่ง

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรมองข้าม

การนำจักรกลขนาดยักษ์จำนวนมากลงไปสอดส่องและกวาดต้อนสินแร่บนพื้นทะเลทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกจะทำให้เกิดมลภาวะทางแสง-เสียง-การสั่นสะเทือน การฟุ้งกระจายของตะกอน และรบกวนการกักเก็บคาร์บอนของตะกอนใต้มหาสมุทร ซึ่งอาจทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลจนสิ่งมีชีวิตลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป และอาจสร้างความเสียหายต่อแหล่งโบราณคดีอีกด้วย

ผลกระทบที่ผมหยิบยกมาเป็นเพียงความเสียหายระดับท้องถิ่นเท่านั้น เพราะแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะแบ่งมหาสมุทรออกเป็น 5 แห่ง ได้แก่ มหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรใต้ แต่น้ำในมหาสมุทรก็เหมือนกับอากาศบนท้องฟ้า ที่ถึงแม้จะอยู่ไกลกัน แต่ก็เชื่อมโยงถึงกัน นักวิทยาศาสตร์บางส่วนจึงมองว่าโลกของเรามีมหาสมุทรเพียงแห่งเดียว เรียกว่า ทฤษฎีหนึ่งมหาสมุทร (one ocean theory) ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นจำนวนมากและมีสารพิษรั่วไหลออกมา มลภาวะเหล่านั้นอาจแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความพยายามที่เป็นไปไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง ‘ข้อเสีย’ จำนวนมากก็อาจมี ‘ข้อดี’ อยู่บ้าง เพราะการสำรวจพื้นทะเลอันกว้างใหญ่จะเปิดโอกาสให้เราค้นพบสิ่งมีชีวิต สัณฐานทางธรณีวิทยา ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และแหล่งโบราณคดีที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เหล่านายทุนย่อมให้ความสำคัญกับ ‘เม็ดเงิน’ มากกว่าการแสวงหา ‘ความรู้’ อยู่วันยันค่ำ

ใช่หรือไม่ว่า การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเก่า แต่ก่อปัญหาใหม่ตามมา ซึ่งความมืดมิดของผืนน้ำจะกลายเป็นม่านสีดำที่ช่วยปกปิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ หลังจากนี้จะมีทั้งกลุ่มคนที่ส่งเสียงสนับสนุนและกลุ่มคนที่ลุกขึ้นคัดค้าน ซึ่งคนกลุ่มหลังที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเหล่านายทุนอาจต้องใช้ความกล้าหาญมากพอๆ กับจำนวนหยดน้ำในมหาสมุทรเลยทีเดียว

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า