พิมพ์นิยมมนุษย์ต่างดาว ชิ้นส่วนจินตนาการของนุดขี้เหงา

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาของเม็กซิโกเปิดให้มีการไต่สวนสาธารณะเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางอวกาศที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ พระเอกของการไต่สวนอยู่ที่ร่างมัมมี่ของสิ่งมีชีวิตประหลาด 2 ร่าง ที่ไฮเม เมาซาน (Jaime Maussan) ผู้สื่อข่าวชาวเม็กซิกัน ผู้หลงใหลการตามหามนุษย์ต่างดาว นำมาแสดงให้ดู เพื่อให้มีการพิสูจน์ว่าเป็นร่างของมนุษย์ต่างดาวจริง

ซากของสิ่งมีชีวิตประหลาดของเมาซานมีความสูงไม่ถึง 1 เมตร รูปร่างผอม ศีรษะกลมใหญ่ มีดวงตา 2 ดวง ปากนิด จมูกหน่อย มือยาว มีนิ้วมือ 3 นิ้ว เมาซานอ้างว่าพบร่างของสิ่งมีชีวิตประหลาดนั้นที่เปรู ในปี 2017 ที่สำคัญเขาอ้างว่ามีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้วยการคำนวณอายุของคาร์บอน 14 ยืนยันว่ามีอายุประมาณ 700 ปี และ 1,000 ปี 

กระบวนการไต่สวนของรัฐสภาเม็กซิโก ยังไม่สามารถให้คำตอบที่กระจ่างกับโลกได้ว่า ซากประหลาดทั้ง 2 ร่างนั้น ใช่ร่างของมนุษย์ต่างดาวจริงอย่างที่เมาซานอ้างหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจนเชิงประจักษ์คือ ซากที่เขาอ้างว่าเคยมีชีวิตอยู่บนดาวดวงใดสักดวงหนึ่งเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้วนั้น มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเพื่อนรักจากต่างดาวของเอลเลียต (Elliott) ในภาพยนตร์เรื่อง อี.ที. เพื่อนรัก (E.T. the Extra-Terrestrial) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่สร้างขึ้นในปี 1982 

แทนการหาคำตอบว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือไม่ เราไปทำความเข้าใจกับจินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวของชาวโลกกันดีกว่า เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของมนุษย์จึงมีรูปร่างหน้าตาไปในทิศทางเดียวกัน

พิมพ์นิยมมนุษย์ต่างดาว

จินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวของชาวโลก ถูกทำให้เป็นรูปธรรมปรากฏต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี 1902 เมื่อจอร์จ แมลิแยร์ (Georges Méliès) ชาวฝรั่งเศส สร้างภาพยนตร์เงียบเรื่อง Le Voyage dans la lune (A Trip to the Moon / ท่องโลกพระจันทร์) เรื่องราวการเดินทางไปเที่ยวพระจันทร์ของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง มนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของแมลิแยร์ในตอนนั้นคือ สิ่งมีชีวิต 2 แขน 2 ขา 1 ศีรษะ รูปร่างคล้ายคน แต่รายละเอียดอวัยวะมีการผสมมาจากสัตว์ต่างๆ ปากเป็นจงอยแข็ง ยาวใหญ่ เหมือนเหยี่ยว ตาโต บนศีรษะมีหนามแหลมเหมือนขนเม่น แขนยาว มือเป็นก้ามปูขนาดใหญ่ มีนิ้วเท้า 3 นิ้ว มีพังผืดเชื่อมติดกัน เล็บยาว ลำตัวเป็นลักษณะคล้ายซี่โครง ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี มนุษย์ต่างดาวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Le Voyage dans la lune จึงใช้คนจริงแสดง สวมหน้ากาก และสวมชุดลักษณะคล้ายชุดเกราะ ที่อาจยังไม่สะท้อนให้เห็นอารมณ์ความเป็นมนุษย์ต่างดาวของแมลิแยร์สักเท่าไร

ภาพมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของ แมลิแยร์
(photo: https://scifist.net/)
ภาพมนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์ Le Voyage dans la lune
(ดูภาพยนตร์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=xLVChRVfZ74)

มนุษย์ต่างดาวของแมลิแยร์ ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก ภาพจำเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวที่ชัดเจนของชาวโลกมาจากภาพยนตร์เรื่อง อี.ที. เพื่อนรัก ของสปีลเบิร์ก มากกว่า 

เมื่อ อี.ที. เพื่อนรัก ออกฉาย ในปี 1982 รูปร่างหน้าตาของ อี.ที. ที่ ‘ตัวลีบ หัวโต ไม่มีผม แขนขายาว ดวงตาใหญ่’ ซึ่งออกแบบโดยคาร์โล แรมบัลดี (Carlo Rambaldi) นักออกแบบสเปเชียลเอฟเฟกต์ ชาวอิตาเลียน ก็กลายเป็นภาพจำของมนุษย์ต่างดาวในสายตามนุษย์โลก แรมบัลดีไม่ได้บอกเหตุผลหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาดีไซน์ลักษณะโครงสร้างของ อี.ที. ให้ออกมาเป็นเช่นที่เราเห็นกัน บอกแต่เพียงว่าเขาออกแบบหน้าตาของ อี.ที. ด้วยแรงบันดาลใจจากใบหน้าของนักเขียนชื่อดังอย่าง คาร์ล แซนด์เบิร์ก (Carl Sandburg) และเอิร์นเนส เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ผสมกับใบหน้าของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) 

อย่างไรก็ดี โครงสร้างสรีระของ อี.ที. ที่แรมบัลดีออกแบบมานั้น สอดคล้องกับลักษณะของมนุษย์ต่างดาวตามคำบอกเล่าของเบ็ตตี้ (Betty) และบาร์นี ฮิลล์ (Barney Hill) คู่สามีภรรยาที่อ้างว่าเคยถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวในปี 1961 โดยทั้ง 2 คน เล่าให้กองทัพสหรัฐฟังว่า ถูกสิ่งมีชีวิตสรีระคล้ายมนุษย์ ยืน 2 ขา มีแขน 2 ข้าง รูปร่างผอมบาง ผิวสีเทา สูงประมาณ 120 ซม. หัวล้าน ดวงตาโต สีดำสนิท นิ้วมือนิ้วเท้าเรียวยาว ลักพาตัวไป ซึ่งภายหลังกองทัพสหรัฐออกมายืนยันว่าสิ่งที่ทั้งคู่เล่าไม่ใช่เรื่องแต่ง

ปี 1987 เมื่อวิทลีย์ สไตรเบอร์ (Whitley Strieber) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Communion (โทรจิต) บอกเล่าประสบการณ์ตรงของตนเองในปี 1985 ที่เคยพบกับมนุษย์ต่างดาวตัวเป็นๆ ที่เขาตั้งชื่อว่า เกรย์ (Grey) ภาพของเกรย์บนหน้าปกหนังสือก็ปรากฏออกมาในลักษณะเดียวกับ อี.ที. แต่คางแหลมเรียวกว่า และดวงตาขนาดใหญ่เป็นสีดำสีเดียว หลังจากนั้น เกรย์ก็กลายเป็นพิมพ์นิยมของมนุษย์ต่างดาวในการรับรู้ของมนุษย์ กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของคำบอกเล่าของผู้ที่อ้างว่าเคยเจอมนุษย์ต่างดาว ต่างบอกว่ามนุษย์ต่างดาวที่ตนเองพบเจอนั้นรูปร่างหน้าตาเหมือนเกรย์ ซึ่งภายหลังกลุ่มคนที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกยืนยันว่า เกรย์คือสายพันธ์หนึ่งของมนุษย์ต่างดาวที่มีความสามารถสื่อสารทางโทรจิตได้

เหตุผลที่มนุษย์ต่างดาวถึงมีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนมนุษย์โลก

ชาร์ลีย์ เฮนลีย์ (Charley Henley) ผู้สร้างมนุษย์ต่างดาวให้กับซีรีส์ภาพยนตร์เรื่อง Alien ของริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) เคยกล่าวถึงการออกแบบมนุษย์ต่างดาวสำหรับภาพยนตร์ชุดนี้ว่า พวกมันส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาบนพื้นฐานกายวิภาคของมนุษย์ เริ่มจากให้มีหัว 1 หัว เติมแขนและขา อย่างละ 2 ข้างลงไป

“เราใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในมนุษย์ต่างดาวของเราค่อนข้างมาก ทำให้มันมีคุณลักษณะของมนุษย์ พวกมันจึงมีหน้าตา มีการแสดงออก และแสดงความรู้สึกได้เหมือนพวกเรา” 

จะเห็นว่ามนุษย์ต่างดาวทั้งของแมริแยร์ แรมบัลดี และเฮนลีย์ มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะออกแบบมันบนฐานคิดใด สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยา 

จิม เดวีส์ (Jim Davies) แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางปัญญา (Institute of Cognitive Science) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน อธิบายเหตุผลของการที่มนุษย์ต่างดาวถูกออกแบบโดยเชื่อมโยงกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ว่า เพราะส่วนใหญ่เรื่องราวที่เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว ไม่ว่าจะในรูปของนิยายวิทยาศาสตร์หรือภาพยนตร์ มักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โลกกับมนุษย์ต่างดาว

“ถ้าไม่ทำให้มันมีจิตวิทยาหรือความปรารถนาเหมือนมนุษย์ มันก็ยากที่มนุษย์โลกกับมนุษย์ต่างดาวจะเชื่อมโยงกันได้” 

ตามคำบอกเล่าของเดวีส์ สภาพจิตของมนุษย์มีความพร้อมสำหรับการรับรู้ความแตกต่างจากสิ่งที่เคยรับรู้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ เทพเจ้าในศาสนาหรือความเชื่อใหม่ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในนิทานพื้นบ้าน จึงต้องไม่ใช่สิ่งที่คนคุ้นเคยจนน่าเบื่อ ขณะเดียวกันต้องไม่แปลกใหม่จนไม่สามารถจินตนาการหรือทำความเข้าใจได้ และทฤษฎีนี้ก็เป็นสิ่งอธิบายว่า ทำไมเวลาให้จินตนาการถึงมนุษย์ต่างดาว ผู้คนมักจับเอาชิ้นส่วนมนุษย์และสัตว์ต่างๆ มาผสมกันจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด ที่ยังอยู่บนพื้นฐานโครงสร้างของมนุษย์ต่างดาวในภาพจำของตนเอง

เดวีส์ยังมองด้วยว่า การสร้างภาพ อี.ที. และเกรย์ ที่มีภาพของการเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มีความฉลาด สามารถท่องไปในอวกาศมาถึงโลกและสื่อสารกับมนุษย์ได้ ให้มีดวงตาโตและจมูกเล็ก ทำให้มนุษย์มีการตัดสินมนุษย์ต่างดาวจากภายนอกเช่นเดียวกับที่ตัดสินมนุษย์ด้วยกันเอง โดยมนุษย์โลกมองว่ามนุษย์ต่างดาวที่มีดวงตาขนาดใหญ่จะฉลาดกว่าที่มีดวงตาขนาดเล็ก ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกรย์และ อี.ที. กลายเป็นพิมพ์นิยมของมนุษย์ต่างดาวในสายตาชาวโลก

เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างดาวรู้จักปรับตัวตามสภาพแวดล้อม 

แม้เกรย์และ อี.ที. จะเป็นหน้าตาของมนุษย์ต่างดาวยอดนิยม แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าพวกเขามาจากดาวดวงใด และสภาพแวดล้อมแบบใด ด้วยกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์แบบใดทำให้พวกเขามีรูปร่างหน้าตาเช่นนั้น 

แล้วถ้ามนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตต่างดาวต้องมีวิวัฒนาการและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมเหมือนมนุษย์ล่ะ พวกมันจะยังคงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเกรย์อยู่หรือไม่

ด้วยความพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ให้กับเด็กๆ เดวิด อกีลาร์ (David Aguilar) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลวิทยาศาสตร์ของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ฮาร์เวิร์ด-สมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center of Astrophysics) ได้จัดทำหนังสือสำหรับเด็กเรื่อง Alien Worlds ขึ้นมาในปี 2014 โดยเขาเขียนเรื่องและวาดภาพประกอบเอง

ใน Alien Worlds อกีลาร์สร้างดาวในจินตนาการขึ้น 8 ดวง มีโลก พระจันทร์ รวมอยู่ด้วย ส่วนอีก 6 ดวง ถูกสร้างให้มีสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ แรงโน้มถ่วง แสง น้ำ และองค์ประกอบอื่นๆ แตกต่างกันในแต่ละดวง ซึ่งที่จริงแล้วดาวทั้ง 6 ดวง คือ วิวัฒนาการในช่วงเวลาต่างๆ ของดาวโลกของเรานั่นเอง เช่น “ดาวมหาสมุทร (Ocean World) มีคุณสมบัติเหมือนโลกเมื่อ 450 ล้านปีก่อน ตอนที่พื้นผิวโลกส่วนใหญ่เป็นน้ำ หรือดาวทะเลทรายที่เขาตั้งชื่อว่า ดาวที่กำลังจะตาย (Dying World) คือภาพในอนาคตของโลกอาจจะอีก 1,500 ล้านปี นับจากนี้ เมื่ออุณหภูมิของโลกอาจพุ่งสูงถึง 85-140 องศาฟาเรนไฮน์ หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่คำถามว่า สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวแต่ละดวงจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร 

“ผมต้องการเปิดโลกของเด็กๆ ให้ออกไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ ความงาม และความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของจักรวาล นักชีววิทยาอาจบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลิกสนใจแนวคิดของฮอลลีวูดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตต่างดาวลง เพราะในความเป็นจริงแล้วเราจะได้พบกับการปรับตัวที่น่าทึ่งมากๆ” 

เอเลียนในจินตนาการที่ขับเคลื่อนด้วยทฤษฎีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของอกีลาร์ จึงหมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาว ที่ไม่ได้อ้างอิงจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์บนดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลก และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของพวกมัน

Arrowheads – สิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อายุน้อย ซึ่งมีลักษณะคล้ายโลกเมื่อ 450 ล้านปีที่แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ มีเพียงภูเขาไฟและทวีปเพียงไม่กี่แห่งที่ทะลุพื้นผิวน้ำขึ้นมา และในมหาสมุทร์เต็มไปด้วยสัตว์ผู้ล่า มี Arrowheads หรือหัวลูกศร สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 100 ตัน ยาวประมาณ 70 ฟุต ลูกผสมที่น่าเกรงขามระหว่างวาฬและฉลาม รูปร่างคล้ายลูกศร หัวทรงสามเหลี่ยม ลำตัวเพรียวแข็งแรง ฟันแหลมคมแต่ละซี่ยาวกว่า 14 นิ้ว เป็นสิ่งมีชีวิตหลัก มีศัตรูตัวฉกาจคือ โมฮอว์ก (Mohawk) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กรูปร่างคล้ายเต่า แต่เต็มไปด้วยหนามแหลมรอบตัว เมื่อใดก็ตามที่ปะทะกัน โมฮอว์กจะปล่อยพิษใส่หัวลูกศรทันที

Cave Crawlers – สิ่งมีชีวิตที่จะเอาตัวรอดบนดาว Dying World ที่อุณหภูมิสูงถึงกว่า 140 ฟาเรนไฮท์ ได้ต้องมีความสามารถขุดดินลึกลงไปใต้พื้นผิวดาว เพื่อหลักหนีความร้อน และมันต้องมีดวงตาหลายดวงและหนามแหลมจำนวนมากที่จะทำให้พวกมันเรืองแสงและมองเห็นในที่มืด

Arrowhead กับ Mohawk (photo: เดวิด อกีลาร์)
Cave Crawler (photo: เดวิด อกีลาร์)

Windcatchers – บนโลก ‘อินฟราเรด’ ที่พื้นผิวด้านหนึ่งหันไปทางดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ทำให้ร้อนและแล้งเหมือนทะเลทราย เหมือนดินแดนตะวันออกกลาง ขณะที่อีกด้านหนึ่งหันออกจากดวงอาทิตย์ จึงตกอยู่ในความมืดตลอดกาล ดุจเดียวกับทวีปแอนตาร์กติกา สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตที่เรียกว่า ทไวไลท์ โซน ซึ่งเป็นเขตอบอุ่นอยู่ระหว่างพื้นผิวโลกที่สุดขั้วทั้งสองฝั่ง เป็นบริเวณที่ลมพัดแรงเพราะอากาศอุ่นและเย็นจากทั้งสองขั้วมาพบกัน ‘นกจับลม’ ขนาดยักษ์ ปีกกว้างกว่า 30 ฟุต บินล่องลอยไปมาบนท้องฟ้าตลอดเวลา จะร่อนลงน้ำบ้างก็เฉพาะเมื่อถึงเวลาวางไข่เท่านั้น

Windcatcher นกจับลมแห่งโลกอินฟราเรด (photo: เดวิด อกีลาร์)

ผ่านมาเกือบ 10 ปี สิ่งมีชีวิตต่างดาวในจินตนาการของอกีลาร์ ซึ่งถูกสร้างจากองค์ประกอบความเป็นไปได้จริงทางวิทยาศาสตร์ กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมจากชาวโลกในฐานะมิติหนึ่งของมนุษย์ต่างดาว หากมองด้วยสายตาของจิม เดวีส์ แล้ว สิ่งมีชีวิตต่างดาวในจินตนาการของอกีลาร์อาจจะไม่ค่อยฉลาด เพราะไม่มีดวงตากลมโตเหมือนเกรย์ ดูไม่น่าเป็นมิตร ไม่มีทั้งโครงสร้างทางกายภาพที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ และไม่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ สิ่งมีชีวิตต่างดาวในจินตนาการของอกีลาร์จึงอาจถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของสัตว์ประหลาดที่มีพื้นที่แค่ในจินตนาการของเด็กๆ มากกว่าที่จะได้รับการยอมรับและเรียกขานว่ามนุษย์ต่างดาว ที่ผู้ใหญ่หลายคนเชื่อและใฝ่ฝันได้เจอตัวจริง

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า